หาบน้ำแก้บน


แมกาซีนแปลก ฉบับศุกร์ 6 กุมภาพันธ์ 2552

หาบน้ำแก้บน

ถิ่นวีรชนคนกล้า  คู่หล้าพระนอน  นามกระฉ่อนปลาแม่ลา ย่านการค้าภาคกลาง

สิงห์บุรี เมืองอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ด้วยเรื่องราววีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ ๑๔๒ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๘๔๑ ตารางกิโลเมตร ตัวเมืองตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสามสายไหลผ่านคือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเมืองสิงห์ไว้ว่า "เมืองสิงห์บุรีเป็นเมืองใหญ่และเก่ามากมีป้อมปราการ วัง วัดมหาธาตุ และของสำคัญคือ พระนอนจักรสีห์ใหญ่กว่าพระนอนองค์ อื่น ๆ ในเมืองไทยทำเป็นแบบพระนอนอินเดีย เหมือนเช่นที่ถ้ำเมืองยะลา

เมืองสิงห์บุรีเรียกชื่อต่างกันดังนี้คือ เมืองสิงหราชาธิราช เมืองสิงหราชา เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมน้ำจักรสีห์อันเป็นลำน้ำใหญ่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยา ๒๐๐ เส้น เพราะแม่น้ำจักรสีห์ตื้นเขิน เมืองสิงห์จึงกลายเป็นเมืองลับลี้" เมืองสิงห์บุรีได้ตั้งขึ้นเป็นจังหวัดสิงห์บุรีเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันจัดแบ่งการปกครองออกเป็น ๖ อำเภอ คืออำเภอเมือง อำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง

สถานที่ที่จะพาผู้อ่านไปสัมผัสความแปลกในวันนี้ก็อยู่ในเขตจังหวัดสิงห์บุรีนั่นเอง ที่บริเวณวัดโพธิ์เก้าต้น หรือ วัดไม้แดง หมู่ที่ 8 ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน วัดนี้เดิมชื่อวัดสระไม้แดงสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดโพธิ์เก้าต้นตั้งอยู่ตรงข้ามอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๑๕ กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่วีรชนชาวบ้านบางระจันได้เคยใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านพม่าที่ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๘ วัดไม้แดงเป็นคำที่ชาวบ้านใช้เรียกวัดนี้เนื่องจากเรียกตามธรรมชาติรอบวัดที่เต็มไปด้วยต้นไม้แดง ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งอยู่หลายต้น ชาวบ้านถือกันว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าตัดหรือทำลาย และเคยมีต้นไม้แดงอยู่ต้นหนึ่งซึ่งมีอายุ ยืนยาวมาก และยืนต้นตายมาเป็นเวลานานกว่า 200 ปีมาแล้ว

ภายในบริเวณวัดมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์คือ " วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ" ซึ่งภายในประดิษฐานรูปปฏิมากรรมพระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นที่เคารพสักการะของชาวสิงห์บุรีโดยทั่วไป พระอาจารย์ธรรมโชติ รังสี ท่านเป็นพระที่เป็นมิ่งขวัญและพลังใจแก่วีระชนชาวบ้าน บางระจัน จนทำให้วีระชนเข้าต่อสู้ป้องกันข้าศึกและได้รับชัยชนะ พระอาจารย์ธรรมโชติ แห่งวัดเขาขึ้น (เขาบวช) ได้เลือกเอาสถานที่บริเวณนี้เป็นทำเลที่ตั้งค่าย ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นที่ดอนมีลำธารไหลผ่านหน้าวัดจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออก และอีกสายหนึ่งมาจาก ทิศเหนือไหลล่องลงใต้ตัดกันตรงบ้านวังกา ถ้ามองทางทิศใต้จะดูคล้ายเกาะ ข้าศึกตีได้ยาก น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ พระอาจารย์ธรรมโชติได้รวบรวม ชาวบ้าน และบรรดาศิษย์ช่วยกัน

สร้างค่ายขึ้นสองค่าย คือ ค่ายใหญ่ กินบริเวณวัดโพธิ์เก้าต้น และอุทยานค่ายบางระจันทั้งหมด ส่วนค่ายเล็กอยู่บริเวณวัดประโยชน์ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ ค่ายบางระจัน ค่ายทั้งสองมีปีกกา ติดต่อถึงกันได้ ค่ายทั้งสองนี้สามารถรบกับพม่าข้าศึกได้รับชัยชนะถึงเจ็ดครั้ง จนกระทั่งการรบครั้งที่แปดค่ายจึงแตก รวมเวลาตั้งค่ายอยู่ได้ถึงห้าเดือน ปัจจุบันทางราชการได้สร้างค่ายจำลองขึ้นบริเวณด้านหน้าของวัดโพธิ์เก้าต้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ เตือนใจแก่ผู้พบเห็นว่า บริเวณวัดโพธิ์เก้าต้นนี้ว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบ และเป็นที่มั่นของบรรพชนไทยในอดีต และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดโพธิ์เก้าต้นเป็นโบราณสถาน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘

 

และใกล้ๆ กันนั้นเองก็มี "สระน้ำพระอาจารย์ธรรมโชติ" ซึ่งเป็นบ่อน้ำขนาดย่อมที่มีปลาอยู่ชุกชุมชาวบ้านถือว่าบ่อน้ำนี้เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และปลาที่อยู่ในบ่อก็เป็นปลาศักดิ์สิทธิ์จึงไม่จับไปรับประทาน

            “อยากได้เท่าไร ก็หาบเอา” ไม่เพียงแต่ความเชื่อที่ว่าสระน้ำพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จนไม่มีใครกล้าตกปลา ชาวบ้านที่นี่ยังให้ความเคารพบูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี่และเป็นธรรมดาเมื่อมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมมีการทำพิธีบนบานศาลกล่าวและมีการแก้บนเมื่อได้ดังที่ขอไว้ แต่ที่แปลกและไม่เหมือนที่ไหนคือ ผู้ที่มาบนบาลสระน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้แล้วภายหลังจะต้องแก้บนด้วยการหาบน้ำถวายท่าน การหาบน้ำแก้บนคุณผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของท่านเอง แต่เรื่องนี้ได้มีคนพิสูจน์แล้ว และมีประชาชนส่วนใหญ่เชื่อในเรื่องนี้ด้วย
           พระอาจารย์ธรรมโชติ หรือที่เรียกกันว่า หลวงพ่อยิ้มแห่งวัดไม้แดงนี้เป็นขวัญกำลังใจหลักของคนสมัยสงครามบางระจัน จนมาถึงปัจจุบันที่นี่ก็ยังเป็นวัดที่มีเชื่อเสียงเรื่องการบนบานศาลกล่าว ซึ่งชาวบ้านในละแวกนั้นเชื่อกันว่าวัดนี้ถ้าใครมาบนบานศาลกล่าวเรื่องอะไรไว้แล้วก็จะได้ดังหวัง และคนๆ นั้นต้องมาหาบน้ำแก้บนตามจำนวนหาบที่ตนนั้นได้บนกับท่านไว้ ยืนยันได้จากหลักฐานที่ปรากฎเพราะมีคนที่มาแก้บนเสร็จแล้วทิ้งถังน้ำไว้กองรวมกันอยู่ในบริเวณวัดเป็นร้อยๆใบพร้อมกับไม้หาบ เรียกว่าใครที่จะมาแก้บนเป็นรายต่อไปนั้นไม่ต้องนำอุปกรณ์มาก็ได้ที่นี่เขามีไว้ให้แล้ว เพียงแต่คงต้องฟิตร่างกายกันเสียหน่อย เพราะถ้าบนไว้เยอะก็ต้องหาบกันหลายรอบหน่อย ต้องหาบไปตักน้ำจากบ่อน้ำที่อยู่ด้านข้างสระมาเติมในสระน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้

สำหรับสถิติสูงสุดที่มีคนมาบนไว้แล้วต้องแก้บนนั้น เป็นจำนวนถึง 1,000 หาบ คงจะกลับไปหลังเคล็ดกันเลยทีเดียว  และที่สำคัญเป็นเรื่องดีที่ว่าไม่ว่าจะหน้าแล้งแค่ไหน สระน้ำแห่งนี้คงไม่มีทางแห้งขอดแน่ๆ เพราะมีคนมาช่วยเติมน้ำให้เต็มอยู่ตลอด ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านมาขอกันส่วนมากว่ากันว่าเป็นเรื่องการตามหาของหายบ้างคนหายบ้าง ขอให้ลูกชายของตนเองไม่ติดทหารบ้าง และส่วนใหญ่ที่มาบนกันไว้ก็ได้สมหวังเสมอ แต่การหาบน้ำไม่ได้หมายความว่าแก้บนอย่างเดียวเท่านั้นผู้คนที่แวะเยี่ยมชมสามารถหาบน้ำเพื่อเป็นการทำบุญก็ได้เหมือนกัน

พระเทพสิงหบุราจารย์  (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ได้เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่บริเวณค่ายบางระจันและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ว่า “เมื่อก่อนที่ค่ายบางระจันเฮี้ยนมาก มีผู้ตักน้ำในสระอาจารย์โชติไปใส่หม้อรถ หม้อรถนั้นก็เกิดระเบิดเลย ใครลักอะไรไปต้องนำไปคืน ใครจะไปเอาอิฐดอกจันทน์ที่เป็นศิริมงคลนั้น สุดท้ายก็ต้องนำไปคืนหมด แต่ก็มีคนอยากได้ เพื่อนำมาป่นเป็นผงผสมสร้างพระ อาตมาเคยไปเอาอิฐ ๙ ตรามาได้สมัยนายพุกฤกษ์เกษมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี มีคราวหนึ่งหลายปีผ่านมาแล้ว เจ้าคณะอำเภอเดิมบางนางบวชองค์เก่า ตอนนี้มรณภาพแล้ว ท่านเคยมาที่วัดอัมพวัน ท่านอยากได้บ้าง ท่านเลยมาค้างที่วัดนี้ รุ่งขึ้นก็ไปเอา เก็บอิฐใส่ย่าม ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไป ท่านจะนำไปทำพระหรืออะไรก็ไม่ทราบ พอไปถึงจะเข้าเขตสุพรรณ เดิมบางนางบวช เลี้ยวไปตลาดท่าช้างมันมืด รถคว่ำศีรษะแตก ก็เก็บอิฐไปค้างบ้านของน้องสาวที่อยู่ในดงอ้อย ตกกลางคืนเสียงครางกันกระหึ่ม เลยต้องนำอิฐมาคืน นี่คือเหตุการณ์ที่ผ่านมา คนที่ตายขณะมีโทสะ ตายในสงครามด้วยอำนาจโทสะ นี่เป็นอสุรกายดุร้ายมาก ใครจะมาเอาอะไรไม่ได้ อาตมาก็บอกกับนายพุก ฤกษ์เกษม ว่า ถ้าสร้างค่ายสร้างวัดขึ้น มีโครงการสร้างสะพานขึ้น ก็จะหายดุร้ายไปได้ ในเวลากาลต่อมาก็สร้างสำเร็จตามเหตุการณ์ ตามลำดับ ได้ทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฉลองค่ายและทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชตัดลูกนิมิต หลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแล้ว ดวงวิญญาณของอสุรกายก็กลับไปเกิด เลยความดุร้ายหายไป เห็นจะเป็นจริงตามหลักพระพุทธศาสนา คนดุคือตายด้วยโทสะ ตายด้วยอารมณ์ดี จิตเป็นกุศลก็ไม่มาดุร้าย ตายด้วยอำนาจโทสะก็อยู่ตรงนั้นมันดุ ยกตัวอย่าง สองสามีภรรยามาแวะที่วัดนี้ หาว่าเมียมีชู้ ขับรถเบนซ์ไปก็ทะเลาะระหว่างทางไปเรื่อย ไปถึงบางปะอินก็คิดว่าอย่าอยู่เลย จึงขับรถชนท้ายรถซุง ตายคาที่ทั้งสองคน ด้วยอำนาจโทสะดุร้ายเหลือเกินที่ตรงนั้น เช่นเดียวกับต้นมะขามหน้าวัดอัมพวันนี้ก็เคยมีวิญญาณภูติผีดุร้าย และแสดงอภินิหารออกมา ภายหลังเมื่อขุดบ่อตรงต้นมะขามนั้นและเอาร่างผู้ตายขึ้นมาเผาแล้วบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล อุทิศให้ ต้นมะขามก็ตายตรงนั้น กลายเป็นที่เตียน และเป็นที่สำนักกรรมฐานต่อไป และจะไม่มีวี่แววอะไรอีกต่อไป เหมือนแต่ก่อนมา ขอฝากไว้เป็นข้อคิดโดยทั่วหน้า มันมีหลักฐานที่แน่นอน”                          

เรื่องของความเชื่อเป็นเรื่องที่ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ดีกว่า อย่างไรก็ตามทำดีไว้เป็นดีที่สุด จิตใจของเราจะได้เป็นกุศลและดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขจริงไหมค่ะ

หมายเลขบันทึก: 242398เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2009 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
กัญญารัตน์ โพธิ์ศรี

ขอบคุณพี่กิตติยามากนะค่ะ ที่ให้ข้อมูล

เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ

ผมเป็นคนที่นั่น หลวงพ่อธรรมโชิต หรือพระอาจารย์ธรรมโชติ ศักดิ์สิทธิ์มาก ใครบนขออะไรก็สมหวังได้ทั้งนั้น แต่คนท้องถิ่นบริเวณนั้นที่เป็นผู้ชาย ถ้าบนไม่ให้ถูกทหาร ท่านจะไม่รับนะ เพราะท่านต้องการให้ลูกผู้ชายทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ ปกป้องบ้านเมือง หวงแหนแผ่นดิน เหมือนกับที่พระอาจารย์ธรรมโชติและ 11 วีรชนที่มีชื่ออยู่บนอนุสาวรีย์ และชาวบ้านบางระจันที่ได้ต่อสู้กับศัตรูผู้มารุกรานเพื่อมุ่งหวังจะยึดครองแผ่นดินด้วยดาบ ชนิดตาต่อตา ดาบต่อดาบยอมเอา

ชีวิตของตัวเองเข้าแลก ถ้าเป็นคนที่อื่น เป็นคนๆไป

ผมว่าการเป็นทหาร ก็เป็นมงคลสูงสุดอย่างหนึ่ง ก็คือ เครื่องแบบของทหาร เป็นเครื่องแบบพระราชทาน ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องจะสวมใส่ แต่งกายคล้ายๆ ลอกเลียนแบบแอบอ้างไม่ได้ ผิดกฎหมายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท