หนึ่งเดียว


ในพุทธศาสนา หรือโดยแนวคิดเชิงพุทธ กล่าวไว้ว่า “ไม่มีเรา-ไม่มีสิ่งแวดล้อม” มีแต่ “ธรรมชาติ” ทั้ง “ภายใน-ภายนอก” และยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ “ไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ตัวเรา และ/หรือ ไม่ใช่ของเรา : ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆ ก็ตาม”

หนึ่งเดียว

๑.

            บ่อยครั้ง ที่สามัญสำนึกบอกเราว่า “ฉัน” และ “สิ่งแวดล้อม” เป็นอิสระจากกัน “ฉัน” เป็น “ฉัน” และแวดล้อมด้วย “ของฉัน”

จนบางคราว(หรือหลายครั้ง) “ฉัน” ที่ว่านั้น ประหนึ่งว่าจะเป็น “ศูนย์กลางแห่งจักรวาล” ก็ไม่ปาน

แม้บางโอกาส จะรู้สึก ว่ายังสัมพันธ์ต่อกันอยู่บ้าง แต่ก็ดูจะบางเบาเสียเหลือเกิน…

มิหนำซ้ำ เจ้าสายใยที่ยังผูกโยงระหว่างเรากับ “หลายสิ่ง” เอาไว้นี้ ก็ดูจะทอดยาว จนดูราวกับจะมีอิสระแก่กันและกัน อย่างที่บางคนบางกลุ่มเรียกปรากฏการณ์นั้นว่า “ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง”

๒.

ในพุทธศาสนา หรือโดยแนวคิดเชิงพุทธ กล่าวไว้ว่า “ไม่มีเรา-ไม่มีสิ่งแวดล้อม” มีแต่ “ธรรมชาติ” ทั้ง “ภายใน-ภายนอก” และยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ “ไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ตัวเรา และ/หรือ ไม่ใช่ของเรา : ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆ ก็ตาม”

นี่ออกจะเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก ท่ามกลางทัศนะและความเชื่อ แบบ “นิยมเงินตรา-อำนาจ-วัตถุ” ในยุคปัจจุบัน ด้วยว่าการศึกษา, สื่อสารมวลชน, นันทนาการ, เศรษฐกิจ-สังคม และวัฒนธรรม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่นำพาผู้คนไปให้เชื่อมั่นใน “วัตถุนิยม-นิยมวัตถุ” ไปจนแทบหมดสิ้น

๓.

“ดวงตาแห่งธรรม” อันเกิดจากจิตสงบรำงับ-ไม่กระเพื่อมไหว และใจอันกระจ่าง สว่าง-สะอาด-สงบ จึงเป็นประตูนำผู้ปฏิบัติ ให้ได้พบ หรือได้ชิมลอง “วิปัสสนาญาณ” อันเป็นภาวะ “รู้แจ้ง-เห็นจริง” จนเข้าถึงสัจจะแห่งธรรมชาติ ว่าด้วย สภาวะแห่งธรรมชาติ กฎแห่งธรรมชาติ การปฏิบัติตามกฎแห่งธรรมชาติ และการได้รับผล จากการปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติที่ว่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องราวอันละเอียดลึกซึ้ง เกินกว่าตาเนื้อ หรือจิตอันหยาบกระด้าง และผัสสะทางผิวกาย จะสัมผัสได้

“ภาวนาวิถี” หรือ “เส้นทางของการภาวนา” จะนำพา “นักปฏิบัติ”  หรือ “นักศึกษาในทางธรรม” ไปสู่จุดนั้น ด้วยการใช้ชีวิตอยู่ในโลกและสังคมที่เป็นจริง อย่างมีสติตื่นรู้ มีการพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม ด้วยปัญญา และด้วยใจ

๔.

 พุทธศาสนามักถูกมองและอธิบาย ว่าเป็นหลักปรัชญา เป็นบทสรุป และคำอธิบาย ในปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งทางกายภาพ และทางจิตวิญญาณ กระทั่งบางสำนักคิด ถึงกับกล่าวว่า ผ่านมาสองพันห้าร้อยปีเศษ พุทธศาสนามีเพียงเครื่องมือในการตีความ ในการอธิบาย ในการตอบคำถาม แต่ไม่สามารถเสนอทางออกที่เป็นจริง อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย ได้อีกต่อไปแล้ว

นี่นอกจากจะเป็นการด่วนสรุปอย่างตื้นเขิน ยังเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง เพราะนั่นเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ หรือกระทั่งนักวิชาการ และผู้มีบทบาทในแวดวงต่างๆ ได้พากันละเลย คุณูปการสำคัญของพุทธศาสนา ที่ว่าด้วยคุณภาพชีวิตในปัจจุบันขณะ และปฏิบัติการยกระดับ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต หลายต่อหลายสิ่งไปเสีย

ในฐานะของพุทธศาสนิกชน ที่สมาทานไตรสรณคมน์อย่างจริงจัง มากไปกว่าการรับเอาพิธีกรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว หรืออาศัยตัวบุคคลเป็นที่พึ่ง จึงต้องพึงตระหนัก ว่าทำอย่างไรหลักการ กรอบคิด วิธีปฏิบัติ และวิถีแห่งการดำเนินชีวิต “ด้วยหลักพุทธธรรม” จึงจะกลับคืนมา เพื่อให้มีชีวิตสงบสุข ในสังคมสงบร่มเย็น

ในฐานะปัจเจกชน เราจะเริ่มต้นกันที่ไหน? และอย่างไร?...


 

หมายเลขบันทึก: 246184เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2009 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อนุโมทนาครับ

เชิญเข้าไปศึกษาธรรมะในเวปของผมบ้างนะครับ http://www.khunsamatha.com/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท