ข่าวโรฮิงญา ข้อเท็จจริงแท้ๆ หรือ "เขาว่า..." เจือมายาคติ


แฉโรฮิงญาสวมบัตร"ไทยพลัดถิ่น" จ่ายนายหน้า-จนท.1-3 หมื่น/ใบ
12 กุมภาพันธ์ 2552 01:18 น.

แฉโรฮิงญาแห่สวมสิทธิ์ "บัตรไทยพลัดถิ่น" หวังรักษาฟรี-เรียนฟรี ไม่ถูกจับ เผยต้องจ่ายนายหน้าโรฮิงญา 1-3 หมื่นต่อใบ พบทำเป็นขบวนการถึง 11 กลุ่ม-ค่าคุ้มครองอีกเดือนละ 100 ส่วนปลัด กต.โวยยูเอ็นส่ง "โจลี" กดดันไทยช่วยโรฮิงญา

 ในขณะที่คน จ.ระนอง และอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่ากำลังคัดค้านการตั้งศูนย์ผู้อพยพโรฮิงญาอย่างแข็งขัน แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับมีชุมชนชาวโรฮิงญาตั้งอยู่ในเมืองระนอง และอีกหลายจังหวัดชายแดนมานานแล้ว

 ข้อเท็จจริงคือ ชาวโรฮิงญาเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยมานานถึง 20-30 ปีแล้ว มิหนำซ้ำส่วนใหญ่ยังมีบัตรรับรองสถานะตามกฎหมายทั้งบัตรแรงงานต่างด้าว และบัตรไทยพลัดถิ่น ซึ่งกระบวนการออกบัตรล้วนไม่ชอบมาพากล และมีเจ้าหน้าที่ไทยเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

 “ทางเดียวที่จะอยู่รอดบนผืนแผ่นดินไทยได้ คือ ต้องมีบัตร” นายอารีย์ วัย 54 ปี ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ใน อ.เมืองระนอง มานานกว่า 20 ปี กล่าวกับทีมข่าว "คม ชัด ลึก"

 นายอารีย์ระบุว่า ถ้าพวกเขาไม่มีบัตรก็จะอยู่อย่างหวาดระแวง และต้องจ่ายเล็กจ่ายน้อยให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกเดือนเพื่อแลกกับการไม่ถูกจับดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องยอมจ่ายเงินให้แก่นายหน้าที่อ้างว่าจะนำเงินไปให้เจ้าหน้าที่ออกบัตรให้

 นายอารีย์ขยายความว่า บัตรที่ชาวโรฮิงญาต้องการมี 2 ประเภท คือ 1.บัตรอนุญาตชั่วคราวสำหรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย (บัตรคล้องคอ) ซึ่งหลายคนไปขึ้นทะเบียน และได้มา และ 2.บัตรไทยพลัดถิ่น ซึ่งเป็นที่ต้องการมากกว่า เพราะทำให้ผู้ถือบัตรมีสถานะดีกว่า โดยบัตรชนิดนี้ถือเป็นบัตรประชาชนชนิดหนึ่งที่แสดงความเป็นคนไทยที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งข้อดีประการสำคัญคือ หากใครได้บัตรนี้ประวัติการเป็นโรฮิงญาก็จะถูกลบออกจากสารบบ กลายเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ และมีสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นคนไทยทั่วไป จะเดินทางไปไหน จะประกอบอาชีพอะไร ศึกษาที่ไหนก็ได้ หรือมีสิทธิแม้กระทั่งเป็นเจ้าของที่ดิน ที่อยู่อาศัย ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของชาวโรฮิงญาอย่างมาก

 นายอารีย์กล่าวว่า แม้เขาจะเข้ามาตั้งรกรากที่ จ.ระนอง มานานกว่า 20 ปีจนมีเมีย และลูกถึง 8 คนแล้ว แต่เขาก็ยังไม่ได้บัตรไทยพลัดถิ่น จนกระทั่งเมื่อปี 2551 ทางการไทยก็เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนคนไทยพลัดถิ่น ตนกับภรรยา และลูกสาวคนโตจึงได้ไปขึ้นทะเบียน และผ่านขั้นตอนต่างๆ จนได้รับทราบว่า เขาจะได้รับบัตรไทยพลัดถิ่นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งรู้สึกดีใจมาก และจะไม่ขอกลับไปยังประเทศพม่าอีกแล้ว ขออาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยซึ่งสุขสบายดี เพราะคนไทยใจดี ไม่เหมือนตอนอยู่ที่พม่า

 ขณะที่ นางซากี ชาวโรฮิงญาอีกราย กลับให้ข้อมูลแย้งว่า จริงๆ แล้วบัตรไทยพลัดถิ่นไม่ได้ทำให้ชาวโรฮิงญามีสิทธิใดๆ มากกว่าแรงงานต่างด้าวทั่วไปมากนัก ก่อนหน้านี้เธอต้องจ่ายค่านายหน้าให้ชาวโรฮิงญาที่อ้างว่ารู้จักกับเจ้าหน้าที่ไทยถึง 3 หมื่นบาท แต่โดยทั่วไปจะคิดค่าดำเนินการเฉลี่ยรายละประมาณ 1 หมื่นบาทเท่านั้น แต่เธอก็ไม่รู้ว่านายหน้าคนดังกล่าวจะไปจ่ายให้เจ้าหน้าที่หน่วยใดบ้าง และรู้ดีว่าจะไม่ได้สิทธิต่างๆ มากเหมือนอย่างที่นายหน้ากล่าวอ้าง แต่อย่างน้อยขอแค่ให้ได้อยู่เมืองไทยอย่างไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ก็พอแล้ว

 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงใน จ.ระนอง รายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ถือบัตรไทยพลัดถิ่นจะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน เช่น รักษาพยาบาลฟรี และเรียนฟรี เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป แต่จะไม่มีอิสระในการเดินทาง เคลื่อนย้ายถิ่นฐาน และประกอบอาชีพเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป โดยจะต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เป็นระยะ แต่ชาวโรฮิงญาก็ยอมเสียเงินเพื่อให้ได้บัตรไทยพลัดถิ่น เพราะอย่างน้อยก็ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคนไทย และไม่ต้องอาศัยอยู่ในเมืองไทยอย่างหวาดระแวงด้วย

 นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ ปลัดอำเภอเมืองระนอง ซึ่งมีหน้าที่ออกบัตรไทยพลัดถิ่น กล่าวชี้แจงขั้นตอนการออกบัตรไทยพลัดถิ่นว่า จะเริ่มต้นจากการสำรวจ โดยให้ผู้ประสงค์จะได้รับบัตรมาลงทะเบียนที่ผู้ใหญ่บ้านในแต่ละพื้นที่ จากนั้นทางอำเภอจะเข้าไปทำเวทีประชาคมโดยนำตัวแทนในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นๆ มาช่วยตรวจสอบบุคคลที่มาขอขึ้นทะเบียนเป็นคนไทยพลัดถิ่น หากมีการรับรองจากเวทีประชาคมก็จะส่งต่อข้อมูลมายังฝ่ายทะเบียนราษฎร์ เพื่อแจ้งไปยังสำนักงานทะเบียนราษฎร์ ขอเลข 13 หลัก จากนั้นจะนัดมาถ่ายรูปและคีย์ข้อมูล เพื่อออกบัตรประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 0 ต่อไป ในรอบล่าสุดที่มีการทำประชาคมมีผู้ที่มีสิทธิจะได้บัตรไทยพลัดถิ่นรวมทั้งหมด 3,800 คน ล่าสุด สามารถคีย์ข้อมูลและถ่ายรูปแล้วเพื่อรอรับบัตรจำนวน 2,800 คน ส่วนที่เหลืออีก 1,000 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ

 ส่วนกรณีที่มีการยัดไส้ชาวโรฮิงญาเข้ามาสวมสิทธิ์ของคนไทยพลัดถิ่นนั้น นายกิตติเดชกล่าวยอมรับว่า มีกรณีดังกล่าวจริง โดยทำกันเป็นขบวนการ และเท่าที่สืบทราบมีถึง 11 กลุ่มใน จ.ระนอง ทั้งยังตั้งตัวเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกค่าคุ้มครองรายเดือน รายละหรือครอบครัวละ 100 บาท หรือบางกลุ่มทำตัวเป็นนายหน้าอ้างรู้จักเจ้าหน้าที่ระดับสูงในอำเภอ สามารถเดินเรื่องให้ได้บัตรบัตรไทยพลัดถิ่นได้ ล่าสุดก็เจอกับตัวเอง เพราะรู้จักเป็นการส่วนตัว จึงสั่งการไม่ให้เจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูลเพื่อออกบัตรให้ และสั่งให้ชะลอการออกบัตรไทยพลัดถิ่นไปแล้วหลายคน

 ปลัดอำเภอเมืองระนอง ระบุว่า ขณะนี้เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ที่ได้รับบัตรล่าสุด หากตรวจสอบพบข้อพิรุธ เช่น ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้เลย ซึ่งอาจจะเป็นชาวโรฮิงญา หรือชาวพม่า ก็จะยึดคืนบัตรแล้วถอนหมายเลข 13 หลัก ให้กลับคืนสู่สถานะผู้หลบหนีเข้าเมืองเช่นเดิม เพราะส่วนหนึ่งยอมรับว่ามีขบวนการขอทำบัตร และบางส่วนก็มีช่องโหว่ที่ทำให้กลุ่มคนพวกนี้สามารถสอดแทรกเข้ามาได้

 ส่วน นายพิชัย ปรีชาพรประเสริฐ นายอำเภอเมืองระนอง กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานกรณีชาวโรฮิงญาได้บัตรไทยพลัดถิ่น แต่หากเป็นจริง และตรวจพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ก็พร้อมที่จะตั้งคณะกรรมสอบสวนทางวินัยทันที ซึ่งเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องสำคัญที่นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กวดขันเป็นพิเศษ

 นายสุทิน กิ่งแก้ว ประธานเครือข่ายแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า คนไทยถิ่นพลัดหรือคนไทยพลัดถิ่นมีการต่อสู้และเรียกร้องมานานในการขอบัตร เพื่อจะได้มีสิทธิต่างๆ เฉกเช่นคนไทยทั่วไป

 “เมื่อทราบข่าวว่ามีชาวโรฮิงญาเข้ามาสวมสิทธิพวกเรา ผมพูดไม่ออก เพราะในขณะที่มีคนไทยพลัดถิ่นอีกกว่า 3 หมื่นคน ยังรอคอยความหวังอยู่ แต่กลับกลายเป็นคนอื่นที่ได้รับสิทธิแทน โดยที่ผ่านมาก็มีชาวพม่านับร้อยคนที่ได้รับบัตรด้วยการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในหลายระดับ พอมาคราวนี้ก็ถึงคราวของชาวโรฮิงญาอีก แต่ทุกวันนี้คนไทยพลัดถิ่นกลับอยู่ในสภาพที่น่าสงสารมาก มีชีวิตที่ยากลำบากยิ่งกว่าแรงงานต่างด้าว ไปไหนมาไหนก็โดนล้อ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ไม่มีสิทธิใดๆ ในการเป็นพลเมืองไทยเลย" นายสุทินกล่าว

 ด้าน นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายหลังร่วมประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อหารือและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญาหลบหนีเข้าประเทศ โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมว่า มาตรการของไทยที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญานั้นจะตั้งอยู่บนดุลยภาพของการรักษาความมั่นคง กฎหมายภายในประเทศ หลักมนุษยธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่ง สมช.จะจัดประชุมกลุ่มทำงานเพื่อร่างมาตรการที่จะใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นมาตรการโปร่งใส และแจ้งให้ประชาคมโลกได้รับทราบ 

 นายวีระศักดิ์ระบุว่า ไทยจะหยิบยกประเด็นนี้เข้าหารือในที่ประชุมอาเซียน เพราะมีประเทศในอาเซียนประมาณ 3-4 ประเทศที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ และจะหารือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ หากคนพวกนั้นผ่านกระบวนการ ตม.ในประเทศไทยแล้วก็จะเป็นหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศที่จะต้องหาทางให้คนเหล่านั้นกลับสู่ประเทศที่เดินทางมา 

 สำหรับมาตรการระยะยาวของรัฐบาล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ต้องเจรจากับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อระดมความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศให้ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในประเทศอยู่อย่างมีความสุขดีขึ้นเพื่อไม่ต้องเดินทางในลักษณะที่เป็นอันตราย ส่วนมาตรการระยะสั้น จะมีการประชุมกับประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพราะได้รับข้อมูลจากชาวโรฮิงญาว่า มีกระบวนการช่วยให้เดินทางและรับเข้าทำงาน จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

 ทั้งนี้ การชี้แจงกับต่างประเทศที่ผ่านมามักไม่เป็นผลนั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์จะต้องดูในรายละเอียดว่าเป็นบุคคลลี้ภัยหรือไม่ ทั้งที่ความจริงแล้วชาวโรฮิงญาหนีเข้ามาเพื่อหางานทำ

 ส่วนกรณีที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ทำเหมือนไม่เข้าใจปัญหา และเชิญ แองเจลีนา โจลี ในฐานะทูตพิเศษยูเอ็นเอชซีอาร์ เดินทางมาเยี่ยมค่ายผู้อพยพในประเทศไทย และให้ข่าวว่า ไทยควรให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญานั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเดินทางมาของ แองเจลีนา โจลี ไม่ได้เข้ามาเฉพาะกรณีของชาวโรฮิงญา แต่มาเพื่อขอเข้าไปดูค่ายอพยพจากพม่า ซึ่งเป็นจังหวะที่เรื่องชาวโรฮิงญาเป็นประเด็นพอดี ไทยจึงเตือนยูเอ็นเอชซีอาร์ว่า ต่อไปไม่ควรพูดเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินขณะนี้มีชาวโรฮิงญาประมาณ 2 หมื่นคน กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งพื้นที่ภาคใต้ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม รวมทั้ง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานนอกกฎหมาย

 พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังประชุม สมช. ถึงมาตรการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญาว่า กองทัพกำลังหาทางแก้ไขอยู่ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่จะแก้ปัญหาระดับชาติต่อไป

 "ผลที่ออกมายังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน แนวทางแก้ปัญหากำลังพิจารณากันอยู่ เรื่องการตั้งศูนย์ผู้อพยพคิดว่าจะเป็นภาระให้แก่ประเทศ เพราะคนเหล่านี้เราถือเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การตั้งกรรมการสอบนั้นเป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ และ สมช. ซึ่งคิดว่าจะทำให้เร็วที่สุด ส่วนข้อเสนอของกองทัพเรือคงเป็นไปในแนวเดียวกันคือ เขาคือผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย การดำเนินการต้องเป็นไปตามกฎหมายในประเทศ และระหว่างประเทศ ในพื้นฐานการมีมนุษยธรรม" พล.ร.อ.กำธรกล่าว

ที่มา: คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/2009/02/12/a001_336759.php?news_id=336759

--------- 

จบข่าวค่ะ

แต่เรื่องยังไม่จบเพราะตอนนี้คนไทยพลัดถิ่นที่มีปัตรไทยพลัดถิ่นตัวจริงเองก็ยังไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีเเต่อย่างใด เช่นเดียวกับผู้ที่ถือบัตรประจำตัวเลขขึ้นต้นด้วยเลข 6 เเละ 7 ทั่วประเทศ ความเข้าใจของชาวโรฮิงญาบางส่วนที่ยอมจ่ายเงิน น่าจะเป็นเพราะนายหน้าไปโฆษณาว่าจะได้รับสิทธิต่างๆ เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋า (โปรดดูเพิ่มเติมที่งานวิจัย Health 4 Stateless  -โดยกิตติวรญา รัตนมณี (http://gotoknow.org/blog/health4stateless-b/165324))

เรื่องการเรียนฟรีนั้น โดยหลักการเป็นสิทธิของเด็กทุกคนในประทเศไทยอยู่เเล้ว ไม่จำกัดสัญชาติ เเต่ในทางปฏิบัติมักพบการปฏิเสธเป็นรายกรณีๆ ไป

เเละคนที่ได้บัตรคนหนึ่ง ข่าวก็น่าจะบอกว่าเพราะเขาเป็นผู้อพยพเข้าเมืองที่เข้ามาในประเทศไทยนานเเล้ว  ซึ่งการดำเนินการด้านสถานะบุคคล ย่อมเเตกต่างกับผู้ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ กรณีนี้จึงไม่สามารถใช้เป็นตัวอย่างว่า "โรฮิงญาแห่สวมสิทธิ์"

ส่วนนายหน้านั้น เชื่อว่าถ้าไม่มี "คนไทย" เเละเจ้าหน้าที่ร่วมขบวนการอยู่ด้วย คงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเเน่นอน เพราะตามปกติมีกระบวนการตรวจสอบเข้มข้น กรณีคนไทยบัตรประชาชนหาย ยังต้องมีกระบวนการสอบประวัติ นำบุคคลอื่นๆมารับรองบุคคล และตรวจสอบกับฐานข้อมูล ดังนั้นขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่จะปฎิบัติหรือไม่

ทุกวันนี้ความจริงที่เรารับรู้เกี่ยวกับชาวโรฮิงญา มาจากการถ่ายทอดของสื่อมวลชน ซึ่ง สัมภาษณ์ "แหล่งข่าวความมั่นคง"  ทหาร ผู้ว่า ฯลฯ ทุกเสียงบอกออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า หากไม่ดำเนินการเช่นนั้น ประเทศไทยจะมีปัญหาความมั่นคง หลายครั้ง ข้อมูลที่ีออกมาจากแหล่งข่าวที่ฟังแล้วน่าเชื่อถือ หรือแม้ตัวชาวโรฮิงญาที่ให้สัมภาษณ์ กลับเป็นข้อมูลต้องตรวจสอบ สอบทานกับกฎหมาย ระเบียบต่างๆ  (ตามที่ไฮไลท์สีนำ้เงิน) การนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ ไม่เพียงเเต่สร้างความตื่นตระหนก ในระยะที่มีการสร้างข่าวเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงที่มาจาก ชาวโรฮิงญา เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติต่อพวกเขาราวกับว่าชาวโรฮิงญามิใช่มนุษย์ แต่ยังเป็นการสร้างความเข้าใจผิดในสาระสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิของ "คนต่างด้าว" อันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนอาจรู้สึกว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงได้สิทธิเท่าเทียมกับคน(สัญชาติ)ไทยทั่วไป ทำไม่เราต้อง "โอบอุ้ม" คน"ต่างด้าว"เหล่านี้  

โดยข้อเท็จจริงเเล้ว คนต่างด้าวที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ขึ้นต้นด้วยเลข 6 เเละ 7 รวมถึงคนไทยพลัดถิ่น ไม่ได้รับการคุ้มครองเรื่องการรักษาพยาบาลฟรีแต่อย่างใด พวกเขาเองก็ประสบปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ดังนั้น กรุณาอย่าตื่นตระหนกกับข่าวนี้ และอย่าวิตกว่าชาวโรฮิงญาที่ได้บัตรคนไทยพลัดถิ่น จะได้สิทธิในการรัักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคนไทย  สิ่งที่น่าวิตกคือกระบวนการนำพาเเละจัดหาบัตรให้ชาวโรฮิงญา ที่ตามจับไม่ได้อยู่ในทุกวันนี้ต่างหาก ที่เป็นเหลือบตัวใหญ่ต่อความมั่นคงของประเทศอย่างเเท้จริง   

หากสื่อมวลชนยังไม่ทำความเห็นของตนให้ตรงกับข้อเท็จจริงเเละกระพือข่าวตามทิศทาง ของเเหล่งข่าวความมั่นคง ข่าวกระตุ้นอคติเช่นนี้คงไม่ใช่ข่าวสุดท้าย

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 241989เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2009 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีค่ะ นำเสนอให้เข้าใจข้อมูลที่แท้จริง

ที่โรงเรียนที่สอนอยู๋ไม่แน่ใจว่ามีลูกหลานคนเหล่านั้นแฝงมาเรียนหรือเปล่า แต่เด็กๆไร้สัญชาติก็ได้รับสิทธิเรียนฟรีเหมือนเด็กไทยทุกประการ พอโตหน่อยก็ราวๆ 14ข15ปีก็จะมีคู่เป็นสาวไทย มีลูกหลานมากมายเต็มบ้านเมือง แล้วก็ได้ชื่อว่าเป็นคนไทยเพราะเกิดบนผืนแผ่นดินไทย ใช้สาธารณูปโภคได้ทัดเทียมคนไทยทุกประการ แต่คนไทยเสียภาษี

อยากทราบว่าเท็จจริงเค้าเหล่านั้น มีสิทธิ์มากน้อยเพียงไร

เด็กเหล่านั้นได้เรียนรูภาษาไทยพูดได้เขียนได้ แต่เด็กไทยพูดไม่ได้ ฟังไม่ออก ใครได้เปรียบ

ขอบคุณค่ะ

ทุกวันนี้ มีชาวต่างชาติหลายสัญชาติเข้ามายึดครองเมืองไทยของเราเต็มไปหมดแล้ว

จริงๆ แล้วกฏหมายก็ระบุชัดเจน ถึงขอบเขตของสิทธิ แต่การละเมิดด้วยความเต็มใจของเจ้าหน้าที่บางคน หรือหลายๆ คน ทำให้ต่างชาติเต็มเมืองไปหมด

 

แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฏหมาย ก็ทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับเมืองไทยมากมายเช่นกัน แต่หากอยู่ภายใต้กฏระเบียบที่ถูกต้องก็ไม่เป็นไร

ทำอาชีพที่ระบุไว้ในกฏหมายก็ไม่เป็นไร  แต่ปัจจุบันเค้าทำมากกว่านั้น

จนแย่งอาชีพของคนไทยไปเยอะแล้วค่ะ แถมก่ออาชญากรรมด้วยเป็นของแถม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท