การจัดการความรู้สู่การประกันคุณภาพการศึกษา


บูรณาการการประกันคุณภาพและการจัดการความรู้ ให้เป็นวิถีแห่งการทำงาน

การจัดการความรู้สู่การประกันคุณภาพการศึกษา

                  เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา   ต้องมาพิจารณาระบบบริหารจัดการงานประกันคุณภาพในสถานศึกษาเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ โดยมีความเชื่อว่าถ้าระบบและกลไกดี  มีการปฏิบัติตามกระบวนการประกันคุณภาพ  อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว  ผลลัพธ์ควรจะออกมาดี นักเรียนมีคุณภาพ  

                  ดังนั้น  ระบบการประกันคุณภาพกับการปฏิบัติงานตามปกติ จึงควรจะบูรณาการให้เป็นเรื่องเดียวกัน  เมื่อศึกษาจากแนวคิดของ  Hussey (1995: 64) ที่เรียกว่า รูปแบบ EASIER แนวคิดการจัดการความรู้ และระบบการประกันคุณภาพ ตามวงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) ทำให้เห็นว่าสามารถบูรณาการเข้าด้วยกัน เป็นการบูรณาการการประกันคุณภาพ (Quality – Assurance - QA) และการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ให้เป็นวิถีแห่งการทำงาน มีรายละเอียดดังนี้

 

รูปแบบ EASIER ในการพัฒนาระบบบูรณาการ

                  EASIER มาจากคำย่อของ Envision, Activation, Support, Implement, Ensuring และ Recognition กรอบความคิดมีรายละเอียดดังนี้

                  1.  การมองเห็นภาพร่วมกัน  (Envision) 

                          หมายถึง  การสร้างเป้าหมายสุดท้ายที่ให้ทุกคนในโรงเรียน  มองเห็นภาพว่าภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นเป็นภาพอะไร  มีลักษณะอย่างไร  มีวิสัยทัศน์ที่ทุกคนมีส่วนร่วม และเห็นพ้องกัน

                          การที่จะให้บุคคลมองเห็นภาพร่วมกัน  จึงต้องจัดกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน      ร่วมคิด  ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อมาร่วมปฏิบัติงาน

                  2.  การกระตุ้น (Activation)

                          หมายถึง  การให้กำลังใจ  การกระตุ้นให้บุคลากรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์กร  การเข้าใจวิสัยทัศน์  และกระบวนการทำงานที่ตรงกัน  ไปในทิศทางเดียวกัน  ให้เกิดความมั่นใจและมีความมุ่งมั่น  โดยกระบวนการมีส่วนร่วม ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge Sharing) ผู้นำจึงถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความรู้ในองค์กร (Embed Knowledge) ให้มองเห็นเป้าหมายที่ตรงกัน ในการกระตุ้นควรกระทำเป็นระยะ ๆ ทำตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการทำงานและระยะต่อมาอย่างต่อเนื่อง การกระตุ้นเป็นการเสริมแรงที่ดี

                  3.  การสนับสนุน  (Support)

                          หมายถึง การสนับสนุนจากผู้บริหาร ข้อนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ  เมื่อมีกระบวนการทำงานที่เรียกว่า  กระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) หมายถึงการกำหนดงานให้ทำแล้ว หรือให้มีส่วนร่วมแล้ว จำเป็นต้องมีกระบวนการสนับสนุน (Support Process) ได้แก่การให้กำลังใจ การสนับสนุนปัจจัยทางกายภาพ ที่จะทำให้งานดำเนินไปได้สะดวก อย่าให้ติดขัดโดยกระบวนการในระบบราชการ ที่เรียกว่าระบบคอขวดให้หมดไป การเตรียมการสนับสนุน จึงเป็นสิ่งจำเป็นในระบบปฏิบัติงาน

                  4.    การปฏิบัติงาน  (Implement)

                          หมายถึง  การพัฒนาระบบแผนงานที่ดีที่ได้มาจาก  การนำวิสัยทัศน์มาทำเป็นแผนกลยุทธ์   จากการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน  หรือมาทำเป็นแผนงานสำหรับสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน  มีช่วงเวลาและ  ผู้รับผิดชอบ

                          ในการปฏิบัติงาน  จะต้องกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น

                          4.1  การสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ต้องปฏิบัติ

                          4.2  กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ

                          4.3  มอบหมายผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอน

                          4.4  มีทีมทำงานและโครงสร้างการทำงานสนับสนุน

                          4.5 กำกับเป้าหมายของการทำงานให้เป็นไปตามนโยบาย

                          4.6  การปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องมีความชัดเจนเข้าใจเหตุผลเป็นที่ยอมรับ

                  5.  ตรวจสอบให้มั่นใจ (Ensuring)

                          หมายถึง  การตรวจสอบให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติงาน  ได้แก่กระบวนการควบคุม ติดตาม และประเมินผล  ซึ่งอาจมีการควบคุมโดยใช้เครื่องมือ  เช่น Gantt chart หรือ PERT การควบคุมโดยกลไกการติดตามโดยผู้บริหารระดับต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือให้เกิดผลอย่างน้อย 4 ประการ คือ

                          1.  การปฏิบัติตามเวลาที่กำหนดในแต่ละขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง

                          2.  การปรับปรุงแผนเมื่อมีสถานการณ์ใหม่

                          3.  การปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

                          4.  การปรับแผนการปฏิบัติงานตามผลการประเมินสถานการณ์

                  6.  การชื่นชมร่วมกัน (Recognition)

                          หมายถึง  การให้กำลังใจ  การเสริมกำลังใจคนทำงาน  โดยการยอมรับความสามารถของแต่ละคน  และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น  เป็นองค์ความรู้หรือบทเรียน  ถือว่าเป็นบทเรียนได้ให้กำลังใจ  ไม่ให้ย่อท้อ  และให้ข้อสังเกตและแนวทางการแก้ไขในโอกาสต่อไป  สามารถนำมาพูดให้ความชื่นชมในจุดที่ดีได้  การชื่นชมร่วมกันนี้  ทำให้เป็นวัฒนธรรมของคนทำงานออกมาชื่นชมร่วมกัน  และให้ข้อสังเกตกัน  ถือว่าเป็นการพัฒนาระบบทำงานที่มองคนในแง่ดี  บรรยากาศการทำงานจะดีขึ้น  ความร่วมมือก็จะมีมากขึ้นด้วย

ประโยชน์ของการจัดการความรู้ต่อสถานศึกษา

                เพื่อให้การบูรณาการงานประกันคุณภาพกับการจัดการความรู้กับวิถีการทำงานเป็นเรื่องเดียวกันได้กลมกลืน  มีประโยชน์  ดังนี้

                1.   จัดทำแผนกลยุทธ์ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรทุกฝ่ายมีส่วนร่วม นำแผนการประกันคุณภาพ  แผนการจัดการความรู้  และแผนงานปกติมาบูรณาการเป็นแผนเดียวกัน

                2.  สร้างความเข้าใจกับบุคลากรให้มองเห็นงานประกันคุณภาพอยู่ในวิถีการทำงาน การทำงานต้องให้เกิดคุณภาพ  วิธีการหรือกระบวนการคุณภาพต้องให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์

                3.  สร้างระบบฐานข้อมูลให้เป็นเรื่องเดียวกัน  ทั้งข้อมูลบริหารงานทั่วไป ข้อมูลการประกันคุณภาพ  และข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน

                4.  ได้จัดทำ Focus Group หรือ กิจกรรม KM เพื่อร่วมกันหาปัจจัยทำให้การบูรณาการการประกันคุณภาพ  กับการจัดการความรู้ไปสู่วิถีแห่งการทำงานค้นหาปัจจัยที่ประสบความสำเร็จ (Key Success Factors  = KSF)  เพื่อจัดทำตัวชี้วัด (Key Performance Indicator = KPI)

                5. จัดงบประมาณเพื่อการดำเนินการตามแผนงานและตัวชี้วัด มีผู้รับผิดชอบกำกับความก้าวหน้า

                6.   ประเมินผลและทบทวนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

                7.   สร้างนิสัยการทำงานให้มีแผน ทำงานตามแผนอย่างมีคุณภาพ และปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง

                8.   ตั้งแต่ข้อ 1 7 จะไม่สำเร็จถ้าไม่ได้มีความคิดบูรณาการ บูรณาการความคิดและบูรณาการการกระทำอย่างจริงจัง

                9.   หัวใจของความสำเร็จของการบูรณาการทั้งหมด อยู่ที่ผู้นำและผู้ปฏิบัติงานทุกคนร่วมกัน ผลักดันไปสู่เป้าหมายอย่างจริงจัง

 

บรรณานุกรม

 

  “รูปแบบการบูรณาการการประกันคุณภาพภายใน (Quality Assurance - QA) และการจัดการ   

               ความรู้ (Knowledge Management - KM) ให้เป็นวิถีแห่งการทำงาน”.  [ออนไลน์]. 

               เข้าถึงได้จาก  :  http://dusithost.dusit.ac.th/~ei/article/011.doc 

หมายเลขบันทึก: 245081เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2009 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท