Library as place


Library as place

 

              ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่างๆ ไว้อย่างเป็นระบบระเบียบโดยมีบรรณารักษ์เป็นผู้บริหารและจัดการกระบวนการทำงานต่างๆ   เช่น   การคัดเลือก จัดหา จัดหมวดหมู่บันทึก จัดเก็บและให้บริการอย่างเป็นระบบมีแบบแผน ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ ปัจจุบันสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ห้องสมุดในฐานะที่เป็นแหล่งสะสมสารสนเทศที่มีคุณค่า คือเป็นแหล่งความรู้ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ใช้ให้รู้จักวิธีแสวงหาความรู้ และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ   เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูลผ่านระบบโทรคมนาคมมีสมรรถนะสูง  ทำให้พฤติกรรมการใช้สารสนเทศของผู้ใช้เปลี่ยนไปรวมทั้งการปฏิรูปการศึกษาและนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการใฝ่รู้ใฝ่เรียนและเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสังคมฐานความรู้  ผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้จึงกระตุ้น จุดประกายความคิดให้ผู้บริหารห้องสมุด บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับวงการห้องสมุด มีความตื่นตัวและเห็นสอดคล้องกันว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงาน ให้เป็นห้องสมุดที่มีชีวิตชีวา มีบรรยากาศที่เป็นมิตร น่าเข้าไปใช้บริการ อยากเข้าไปสัมผัส เข้าไปแล้วได้รับความรู้ มีความสนุกและมีความสุข ทำให้ห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สังคมและชุมชน

                     ห้องสมุดยุคใหม่จะต้องปรับเปลี่ยนจากห้องสมุดในภาพลักษณ์เดิมคือสถานที่ที่จะต้องเงียบ บรรณารักษ์ใส่แว่นหนาๆๆหน้าตาดุ มีกฎระเบียบที่เข้มงวด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีมีศักยภาพสูงมากขึ้นห้องสมุดต้องปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ทำให้ห้องสมุดมีชีวิตชีวา มีบรรยากาศที่ดีให้บริการที่มีความเป็นมิตร คนเข้าใช้บริการแล้วมีความสุข มีความรู้ มีความสนุก มีเครื่องเล่นที่สร้างสรรค์เหมาะกับเด็กแต่ละวัยมีหนังสือใหม่ที่เปลี่ยนแปลงเสมอ มีหนังสือและวารสารแปลกๆใหม่ให้ค้นคว้า มีหนังสือหลากหลายประเภท รวมทั้งต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตให้บริการด้วย ห้องสมุดหลายแห่งได้พัฒนาตัวเองจากห้องสมุดแบบดั้งเดิมไปสู่ห้องสมุดอัตโนมัติในการพัฒนาจากห้องสมุดรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งนั้นต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมและศักยภาพของห้องสมุดรวมไปถึงนโยบายขององค์กร ความต้องการและศักยภาพของผู้ใช้ด้วย

                      แนวโน้มห้องสมุดสมัยใหม่ Worpole ชาวเนเธอร์เลนด์ เป็นผู้บริหารห้องสมุดประชาชน (Public Library) ได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มผู้ใช้ห้องสมุดในประเทศยุโรปเล่าประสบการณ์จากการเข้าร่วมประชุมห้องสมุดสมัยใหม่ควรมีลักษณะอย่างไร ซึ่งสรุปได้คือ

1. ห้องสมุดแต่ละแห่งจะมีการพัฒนาโปรแกรม (Program) และการให้บริการ (Service) หมายความว่า แต่ละห้องสมุดจะมีแผนการในการพัฒนาห้องสมุดในรูปแบบต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด เช่น อาจมีห้องสมุดส่วนกลาง และให้ห้องสมุดสาขาดูแลระบบของตนเองเป็นอิสระโดยดูความต้องการของท้องถิ่นนั้น

2. ห้องสมุดในอนาคตจะต้องมีการพัฒนา โดยความร่วมมือกับบริการอื่นๆได้ เช่น มีมุมบริการคอฟฟี่ช็อป มีห้องอาหาร หรือการให้บริการต่าง เช่น สามารถตรวจสอบการจดทะเบียน หรือการโอนย้ายต่างๆ ของเขตต่างๆมาอยู่ในห้องสมุด ทำให้ห้องสมุดเป็นที่พึ่งของผู้ใช้ในทุกด้าน

3. การออกแบบภายในห้องสมุดให้มีการเคลื่อนย้ายได้ เช่น ในกรณีเคาร์เตอร์ยืม-คืน ควรตั้งไว้ในที่สะดวก เนื่องจากการยืมอาจไม่สามารถยืมได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่การคืนต้องสามารถคืนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

4. ต้องมีพัฒนาการอ่านควบคู่ไปด้วย คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ จึงต้องมีการสร้างนิสัยรักการอ่าน โดยเริ่มที่ผู้ปกครองก่อนที่จะเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้ลูกเอาเป็นแบบอย่าง

5. ห้องสมุดจะต้องรองรับกลุ่มคนที่มีความเคลื่อนไหวในการทำงาน คนบางกลุ่มเมื่อพบปัญหาก็จะมาห้องสมุด เพราะคิดว่าห้องสมุดเป็นที่พึ่งของเขาได้ เช่น อาจมีการฝากข้อมูลไว้ที่ศูนย์ข้อมูลแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อต้องการจะทำงานก็ไม่จำเป็นต้องไปศูนย์ข้อมูล สามารถทำงานที่บ้านได้ถ้ามีเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งห้องสมุดสามารถที่จะให้บริการในส่วนนี้ได้เช่นกัน

6. การศึกษาค้นคว้าที่ห้องสมุดเป็นประจำ ห้องสมุดสมัยใหม่ควรจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการให้บริการ ให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกคุ้นเคย และเป็นมิตร

7. การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบ้านกับห้องสมุดจะมีมากขึ้น ห้องสมุดสมัยใหม่ที่ขาดไม่ได้คือการติดต่อผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นไปได้ควรให้สมาชิกสามารถเข้าถึงข้อมูลจากที่บ้านได้ด้วย ซึ่งต่อไปในอนาคตคงจะมีบริการเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกอำเภอ ทุกเขต ถ้าผู้ใช้มีปัญหาสามารถโทรศัพท์เข้ามาสอบถามได้

8. มีบริการสำหรับเด็กหรือมุมสำหรับเด็ก  ก็เป็นสิ่งสำคัญซึ่งต้องมีให้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นห้องสมุดอาจให้เด็กเล่นเกมส์ที่สร้างสรรค์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้

9. ผู้ใช้สามารถสืบค้นข้อมูลหนังสือ หรือจองหนังสือผ่านอินเตอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังคำที่ any time  any  where

10. บรรณารักษ์สำหรับห้องสมุดสมัยใหม่ควรจะเปลี่ยนบทบาทจากคนที่เก็บรักษาสิ่งพิมพ์มาเป็นคนที่ช่วยแสวงหาความรู้ให้กับผู้ใช้บริการ ถึงอย่างไรผู้ใช้ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์ในการสืบค้นให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ ซึ่งต้องมีการพัฒนาขีดความสามารถของบรรณารักษ์ด้วย

                     การออกแบบอาคารสถานที่ของห้องสมุดยุคใหม่ จำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรฐานห้องสมุดแต่ละประเภท และเนื้อที่ของห้องสมุดสำหรับอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีการแบ่งเนื้อที่ ดังนี้

1. เนื้อที่สำหรับทรัพยากรสารสนเทศและวัสดุครุภัณฑ์ (Materrial Storage)

2. เนื้อที่สำหรับการอ่านและการเรียนรู้ (Study area หรือ Study Stations)

3. เนื้อที่สำหรับการทำงานด้านเทคนิคและบริการ (Work Space)

4. เนื้อที่สำหรับการจัดบรรยากาศและความสวยงามทางสถาปัตยกรรม (Architectural Space)

                   การแบ่งเนื้อที่ จึงขึ้นอยู่กับขนาดของอาคาร จำนวนทรัพยากรสารสนเทศ จำนวนผู้ใช้บริการและการให้ความสำคัญกับการบริการด้านใด โดยคำนึงถึงความสมดุล ประโยชน์ที่ผู้ใช้งานและองค์กรจะได้รับ การออกแบบอาคารห้องสมุดจึงควรเป็นความร่วมมือกันของสถาปนิก บรรณารักษ์ นักเทคโนโลยี และผู้บริหารอาคารสถานที่ขององค์กร ห้องสมุดที่สวยงามทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล้วนเป็นการออกแบบของสถาปนิก โดยการปรึกษาหารือองค์ประกอบการใช้งานกับบรรณารักษ์และผู้บริหารห้องสมุดร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์การใช้สูงสุด

                  อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนในสังคม ยังเกี่ยวข้องกับการอ่าน การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ยังมีความจำเป็น เนื่องจากความสะดวกในการพกพาและมีอายุการใช้งานได้นาน ในขณะที่สื่อโสตทัศน์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องใช้อุปกรณ์ในการอ่านและต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในขณะเดียวกันผู้อ่านยังต้องใช้สมองและสมาธิในการเรียนรู้ การทำความเข้าใจกับเรื่องที่อ่าน ห้องสมุดจึงต้องจัดการสถานที่นั่งอ่าน เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ การสร้างนิสัยรักการอ่านเพื่อสนับสนุน การสร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ห้องสมุดจึงเป็นสถานที่เพื่อการศึกษาค้นคว้าและการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในสังคมการเรียนรู้ 

 

หมายเลขบันทึก: 238279เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2009 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท