ลูกน้อง vs เจ้านาย : ใครแสบกันแน่


การจัดการเจ้าตัวแสบ

ทรัพยากรมนุษย์  เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างผลสัมฤทธิ์ขององค์กร ดังนั้น ทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นต้นทุนที่มีคุณภาพและมีคุณค่ายิ่งขององค์กร องค์กรที่ประสบความสำเร็จคือองค์กรที่สามารถสร้างคุณค่า (value creation) และดึงคุณค่า (value extraction) จากทุนมนุษย์ออกมาเป็นคุณค่าขององค์กร จึงนับเป็นความท้าทายความสามารถของผู้บังคับบัญชาในการบริหารจัดการผู้ใต้บังคับบัญชาของตนทุกคนให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าขององค์กร  ผู้บริหารหลายท่านมักตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นผู้บริหารคืออะไร การบริหารจัดการตนเองหรือการบริหารจัดการลูกน้อง และคำตอบที่ได้จากผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ก็คือการบริหารจัดการลูกน้องเป็นเรื่องที่ยากที่สุด โดยผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เนื่องจากลูกน้องแต่ละคนจะมีบุคลิกลักษณะหรือนิสัยที่แตกต่างหลากหลายรูปแบบ ยิ่งถ้าลูกน้องที่มีลักษณะต่อต้าน เกเร ไม่ทำงาน และก่อให้เกิดความแตกแยกในหน่วยงานหรือที่เรียกว่าเป็นเจ้าตัวแสบ (Difficult people) ด้วยแล้วมักมีปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิ การเลี่ยงหรือปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งหรืองานที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ไม่เชื่อฟัง อยากลองดี เป็นต้น ส่งผลย้อนกลับมายังผู้บังคับบัญชาต้องรับภาระหนัก แทนที่จะมีเวลาในการทำงานเชิงกลยุทธ์ การวางแผนงาน การพัฒนาระบบงานให้ดีขึ้น กลับต้องเอาเวลามาสะสางงานในรายละเอียด คอยแก้ไขปัญหาประจำวัน ต้องทำงานด่วนพิเศษหรือทำงานนอกเวลาทำงานซึ่งไม่มีลูกน้องอาสาที่จะช่วยหรือเกี่ยงกันไม่อยากทำให้

 

ถ้าหากลองวิเคราะห์ลงไปในสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ปัจจัยที่เกี่ยวข้องเป็นไปได้ทั้งปัจจัยด้านผู้ใต้บังคับบัญชาและปัจจัยด้านผู้บังคับบัญชาเอง ซึ่งปัจจัยด้านผู้บังคับบัญชานี้เป็นสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาไม่ควรมองข้าม การที่ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงกิริยาดื้อดึงต่อผู้บังคับบัญชานั้นอาจเป็นเพราะเขาขาดความศรัทธาหรือไม่ยอมรับนับถือผู้บังคับบัญชา  ผู้บังคับบัญชาเก่งหรือมีบารมีมากเกินไป หากผู้บังคับบัญชาต้องการบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาหัวดื้อให้ได้นั้น แม้จำเป็นจะต้องเผด็จการบ้างในบางสถานการณ์ แต่อีกด้านหนึ่งผู้บังคับบัญชาต้องพยายามสร้างผลงานอย่างมากของตน ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นศักยภาพและให้การยอมรับ เพราะการยอมรับจะนำมาซึ่งความศรัทธา และพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งหรืองานที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายได้ทุกเมื่อ สอดคล้องกับแนวคิดของ Kettenhofen (2008) ที่กล่าวว่าการบริหารจัดการเจ้าตัวแสบนั้น เราไม่สามารถควบคุมตัวเขา แต่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเขาให้มาเป็นตัวควบคุมการทำงานของเขาให้ดีขึ้นได้ นั่นคือผู้บังคับบัญชาต้องสามารถบริหารจัดการตนเองได้ ก่อนที่จะไปบริหารจัดการผู้ใต้บังคับบัญชาของตน  

 

ในการบริหารจัดการเจ้าตัวแสบ หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาจำเป็นวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้นปัจจัยสำคัญเกิดจากตัวผู้บังคับบัญชาเอง หรือเกิดจากผู้ใต้บังคับบัญชา กรณีที่เกิดจากผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเจ้าตัวแสบ การบริหารคนกลุ่มนี้ควรเริ่มจากความพยายามในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยผู้บริหารต้องทำความเข้าใจในตัวผู้ใต้บังคับบัญชารับรู้ความรู้สึกของเขาด้วยความจริงใจเพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในขณะเดียวกันผู้บริหารต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเป็นเจ้าตัวแสบประเภทใด เพื่อหากลวิธีในการรับมือได้อย่างถูกต้อง

กรณีเกิดจากผู้บังคับชาไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาควรเริ่มสำรวจตัวเองว่าได้ใส่ใจที่จะหาวิธีจูงใจผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานมากน้อยเพียงใด ผู้บังคับบัญชาที่มีทั้งศาสตร์ในการบริหารคนและศาสตร์ในการบริหารงานนั้นมักจะเป็นผู้บังคับบัญชาที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และได้รับการยอมรับ ความเคารพศรัทธาจากผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความจริงใจ และผู้บังคับบัญชาทุกคนพึงระลึกไว้เสมอคือ สิ่งที่พูดกับคนอื่น สามารถสร้างความไม่พอใจ หรือความไว้เนื้อเชื่อใจได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถ สร้างการต่อต้าน หรือ ความร่วมมือได้เช่นกัน อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดความ ขัดแย้งหรือความเข้าใจอันดีได้ด้วย

ทรัพยากรมนุษย์ทุกคนมีค่า พัฒนาได้

 

..................

คนึงนิจ อนุโรจน์

คำสำคัญ (Tags): #hrd
หมายเลขบันทึก: 240808เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2009 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท