ฟรีทีวีเมืองไทย ทีวีเพื่อสาธารณะหรือเพื่อธุรกิจ


ควรพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสื่อ และเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลบางส่วนเท่านั้น

ส่วนหนึ่งจากการสำรวจสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีและเคเบิ้ลทีวีในประเทศไทยช่วงไตรมาศ 3 ปี 2550

เพื่อประกอบการเรียนในวิชาการบริหารสื่อสารมวลชน

อาจารย์พจนา ธูปแก้ว

ปริญญาโทภาคพิเศษ สาขาการบริหารสื่อสารมวลชน

คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(ข้อมูลนี้ได้จัดทำในช่วงปลายปี พ.ศ. 2550 อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากนี้บ้าง และอาจมีความคลาดเคลื่อนบางส่วน เนื่องจากเป็นการสำรวจและศึกษาข้อมูลเพื่อทำรายงานกลุ่ม และส่วนหนึ่งเป็นความเห็นจากการประเมินสถานการณ์ไม่ใช่ fact 100% ควรพิจาราณาก่อนตัดสินใจเชื่อ)

 

สโลแกนของฟรีทีวีในไทยทั้ง 5 ช่อง ไม่นับรวม ITV ล้วนสะท้อนเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นสถานีเพื่อสาธารณะประโยชน์ แม้ว่าโทรทัศน์ในบ้านเราเรียกได้ว่ามีความหลากหลายมากกว่าในหลายๆประเทศ เฉพาะฟรีทีวีก็มีถึง 6 ช่อง และยังไม่นับรวมเคเบิ้ลทีวี แต่เมื่อวิเคราะห์สื่อทีวีโดยภาพรวมจะพบว่า ทิศทางของทุกสถานีมี 2 ด้านเหมือนเหรียญ 2 ขั้ว  ด้านแรกการเป็นทีวีเพื่อสาธารณะกับด้านที่สองคือการเป็นทีวีเพื่อธุรกิจ ด้วยสาเหตุที่ว่าฟรีทีวีทั้ง 5 ช่องไม่นับรวม TITV ต่างก็ดำเนินกิจการภายใต้กรอบควบคุมของรัฐที่เป็นผู้ให้สัมปทาน สิ่งที่สะท้อนออกมาคือการบริหารงาน การบริหารบุคลากร ไปจนถึงการจัดผังรายการ และการทำงานของบุคลากรยังขาดอิสระ ยังมีปัญหาการแทรกแซงสื่ออยู่อย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็มีผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารสถานี ไปพร้อมๆกันด้วย

และในส่วนของรูปแบบการปฏิบัติงานยังขึ้นกับระบบราชการหรือระบบอาวุโสส่งผลให้การตัดสินใจเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของสื่อที่ต้องรวดเร็วทันเหตุการณ์ แต่อย่างไรก็ตามการควบคุมโดยรัฐ มีปัจจัยเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ชมที่ไม่ต้องจ่ายค่าชมรายการ เพียงแต่ผลักภาระไปให้กับผู้ผลิตรายการและเจ้าของสถานี รวมไปถึงการที่รัฐสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาสถานีบางส่วน ได้แก่ ช่อง 11 ที่มีสถานีเครือข่ายวิทยุโทรทัศน์อยู่ทั่วประเทศ เข้าถึงประชาชนในท้องถิ่น และมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเอื้อต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ช่อง 11 เป็นสถานีเผยแพร่ข่าวสารของรัฐและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ และมีช่อง 9 เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งได้รับการงดเว้นค่าสัมปทาน สามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัวแทบไม่มีความเสี่ยงเพราะอาศัยระบบการถือหุ้นที่ล้มก็ล้มด้วยกัน อย่างไรซะช่อง 9 ก็ไม่ขาดทุน

ส่วนในอีกด้านหนึ่งของวงการโทรทัศน์ไทยคือการเป็นทีวีเพื่อธุรกิจ ในช่วงระยะหลังมานี้ทีวีบ้านเรามีความเป็นธุรกิจสูงขึ้นมาก ยอดการโฆษณาทางโทรทัศน์พุ่งขึ้นตลอดมาแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะหยุดชะงักบ่อยครั้งแต่สื่อโฆษณาก็ไม่เคยขาดหายไปจากหน้าจอ เจ้าของสินค้าเข้ามามีบทบาทต่อการผลิตรายการโทรทัศน์มากขึ้นทุกที ทั้งการโปรโมทสินค้าในรายการ ไปจนถึงการซื้อช่วงเวลาเพื่อผลิตรายการของตนออกอากาศ ปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาพเช่นนี้ก็ด้วยข้อจำกัดที่ว่าคลื่นความถี่สำหรับฟรีทีวีนั้นมีได้ไม่เกิน 5 ช่องต่อ 1 ประเทศ และการจะใช้คลื่นความถี่ออกอากาศเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทุนสูง รัฐไม่สามารถดูแลแบกรับภาระได้ทั้งหมดจึงต้องให้เอกชนช่วยเข้ามาดูแลบริหารจัดการ เกิดกลุ่มคนผู้มีอิทธิพลในการบริหาร ช่อง 3 ผู้บริหารมาจากครอบครัวมาลีนนท์และรายการส่วนใหญ่มาจากบริษัทบีอีซีเทโร ช่อง 5 ผู้มีอำนาจบริหารคือผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับทหารมีโอกาสได้รายการ ช่อง 7 มีผู้จัดละครเจ้าใหญ่อย่างคุณสุรางค์ เปรมปรีด์ และมีบริษัทในเครือคือบริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ คอยป้อนรายการให้ ช่อง9 มีกลุ่มบริษัท พาโนรามา เวิลด์ วาย ผลิตรายการสารคดี เมื่อเป็นเช่นนี้คงเป็นการยากที่ผู้จัดหน้าใหม่จะมีช่องทางนำเสนอผลงานอันหลากหลายเพื่อสังคม

แม้จะมีทางเลือกของผู้จัดหน้าใหม่และผู้ผลิตสื่อที่มีอุดมการณ์นักสื่อสารมวลชนที่ต้องการผลิตสื่อเพื่อสาธารณะ ด้วยการอาศัยช่องทางของเคเบิ้ลทีวี* แต่ผู้จัดก็ต้องประสบปัญหาการแบกรับภาระค่าใช้จ่าย บริหารงานแบบแทบไม่มีกำไร เพราะเอเจนซี่ในบ้านเรายังยึดติดกับการวัด  เรตติ้งจากเอซีเนลสันซึ่งวัดเฉพาะฟรีทีวีเท่านั้น และบางสถานียังใช้สัญญาณดาวเทียมจากประเทศอื่นซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับ ในไทยอะไรที่ยังไม่ถูกระบุไว้ในกฎหมายถือว่าผิดกฎหมาย เป็นสถานีเถื่อน จนผู้จัดบางคนต้องหันไปเช่าสัญญาณดาวเทียมจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้สถานีเคเบิ้ลของตัวเองได้ชื่อว่าถูกกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับการต้องเสียค่าเช่าเวลาสถานีฟรีทีวีโดยต้องคอยแข่งขันกันแย่งพื้นที่อันน้อยนิดที่เหลืออยู่และความไม่แน่นอนของสื่อฟรีทีวีนั้นนับว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก

จากสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปยังส่งผลให้เกิดการผสมผสานกันของทั้ง 2 ขั้ว เข้าด้วยกัน ด้านการเป็นสื่อเพื่อธุรกิจเริ่มมีแนวโน้มกินพื้นที่การเป็นสื่อสาธารณะมากขึ้นทุกทีโดยเฉพาะกับฟรีทีวีทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอด เช่น ช่อง 11 ที่เคยประสบปัญหาเรื่องผลกำไรมาโดยตลอดก็เริ่มทำการตลาดมีโฆษณาเข้ามามากขึ้น เริ่มผลิตรายการบันเทิง ช่อง 3 ที่เคยมุ่งเน้นแต่ความบันเทิง ก็กลับมาแข่งขันชิงความเป็นเลิศทางด้านรายการข่าวในรูปแบบการเล่าข่าว ช่อง 5 คงความหลากหลายที่เน้นหนักไปในด้านบันเทิงด้วยรายการวาไรตี้และเกมโชว์ ช่อง 9 ปรับปรุงให้ทันสมัยเป็นโมเดิรน์ไนท์ ด้วยสารคดีแบบคนรุ่นใหม่

สภาพการณ์ของสื่อปัจจุบันจึงเหมือนการสลับบทบาทกันกลายเป็นว่าสื่อฟรีทีวีเริ่มมีความเป็นสื่อเพื่อธุรกิจในขณะที่เคเบิ้ลทีวีกลายเป็นช่องทางของผู้ผลิตหน้าใหม่ที่ต้องการผลิตรายการเพื่อสังคมไม่หวังผลกำไรมากนัก

ความเปลี่ยนแปลงของสื่อฟรีทีวีในไทยส่งผลให้สังคมเรียกร้องต้องการให้มีฟรีทีวีสักช่องที่เป็นสถานีเพื่อพวกเขาไม่ใช่เพื่อการโฆษณา จึงมีความพยายามในการผลักดันให้เกิดสถานีโทรทัศน์เพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง เป็นที่มีของ ThaiPBS การเกิดใหม่ของสถานีโทรทัศน์อีก 1 สถานีที่มาแทนที่สถานี ITVทีวีเสรีเดิม แต่น่าคิดว่าจะจัดการกับปัญหาด้านรายรับรายจ่ายอย่างไรถ้าไม่เก็บค่าธรรมเนียม เพราะแม้แต่ช่อง 11 เองงบประมาณรัฐก็ยังไม่เคยเพียงพอ

*หมายเหตุ ปัจจุบันการผลิตรายการทางเคเบิ้ลทีวีในประเทศไทยนั้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

หมายเลขบันทึก: 240141เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2009 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท