การกระจายอำนาจทางการคลังแก่ท้องถิ่น


การกระจายอำนาจทางการคลังแก่ท้องถิ่น

การกระจายอำนาจทางการคลังแก่ท้องถิ่น

บาว นาคร*

การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550นั้นต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ เพื่อกำหนดการแบ่งอำนาจหน้าที่และการจัดสรรรายได้ระหว่างราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคกับ อปท. และระหว่าง อปท. ด้วยกันเองโดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจที่เพิ่มขึ้นตามระดับความสามารถของ อปท. แต่ละรูปแบบรวมทั้งกำหนดระบบการตรวจสอบประเมินผล โดยมีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทน อปท. และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีจำนวนเท่ากัน เป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

         ดังนั้น คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีรองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธานทำหน้าที่ศึกษารูปแบบของการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และนำเสนอรูปแบบของกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. กฎหมายรายได้ท้องถิ่น กฎหมายจัดตั้ง กฎหมายเกี่ยวกับราชการส่วนท้องถิ่น และกฎหมายอื่น เป็นต้น และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ 4 คณะ ได้แก่

         1. คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษารูปแบบและแนวทางการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีศาสตราจารย์ชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นประธาน ทำหน้าที่ศึกษาและนำเสนอแนวทางในการกำหนดความสัมพันธ์ในการแบ่งอำนาจหน้าที่

         2. คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาและพัฒนาระบบรายได้ท้องถิ่น มีศาสตราจารย์พิเศษสมชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบรายได้ที่เหมาะสมของอปท. แนวทางปรับปรุงรายได้ของ อปท. และโครงสร้างของกฎหมายรายได้ท้องถิ่น

         3. คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาและพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธาน ทำหน้าที่ศึกษารูปแบบของระบบการบริหารงานบุคคลที่สอดคล้องกับรูปแบบโครงสร้างของการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย และเสนอโครงสร้างของกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น

         4. คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษารูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีรองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เป็นประธาน ทำหน้าที่ ศึกษารูปแบบ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด

การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

         เนื่องจากตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้จัดทำกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายรายได้ท้องถิ่น กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น และกฎหมายอื่นตามหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

         คณะอนุกรรมการอำนวยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธานซึ่งมีหน้าที่คอยกำกับดูแลเนื้อหารูปแบบและความสัมพันธ์ของกฎหมายให้มีความเชื่อมโยงกับกฏหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ จึงได้มีนโยบายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ทั้ง 4 คณะ เร่งดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายตามที่ได้มอบหมายให้แล้วเสร็จกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐบาลแถลงนโยบาย เพื่อจะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปซึ่งในการดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะนี้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ทั้ง 4 คณะได้ยกร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อย และอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดเรียงตามแต่ละมาตราของร่างกฎหมายของคณะอนุกรรมการอำนวยการฯ

 

ร่างกฎหมายรายได้ท้องถิ่น

         คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาและพัฒนาระบบรายได้ท้องถิ่นในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย ศาสตราจารย์พิเศษ สมชัย ฤชุพันธุ์ หนึ่งในสี่ของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบรายได้และโครงสร้างของกฎหมายรายได้ท้องถิ่น เพื่อการยกร่างกฎหมายรายได้ท้องถิ่นให้เป็นไปตามข้อกำหนด ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งมีสาระสำคัญของโครงสร้างของกฎหมายแบ่งเป็น 5 หมวด ประกอบด้วย หมวด 1 โครงสร้างรายได้ของ อปท. หมวด 2 อำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ หมวด 3 คณะกรรมการรายได้ อปท. หมวด 4 การจัดสรรรายได้ให้แก่ อปท. และหมวด 5 การคำนวณสัดส่วนรายได้ของ อปท.

         ที่สำคัญการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจฐานรากนั้น ต้องพิจารณาจากการสถานะคลังท้องถิ่น ที่รัฐบาลได้มีการกระจายอำนาจทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการออกกฎหมายรายได้ท้องถิ่นเพื่อกำหนดโครงสร้างรายได้ อำนาจหน้าที่ในการจัดรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความชัดเจน นอกจากนั้นมีการกำหนดคณะกรรมการรายได้และอำนาจหน้าที่ในการบริหารการคลังท้องถิ่น เพื่อการกระจายอำนาจทางการคลังให้แก่ท้องถิ่นและมีกฎหมายออกมารองรับอย่างชัดเจนในอนาคตต่อไป

 

อ้างอิง

         http://www.fpo.go.th/pdf/local1.pdf



* บุญยิ่ง ประทุม .  [email protected]

หมายเลขบันทึก: 239750เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2009 02:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท