แนวทางการจัดการความรรู้ การประกันคุณภาพการศึกษา


การประกันคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพ (Quality Assurance) หมายถึง กิจกรรมการบริหารคุณภาพในส่วนที่มุ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะบรรลุข้อกำหนดทางด้านคุณภาพ 

                ในวันที่  14  ตุลาคม  2540 ได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540  และต่อมาในวันที่  14  สิงหาคม 2542   ประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช 2542  ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย  ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนไฟส่องนำทางสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา  ในกฎหมายได้กำหนดระบบประกันคุณภาพไว้ในมาตรา 6   มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา  

                การประกันคุณภาพ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

                1. การประกันคุณภาพภายใน เป็นกระบวนการบริหารจัดการที่มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณภาพ  ซึ่งเป็นภารกิจที่สถานศึกษาจะต้องทำ  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  มีสาระบัญญัติที่กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งมีการประกันคุณภาพภายใน  และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหาร  ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  เพื่อพัฒนาคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน

                2. การประกันคุณภาพภายนอก เป็นการประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายนอก

                แนวทางในการจัดการความรู้ เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา

                1. กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา  เพื่อเป็นเกณฑ์หรือสภาพที่ต้องการให้เกิด  ทั้งสภาพปัจจัย  วิธีดำเนินงานโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาชาติ เขตพื้นที่การศึกษา  โดยมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของสถานศึกษา  สภาพชุมชนและศักยภาพของสถานศึกษา    

                2. จัดระบบบริหารและสารสนเทศ   โดยจัดโครงสร้างการบริหารที่นำระบบ ประกันคุณภาพภายในไว้ในโครงสร้างการบริหาร และกำหนดบุคคลผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพภายใน ดำเนินการประกันคุณภาพตั้งแต่การวางแผน  ดำเนินการตามแผน  ติดตามตรวจสอบคุณภาพ  และจัดทำรายงานประจำปีของสถานศึกษา

                3. ทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา   ที่มุ่งเน้นคุณภาพการศึกษา โดยคำนึงถึงหลักการกระจายอำนาจ  การมีส่วนร่วม  ภาระความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยการนำผลการประเมินคุณภาพภายใน  และผลการประเมินคุณภาพภายนอกรวมทั้งวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน  ปัญหาและความจำเป็นมาเป็นเป้าหมายในการพัฒนา เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์  จัดทำเป็นกลยุทธ์นำไปสู่โครงการ  กิจกรรม  และตัวบ่งชี้  

                4. การดำเนินงานตามแผนพัฒนาการศึกษา   เป็นการบริหารแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ผู้บริหารจะเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด ติดตามตรวจสอบ  และปรับปรุงการดำเนินงานตามแผนอย่างจริงจัง ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนเสร็จสิ้นตามแผนงาน โครงการ  กิจกรรม  

                5. การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา   แต่งตั้ง คณะทำงานตรวจสอบและทบทวนคุณภาพภายในสถานศึกษาทุกปี  ตามแผนงาน  โครงการ  กิจกรรม หรือตามมาตรฐานด้านปัจจัย  มาตรฐานกระบวนการ  และมาตรฐานด้านผลผลิตเพื่อตรวจสอบว่าผลการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นอย่างไร  หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้เป็นอย่างไร  

                6. การประเมินคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด  สถานศึกษากำหนดให้มีการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานที่กำหนด  เป็นการประเมินตนเอง โดยแต่งตั้งบุคคลจากภายในมาประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด ผลจากการประเมินจะนำไปจัดทำรายงานประจำปี เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

                7. การรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี   สถานศึกษาจัดทำรายงานประจำปี   ตามมาตรา 48พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545   เพื่อเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดและสาธารณชน  และรองรับการประกันคุณภาพภายนอก 

                8. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  สถานศึกษานำหลักวงจรคุณภาพมาเป็นกรอบในการพัฒนา  โดยการพิจารณาผลการรายงานประจำปี  ถ้าเป็นโครงการที่ดีก็ดำเนินการต่อไป ถ้าหากมีข้อบกพร่องก็ให้ปรับปรุงแก้ไข  หากพิจารณาแล้วไม่เกิดประโยชน์หรือไม่คุ้มค่าอาจไม่ดำเนินโครงการนั้นต่อไป 

            สำหรับ การประเมินภายนอกเพื่อการรับรองมาตรฐานการจัดการศึกษานั้น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้กำหนดขั้นตอนการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาดังนี้

                ขั้นตอนที่ 1 ก่อนการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ผู้ประเมินภายนอกรวบรวมข้อมูลที่สถานศึกษาจัดส่งมาให้สำนักงานรับรองมาตรฐาน  ล่วงหน้า  ทำการศึกษาวิเคราะห์รายงานและเอกสารรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษากำหนดประเด็นและรายการข้อมูลที่จะตรวจสอบ และวางแผนว่าจะต้องรวบรวมข้อมูลอะไรเพิ่มเติม  จากแหล่งใด  ด้วยวิธีอะไร 

                ขั้นตอนที่  2  ระหว่างการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา  คณะผู้ประเมินภายนอกเข้าไปตรวจเยี่ยมในลักษณะกัลยาณมิตร  ทำการประเมินคุณภาพสถานศึกษาทั้งด้านการจัดการเรียนการสอนและการบริหาร  ตามที่กำหนดในมาตรฐานการศึกษาชาติ  เพื่อยืนยันว่าผลการประเมินตนเองของสถานศึกษานั้นมีความถูกต้องหรือไม่ มีเหตุผลและหลักฐานสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ 

                ขั้นตอนที่  3  หลังการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา  คณะผู้ประเมินร่วมกันจัดทำร่างรายงานผลการประเมินสถานศึกษา  โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาเขียนให้ตรงตามหลักฐานข้อมูลต่างๆ  ที่รวบรวมได้ 

            การประกันคุณภาพภายในคือส่วนที่สำคัญที่สุดของระบบประกันคุณภาพ  เพราะคุณภาพเกิดจากภายใน ถ้าคุณภาพภายในดี  การประเมินภายนอกก็เป็นเพียงการตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันความสำเร็จ  แต่ถ้าคุณภาพภายในไม่ดี การประเมินภายนอกก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก  การนำทฤษฎีมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อนำไปสู่การประกันคุณภาพของสถานศึกษานั้น

            สิ่งสำคัญที่สามารถทำให้การนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงและทำให้การประกันคุณภาพของสถานศึกษาประสบความสำเร็จ  คือ  

                1. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้นำในการบริหารจัดการคุณภาพ  โดยการบริหารระบบคุณภาพตามหลักการบริหารคุณภาพ  ของเดมมิ่ง  (PDCA) Plan  Do  Check  Act  ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูมีการทำงานเป็นทีม และสร้างภาวะผู้นำในงานหรือตามบทบาทหน้าที่ให้เกิดกับครูโดยใช้การบริหารคุณภาพแบบเบ็ดเสร็จ 

                2. ผู้บริหารจะเป็นผู้สร้างความตระหนักและความเข้าใจการประกันคุณภาพการศึกษา แก่ครู  ว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการ และพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความเข้าใจ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการทำ Bench  Marking  ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง  และสร้างความมั่นใจได้ว่า  สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานที่กำหนด  ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ความสามารถ และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่หลักสูตรกำหนดและที่สังคมต้องการ. 

                การดำเนินการจัดการความรู้ให้ครูและบุคลากรของสถานศึกษาก่อน ดำเนินการประกันคุณภาพของสถานศึกษา นั้น จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการประกันคุณภาพสถานศึกษามากยิ่งขึ้น เพราะบุคลากรผู้รับผิดชอบทุกคนจะรู้ว่าตนมีหน้าที่อะไร และจะต้องดำเนินการอย่างไรในการ การประกันคุณภาพสถานศึกษาดังกล่าว  ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะให้สถานศึกษาสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินในในที่สุด.

****************************

                                                    บรรณานุกรม

กองวิจัยทางการศึกษา .    การวางแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียน.  กรุงเทพมหานคร  :  กรม

                  วิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ,    2538.  

 

ถวัลย์   มาศจรัส.  ปทานุกรมปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542. 

                  กรุงเทพมหานคร :  สำนักพิมพ์ธารอักษร,    2544.  

 

เทื้อน    ทองแก้วและคณะ.   การประกันคุณภาพการศึกษา.  กรุงเทพมหานคร :

                 ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์  ,  ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.  

 

สมศักดิ์  บั้งเงิน.  การประกันคุณภาพการศึกษา  :  จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ.   ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์  , 

                  ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.  

หมายเลขบันทึก: 245233เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2009 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท