นวัตกรรมการเรียนการสอน


การเรียนการสอน “เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” ดีที่สุดต่อผู้เรียนหรือไม่

ในยุคปฏิรูปการศึกษา เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมแห่งการเรียนรู้ วิธีการจัดการเรียนการสอน จึงได้ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถ มีความคิดวิเคราะห์ สามารถแก้ปัญหา และตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ
เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 คำว่า ผู้เรียนเป็นสำคัญได้ถูกบัญญัติขึ้นใน หมวด 4 มาตรา 22 ว่าด้วยการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ และถือว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
จากการตีความตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 4 มาตรา 22 ข้างต้น
พบว่า วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญยังมีความคลุมเครืออยู่มาก คุณลักษณะการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีคุณลักษณะเช่นใด ครูต้นแบบหรือครูตัวอย่างเป็นผู้ให้คำตอบได้หรือไม่ จะดูตัวอย่างจากครูต้นแบบได้ไหม ซึ่งจริงๆ แล้ว ครูดี และเก่งที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย
ซึ่งท่านเหล่านี้ อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่า ท่านสอนด้วยวิธีการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และนักการศึกษาหลายท่านได้ตั้งคำถามว่า การจัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญดีที่สุดต่อผู้เรียนหรือไม่ และมีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าหาคำตอบ

การเรียนการสอนต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนการสอนที่ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญหรือการจัดการเรียนการสอนที่ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตรงกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ หลายคำ ได้แก่ Student-Centered Learning, Student-Centered Education, Child-Centered Education, Learner-Centered Education, Pupil-Centered Education และ Student-Centered Classroom Management เป็นต้น คำดังกล่าวมีความหมายทำนองเดียวกัน ซึ่งมีนักการศึกษารวมทั้งสถาบันที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้นิยามความหมายของคำดังกล่าวไว้ ณัฐวุฒิ กิจรุ่งเรือง (2545 : 10 -11) ได้สังเคราะห์ความหมายของ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญว่า หมายถึง การจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการที่หลากหลาย สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และความแตกต่างระหว่างบุคคล ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดสาระที่จะเรียนรู้ ทำกิจกรรม และปฏิบัติจริง จนค้นพบข้อความรู้ และวิธีการปฏิบัติด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญต้องเลือกใช้รูปแบบการสอน วิธีการสอน และเทคนิคการสอนที่เหมาะสมหลากหลายประกอบกัน ไม่สามารถยึดถือเฉพาะรูปแบบ วิธีการ หรือเทคนิคการสอนอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
แนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีแนวคิดจากปรัชญา Constructivism ที่แพร่หลายมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่ง Martin 1994 : 44 อ้างถึงใน พิมพันธ์ เดชะคุปต์, 2544 : 6-7 ได้กล่าวว่า ปรัชญา Constructivism เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียน ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้จากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม เป็นปรัชญาที่มีข้อสันนิษฐานว่า ความรู้ไม่สามารถแยกจากความอยากรู้ ความรู้ได้มาจากการสร้างเพื่ออธิบาย จึงเน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้โดยผ่านกระบวนการคิดด้วยตนเอง โดยผู้สอนไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญา (Cognitive Structure) ของผู้เรียนได้ แต่ผู้สอนสามารถช่วยให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาได้ โดยจัดสภาพการณ์ให้ผู้เรียนเกิดความขัดแย้งทางปัญญา หรือเกิดภาวะไม่สมดุลขึ้น(Unequilibrium) ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสบการณ์ใหม่ไม่สอดคล้องกับประสบการณ์เดิม ผู้เรียนต้องพยายามรับข้อมูลใหม่กับประสบการณ์ที่มีอยู่เดิม แล้วสร้างเป็นความรู้ใหม่ ดังนั้นการยึดแนว Constructivism จึงเชื่อว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เอง ผ่านการลงมือปฏิบัติ และจะทำให้ความรู้ที่ได้อยู่ในความทรงจำของผู้เรียนไปได้ยาวนาน
นอกจากนี้แล้ว แนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ยังมีที่มาจากแนวคิดของนักปรัชญากลุ่มมนุษยนิยม ( Humanism) ที่เชื่อว่า การเรียนรู้ไม่ได้หมายถึง การที่ทำให้ผู้เรียน รู้วิชาการเท่านั้น แต่ต้องทำให้มีจิตวิญญาณ มีเจตคติที่ดี และมีคุณธรรม โดยพัฒนาเป็นองค์รวม (Wholistic) การเรียนรู้ เกิดจากการค้นพบความหมายของสิ่งที่เรียนด้วยตนเอง เป็นปัจจัยภายในตัวผู้เรียน ผู้สอนจึงต้องรับรู้ในเบื้องต้นว่าผู้เรียนสามารถนำตนเอง พึ่งพาตนเองได้ และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการเรียนการสอนจึงต้องให้อิสรภาพแก่ผู้เรียน ในการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ไม่บีบบังคับ หรือบงการชีวิตของผู้เรียนให้เป็นไปตามแนวทางที่ผู้สอนต้องการ และจากปรัชญาการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น กลายเป็นแนวคิดหลักในการปฏิรูปการศึกษาของไทยในปัจจุบัน
จากการศึกษาแนวคิดปรัชญา ซึ่งเป็นที่มาของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงคาดหมายว่า วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ น่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนไปด้วย

หมายเลขบันทึก: 239335เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2009 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท