คฤหัสบรรลุธรรม(อรหันต์)ได้ไหม-(เล่าผ่านพระยามิลินท์)ตอนที่1


คฤหัสถ์สามารถบรรลุธรรมได้หรือไม่ ? ตอนที่ 1

มิลินทปัญหา-โฆรสวรรค   วรรคว่าด้วยลามีเสียงกร้าวเป็นเรื่องแรก

ฆราวาสบรรลุธรรมได้หรือไม่ ?

 

ประเด็นนำ

            ในมิลินทปัญหา  โฆรสวรรค ให้ความหมายของคุณสมบัติของผู้จะบรรลุธรรมมีอย่างไร และต้องปฏิบัติอย่างไร โดยความหมายก็คือปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นพระอรหันต์  หรือข้อธรรมอันใดที่จะปฏิบัติเพื่อไปสู่การเป็นพระอรหันต์  สาระในโฆรสวรรค ก็เพื่อเป็นการชี้ให้เห็นข้อธรรมอันจะเป็นการเปรียบเทียบ ระหว่างธรรมกับสภาวะธรรม  ที่เป็นคุณสมบัติของสัตว์

            การสนทนาของประโยคจึงเป็นการสนทนาประหนึ่งนักเรียนกับครูที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันและกัน พร้อมทั้งเป็นการแนบสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฎิบัติเอง รวมไปถึงเป็นแนวทางในฐานะเป็นวัตรปฏิบัติของผู้ปฏิบัติเอง

            สาระของธรรมทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อการบรรลุธรรม เพื่อการไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ ของผู้ปฏิบัติพระยามิลินท์ในฐานะผู้ที่เกิดศรัทธาและความสนใจต่อธรรมอย่างเต็มที่แล้วจึงได้พยายามฝึกฝน พัฒนาตนด้วยการถามตอบ และฟังจนกระทั่งถึงที่สุดจึงได้เหตุของธรรมนั้นอย่างแท้จริง

 

เนื้อความโดยสรุป

            การที่พระยามิลินท์  ซึ่งในฐานะเป็นผู้ปกครอง  ในฐานะกษัตริย์การที่พระองค์ได้ไปท้าโต้วาทีกับปราชญ์ผู้รู้ในสำนักต่าง ๆ และประสบความสำเร็จได้ชัยชนะในทุกสำนัก  จนกระทั่งมาถึงสำนักของพระนาคเสน ซึ่งก็ได้โต้วาทีแลกเปลี่ยนและปุจฉากันในหลายเรื่อง ในหลายประเด็นจนพระยามิลินท์ หมดข้อสงสัย ถามอันใดพระนาคเสนก็ตอบได้  สิ้นความสงสัย และเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาในที่สุด โดยการถามในโฆรสวรรค จึงเป็นการถามเพื่อแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง ประหนึ่งเด็กน้อยที่ตั้งใจเรียนในสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้กับครูผู้สอน   ประหนึ่งพระอาจารย์ที่สอนศิษย์ด้วยความปรารถนาที่จะให้ศิษย์ได้รับความรู้อย่างแท้จริง การถามตอบในวรรคนี้จึงมีลักษณะของความงาม และอลังการในภาษาของผู้รจนาที่ชี้ให้เห็นถึงความอ่อนน้อมต่อกันและกันในฐานะผู้เรียนกับผู้สอน และในเวลาเดียวกันเป็นความอ่อนน้อมต่อพระธรรมที่พระนาคเสนถ่ายทอดด้วยความตั้งใจ  และเป็นความอ่อนน้อมในฐานะผู้รับของพระยามิลินท์

            ในโฆรสวรรคนี้ เป็นการถามตอบที่เชื่อมประสานกับในวรรคก่อนหน้านี้ อันเนื่องด้วยในวรรคที่ ๙ ธุตังคปัญญา ในประเด็นที่พระยามิลินท์ได้ถามพระนาคเสนว่า คฤหัสถ์สามารถบรรลุธรรมได้หรือไม่ ?

            พระนาคเสนตอบว่า  นับไม่ถ้วน

            พระยามิลินท์ก็ถามแย้งต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นจะไปบวชให้ลำบากทำไม  เป็นฆราวาสเช่นพระองค์ไม่ดีกว่าหรือ ? ไม่ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย นอนสบาย อยู่กับครอบอันเป็นที่รัก

พระนาคเสนก็ให้เหตุผลว่า อันเนื่องด้วยสภาวะแห่งสมณะภาวะเอื้อต่อการปฏิบัติมากกว่า แล้วพระนาคเสนก็ยกแนวปฏิบัติธุดงค์มาเป็นข้ออธิบายเสริมในประเด็นนี้  ซึ่งทำให้พระยามิลินท์เกิดศรัทธาและถามต่อดังปรากฏเป็นข้อความในโฆรสวรรคที่ว่า  การจะเป็นพระอรหนต์ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ?”

            การยกองค์ความรู้ที่พระนาคเสนและพระยามิลินท์ต่างรู้มาอธิบายข้อธรรมจึงเกิดขึ้น

            การยกสิ่งที่พระยามิลินท์รู้ เช่น คนจะเป็นพระอรหันต์ต้องมีคุณสมบัติของลา ไก่ กระแต แม่และพ่อเสือเหลือง เต่า ปี่ รางปืน  กา ลิง  ในสาระอันเป็นลักษณะของสัตว์เชื่อว่าพระยามิลินท์รู้และเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะคนจะเป็นกษัตริย์สมัยกระโน้นคงต้องศึกษาศาสตร์จำนวนมากและศาสตร์อันหนึ่งที่สัมพันธ์ด้วยก็คือ สัตวศาสตร์ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่พระยามิลินท์จะไม่ทราบและในเวลาเดียวกัน การยกสัตว์ต่าง ๆ มาอธิบายเสริมธรรมะของพระนาคเสนทำให้เกิดความสนใจของพระยามิลินท์ขึ้นมาอีกมาก และเกิดคำถามทำนองอยากรู้ที่ว่า สัตว์จะบรรลุธรรมได้อย่างไร  ประหนึ่งคงเกิดคำถามในใจว่าสัตว์ก็คือสัตว์แล้วคุณสมบัติของสัตว์เหล่านี้จะทำให้บรรลุธรรมได้อย่างไร ?

            จนกระทั่งเมื่อพระนาคเสนอธิบายเปรียบเทียบว่าลาเรียบง่าย เทียบได้กับวัตรอันว่าด้วยธุดงค์ของผู้ปฏิบัติเพื่อไปสู่ทางแห่งการบรรลุธรรม  หรือไก่ ตื่นตัว ขยัน รู้กาลเวลา ตั้งใจ เปรียบได้กับผู้ปฏิบัติที่มีความเพียร ไม่ประมาท มีสติ และมีโยนิโสมนสิการ เพื่อการพิจารณาธรรมและการแยกแยะธรรม จึงทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย   และนำไปสู่การเติมศรัทธาให้เต็มต่อการปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม และในเวลาเดียวกันก็เป็น   หรือการเปรียบเทียบกับกระแต ซึ่งเป็นสัตว์ที่กล้าหาญใจสู้ กล่าวคือเมื่อมีศัตรูเข้ามาใกล้กายจะทำร้าย ก็จะยกหางขึ้นสู้ข่มขู่ต่อสู้โดยไม่ยี่หระ  เปรียบได้กับประโยคาวจรที่ปฏิบัติเพื่อไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ก็ต้องยกจิตขึ้นสู้กับกิเลสที่เข้าแทรกในสภาพการณ์ต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติตนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีกิเลสในที่สุด

จากการยกธรรมเปรียบเทียบกับลักษณะของสัตว์ในโฆรสวรรคจึงทำให้เห็นข้อธรรมที่ปรากฎในวรรคนี้ โดยลักษณะข้อธรรมที่ปรากฏในวรรคนี้จะเป็นธรรมที่มุ่งปฏิบัติเพื่อการไปสู่มรรคผลนิพพานอันเป็นเป้าหมายปลายทาง โดยข้อธรรมจะเริ่มจากหลักปฏิบัติตนในเบื้องตน จนกระทั่งไปสู่ภาวะที่สูงขึ้นเพื่อการขัดเกลาผู้ปฏิบัติ และสู่ภาวะที่สูงขึ้นไปเพื่อการปฏิบัติจนกระทั่งสูงสุดจนถึงมรรคผลนิพพานในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 239694เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2009 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท