ชาครธมโม
นาย สมชาย ชาครธมโม ชินวานิชย์เจริญ

วันรวมพลคนเครือข่ายสุขภาพวิถีไทปี 2 รอบแรก ภาคปกติ


การดำรงอยู่ของหมอพื้นบ้านอย่างเป็นรูปธรรม

                ชื่อเรื่องออกจะแปลกก็เพราะในงานนี้เป็นครั้งหนึ่งในไม่หลายครั้งนัก ที่หลังจากเลิกจากห้องประชุมแล้วผมจะมีโอกาสเปิดตัวเองออกไปปะทะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมแนวคิดอุดมการณ์ เพราะผมเป็นคนไม่ดื่ม  ซึ่งจริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่อุปสรรค และพวกเราคนทำงานก็ไม่ใช่พวกดื่มจัดเสียที่ไหนหรอกนะครับ  นอกจากนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการประชุมวันเดียว ซึ่งพอเลิกผมก็จะรีบเดินทางกลับ ไม่กลับห้อง ก็กลับอุดร (ถ้าประชุมที่กรุงเทพ) หรือไม่ก็บินไปประชุมเช้า แล้วก็บินกลับ  แต่เที่ยวนี้เป็นเที่ยวพิเศษ ที่ผมนั่งรถโดยสารไปพร้อมกับพี่สมัย ชัยช่วย เลขานุการชมรมหมอพื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น อำเภอบ้านดุง ซึ่งเป็นผู้รับทุนสนับสนุนโครงการ ส่วนเจ้าหน้าที่สนาม จำนวน 2 คน นั้นเป็นน้องผู้หญิงที่เดินทางไปต่างหาก   ระยะทางที่ยาว ระยะเวลาที่อาจจะนาน  (ผมใช้คำว่าอาจจะนาน เพราะช่วงนี้อ่านหนังสือที่พูดเกี่ยวกับเวลาสัมพัทธ์ ยิ่งใจร้อน เวลายิ่งเดินช้า ยิ่งใจเย็นเวลายิ่งเดินเร็ว ทพ.สม)  ก็มีพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพี่สมัยหลายเรื่อง แต่จะเอาไว้เล่าในภาคพิสดารก็แล้วกัน  เอาเป็นว่าก็เดินทาง 9 ชั่วโมงบนรถปรับอากาศ 24 ที่นั่ง มาถึงหมอชิต ตอนทุ่มกว่า  แล้วก็ไปเข้าที่พักที่เคยูโฮม  เห็นชื่อหลายคนเข้าที่พักแล้วละครับ  แต่พอเข้าห้องนอนหลังกินข้าวจานละ 40 บาทแล้ว 2 จาน (ที่ร้านท๊อปส์ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตร)   ก็เข้าห้องเปิดทีวี ดูรายการเดอะสตาร์ (ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าหน้าตาอย่างผมดูเดอะสตาร์ ) แล้วก็อ่านหนังสือพระไตรปิฎก นั่นคือคืนแรกของการประชุมรอบนี้ ปกติผมจะไม่ค่อยมีคืนแรก

เข้าสู่เรื่องราวภาคปกติจริง ๆ  วันนี้มีคนมากหน้าหลายตาที่คนไม่ค่อยจะคุ้นเท่าไร วิเคราะห์ได้ว่าจากการที่ผมมาไม่ทุกครั้ง หรือเป็นโครงการใหม่ หรือโครงการเก่าที่คราวที่แล้วไม่ได้มา  ก็สุดแท้  แต่คนที่เจอกันบ่อย ๆ เช่น คุณอ้วน คุณหน่อย 2 คนนี้ไม่เห็นไม่ได้เพราะเป็นคนจัด  , คุณริน  จากอุบล พาน้องชายหล่อขาวมาด้วย (รู้ภายหลังว่าชื่อแจ๊ค)  , คุณผู้หญิงจากศรีษะเกษกำลังจะมีน้อง  ,  อาจารย์พิเชฐ จากสกล , พี่แขก (พีระ) จากอาศรมดอนแดง มหาสาคาม (แต่บ้านอยู่กาฬสินธุ์)  , อาจารย์ถวิล อาจารย์วีระ และพ่อนายก อบต.วังแสง  จากมหาสารคาม , ติ๊ก สารคาม คนสานต่อ 9 ประเด็นพี่ยงยุทธ , พี่แทะ จากสุรินทร์ รายนี้เพิ่งมาจากเยอรมัน (นิวลุค นุ่งซิ่น ผมยุ่ง ป็นผมดัด นุ่งยีนส์ แต่ก็เป็ฯพี่แทะ ที่เรียบง่ายคนเดิมของผม)  , เจ้านี เจ้ายุ้ย เจ้าหน้าที่สนามจากโครงการของอุดร คนกันเอง (มาช้า) ,  กลุ่มคนทำงานจากเหนือ พงษ์ พะเยา ,  หนอม เชียงใหม่ , การ์ จากลำปาง , พี่จากแม่ฮ่องสอน , พี่ตี๋ วิบูลย์ , พะยอม ม่อนยาป่าแดด  ที่ขาดไม่ได้ พี่แดง (อ้ายแดง)  จากภาคใต้ มีนั้ด ที่ผมคุ้นนะ ภาคกลาง มีป้าอึ่ง พี่โต้ง จากอ่างทอง (พี่โต้งเจ้าของวลี ผมถามคำนึงว่า......) , และคนสุดท้ายไม่รู้จัก แต่รู้สึกดี เพราะพี่เขามีมุมมองเจ๋ง ๆ (ทราบต่อมาในภาคพิสดารว่าพี่เขาชื่อ มด บ้านเดิมร้อยเอ็ด ทำงานที่แพนด้านแคมป์  ห้วยขาแข้ง  พี่มด ชอบพูดเรื่องช้าง เรื่องใหญ่  เรื่องนโยบาย  พี่มดไม่ยอมหรือไม่อยากได้ยินว่าแหย่ไข่มดแดงแล้วมีมดจมน้ำตาย พี่รับไม่ได้ )  อ้อมีหมอน้อย เจ้าของตำรับกวาง...แฉะ  หมอก้าน (ไม่ใช่ก้านแก้วสุพรรณนะครับ) จากยุดยา   ไล่ไม่หมดหรอกนะครับ เพราะผมไม่ได้รู้จักทุกคน และที่ลืมไม่มีชื่อก็ขอโทษนะนาย  เอาละมาเข้าภาคปกติจริงจังเสียที  ก็พอเปิดการประชุม คุณหน่อย (อรนุช มลิลา ไม่รู้เป็นอะไรกับอาจารย์ อมรา มลิลา) ก็ให้เราเล่นเกมส์ที่ไม่ใช่เกมส์ เป็นการมาเล่าชีวติผ่านกระบวนการตั้งใจฟัง ตั้งใจพูด โดยให้เราจับคู่กันก่อน จะให้ปลัดกันพูดและฟัง แล้วก็ตั้งคำถามว่า มาทำงานนี้ได้อย่างไร คู่แรกเนี่ยผมเจอกับน้องแจ็ค (ถึงได้บอกว่ามารู้ตอนหลังนี้อย่างไรครับ)  พอไปคำถามที่ 2 ผมไปนั่งคุยกับคุณการ์ ปัญหาอุปสรรค  ซึ่งก็เป็นเรื่องของคนทำงานนะครับ ไม่มีงานไหนไม่มีขวากหนาม  แต่เราก็เรียนรู้ไป  คำถามสุดท้ายนี่แหละที่ห้ามจด แต่ให้ฟัง สบตาด้วย  คำถามถามว่าเรื่องชื่นใจ ในการทำงานมีมั้ยอย่างไร  ผมก็เล่าให้ฟังเรื่องฝันที่อยากจะมี ศูนย์ประสานงานที่มีศูนย์ศึกษาและพัฒนาเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รับทุนหนุนต่อเนื่อง โดยประชาชนชาวบ้านเป็นคนขับเคลื่อนจริงจัง  ไม่โฉบทำงาน เสร็จแล้วเลิกไปทำอย่างอื่น เช่นใบลานที่อุดรเนี่ย ผมว่าไม่ต่ำหว่า 10 ปี ที่ถ้าเราแปลไว้ให้ลูกหลานได้ดูว่ารากเหง้าเป็นอย่างไร  อาจจะซ้ำกับที่อื่น แต่ที่ไม่ซ้ำแน่ ๆ คือคนแปล  กับพื้นที่ครับ   ก็ 3 คำถามเนี่ยก็เกือบเที่ยงไปแล้ว ยิ่งใจร้อน เวลายิ่งเดินช้า ยิ่งใจเย็นเวลายิ่งเดินเร็ว  พี่กระรอกก็ให้พวกเรามาล้อมวง แล้วให้เพื่อนพูดถึงเพื่อน  ตอนนี้แหละครับผมเริ่มเห็นภาพของพี่มด ฉายออกมา เป็นภาพของพี่ที่น่าเรียนรู้และศึกษา น่าเป็นเพื่อน (เพื่อนรุ่นน้องนะครับ)   ต่างตน ต่างภาค ต่างเล่าเรื่องราวของเพื่อน  การทำงานของเพื่อน เช่นไปทำงานกับชุมชน หมอพื้นบ้าน  การเชื่อมโยงกับสถานีอนามัย กับ อบต.เป็นอย่างไร  ก็เริ่มเรียนรู้กันมากกว่าการที่นำเสนอแล้วก็ถามกัน บางทีถามคำถามน่าเตะ (พี่โต้งเป็นคนบอกผมเองแหละ ตอนที่ไปนั่งคุยกันที่ร้านข้าว-เหล้า) เกิดศรศิลป์ไม่กินขึ้นมา แต่การนำเสนอก็จะต้องมีจนได้แหละครับ ในตอนบ่ายวันนี้ แต่ไม่ใช่ทุกโครงการ  ผมก็สมัครใจไปนำเสนอด้วย

ภาคบ่ายวันที่ 2 มีนาคม 2552 สเตียริ่งคอมมิตตี จาก สสส. มาฟังพี่กระรอก คุณหน่อยนำเสนอ แผนงานแล้วก็แต่ละภาคขึ้นลำ (หมอลำนะครับ อย่าคิดว่าโป้งป้าง) ดีใจครับที่มีโอกาสร่วมเวทีที่มีบรรยากาศเอื้ออำนวย เอื้ออาทร  จากบุคคลที่นับได้ว่าเป็นผู้ชี้นำสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ , อาจารย์เสาวณีย์ กุลสมบูรณ์ , อ.ดร.สินธุ์ สโรบล  ,  ตัวแทนจาก สปสช. , ตัวแทนจาก สสส. , ตัวแทนจากภาคประชาชน (นายก อบต.)  โดยมูลนิธิสุขภาพไทยได้นำเสนอภาพรวมของการดำเนินงานในปีที่ 2 ( ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2552 ส่งหลักฐานการเงินภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2552)  รายละเอียดโดยย่อคือยุทธศาสตร์ด้านการจัดการความรู้ , รูปแบบการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพไปใช้ , การสร้างและบริหารจัดการเครือข่าย และการจัดการฐานทรัพยากร  และนำเสนอรายภาค เครือข่ายภาคเหนือ เน้นงานเกี่ยวกับ รูปแบบการบริการของแม่ก๋ำเดือนกับการผสมผสานเข้าระบบ , เครือข่ายภาคกลาง เน้นงานเกี่ยวกับหลังคลอด , เครือข่ายภาคอีสาน เน้นงานจัดการฐานทรัพยากร , รูปแบบการนำไปใช้  , เครือข่ายภาคใต้ เป็นการจัดการความรู้   ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการติดตั้งระบบการแพทย์พื้นบ้านในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดย ตัวแทนจาก สปสช.ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ ระบบ INTERMEDIATE AND REFERAL SYSTEM โดยเครือข่ายหมอพื้นบ้านสามารถเข้าร่วมในกิจกรรมของการฟื้นฟูผู้พิการในรูปแบบจิตอาสา สปสช.กำลังจะนำร่องดำเนินการภายในระยะ 2 3 เดือนนี้ สำหรับผมก็นำเสนอรุปแบบของศูนย์ประสานงานประกันสุขภาพตามอาการป่วยพื้นบ้าน บนแนวคิด  การดำรงอยู่ของหมอพื้นบ้านอย่างเป็นรูปธรรม (มาตรา 66 รธน50) โดยไม่แทรกแซงหรือรบกวนระบบวิธีคิดเดิมแต่หนุนเสริมมีพลังผ่านกระบวนการจัดการความรู้และเครือข่ายชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่สนามที่เป็นคนของพื้นที่ทำงานขับเคลื่อนหมุนเกลียวการทำงาน  ซึ่งมี รูปธรรมระยะสั้น คือระบบสุขภาพท้องถิ่นของกลุ่มอาการความเจ็บป่วยที่หมอพื้นบ้านยังดำรงการดูแลรักษาอยู่ที่ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่น โดยมีเครือข่ายชมรมหมอพื้นบ้านบริหารจัดการระบบ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลคนป่วยแล้วนำไปประสานผ่าน อปท.และสาธารณสุข เพื่อเป็นการจัดระบบสุขภาพในชุมชนโดยชุมชน จริง ๆ ทั้งนี้ รูปธรรมระยะยาว คือนโยบายสาธารณะในการสนับสนุนการดำรงอยู่ของหมอพื้นบ้านโดยไม่แทรกแซง  ผ่านกระบวนการที่ผมพูดติดปากว่า ประชุมประจำ , มหกรรมบ่อย ๆ , มีน้องน้อยคอยประสาน  และนั่นคือ 1 วันที่จบอย่างรวดเร็วเพราะยิ่งใจร้อน เวลายิ่งเดินช้า ยิ่งใจเย็นเวลายิ่งเดินเร็ว  ยิ่งมีทุกข์ เวลายิ่งเดินช้า ยิ่งมีความสุขเวลายิ่งเดินเร็ว  เลิกประชุม พี่ ๆ เขานัดไปหากินข้างนอกกัน ซึ่งผมนะไม่มีอะไรทำ และเที่ยวนี้นึกครึ้มอะไรไม่รู้ไปกับเขาด้วย ก็เป็นเรื่องสิครับ ไปอ่านเอาในภาคพิสดารแล้วกันนะครับ

                3 มีนาคม 2552 ภาคเช้า  เป็นเวทีกลุ่มย่อยของแต่ละยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการความรู้ , รูปแบบการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพไปใช้ , การสร้างและบริหารจัดการเครือข่าย และการจัดการฐานทรัพยากร เป็นเวทีเรื่องเล่าเร้าพลังของแต่ละยุทธศาสตร์ (รวมภาค แต่ละยุทธศาสตร์มีหลายภาค) รวมทั้งการเสนอข้อเสนอจากเครือข่ายเพื่อให้ระดับนโยบายได้นำไปกำหนดแผนงานระดับชาติต่อไป

3 มีนาคม 2552 ภาคบ่าย เป็นการนำเสนอข้อเสนอจากเครือข่ายเพื่อให้ระดับนโยบายได้นำไปกำหนดแผนงานระดับชาติต่อไป ทั้งนี้จะได้จัดเวทีเครือข่ายเพื่อบรรลุข้อตกลงต่อไป ยกตัวอย่างเช่น

                ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างกลไกการทำงานที่ชัดเจน  มีชื่อคนทำงาน มีคณะกรรมการเครือข่าย

                ยุทธศาสตร์การสนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม (การติดตั้งระบบพัฒนา , การผลักดันเชิงนโยบาย , การหนุนเสริมคนทำงานในพื้นที่ , การสร้างการมีส่วนร่วมจาก อปท. เป็นต้น)

                ยุทธศาสตร์การสนับสนุนให้รูปแบบระบบสุขภาพท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่นเกิดได้จริง

 

 

               

หาอ่านได้ที่นี่นะครับ เข้าไปที่ กูเกิล พิมพ์ ชาครธมโม  แล้วก็ดำน้ำไปนะครับ ถ้ามีวาสนาก็ได้เจอกันครับ ถ้าไม่มีก็อ่านจากกระดาษก็พอแล้ว พอที่สามารถอ่านมาถึงตรงนี้นะครับ  ขอรอยยิ้มทีหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 246256เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2009 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท