Paliative care จากใจถึงใจ (ตอนที่ 2 กำลังใจให้คุณ)


กำลังใจ..ให้คุณ

"กำลังใจ" แม้จะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ทุกคนก็สัมผัสได้ ถึงพลังอันสำคัญนี้ หลวงวิจิตรวาทการได้เขียนในหนังสือชื่อ กำลังใจ ว่าการที่คนเราจะเผชิญชีวิต หรือฟันฝ่าอนาคตให้ลุล่วงไปด้วยดีได้นั้น เราจะต้องมีกำลังถึง 3 ประการด้วยกัน คือ กำลังกาย, กำลังความคิด และกำลังใจ

- กำลังกาย หมายถึง ความเป็นผู้มีอนามัยดี ร่างกายแข็งแรง ซึ่งเป็นความสำคัญเบื้องต้น
- กำลังความคิด หมายถึง วิชาความรู้และมันสมองที่ดี
- ส่วนกำลังใจ หมายถึง สมรรถภาพ(ความสามารถ) ของดวงจิต ที่เป็นเครื่องส่งเสริม และควบคุมให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ดำเนินไปโดยเรียบร้อย เหมาะสม

กำลังกายเป็นเรื่องของร่างกาย กำลังความคิดเป็นเรื่องของมันสมอง และกำลังใจเป็นเรื่องของดวงจิตโดยตรง กำลังทั้งสามนี้ มีความสำคัญเท่าๆ กัน ผู้ใดก็ตามมีพร้อมทั้งสามกำลัง นาวาชีวิตของผู้นั้น ย่อมแล่นไปได้ดี และบรรลุถึงที่หมายได้ไม่ยาก แต่หากจะขาดหรือบกพร่อง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ท่านว่า ขออย่าให้เป็นเรื่อง ขาดกำลังใจ เพราะถ้าขาดกำลังใจแล้ว จะเอากำลังกาย หรือกำลังความคิดมาทดแทนกำลังใจไม่ได้เลย

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะได้ ยกตัวอย่างบางวิธีมาเสนอดังต่อไปนี้


- ขจัดความกลัว โดยทั่วไปคนจะกลัว 4 เรื่องคือ กลัวผี กลัวคน กลัวภัยเฉพาะหน้า และกลัวเหตุร้ายจะมาถึง คนที่มีความกลัวอยู่ในนิสัยหรือที่เรียกว่า "คนขลาด"นั้น ยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต แม้จะมีความพร้อมในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ หรือทรัพย์สินเงินทอง ดังนั้น เราอาจจัดความกลัวได้ 2 วิธีคือ

- วิธีของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสอนว่า สิ่งที่ขจัดความกลัวได้ผลที่สุดคือ การแผ่เมตตาจิต ปลูกฝังไมตรีให้เป็นธรรมะประจำใจ เพราะทันที่ที่เรามีเมตตาจิต เราจะไม่กลัวสิ่งใดมาทำอันตราย เพราะเราจะคิดดีต่อผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จึงเสมือนมีเครื่องคุ้มกันภัย และคุ้มกันใจให้หายกลัว

- ส่วนอีกวิธี คือ วิธีแบบจิตวิทยา เป็นการสอนวิธีขจัดความกลัว โดยให้เชื่อใน ความเป็นจริง คือ ให้รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร เช่น เรากลัวบางคน เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร แต่หากศึกษาให้รู้ประวัติ รู้นิสัยใจคอของเขา ก็จะหายกลัว เป็นต้น ความกลัวเป็นศัตรูร้ายแรงของกำลังใจ การฝึกขจัดความกลัว จะเป็นหนึ่งในวิธีสร้างกำลังใจโดยตรง ยิ่งเรากลัวน้อยลงเท่าไร เราก็ยิ่งมีกำลังใจมากขึ้นเท่านั้น

- ขจัดความหวาดวิตก ซึ่งเป็นภัยร้ายที่ทำลายทั้งสุขภาพ และความคิด ดังนั้น เราจะต้องแก้โดยหัดมองโลกในแง่ดี คิดในทางบวก คิดว่าต้อง "ทำได้" อยู่เสมอ เพราะหากเรามัวแต่กลัวปัญหาอุปสรรค และคิดว่าทำไม่ได้ ก็จะเกิดปริวิตก และทอนกำลังใจตนเอง อีกทั้งจะต้องหาอะไรทำอยู่เสมอ อย่าปล่อยตัวปล่อยใจให้ว่าง ความวิตกก็จะหมดไป เพราะมัวแต่ทำงานไม่มีเวลาไปคิดฟุ้งซ่าน ไร้สาระ

- การเป็นตัวของตัวเอง คือ มีความคิดอ่านเป็นของตน ในทางที่มีเหตุมีผล มีความถูกต้องเหมาะสม หรือพูดง่ายๆ ว่ามีหลักการของตนเอง ไม่ยอมให้ใครชักจูงให้ผันผวน ไปจากแนวคิดของตน คนเหล่านี้คือ ผู้ที่มีกำลังใจแท้ คือ มีกำลังใจที่จะต่อสู้ และกำลังใจที่จะหักห้ามตนเอง ไม่ให้ทำผิดจากหลักการที่ตั้งไว้ 

การสร้างนิสัยสดชื่น ความสดชื่น เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความสามารถ ที่จะมีชีวิตอยู่ และพร้อมเติบโตก้าวหน้าต่อไป ทำให้ผู้อยู่ใกล้มีความสุขสดชื่นไปด้วย แม้ว่าในความเป็นจริง เราอาจจะมีทุกข์ แต่หากเราเอาแต่โศกเศร้าทุกข์ร้อน นอกจากจะทำให้เรารู้สึกอ่อนแอ ทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ผู้คนก็จะพากันหนีห่าง ดังนั้น เราจึงควรสร้างนิสัยสดชื่นไว้อยู่เสมอ ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัว ให้สดชื่นแจ่มใส เช่น ปลูกไม้ดอกในบ้าน หัดมองโลกในแง่ดี /ขบขัน ประกอบคุณงามความดี เช่น ทำบุญ จะทำให้รู้สึกอิ่มเอิบสดชื่นเช่นกัน

หัวใจสีขาวขอเป็นกำลังใจให้กับหัวใจทุกๆดวงที่กำลังท้อแท้ 

    ในทุกๆเรื่องนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 242174เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2009 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท