การจัดการความรู้


การจัดการความรู้

การจัดการความรู้  5  เทคนิควิธีสู่...ความสำเร็จของการบริหารสถานศึกษา ดังนี้ 

·    การส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ตามแนวปฎิรูปการศึกษา
·   การใช้ ICTส่งเสริมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา
·   หลากหลายเทคนิควิธีดึงชุมชนสู่สถานศึกษา
·   การส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้ภายในและภายนอกสถานศึกษา
·   การดำเนินงานระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียน 

การส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ตามแนวปฎิรูปการศึกษาในยุคที่

กระทรวงศึกษาธิการได้มีการปฏิรูปการศึกษา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงื่อนไขความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการปฏิรูปการเรียนรู้อยู่ที่ ผู้บริหาร ครูอาจารย์และบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นสำคัญ  ฉะนั้นโรงเรียนจึงกำหนดกลยุทธ์ให้มี การปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน   

- จากเดิมที่ครูทำหน้าที่เป็นผู้สอน ปรับเปลี่ยนเป็น  ผู้อำนวยการจัดการความรู้
- จากเดิมที่สอนในห้องเรียน  ปรับเปลี่ยนเป็น  จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน
- จากเดิมที่สอนเป็นรายวิชา ปรับเปลี่ยนเป็น การบูรณาการหลากหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้           
- จากเดิมที่เคยวัดผลประเมินผลจากการสอบ ปรับเปลี่ยนเป็น การวัดผลประเมินผลตามสภาพจริงและหลากหลายวิธีเพื่อค้นหาและพัฒนาศักยภาพผู้เรียน           

              จะเห็นแล้วว่ากว่าจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ ผู้บริหารจะต้องอดทดและใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้โดยอาศัยวิธีการ สร้างความเข้าใจ     ให้ความสำคัญ และผลักดันคุณภาพ อย่างต่อเนื่อง จึงจะบังเกิดผลตามที่ต้องการ           
             สำหรับผลการดำเนินงานจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ได้ดำเนินการมา โรงเรียนได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานในเวทีศักยภาพนักเรียน (Child Show) และเวทีศักยภาพครู (Teachers Show) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งจัดขึ้นในช่วงปลายภาคเรียนที่ 1 ของทุกปี
การใช้ ICTส่งเสริมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา        ในยุคปัจจุบันเชื่อมั่นว่าหน่วยงานสถานศึกษาหลายแห่งได้นำสื่อเทคโนโลยีและ  นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการและนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนบ้านแสรออ  ได้จัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้   สู่โลกกว้างผ่านระบบ  ICT และ การใช้เว็บจัดการความรู้ของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมหรือที่รู้จักกันดีในนามเว็บ  saraeor.org   นับได้ว่าเป็นคลังความรู้อันทรงพลังที่ผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องสามารถจะเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ผลงานและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความรู้อย่างกว้างขวาง
 

หลากหลายเทคนิควิธีดึงชุมชนสู่สถานศึกษา         การจัดการสมัยใหม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) และลูกค้า (Customer) เป็นสำคัญ ในที่นี้หมายถึงชุมชนคือกลุ่มเป้าหมายสำคัญ  ที่จะผลักดันสนับสนุนส่งเสริมช่วยเหลือให้การดำเนินงานของโรงเรียนประสบความสำเร็จฉะนั้นแนวดำเนินการในการดึงศักยภาพของชุมชนเข้ามาสู่สถานศึกษา จึงสามารถดำเนินการได้ดังนี้  
           ประการแรก โรงเรียนมีการสื่อสารถึงผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอผ่านทางจดหมายข่าว  วารสาร
แสรออสัมพันธ์ ของโรงเรียน   เว็บไซต์   www.saraeor.org   การจัดประชุมผู้ปกครอง การออกพบปะเยี่ยมนักเรียน เป็นต้น  
           ประการที่สอง โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาใช้บริเวณอาคารสถานที่ของโรงเรียนในการจัดกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ประชุม อบรม สัมมนา หรือสาธิต กิจกรรม OTOP
 โดยสถานศึกษาคิดค่าใช้จ่ายในราคาถูกหรือเป็นการให้เปล่า ซึ่งจะทำให้ผู้ปกครองและชุมชนได้รับความสะดวกและเกิดความพึงพอใจในการให้บริการของสถานศึกษาและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโรงเรียนในโอกาสอันควร นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าเยี่ยมชม  ศึกษา-ดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะผู้บริหารครู อาจารย์ บุคลากรและนักเรียนโรงเรียนบ้านแสรออ เป็นประจำทุกปี    
                 ประการสุดท้าย การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในวันสำคัญ เกี่ยวกับชาติ  ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่หน่วยราชการหรือหน่วยงานเอกชนจัดขึ้น  โรงเรียนต้องให้ความสำคัญโดยการนำคณะครู บุคลากรและนักเรียนเข้าร่วมงานอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็น สัญลักษณ์ขององค์กร  ดังคำกล่าวที่ว่า... ถ้างานใดไม่มีแสรอองานนั้นจะกร่อยหรือคำกล่าวที่ว่า...พร้อมเพรียง เกรียงไกร ไฉไล ต้องแสรออ   เป็นต้น        
              นอกจากจะเป็นความร่วมมือกับชุมชนแล้วยังเป็นการประชาสัมพันธ์โรงเรียนทางอ้อมที่ไม่ต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์มากมายนัก 

การส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้ภายในและภายนอกสถานศึกษา            ด้วยข้อจำกัดของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง  คงไม่มีสถานศึกษาใดที่สามารถนำทุกสิ่งทุกอย่างมาไว้ที่โรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา เรียนรู้ ฉะนั้นสิ่งที่ครูและผู้บริหาร
ได้วางแผนร่วมกันคือ การสำรวจแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และจัดพิมพ์เป็นทำเนียบ เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นหรือประสานงานในการสนับสนุนส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะบูรณาการ    ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะมีแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์  นับว่าโชคดีที่มีสินทรัพย์ทางปัญญาและมรดกอันล้ำค่า  เป็น มรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม”  ดังนั้นการจะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือการนำนักเรียนไปสัมผัส ศึกษา เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจึงไม่มีปัญหาอุปสรรคแต่อย่างใด    
            กรณีตัวอย่างของการจัดกิจกรรมร่วมกับแหล่งเรียนรู้/ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น
-
          ศูนย์ศึกษาโบราณสถานต่างๆ
-
          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดสุรินทร์
-
          หมู่บ้านช้างตำบลกระโพ
-
          แหล่งผลิตทอผ้าไหมพื้นบ้านอำเภอเขวาสินรินทร์  และตำบลท่าสว่าง
-
          ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ สนองแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง”  เป็นต้น
            แนวทางการดำเนินงานที่ครูหรือผู้เกี่ยวข้องควรทราบ มีดังนี้

1)      ควรมีการประสานงานและวางแผนร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับแหล่งเรียนรู้/ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นการล่วงหน้า
2)
      ควรให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะบูรณาการร่วมกับครูผู้สอน
3)
      ในระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการกลุ่ม  ช่วยกันสืบค้นข้อมูล ความรู้ โดยมีครูและภูมิปัญญาท้องถิ่นทำหน้าที่ให้คำปรึกษา
4)
      หลังจากเสร็จกิจกรรมควรมีการนำเสนอผลงานกลุ่มของนักเรียน และให้นักเรียนมีการประเมินผลงานของตนเอง  ประเมินโดยครู และประเมินโดยผู้เกี่ยวข้อง เช่นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
5)
      ข้อควรปฏิบัติในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงบทบาทของคุณกิจ คุณลิขิต และมีครูหรือผู้บริหารทำหน้าที่เป็นคุณเอื้อ คุณอำนวยอย่างแท้จริง 
การดำเนินงานระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียน ครูหรือผู้บริหารย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า จิตวิทยา  การจัดการเรียนรู้ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และต้องเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนสามารถพัฒนาได้  ดังนั้นในการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจึงมีความจำเป็นและควรให้ความสำคัญไม่แพ้การดำเนินงานด้านการเรียนการสอนและอื่นๆ           
          ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่โรงเรียนนำมาใช้ มีดังนี้
1)
      ระบบครูคู่มิตร    เป็นการจัดครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษา  ที่มีห้องใกล้กันช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมการเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน เพื่อเป็นการป้องปราม หรือป้องกันปัญหาไว้เป็นการล่วงหน้าการจัดกิจกรรมลักษณะนี้จะมีการเตือน มีการออกใบเตือนนักเรียนโดยให้ ใบเหลือง, ใบแดง ตามควร แก่กรณี เช่น กรณีความผิดเล็กน้อยอาจมีการตักเตือนแล้วให้ใบเหลือง ส่วนการให้ใบแดงมักจะไม่พบ ทั้งนี้เพราะนักเรียนที่เคยได้ใบเหลืองจะระมัดระวัง หรือนักเรียนจะเกรงกลัวความผิดและไม่อยากถูกลงโทษโดยการให้ใบแดง นั่นหมายถึงตัวเองและผู้ปกครองจะเดือดร้อนด้วย
2)
      ระบบเพื่อนช่วยเพื่อนและพี่ช่วยน้อง   เป็นการปลูกฝังจิตสำนึก  ให้นักเรียนดูแลช่วยเหลือกันเอง ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการสภานักเรียน ซึ่งจะทำหน้าที่แนะนำช่วยเหลือ สอดส่องดูแล รายงานพฤติกรรมนักเรียนที่ไม่พึงประสงค์ให้ครูทราบ
3)
      ระบบผู้ปกครองเครือข่าย  เป็นการขอความร่วมมือจากตัวแทน ผู้ปกครองนักเรียนแต่ละระดับ แต่ละช่วงชั้น ซึ่งมีจำนวน 234 คน  ทำหน้าที่สอดส่องดูแลพฤติกรรมนักเรียนนอกโรงเรียน และรายงานให้ครูหรือผู้บริหารทราบ พร้อมทั้งในคำแนะนำ ปรึกษา ในการสนับสนุนส่งเสริมการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วย
4)
      ระบบเยี่ยมยามถามข่าว  เป็นการจัดครูประจำชั้น หรือครูที่ปรึกษาร่วมกับผู้บริหารและกรรมการฝ่ายสัมพันธ์กับชุมชนออกพบปะ เยี่ยมเยียนผู้ปกครองและนักเรียนในชุมชน หมู่บ้านที่นักเรียนอาศัยอยู่ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ    ทำให้ได้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร สภาพปัญหา ความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียนอย่างแท้จริง และนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง การจัดการความรู้ร่วมกันของผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา  จากวันนั้นถึงวันนี้แม้จะมีความสำเร็จไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์   แต่สภาพที่เห็นเด่นชัดหลังจากที่มีการจัดกิจกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้  พบว่า สิ่งที่อยู่ในความทรงจำของทุกคนคงจะไม่พ้นความรู้สึกดีดีในไมตรีจิตมิตรภาพ  การรู้จักยอมรับความคิดเห็น รู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม    วันเวลาแห่งการจัดการความรู้ได้ดำเนินการควบคู่กับกิจวัตรประจำวันของสถานศึกษา จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้  ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่และจะต้องปรับปรุงพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่ หยุดยั้ง  ภายใต้พลังขับเลื่อนของภาคี เครือข่ายการจัดการความรู้ที่กระจายอยู่ทุกภาคส่วน   ความสำเร็จและความก้าวหน้าทั้งหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความอนุเคราะห์สนับสนุน ส่งเสริมเป็นกำลังใจและให้ความช่วยเหลือ ด้วยดีมาโดยตลอดจาก องค์การบริหารส่วนตำบลปราสาททอง  ซึ่งจะดำรงคงอยู่คู่วงการจัดการความรู้ของไทยตลอดไป   และผมมีความเชื่อมั่นว่า การจัดการความรู้ จะไม่มีวันประสบความสำเร็จได้เลย หากหน่วยงาน สถานศึกษายังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจัดการความรู้   ถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่เราจะมาร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความสำเร็จท่ามกลางระบบเศรษฐกิจ สังคมฐานความรู้ (Economic Knowledge Based Society) โดยใช้เครื่องมือการจัดการความรู้เป็นเครื่องมืออันทรงพลานุภาพ

 

คำสำคัญ (Tags): #แจน
หมายเลขบันทึก: 245162เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2009 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท