เปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้การศึกษาไทย


เปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้การศึกษาไทย
เปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้การศึกษาไทย

รายการคม-ชัด-ลึกตอนเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้การศึกษาไทย

เรื่องวุ่นๆ ในแวดวงการศึกษาไทยยังมีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ข่าวคราวความวุ่นวายในระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบแอดมิชชั่นส์ และล่าสุด กับข่าวการเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ที่ต้องใช้ตำราแบบใหม่ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถหาหนังสือใหม่ตามหลักสูตรใหม่ให้เด็กใช้ทัน

รายการ คม-ชัด-ลึก วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ตอน : เปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้การศึกษาไทย นำผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษามาให้ความกระจ่างว่า ข่าวคราวที่สร้างความสับสนนั้น ข้อเท็จจริงคืออะไรกันแน่

 

หลักสูตรใหม่-หนังสือเดิม เฉพาะ ร.ร.ที่ร่วมโครงการ

วินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เท้าความถึงสาเหตุการเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ว่า หลักสูตรการศึกษาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นหลักสูตรของปี 2544 โดยมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2544

แต่ในปี 2545 ก็ยังไม่มีโรงเรียนทั่วไปนำหลักสูตรใหม่ไปใช้ ยกเว้นโรงเรียนนำร่องที่ใช้หลักสูตรไปก่อน 500 กว่าแห่ง ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาครั้งใหม่ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 แต่ก็ยังไม่มีการนำเอาหลักสูตรใหม่ไปใช้ และมาใช้ทั่วประเทศในปี 2546

อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 โรงเรียนทั่วไปก็ยังไม่มีการใช้หลักสูตรใหม่ ยกเว้นโรงเรียน 2 กลุ่ม คือ

  • 1.โรงเรียนต้นแบบ จำนวน 555 แห่ง
  • 2.โรงเรียนที่มีความพร้อมจะขอใช้หลักสูตรใหม่อีกประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ซึ่งผ่านการประเมินเบื้องต้นโดย สมศ.แล้ว

ทั้งนี้ โรงเรียนในกลุ่มที่ 2 คงไม่มีไม่ถึง 4,000 กว่าแห่ง เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือก โดยต้องมีเงื่อนไขว่า ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ผอ.โรงเรียน และครูในโรงเรียน ต้องมีความพร้อมด้วยกันทั้งหมด

เมื่อ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียน มีความพร้อมก็ต้องมีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกัน เพื่อใช้หลักสูตรใหม่ แม้จะเป็นหลักสูตรใหม่ แต่หนังสือเรียนก็ใช้ตำราเรียนเดิม เพราะเนื้อหาหลักสูตรเดิมกับหลักสูตรใหม่แทบไม่ต่างกัน

แต่หลักสูตรใหม่จะเน้นกระบวนการคิดมากกว่าเดิม เพราะผลการวิจัยของ สพฐ.พบว่า จุดอ่อนของเด็กไทย คือ คิดวิเคราะห์ไม่ค่อยเป็น

ส่วนกรณีที่มีบางสำนักพิมพ์มีความพร้อมก็คงต้องให้ทั้ง 21 สำนักพิมพ์มาคุยกับ สพฐ.ว่าจะเอาอย่างไร เช่น อาจจะออกหนังสือใหม่เฉพาะรายวิชาก่อน เช่น วิชาสังคม ซึ่งเนื้อหามีการปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคมตลอดเวลา แต่เรื่องนี้ต้องผ่านการพูดคุยกันก่อน

 

ต้องเน้นให้เด็กไทยคิดเป็น ถึงจะตามชาติอื่นทัน

ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มองว่า สิ่งที่ต้องมีการปรับปรุงจริงๆ คือ การเน้นกระบวนการคิดให้เด็กไทย เพราะเด็กไทยยังขาดการสอนให้คิดวิเคราะห์อยู่มาก

เช่น ที่เมืองนอกครูจะสอนการทำโจทย์น้อยมาก แต่จะสอนให้คิด เช่น มีคน 9 คน แต่มีเค้ก 9 ชิ้น ถ้าเป็นนักเรียนจะแบ่งกันอย่างไร ซึ่งครูจะให้อิสระในการคิดทำให้คำตอบออกมาหลากหลายมาก

ขณะที่เด็กไทยจะถูกสอนให้ท่องจำ เช่น จำชื่อ หรือวันเดือนปีเกิดของนายกฯ หรือรัฐมนตรี ซึ่งเปลี่ยนบ่อยมาก และไม่ค่อยเกิดประโยชน์อะไร แต่อย่างต่างประเทศจะสอนให้ท่องจำเฉพาะคนที่สำคัญๆ หรือเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเท่านั้น

ดร.อุษณีย์ ย้ำว่า ถ้าระบบการศึกษาเราไม่เร่งเรื่องวิธีคิด และตำราเรียนยังเน้นการทำกิจกรรมกลุ่มมากกว่าการสอนให้เด็กคิดเป็น ประเทศเราจะมีปัญหา และจะตามไม่ทันแม้แต่เวียดนาม

 

วิทย์ไม่ต้องปรับ แต่ถ้าเป็นสังคมก็ควรเปลี่ยน

อ.พรพิมล ชาญชัยเชาว์วิวัฒน์ ครูวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ โรงเรียนบางมดวิทยา "สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์" มองว่า เท่าที่ดูหลักสูตรของเก่ากับของใหม่ก็แทบไม่ต่างกันมาก

ดังนั้น จึงมองไม่เห็นปัญหา หากจะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร แต่ในบางวิชาที่มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคมตลอดเวลา เช่น วิชาสังคม ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้ทันยุคทันสมัยตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ก็แทบไม่มีอะไรที่จะต้องปรับเปลี่ยนเลย

ส่วนการปรับรูปแบบการสอนจากระบบบช่วงชั้นเป็นระบบช่วงปีตั้งแต่ ป.1-ม.3 อ.พรพิมล ก็มองว่า ถ้ามีการปรับระดับการเรียนให้เหมาะกับช่วงปีได้อย่างถูกต้องจริงๆ ก็ไม่น่ามีปัญหากับเด็ก แต่ถ้าปรับให้สูงหรือต่ำกว่าระดับของเด็กมากเกินไปก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้

ส่วนปัญหาเรื่องคุณภาพของนักเรียนที่ตกลงไป อ.พรพิมล คิดว่า หนังสือเป็นเพียงส่วนประกอบในการสอนอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วอยู่ที่เทคนิคการสอนของครูมากกว่า

 

หลักสูตรใหม่จะเน้น "วิธีคิด" ให้มากขึ้น

ทิพาพร อ.สุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บริษัทสำนักพิมพ์แม็ค จำกัด ระบุว่า ขณะนี้ทางสำนักพิมพ์ก็พัฒนาหนังสือตามหลักสูตรใหม่ไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะคิดว่า ถ้าสามารถทำได้ทันปีการศึกษานี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

โดยหลักสูตรใหม่จะปรับจากหลักสูตรปี 2544 ซึ่งจะเปลี่ยนจากการจัดเนื้อหาจากช่วงชั้นเป็นช่วงปี เช่น เนื้อหาบางส่วนเดิมอาจจะอยู่ ป.3 ก็มาอยู่ ป.1-ป.2 เป็นต้น

สำหรับหลักสูตรในปี 2551 ก็จะเน้นการคิดวิเคราะห์เข้าไปด้วย จึงไม่ต้องกังวลในส่วนนี้มากนัก เพราะ สพฐ.ได้ศึกษาข้อดีข้อเสียของหลักสูตรเก่า และได้ปรับปรุงเรื่องนี้ไปหมดแล้ว



ขอบคุณที่มา : คม ชัด ลึก
25 กุมภาพันธ์ 2552
 

คำสำคัญ (Tags): #ข่าวการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 244697เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท