การเดินหมาก ตามตำราของนายบุญแถม ปิติยานนท์


การเดินหมากรุก
โดย บุญแถม ปิติยานนท์

งานเขียนเกี่ยวกับหมากกระดานเก่าๆ ที่มีผู้สนใจและติดต่อสอบถามเข้ามามากที่สุดคืองานเขียนของบุญแถม ปิติยานนท์ ชื่อ การเดินหมากรุก ตั้งใจว่าจะอัดเป็นสำเนาและส่งให้กับทุกท่านที่ต้องการแต่พอเห็นจำนวนแล้วคิดว่าคงยุ่งยากพอสมควรและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักหมากรุกไทยหรือผู้สนใจทั่วไปด้วย จึงขออนุญาตทายาทของท่านเจ้าของผลงานนำมาแสดงไว้ในที่นี้ หากเห็นว่าไม่เหมาะสมประการใด โปรดแจ้งให้ทราบด้วยครับ

-------------------------------------
การเดินหมากรุก
โดยบุญแถม ปิติยานนท์ เนติบัณฑิต อดีต ส.ส. จังหวัดสระบุรี ได้เขียนไว้แต่ปี พ.ศ. 2488 ได้รับการพิมพ์หลังจากผู้เขียนเสียชีวิตแล้ว โดยพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในงานณาปนกิจศพนางหยี เปล่งสีงาม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2514
-------------------------------------

การเดินหมากรุก
ตามที่สังเกตพอจะแบ่งตอนของการเล่นได้หลายตอนตามลำดับคือ
1. ตอนขึ้นหมาก ต้องรักษาถิ่นให้ได้เปรียบไว้ โดยหาทางของหมาก หรือกินให้มากกว่าฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ให้เสียทาง
2. ตอนเตรียมการโจมตี และตั้งรับ ตอนนี้ต้องสังเกตรูปหมากและชั้นเชิงของฝ่ายตรงข้าม จงคิดเดินเชิงล่อ เชิงชนให้ได้เปรียบทาง และได้เปรียบตัวไว้ให้ดี โดยให้แน่ แก่ใจว่าปลอดภัย
3. ตอนเปิดฉากโจมตี หรือถูกโจมตี ตอนนี้เป็นตอนสำคัญที่จะเกิดต่อรองกันขึ้นก็ในตอนนี้ เราอย่าใจร้อนจู่โจมโดยไร้เหตุผล จงระวังอย่าให้เรือเข้าหลังบ้าน และถูกขนาบเสียท่าตรง หน้าขุนคือโดยทั้งทางบกและทางเรือจะทำให้เราตั้งตัวไม่ติด หรือไม่ก็ถูกบีบรัดเป็นหมากติด ซึ่งเราจะต้องหาทางแก้ไขโดยทางตัดหมากหรือทางใดๆ ก็ตาม จงตั้งมั่นไว้ ก่อน และป้องกันให้ดี ควรตีเสมอได้ให้ตีเสมอ
4. ตอนหลังจากโจมตี หรือถูกโจมตีแล้ว ให้ใช้ทางเดินแบบหันเหียนเวียนวน เพื่อเอาเปรียบเพราะตัวยังมากอยู่
5. ตอนเหลือตัวน้อย
6. ตอนเสียเปรียบกัน ข้างหนึ่งถูกต้อนหนีอยู่เรื่อยๆ ฝ่ายหนียังมีตัวอยู่บ้าง
7. ตอนหนีหรือไล่ โดยฝ่ายหนีมีขุนตัวเดียว การเดินหมากเมื่อได้เปรียบแล้ว จงพยายามโดย ถี่ถ้วนต่อไปจนชนะระวังไว้เสมอ อย่าให้เขาแก้เผ็ดได้ การเดินถ้าเราเสียหายไปบ้าง ก็อย่าวู่วามให้เสียมากไปอีก ผ่อนหนักให้เป็นเบาโดยไม่ท้อถอย

เคล็ดลับของการเอาชนะ

เริ่มในการเล่นแต่การขึ้นถึงตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนสำคัญ ต่อจากนั้นก็ธรรมดา

ในระยะที่กล่าวนี้ ระวังดูหมากฝ่ายเขาฝ่ายเราให้ทั่ว แต้มสำคัญที่เป็น 2 ชั้น 3 ชั้น และ 4 ชั้นจะผุดขึ้นในสมรภูมิเอง ชั้นเชิงล่อ เชิงชน เชิงโยก เชิงย้าย แต้มสำคัญที่ดีทางฝ่ายเรานั้นมักเร้นลับอยู่ ในตอนที่ 2 และที่ 3 ถ้าคิดเพียง 2 ชั้น 3 ชั้น ก็อาจผุดขึ้นในสมรภูมินั้นได้

ให้ใช้เชิงเรือ เชิงม้าเป็นอาวุธไกล เชิงเบี้ยเชิงโคนเป็นอาวุธใกล้ ถ้าชำนาญจำไว้ได้มากก็ได้เปรียบ เช่นเมื่อยังไม่เข้าทำ ถ้าเราจะเอาเปรียบกี่ชั้นก็ตาม ให้คิดต่อไปว่าถ้าเราเดินตัวนั้นมาไว้ที่นั่น จะเสียเปรียบเขากี่ชั้นก็ตาม จงเดินล่อให้เขาเข้ามาให้สมนึก แล้วเราก็เป็นฝ่ายทำ เมื่อได้เปรียบแล้ว จะซ้ำเติมให้ได้เปรียบต่อไป เอาชนะให้เด็ดขาดเสียโดยเร็ว

การได้เปรียบนั้นแม้แต่เบี้ยสูงก็ได้เปรียบ กินมากกว่าและไม่เสียทางก็ได้เปรียบ ข้อสำคัญต้องคิดรวมทั้งกระดานให้ทั่ว การเล่นดีนั้นต้องดูหมากให้ทั่วกระดาน

เคล็ดลับอีกอย่างหนึ่ง คือการถอนเรือถอนม้า และ ฯลฯ ออกจากที่แล้วสลับเบี้ยหรือโคนคล่อม หรือรุกแทนที่ หรืออีกอย่างหนึ่งคือโคนหรือม้าที่ผูกตัวอะไรอยู่ ถ้าเราจับตัวนั้นอยู่แล้วไล่โคนหรือม้าให้จำต้องหนี เขาอาจเสีย อีกอย่างหนึ่งคือกินตัวใดตัวหนึ่ง แล้วรุกคาด อีกอย่างหนึ่งคือบังคับขุนหรือตัวใดตัวหนึ่งให้เข้าเปิดรุกจะได้กินเขาได้

การเดินหมากรุกที่ดีต้องเดินไปฉับหนึ่งเขาต้องเสียหลายทาง แก้ยาก ทั้งนี้ต้องแล้วแต่โอกาสที่จะมองเห็น

อนึ่งปัญหาสำหรับการโจมตีก่อน โดยให้เขาเสียหลักถ้าช้าไปเพียง 1 ครั้ง เขาอาจป้องกันเสียเช่นนี้เราต้องรีบทำให้ทันท่วงที ถ้าไปอาจเสียโอกาส โอกาสอีกอย่างหนึ่งคือ เกี่ยวกับการต้อนขุนฝ่ายตรงข้ามให้อยู่โดดเดี่ยว หรือเข้ามาในที่อับจน หรือคับขันให้รีบกระทำ เมื่อไตร่ตรองแล้วว่าทางเราไม่เป็นอะไรอีกอย่างหนึ่ง คือเราเอาเรือเขาผูกอยู่ แล้วเราเอาอะไรต่อเข้าไม่กล้าเปิดเพราะอาจเสียเรือ

การเดินหมากรุกวิธีที่ 2
1. การบุกนั้นดีเมื่อได้โอกาส และแต้มเขาอ่อนกว่าหรือไล่เลี่ยกัน
2. ถ้าแต้มเขาเหนือกว่า เราอย่าบุก บุกแล้วมักทำอะไรไม่ได้เราเสียท่าภายหลัง ถ้าเขาเหนือกว่าเราจงพยายามป้องกันตัว เห็นเสียท่าตีเสมอไว้ จงใจเย็นอย่ามุทะลุ
3. การเล่นหมาก ถ้าเขาป้องกันดี การขึ้นดี จงอย่ากินเขาก่อน ถ้ากินก่อนมักเสียเปรียบและเสียทาง
4. ป้องกันเขาไว้เป็นการดี ให้เขาทำฝ่ายเราก่อน
5. ป้องกันนั้นง่ายกว่าเข้าทำ ป้องกันดีเขาเสียท่าไปเอง หรืออย่างน้อยก็เสมอ
6. อย่าตื่นอันตรายแก่ขุน ให้ยืนในที่ปลอดภัยเสมอ
7. ตั้งค่ายให้แน่นหนาแข็งแรงก่อนทำเขา ผูกให้แน่นกันให้ดี ให้ได้ช่องจริงๆ จึงรีบทำก่อน
8. จะทำเขาให้ดูผลปลายมือ ว่าเราเสียเปรียบไหม
9. ล่อเขาทำบ้างก็ได้

ทางเอาเปรียบปรปักษ์อีกด้านหนึ่งคือ
1. รุกล่อให้ขุนกินเปล่า หรือแตกพวก แล้วบีบบังคับให้จน หรือเสียเปรียบ หรือได้ทาง
2. รุกหรือไล่ตัวใดตัวหนึ่ง เพื่อก้าวไปรุกคาดหรือคร่อม หรือเอาเปรียบโดยเราใช้ม้าหรือตัวอื่น
3. กันตัวใดตัวหนึ่งของเข้าแล้วก้าวไปรุกคาด

ข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่งคือ
1. เรามีทางทำเขาได้อย่างไร ต้องระวังเขาจะใช้วิธีนั้นทำแก่เราบ้าง วิธีระวังก็ต้องเดินวางรูป อย่าให้เขาใช้วิธีต่างๆ ทำเราได้
2. การล่อหลอกให้เขาพลาดหรือหลวมตัวด้วยอุบายสุขุมและคิดไกลนั้นดีมากอยู่เหมือนกัน เช่น กินดึงตัวใดให้เขากินแทนแล้วเสียเปรียบ หรือเดินให้เขาป้องกันหลวมตัวในทางอื่น
3. เดินสกัดเกี่ยวโยงพรอมกันให้เขาหลีกเลี่ยงก็เสียท่าเสมอ ทั้งนี้ให้ทำในเมื่อมีโอกาส
4. พยายามเอาเปรียบตอนขึ้น
5. พยายามเดินผูกอย่างมั่นคง
6. หาทางขึ้น
7. เอาเปรียบด้วยการกดหน้าขุนกินสลับกันหลายชั้น
8. เรือซ้อน แล้วรุกทยอยซ้อนกันก็ดี
9. พยายามเอาเรือเข้าหลังบ้าน แต่ระวังอย่าให้เขาขังเรือเราได้
10. เดินกันเขามิให้ทำเรา แต่เราใช้วิธีเอาเปรียบให้จงได้ อีกอย่างหนึ่งควรหาทางทำหรือทำให้เขาเป็นหมากติด คือจับตัวใดก็เสียหายเขาแก้ไขไม่ได้ก็แพ้
11. ขุนถ้ามีการคุ้มกันด้วยม้าหรือโคน เม็ด เบี้ย เรือ ทำให้คุ้มภัยได้ การคุ้มภัยโดยวางเรือก็ดี บางทีเอาเบี้ยคว่ำบังหน้าขุนก็คุ้มภัยได้ แต่ควรมีตัวอื่นของเราประกอบด้วย
12. เมื่อเรือเขาจะเข้าถ้าเรากันไม่ได้เราต้องระวังขุนและระวังการเสียตัวอื่นๆ เช่นเบี้ยคว่ำแนวหลังเป็นต้น ซึ่งทำให้เป็นรองและแพ้ได้
13. การขึ้นต้นสำคัญ ต้องพยายามเอาเปรียบ ทาง กินเปล่าหรือกินให้มากกว่าพร้อมกับมุ่งทาง การบุกต้องบุกมุ่งให้จนโดยเร็วก่อนอื่น โดยอย่าให้เราเสียหาย พร้อมกับระวังขุนเราหรือความเสียหายฝ่ายเรา
14. ถ้าบุกบั่นเขาไม่ได้ จงพยายามเอาเปรียบทีละน้อยก็ยังดี เขาแพ้เองปลายประดาน
15. ถ้าเห็นเราเสียท่า ให้รีบตัดหมากหรือทำให้เสมอไว้ได้ก็ยังดีกว่าเสี่ยงภัยต่อไป
16. จงเดินด้วยความฉลาดรอบคอบ หาทางเดินให้มีทางทำและคุ้มกันได้หลาย ๆ แบบ
17. เมื่อเขาเดินมาเราต้องมีไหวพริบให้รู้เท่าทันว่าเขาจะทำอะไรต่อไป และจะให้เราเสียหายอย่างไร
18. จงจำกลวิธีต่าง ๆ ไว้ให้มาก
19. การกักตัวเขาไว้ หรือกักกิน หรือกดเรือไว้ไม่ให้เปิด ก็มีกลวิธีหลายอย่าง
20. การกดเรือหรือกดหน้าขุน ก็มีผลดี
21. ขุนควรหลีกตากด
22. ควรเดินผูกกันไว้ให้แน่นหนา
23. เบี้ยคว่ำมีอะไรติดเบี้ยคว่ำบังทางเอาไว้ก็ดีเหมือนกัน
24. วิธีทิ่มเบี้ยที่สำคัญเอาเปรียบในทางและทางป้องกัน การเล่นหมากรุกกับนายพริ้ง การขึ้นทิ่มเบี้ยขวาตราที่จะมีให้เขาทิ่มเบี้ยสูงทิ่มตรงนั้น และควรขึ้นม้าเทียบแล้วไขว้ม้า การขึ้นเขาดีเอาเปรียบก่อน กับเขาแก้ดี เวลาทำก็ดี
25. พยายามกินเบี้ยคว่ำแนวหลังเขาให้ได้ ตรงที่เรามีเบี้ยสูงไว้ยิ่งดี
26. ม้ากับเบี้ยหงาย จงพยายามเดินให้เข้ากันให้ดี มีอำนาจเช่นม้าคู่ เหมือนกัน

คติของหมากรุก
ไม่โลภโมโทสัน ป้องกันให้ดี
ไม่โจมตีเสี่ยงภัย เอาเปรียบไว้ทีละน้อย
ชนะจะลอยมาเอง

1. เพียรพยายามใช้ชั้นเชิงต่าง ๆ จับเรือ ม้า โคน เม็ด เบี้ย เขาให้ได้ ถ้าเรากินได้แม้เพียงตัวเดียวก็เป็นต่อเขา อาจถึงชัยชนะขั้นเด็ดขาดได้
2. ม้าคู่ เรือคู่ โคนคู่ เบี้ยคู่ ม้าผสมเรือ ม้าผสมเบี้ย ม้าผสมโคน เรือผสมโคน เรือผสมเบี้ย หมากประกอบกับสิ่งดังที่กล่าวมานี้ สามารถกักตัวเดินไว้ได้มาก และมีอะไรแปลก ๆ ดี ทำให้อีกฝ่ายดูยากและจะงงไปเอง เพราะมัวพะวงหน้าพะวงหลัง ถ้าเรามีความชำนาญในการใช้จะได้เปรียบมาก

เล่ห์เหลี่ยมหมากรุกนั้น เหลือที่จะพรรณนาให้จบสิ้นได้ เวลาเล่นจะเอาชัยชนะต้องสมองสดใสไร้กังวล และพร้อมที่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของฝ่ายตรงข้าม เพื่อป้องกันตัวเราเอง และใช้ไหวพริบโจมตีฝ่ายตรงข้ามให้ได้หลายอย่างหลายประการ จะใช้ประการไหนก็แล้วแต่ การเดินหมากและกลวิธีที่เราได้จดจำเอาไว้ และมีเชาว์ปฏิภาณดี ก็จะเป็นผู้เล่นเอาชัยชนะได้ จัดว่าเป็นผู้เล่นดีมีแต้มสูง

หลักแห่งชัยชนะ

1. จงดูการขึ้นหมากของฝ่ายเรา พยายามให้อยู่ในที่ไม่เป็นอันตรายและเสียหาย
2. จงดูการขึ้นหมากของฝ่ายตรงข้ามถ้าเป็นอันตรายหรือเสียหาย มีช่องโหว่ก็จงรีบเข้าทำ
3. ถ้าดูแล้วเขาไม่เป็นอันตราย หรือเสียหายก็ให้คิดข้ามไปว่าตัวอะไรของเราเช่น ม้า โคนเรือ ไปวางตรงไหน เขาจะเป็นอันตรายหรือเสียหายจนแก้ยาก ก็จงเดินอ้อมค้อมให้ไปสู่ทิศทางนั้นโดยให้เราปลอดภัยด้วย
4. ถ้าตัวไหนเขาขัดขวางอยู่ กันมิให้เราทำเขาจนเป็นภัยได้ ก็จะเดินหลอกล่อลวงให้เขาเอาตัวนั้นจากไป
5. ถ้าเขาตั้งอย่างไร จะเสียหายก็เดินทำอุบายให้เขาไปทางนั้นก่อนแล้วจึงลงมือทำ
6. ถ้าเราอยู่ในที่ไม่ปลอดภัย ก็จงคิดว่าถ้าเราเอาอะไรตั้งอย่างไรจึงจะปลอดภัย ก็จงเดินให้เข้ารูปและป้องกันไว้ให้มั่น
7. บางทีหมากมีรูป ซึ่งถ้าเรากินตัดหมากหลายชั้นแล้วทำให้เขาเสียหาย หรือเข้าที่อับจน หรือเป็นหมากติดพันได้ ถ้าสอดส่องเห็นดังนั้นจงลงมือกินตัดทันที

ความคิดเห็นของผู้เขียน
1. การเดินหมากนั้นสำคัญที่จิตใจเป็นหลัก และสำเร็จได้ด้วยใจ คือต้องทำจิตใจให้สดใสมีความรู้สึกมั่นใจ ไม่ตื่นเต้น และปอดกระเส่า
2. นอกจากความสามารถเชิงการใช้แต้มในกระดานแล้ว ก็ควรมีท่าวทีกิริยาวาจาให้สมกับเป็นนักกีฬาที่ดี อย่าเห็นแก่ตัวจนน่าเกลียด จงเป็นผู้เสียสละตามควรแก่กรณี
3. ท่วงทีในการเดิน จับตัวแล้วเดินให้เด็ดขาด อย่าเป็นหมากเดี๋ยวจับหมากวางหมาก ให้เป็นที่น่าเกรงขาม ทำกิริยาวาจาให้ฝ่ายตรงข้ามงงงวยมักสำเร็จประโยชน์ตามคาดคิด
4. จงเป็นนักหมากรุกที่มีหลัก คือ เดินเป็นหลักให้มั่นคง การโจมตีก็ต้องมีจุดหมายเป็นหลักไว้เสมออย่าเดินโดยไม่มีหลักการ
5. เดินอย่างสุภาพ ป้องกันตัวแต่ด้านเดียวก็ไม่ดี ดูเป็นการขลาด จงเดินให้สุภาพ ประกอบด้วยความโลดโผนพอสมควร คือต้องเป็นหมากป้องและหมากบุก
6. จงหาตาเดินให้เป็นแต้ม หลายชั้นยิ่งดี ให้เขาเสียหายหลายทาง ต้องป้องกันหลายฝักหลายฝ่าย
7. เมื่อเห็นว่าขุนฝ่ายตรงกันข้าม ถูกเราบุกจนตั้งตัวไม่ติด อาจจะแก้ไขทีทางเหลีกเลี่ยงได้ก็จงเดินป้องกันหลักเลี่ยงไว้ก่อน แล้วจึงลงมือบุกให้เป็นผล
8. การได้เบี้ยหงายแม้จะต้องแลกด้วยตัวใหญ่ บางกรณีมีประโยชน์ได้ทาง และนำมาซึ่งชัยชนะก็จงรบทำให้สำเร็จผล

ในเรื่องแต้มหมากรุก
..............
1. หมากรุกนั้น ถ้าเราเดินดีและอีกฝ่ายไม่หละหลวมเลย ก็ย่อมเสมอกัน แต่บางทีเขาหละหลวมโดยเราไม่รู้ก็เลยไม่ได้ใช้แต้มอะไรทำเขา คงมีอยู่บ่อย ๆ โดยเราไม่รู้สึก
2. เพื่อไม่ให้มีความไม่รู้สึกเช่นนั้นบ่อย ๆ จึงควรหัดพิเคราะห์หมากให้ทั่วกระดานโดยให้เรามีความรู้สึกเจตนจัดในกลวิธีต่าง ๆ อยู่ในใจของเราก่อนไว้เสมอ เมื่อเราได้รู้และพิเคราะห์หมากทั่วกระดานก็มีทางใช้แต้มทำแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้ซวดเซหรือแพ้ได้ ในเมื่อเขาไม่รู้ทันหรือไม่ซึ้งพอ
3. หัดให้มีความรู้สึกสะดุดใจในรูปหมากโดยไว
4. กลวิธีต่าง ๆ นั้นคือกลวิธีที่จะกินเปล่า กินสองหรือได้ทางดีกลวิธีที่จะต้อนขุนเขาให้เพลี่ยงพล้ำหรือให้อยู่โดดเดี่ยว หรือให้จนหรือให้เป็นหมากติด ฯลฯ
5. วิธีที่จะไม่ให้เขาใช้กลวิธีต่าง ๆ แก่เรา เราจงเดินหมากผูกพันไว้ให้แน่นหนา ป้องกันขุนไว้ให้แน่นหนา ป้องกันขุนไว้ให้ดี ป้องกันการรุกล้ำของเขาไว้ให้ดีและการเดินระวังตัวอย่างหนึ่งนั้นก็คือ อย่าให้ขุนอยู่ในที่จะถูกรุกไว้ก่อนถึงเรารู้สึกว่าถูกรุกจะไม่เป็นไรก็ดี ก็ไม่ควรจะให้ถูกรุก เพราะข้อที่เราว่าไม่เป็นไรนั้น อาจจะเป็นไรขึ้นมาก็ได้ ต้องเดินอย่างใจเย็น
6. บางทีถ้าเราเป็นดีแน่ อาจจะเอาขุนเราล่อให้เขารุกเราแล้วเขาเสียหลักแก่เราก็ได้
7. ในเมื่อเขาจับสองหรือจู่โจมเข้ามานั้นเรากะล่วงหน้าว่า ถ้าเขาทำตามประสงค์ของเขา เขาจะเสียหลัก เราอาจนิ่งให้เขราทำก็ได้ แล้วเขาก็พลาดท่าแก่เราทันที
8. เพื่อหาโอกาส ใช้กลวิธีต่าง ๆ ของเรานั้น จงทำตามข้อ 2 ก่อน ถ้าเห็นแง่ที่จะล่อให้เขาตกหลุมพรางได้ก็ต้องล่อแต่ต้องล่ออย่าให้เขารู้จุดหมายรุกถ้าเดินกันเรื่อย ๆ ยันกันไปรุกกันมาป้อง ๆ ปิด ๆ กัน หรือบุกรุกกันเรื่อย ๆ อย่างทื่อ ๆ ก็เป็นการไม่ได้ใช้แต้มไม่ค่อยจะออรสและก็มักเสมอกัน หรือถ้าแพ้กันก็โดยเผลอ หรือกันกันเรื่อย ๆ ซึ่งมักไปแพ้กันปลายกระดาน ก็ดีเหมือนกัน ซึ่งเป็นการดีอย่างเนือย ๆ ไม่ดีเหมือนใช้กลวิธีต่าง ๆ เล่นงานกัน ซึ่งเป็นระบบของการใช้แต้มอย่างสูง และเป็นการเล่นที่น่าดูและออกรส
9. วิธีใช้กลวิธีล่อหลอกเข้าเล่นงานกันนั้นมีมากมาย แล้วแต่การเดินหมากของเราซึ่งเป็นผู้เล่นเช่นเราสะดุดใจรูปหมากขึ้นว่า ขุนของเขาหรือตัวใดตัวหนึ่งของเขาตั้งรูปอยู่เช่นนั้นเป็นที่จะเสียเปรียบเราแต่ยังมีตัวใดตัวหนึ่งของเราหรือของเขาขัดขวางอยู่ ก็จงหาอุบายอย่าให้เขารู้สึกตัว ทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ตัวที่ขัดขวางนั้นเคลื่อนไปเสีย เช่นเราชักเรือออกโดยให้เขามีอุปปาทานไปป้องกันทางอื่นหรือให้เขาจำเป็นต้องต้องป้องกันทางอื่น แล้วเราเอาเบี้ยรุกคล่อมเป็นต้น โดยการรุกคล่อมนั้นทำให้เราเป็นต่อมากขึ้น หรือเช่น เราเห็นรูปทางว่าถ้าเราเดินตัวนั้นตัวนี้จะทำให้เขาเสียท่าถึงจน แต่เขายังมีตัวใดที่จะป้องกันได้อยู่อีก ก็จงหาอุบายเดินให้เขเคลื่อนตัวที่จะป้องกันได้นั้นไปเสีย แล้วเราก็ลงมือทำต่อไป ดังนี้เป็นต้น ฯลฯ ต้องหาแต้มเดิน เดินให้เขาเสียหายถึงสองฝักสองฝ่ายไว้เสมอจึงจะเป็นแต้มที่สูงกว่า
10. วิธีที่จะให้เขามีความจำเป็นต้องป้องกันตัวทางหนึ่ง แต่จะต้องเสียเปรียบอีกทางหนึ่งดังตอนล่างของข้อ 9. นั้นเราอาจล่อหรือเอาเหยื่อตกเบ็ดให้เขากินหรือเดินตัวใดมาไว้ตาหนึ่งแล้ว เราชักเรือ หรือม้าของเราที่ขวางเราอยู่นั้นมาจับตัวที่เขาเดินมา ซึ่งเขาต้อวงคุ้มตัวมี่เขาเดินมานั้นแต่ต้องถูกเรารุกหรือคล่อมอีกทางหนึ่ง เป็นต้น แต่ต้องคิดดูว่าทำดังนั้นจะทำให้เราเป็นต่อขึ้นหรือไม่ ถ้าเป็นต่อก็จงทำไปทันที
11. การเดินหมากต้องเจนจัด ในการคำนวณต้นทุนกำไรเหมือนการค้า คือเมื่อตัดหมากซึ่งคิดหักทอนดูแล้วเราจะได้เปรียบหรือไม่เอาตัวใหญ่แลก ถ้าได้กำไรตัวหรือทางก็แลกได้
12. การเดินหมากนั้นถ้าเขาไม่เปิดช่อง ให้เราใช้กลวิธีทำแก่เขาโดยตรงก็จงตรวจเพื่อใช้กลวิธีทางอ้อมในข้อ 9, 10, 11 ซึ่งเขาอาจเปิดช่องให้เราใช้กลวิธีทางอ้อม คือเปิดช่องให้เราใช้อุบายเพื่อใช้กลวิธีได้ แต่เราไม่ตรวจให้เห็นช่องก็เลยผ่านไปเสียคงมีอยู่บ่อย ๆ เช่นนี้เรียกว่าไม่ได้เดินหมากหลายชั้น ปล่อยให้โอกาสดี ๆ ของเราล่องลอยไปเสียที่จะให้สันทัดโดยไม่ทิ้งโอกาสดังกล่าวมานี้ (1) ต้องอบรมให้สันทัดจัดเจนในกลวิธีต่าง ๆ ให้มากอย่างให้ช่ำชองของจริง ๆ รูปจนต่าง ๆ ควรสังเกตจำให้ดีจากกลวิธีต่าง ๆ ไว้ให้มาก
(2) ต้องพิเคราะห์รูปหมากให้เกิดความสะดุดใจขึ้นโดยไว ในแง่ที่ใช้อุบายเพื่อให้ได้ใช้กลวิธีทำแก่ข้าศึก
(3) การพิเคราะห์รูปหมากนั้นโดยตรงเห็นทางอ้อม ก็ทำทางอ้อมเพื่อให้บรรลุผลที่จะทำโดยตรงต่อไป

13. ในเมื่อยังไม่ได้โอกาสที่จะทำเขาโดยตรงหรือทางอ้อม ก็จงเดินคุมเชิงรักษาตัวไว้ให้ดี หรือเดินยักเยื้องไว้เพื่อดูท่วงทีให้เขาเปิดโอกาสให้เราทำโดยเขาไม่รู้สึกถึงกลวิธีของเรา ถ้าเขาไม่เปิดโอกาสเลยและเราก็ไม่เพลี่ยงพล้ำก็เสมอกันไป
14. การเดินหมากยุ่งยากกระจัดกระจายนั้น ถ้าเราแต้มสูงกว่าก็ทำเช่นนั้นได้บ้าง และเป็นทางดีเหมือนกันที่จะให้ข้าศึกดูยากและเปิดช่องให้กับเราได้มากขึ้น แต่ถ้าแต้มเขาสูงกว่าหรือพอ ๆ กัน ก็ไม่ควรจะเดินหมากให้กระจัดกระจายหรือบุกบั่นให้มากไปจะเป็นทางให้เราแพ้ เช่นนั้น เราควรเดินผูกพันไว้เสมอเพื่อป้องกันไม่ให้แพ้เขา ผิดนักก็เสมอกันไปซี่งก็ดีกว่าแพ้


บันทึกความเห็นในทางหมากรุก

การใช้กลวิธีทำแก่เขาดังกล่าวมาแล้วนั้น แยบคายดี ได้ใช้มาเป็นผลสำเร็จบ่อย ๆ แต่ก็ได้พลั้งพลาดจนเราแพ้เขาก็ออกบ่อยเหมือนกัน ฉะนั้นจึงควรคิดให้รอบคอบก่อนแล้วจึงเดิน เหตุที่เรามักแพ้คือ 1 พลั้งเผลอดูไม่ทั่วก่อนเดิน 2แม้ไม่เผลอแต่ก็มองไม่เห็น ไม่รู้เท่าทันปรปักษ์ ในรูปหมากที่เขาเดิน 3 วางนโยบายในการกะกำลังฝ่ายเราที่จะต้านทานเขาผิดพลาดไป

การเดินดีอีกอย่างหนึ่งคือตอนต่อสู้กันอยู่นั้น ตองคำนึงถึงปลายกระดานไว้เสมอ และวางนโยบายให้ชนะปลายกระดาน หรือตีเสมอปลายกระดานในเมื่อเห็นหมากเราเสียท่า หรือมีทางชนะได้น้อย ต้องเพ่งเล็งถึงคุณภาพและปริมาณของหมากปลายกระดานตลอดจนรูปหมาก ที่ฝ่ายเราและฝ่ายเขาคุมกันติดหรือไม่ เช่นหมากบางตัวกระจัดกระจายจนยากที่จะรักษาไว้ให้ เป็นต้น

การเดินหมากรุกนั้น คือการต่อสู้กันด้วยสติปัญญา และความคิดประกอบกับความจำในกลวิธีต่าง ๆ ที่ได้เคยรู้มา (ความชำนาญ) ตลอดถึงเชาวน์ ปฏิภาณอันเป็นการมีไหวพริบในชั้นเชิงของการเห็นหมากโดยฉับไวทันทีด้วย สตินั้นต้องมั่นคงไม่พรั่นพรึง หวั่นไหวต่อสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า ความคิดนั้นต้องเฉียบแหลมสดใสปลอดโปร่ง ความจำต้องมีมากและแน่วแน่มั่นคงไม่ผิดพลาด เชาวน์ ปฏิภาณต้องเกิดความสะดุดใจนึกคิดถึงแง่ดีต่าง ๆ ได้ฉับไวไม่เฉื่อยชา อย่างไรก็ตามยังมีข้อสำคัญที่สุดอยู่อย่างหนึ่งคือจิตวิทยาข้อนี้ ไม่ควรจะละเลยเสีย เราต้องใช้ทุกขณะที่เรากำลังเดินหมาก ข้อนี้คือการเก็งใจฝ่ายปรปักษ์ในรูปหมากที่เราเดินหรือรู้นิสัยจิตต์ของฝ่ายปรปักษ์อยู่แล้วในรูปหมากที่เขาเดินหรือรู้นิสัยจิตต์ของฝ่ายปรปักษ์อยู่ก่อนแล้ว เช่น รู้ว่าเขาถนัดทางใด เป็นต้นว่า ถนัดม้า ถนัดเรือ ถนัดโคน ชอบป้องกันหรือชอบบุก ชอบกินสองหรือชอบกินแลกเปลี่ยนหรือชอบรุก เราจะต้องปฏิบัติตัดกำลังเขา หรือเอาชนะโดยจิตวิทยาดังกล่าวนี้ ประกอบในการเดินอีกด้วยตามควรแก่เหตุ
.................

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #หมากรุกไทย
หมายเลขบันทึก: 243404เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2009 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท