ข้อคิดจากเรื่องสั้นเชิงการบริหารจัดการ


ข้อคิดจากเรื่องสั้นเชิงการบริหารจัดการ

การจัดการคุณภาพเป็นนวัตกรรมการบริหารที่สำคัญ

 

   หนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของผู้นำการเปลี่ยนแปลงก็คือการจัดการคุณภาพ ชื่อก็บอกความสำคัญอยู่แล้วว่าในวงการศึกษา คือ การทำให้นักเรียนมีคุณภาพ ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายต้องการนั้นต้องมีการจัดการโดยเฉพาะ เริ่มตั้งแต่การสร้างวงจรคุณภาพนั้นมาในทุกระบบงาน หรือวาง PDCA ที่คุ้นเคยกัน น่าเสียดายที่ความเข้าใจจุดตั้งต้นของวงจรนี้คือ P ว่าเป็นการวางแผนทำให้กระบวนการที่ตามมาทั้งหมดคลาดเคลื่อนไป ที่จริงความหมายของ P ในการจัดการคุณภาพนั้น ต้องการให้ทุกระบบมีการวางวัตถุประสงค์และกระบวนการทำงานที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์หรือคุณภาพตามความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงน่าจะแปลว่าการวางระบบมากกว่า เพราะเมื่อวางระบบได้ดี มีวิธีปฏิบัติในกระบวนการที่สนับสนุนให้ทุกคนในระบบทำตรงกัน (D) ก็จะทำให้ทุกคนทำงานโดยมีคุณภาพใกล้เคียงกัน หรือมีการผลิตซ้ำคุณภาพ ส่วนการประเมินทบทวนระบบ (C หรือ S) และการปรับปรุงระบบ (A) ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อทำไปหลายๆ รอบ ระบบเหล่านั้นก็จะมั่นคงเป็นวัฒนธรรมขององค์กร แม้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ระบบก็ยังดำเนินดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพ แต่ถ้าเราเน้นแค่วางแผน ทำตามแผน ฯลฯ ในกิจกรรมต่างๆ ก็ไม่ทำให้ระบบงานที่จะมีกระบวนการและวิธีปฏิบัติอย่างชัดเจน และประกันว่ามีคุณภาพเกิดขึ้นได้ กิจกรรมต่างๆ ก็ยังคงคิดและดำเนินการอย่างแยกส่วนอยู่นั่นเอง

 

 

 

นวัตกรรมการบริหารทรัพยากรมนุษย์

คน" ต้องออกแบบพัฒนาจริงหรือ? เป็นคำถามที่หาคำตอบได้มากมายหลากหลาย ตามแต่ประสบการณ์ความเชื่อ การกระทำ การค้นหาแนวทางใหม่ๆ มาดำเนินการ แต่คนเรานั้นออกแบบไม่ได้ ต้องอยู่ในกรอบ ในที่จำกัดที่ขีดเส้นให้เดิน แต่เชื่อกันว่าเมื่อได้พัฒนาเขาเหล่านั้นแล้ว เขาจะมีความคิดอิสระในการตัดสินใจดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่องค์กรต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ฉะนั้น การออกแบบพัฒนาคนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่องค์กรต้องทำ

ในความเชื่อของการบริหารจัดการทรัพยากรคนนั้น การออกแบบพัฒนาต้องคิดและทำอย่างมีนวัตกรรม หรือ Innovation นวัตกรรม แปลว่า การทำใหม่ หรือสิ่งใหม่ที่ทำขึ้นมา คนเรานั้นจะมีนวัตกรรม ต้องรู้จักสร้างสรรค์ ต้องมีความพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นอยู่ หรือความพึงพอใจ ความสุขสบายของตัวเอง ไม่ใช่คอยปรับตัวเองจนรู้สึกอึดอัด

คนเรานั้นต้องพัฒนาให้สามารถแก้ปัญหาด้วยความคิดที่ลื่นไหล เป็นระบบระเบียบ พอทางหนึ่งตันต้องหาทางใหม่อยู่เสมอ ช่วยกันหาทางฝ่าทางตันให้ได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ควบคู่กันไปกับการพัฒนาคนขององค์กร ความสัมพันธ์ของนวัตกรรมกับเทคโนโลยีจึงมีความใกล้ชิดกัน เนื่องจากนวัตกรรมเป็นการนำความคิดไปพัฒนาจนได้มาซึ่งสิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมสามารถนำไปใช้ได้ไม่เลือกว่าจะเป็นองค์การใดก็ตาม ดังนั้น ในแง่การบริหารทรัพยากรมนุษย์แล้ว การพิจารณาถึงหลักการด้านนวัตกรรมจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ชัดเจน แม้ต้องเปลี่ยนอะไรๆ หลายอย่างก็ตาม เพราะจะเป็นนวัตกรรมไปไม่ได้ถ้าไม่รักการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

นวัตกรรมจะสำเร็ตได้ต้องอาศัยภาวะผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าเปลี่ยนแปลง บวกกับการบริหารจัดการ ภาวะผู้นำจะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เราหวังไว้ได้ ทำให้เราเกิดพลังในการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ พร้อมที่จะเดินก้าวไปอย่างเร็วๆ แต่มั่นคง เพื่อให้บรรลุจินตทัศน์ที่วางไว้ การบริหารจัดการที่ดี ต้องมีการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างประหยัด การดำเนินงานต่างๆ ก็จะราบรื่นไปด้วย เช่น ถ้าเรากำหนดจินตทัศน์ในการพัฒนาคนไว้ว่า

1. เราต้องการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติ และมีทักษะที่ดี โดยผสมผสานศาสตร์แขนงต่างๆ เข้าด้วยกัน

2. เน้นการพัฒนาคนควบคู่ไปกับการวิจัย พัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม

3. ต้องส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม ตลอดจนสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาออกมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

4. ต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและโปร่งใส เป็นธรรม

องค์ประกอบที่สำคัญ 6 ประการในการบริหารจัดการที่น่าสนใจ ได้แก่ การกำหนดทิศทาง (Sense of Direction) การวางยุทธศาสตร์ (Strategy) การจัดเรื่องระบบงาน (System) บุคลากร (Staff) โครงสร้าง (Structure) เพื่อการเตรียมงบประมาณ และการประเมินตนเองเพื่อพัฒนา (Self-Assesssment) โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ คือ

1. การบูรณาการ เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นศาสตร์ด้านต่างๆ
2. นวัตกรรม เป็นกลยุทธ์ที่เน้นการสร้างกระบวนการเรียนการอบรมที่ให้พนักงานเป็นศูนย์กลาง
3. ความเป็นสากล มุ่งเน้นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น

การพัฒนาระบบงานและบุคลากรเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีหลักการมากมายมาพัฒนาคน แต่ขอให้อย่ายึดติดรูปแบบจนทำอะไรทะลุนอกกรอบไม่ได้ เมื่อเราทำอะไรแบบติดกรอบจะทำให้เป็นการปิดกั้นนวัตกรรมได้เช่นกัน นอกจากนั้นแล้วหลักการส่วนใหญ่เกิดที่ต่างประเทศ อาจไม่เหมาะกับบ้านเราสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยมและวัฒนธรรมการทำงานด้วยแล้ว ต้องคำนึงถึงกรอบโครงร่างในการทำงาน ซึ่งได้แก่ แบบจำลองการบริหารเชิงกลยุทธ์อย่างที่กล่าวไว้ใน 6 องค์ประกอบข้างต้น ที่สำคัญต้องรู้สึกสนุก คนทำงานมีความสุขสนุกกับงานที่ทำ ยินดีที่จะทำเพราะมีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานนั้นๆ โดยเฉพาะการใช้ความคิดเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนามากๆ

ที่มา : http://www.jobroads.net/Article/ViewArticle.asp?ID=214

หมายเลขบันทึก: 244739เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท