ประเพณีถวายนมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์


ประเพณีถวายนมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์

ประเพณีถวายนมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์


          ความเชื่อ  เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน     โดยเฉพาะความเชื่อในทางศาสนา ความเชื่อคือจุดเริ่มต้นของความศรัทธา กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดเป็นแบบแผนของการดำรงชีวิตสืบต่อกันมา เช่นเดียวกับความเชื่อเกี่ยวกับต้นศรีมหาโพธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธกาล จนเกิดประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ มากมาย  หนึ่งในประเพณีที่สำคัญนั้น ก็คือ ประเพณีถวายนมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งจะหาดูได้ยากในปัจจุบัน แต่ที่วัดพระธาตุดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการสืบสานประเพณีนี้ไว้

          นับแต่อดีตกาลที่ผ่านมา ต้นโพธิ์นับเป็นต้นไม้ที่มีความหมายและมีความสำคัญในทางศาสนามาเนิ่นนาน    ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์   เชื่อว่า  ต้นโพธิ์   เป็นของสูงอันศักดิ์สิทธิ์ ควรแก่การเคารพบูชา โดยเชื่อว่าบริเวณโคนรากเป็นทีประทับขององค์พระพรหม บริเวณลำต้นเป็นที่ประทับของพระนารายณ์ และยอดของต้นโพธิ์เป็นที่ประทับขององค์พระอิศวร

          ความเชื่อดังกล่าวได้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในเฉพาะแต่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเท่านั้น ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ต้นโพธิ์ ก็มีความหมายและความสำคัญเช่นกัน
          นับแต่อดีตกาลที่พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายจากลังกา เข้ามาในดินแดนของประเทศไทย  ต้นโพธิ์ก็มีความหมายต่อคนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางไปลังกา เมื่อกลับมาก็มักจะนำเอาพันธุ์จากกิ่งพระศรีมหาโพธิ์กลับมาด้วยเสมอ จนพบเห็นต้นโพธิ์อยู่ในวัดเกือบทุกแห่งในเมืองไทย
          ตามตำนานพระปฐมเจดีย์ กล่าวว่า    พระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาปลูกในไทยครั้งแรก ประมาณสมัยทรารวดี มีอายุนับพันปีมาแล้ว ว่ากันว่าที่เมืองเชียงใหม่ได้นำต้นโพธิ์มาปลูกที่พระอารามเชิงดอยสุเทพ หรือ วัดป่าแดงมหาวิหารเป็นครั้งแรก ก่อนที่พระเจ้าติโลกราชาธิบดี จะโปรดฯ ให้ย้ายไปปลูกที่วัดมหาโพธาราม หรือ วัดเจ็ดยอดวัดที่รู้จักดีในปัจจุบัน

          สิ่งที่คนไทยได้แสดงออกถึงความเคารพสักการะต้นศรีมหาโพธิ์และเห็นได้เด่นชัดที่สุดในปัจจุบัน  จะเห็นว่าในช่วงตรุษสงกรานต์   คนไทยจะทำไม้ไปค้ำกิ่งโพธิ์   การค้ำโพธิ์ตามความเข้าใจของคนโบราณเชื่อว่าจะทำให้อายุยืนยาว  บ้างก็จะนำผ้าเหลือห่มต้นโพธิ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าต้นโพธิ์มีความสำคัญในทางศาสนา   บางแห่งเมื่อมีการเผาศพมักจะเอาเถ้าถ่านที่เผาไปฝากที่โคนต้นโพธิ์ เพราะถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

          นอกจากนี้ยังพบว่า ในสมัยพระพุทธกาลได้มีประเพณีถวายนมสมรดต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของต้นศรีมหาโพธิ์ในทางพระพุทธศาสนาได้เช่นกัน ประเพณีนี้ในปัจจุบันแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย    อาจมีเพียงวัดพระธาตุดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่ เพียงแห่งเดียวที่ได้รื้อฟื้นและสืบสานประเพณีถวายนมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์ให้ได้เห็นอีกครั้ง..

          วัดพระธาตุดอยสะเก็ด นับเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า  ในสมัยพุทธกาล    เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมอันวิเศษแล้ว พระองค์ได้ออกเดินทางเผยแพร่ธรรมะแก่ชาวชนบทน้อยใหญ่ในแถบดินแดนชมพูทวีป ในกาลนั้นพระพุทธองค์ได้แสดงปาฏิหารย์มาปรากฏกายทิพย์ ณ บนยอดดอย แล้วทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างเจิดจ้าไปทั่วบริเวณ ขณะนั้นได้มีพญานาคคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในหนองบัว ซึ่งอยู่ห่างจากวัด ประมาณ 1 กิโลเมตร ได้เห็นฉัพพรรณรังสี   จึงแปลกใจพากันเลื้อยขึ้นสู่ยอดดอย ได้ทัศนาเห็นพระพุทธองค์ ก็บังเกิดความเลื่อมใสจึงแปลงกายเป็นชายหนุ่มหญิงสาวมาเข้าเฝ้า พร้อมกับได้นำดอกบัวมาถวายพระพุทธองค์ทรงรับ   เอาดอกบัวนั้นไว้แล้วจึงแสดงธรรมโปรด และประทานเกศาธาตุแก่พญานาคแปลงคู่นั้น พญานาคจึงได้อธิษฐานสร้างเจดีย์หิน แล้วนำเอาพระเกศาธาตุบรรจุไว้บนดอยแห่งนี้
           ต่อมาได้มีนายพรานผู้แสวงหาของป่าได้มาพบเห็นเจดีย์มีลักษณะสวย จึงเกิดอัศจรรย์แล้วได้นำเอาก้อนหินมาก่อเป็นรูปเจดีย์ขึ้น กลางคืนได้นิมิตรว่า เจดีย์ที่ตนพบนั้นเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จึงได้บอกกล่าวชักชวนประชาชนในแถบนั้นขึ้นไปสักการะบูชา และเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า "ดอยเส้นเกศ" ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็น "ดอยสะเก็ด" ในปัจจุบัน
          ในทุก ๆ ปีที่วัดแห่งนี้จะกระทำพิธีถวายนมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์ ที่นำมาจากประเทศศรีลังกา เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมาและกำลังเติบโตภายวัด    การกระทำพิธีดังกล่าวจะมีบรรดาข้าราชการ เอกชน และประชาชนจาก 14 ชุมชนในอำเภอดอยสะเก็ด ตกแต่งริ้วขบวนแห่ ตามแบบล้านนาอย่างสวยงามและยิ่งใหญ่ นำนมสดขึ้นสู่ดอยเพื่อถวายแด่ต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระโพธิรังษี เจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด เล่าให้ฟังว่า ต้นศรีมหาโพธิ์เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในตำนานเล่าว่า    หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระเจ้าธรรมาโศกราชหรือพระเจ้าอโศกมหาราช ได้โปรดปรานและได้ทรงพระราชทานเครื่องรัตนมณีและสิ่งมีค่าบูชาต้นศรีมหาโพธิ์เป็นประจำ พระอัครมเหสี พระนามว่า ดิษยรักษิตา เกิดความอิจฉาจึงสั่งให้แม่มดมีฤทธิ์ทำลายต้นโพธิ์จนเหี่ยวเฉา
          พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทราบก็ทรงเสียพระทัย ไม่ยอมเสวยพระกระยาหาร ร่างกายซูบผอม พระอัครมเหสี จึงมีรับสั่งให้แม่มดทำให้ต้นโพธิ์คืนดังเดิม โดยแม่มดได้นำนมสดถวายต้นศรีมหาโพธิ์วันละ 1,000 ถัง จากนั้นต้นโพธิ์ก็มีใบเขียวสวยงามดังเดิม พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ยินดังนั้นก็ชอบใจ รับสั่งให้มีการถวายนมสดต้นศรีมหาโพธิ์ในวัน คล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน หรือ วันวิสาขบูชา จนกลายเป็นประเพณีปฎิบัติสืบต่อเรื่อยมา
          ประเพณีถวายนมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์ที่วัดพระธาตุดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่จะกระทำพร้อม ๆ การสรงน้ำองค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์   และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านย่านนั้น   การฟื้นคืนประเพณีถวายนมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์   นอกจากจะเป็นการสืบสานประเพณีดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาที่กำลังสูญหายไปแล้ว ประเพณีนี้ยังแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนิกชนชาวบ้านในอำเภอดอยสะเก็ดได้หันกับมาสนใจและให้ความสำคัญทางพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นไป เพราะต้นศรีมหาโพธิ์ คือ สัญลักษณ์หนึ่งในการสืบทอดศาสนาพุทธ


ขอบคุณความรู้ ดีดี จาก http://www.fm100cmu.com/blog/Lanna/content.php?id=297
หมายเลขบันทึก: 242184เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2009 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 12:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

"...เจดีย์ที่ตนพบนั้นเป็นที่บรรจุพระ เกศาธาตุของพระพุทธเจ้า .......และเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า "ดอยเส้นเกศ" ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็น "ดอยสะเก็ด" ในปัจจุบัน"

ขอบคุณ ปุ้ยเหล่าซือ ทำให้ทราบประวัติความเป็นของชื่อ 

1. พันคำ

เมื่อ ส. 14 ก.พ. 2552 @ 21:35

ยินดีค่ะ..พันคำ 老师。

3. JJ

เมื่อ ส. 14 ก.พ. 2552 @ 21:48

ขอบคุณค่ะ..

ขอบคุณมาก น้องกระรอกน้อย มาติดตามเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของประเพณีถวายนมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์ และประวัติของวัดพระธาตุดอยสะเก็ด

ข้อมูล ลุงกำลังเซาะอยู่เด้อ หล้าเด้อ ขอสูมาโตย

6. ไม่แสดงตน

เมื่อ อา. 15 ก.พ. 2552 @ 12:49

ขอบคุณเจ้า..ลุง...

8. davidhoo

เมื่อ อา. 15 ก.พ. 2552 @ 20:02

ประเพณีถวายนมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์

ต้นโพธิ์..以后带你看。

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท