ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

เปิดผลศึกษาเซาเทิร์นซีบอร์ด


ผลการศึกษาเซาร์เทิร์นซีบอร์ดสรุปแน่ชัดแล้วว่า เลือกพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมในสองพื้นที่ชายฝั่งทะเล คือ สิชล และท่าศาลา รวมทั้ง อ.นาบอน

 

เปิดผลศึกษาเซาเทิร์นซีบอร์ด

ชู 3 พื้นที่ตั้งนิคมฯ

รองรับปิโตรเคมี,เหล็ก,พลังงาน

 

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2373 09 พ.ย.  - 12 พ.ย. 2551 

โครงการศึกษาพื้นที่ตั้งนิคมฯ รองรับอุตสาหกรรมพลังงาน-ปิโตรเคมี ตามแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดเริ่มชัด เฟ้นพื้นที่ 2 แห่งใน อ.สิชล-อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นทางเลือกสำหรับท่าเรืออุตสาหกรรม พร้อมเสนอ อ.นาบอน สำหรับตั้งนิคมอุตสาหกรรมอีก 1 แห่ง ด้านโครงการเหล็กต้นน้ำยังไม่คืบ "สถาบันเหล็กฯ" เล็งร่างเกณฑ์ฆ่าเวลา

ดร.กรินทร์ ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้ประสานงานโครงการและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณูปโภค โครงการศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด ภายใต้การดำเนินงานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของผลการศึกษาว่า สำหรับพื้นที่ทางเลือกท่าเรืออุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมหลังท่าเทียบเรือมีพื้นที่เหมาะสม 2 แห่งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสิชล ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล ขนาด 11,000 ไร่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 32,570 ล้านบาท และนิคมอุตสาหกรรมท่าศาลา ต.กลาย อ.ท่าศาลา ขนาด 12,600 ไร่ ลงทุนประมาณ 36,010 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับนิคมอุตสาหกรรมภายใน (Inland) คือ นิคมอุตสาหกรรมนาบอน ต.แก้วแสน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช ขนาดพื้นที่ 1,600 ไร่ ลงทุนราว 2,510 ล้านบาท

นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวจะรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ อาทิ น้ำมันปาล์ม-ไบโอดีเซล ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป ซีเมนต์และยิปซัม ส่วนอุตสาหกรรมรองคืออุตสาหกรรมต่อเนื่องจากกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เช่น น้ำมันเครื่อง จาระบี เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์พลาสติก ตลอดจนผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นปลายที่พึ่งพาอุตสาหกรรมแปรรูปเหล็กขั้นต้นในภาคใต้ตอนบน ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว

เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จและส่งให้กับ กนอ. ภายในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้น กนอ. จะรวบรวมข้อมูลส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ต่อไป โดยคาดว่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายครั้งก่อนจะเริ่มโครงการจริงประมาณปี 2561

ด้าน นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูงที่มีเอกชน 4 ราย ได้แก่ เจเอฟอี สตีล, นิปปอน สตีล, บาวน์ สตีล และ อาร์เซลอ มิตตาล ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนว่า จนถึงขณะนี้แม้จะมีการศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่มีมติจากคณะรัฐมนตรีว่าจะมอบหมายให้ใครเป็นผู้ดำเนินการต่อ โดยมองว่ากระบวนการทำงานมี 2 วิธี คือ 1. รัฐบาลเป็นผู้กำหนดพื้นที่และกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน แล้วจึงพิจารณาคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน หรือ 2. คัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาลงทุนก่อน แล้วให้เอกชนรายดังกล่าวลงไปดำเนินการในพื้นที่ด้วยตนเอง แต่การให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเองก็อาจเกิดประเด็นปัญหาขึ้นอีกโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด สถาบันเหล็กฯ ได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่าระหว่างที่ยังไม่มีความคืบหน้านี้ควรมีการร่างเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกด้านไว้ก่อนทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สำหรับทุกภาคส่วน เช่น การทำระบบประปา หรือ การกำจัดน้ำเสียที่ใช้ร่วมกัน รวมถึงเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน ทั้งหมดนี้สถาบันเหล็กฯ จะขอความคิดเห็นและคำปรึกษาจากกระทรวงต่างๆ นักวิชาการ ภาคเอกชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง

"การร่างเกณฑ์ครั้งนี้จะได้กติกาว่าอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำต้องมีการกำกับดูแลผลกระทบอย่างไร และเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ถ้าโครงการนี้ไปไม่ไหวจริงๆ ก็จะได้เป็นที่รู้กัน และมีคำตอบให้กับคนรุ่นหลังว่าทำไมจึงเกิดหรือไม่เกิดอุตสาหกรรมนี้ แต่ทุกคนต้องฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือไม่มีโอกาสได้คุย ทั้งนี้ คาดหวังว่าจะใช้เวลาในการร่างเกณฑ์ดังกล่าวประมาณ 3 เดือน"

 

 

หมายเลขบันทึก: 238704เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2009 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 06:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท