สังคมผู้สูงวัย


ผู้สูงอายุ

Image Hosted by CompGamer Image Host

จากข้อมูลสถานะสุขภาพของประชากรชาวจังหวัดเพชรบุรี ที่มีประชากร จำนวนทั้งสิ้น 456,061 คน จำแนกเป็นชาย 220,847 คน หญิง 235,214 คน ( ที่มา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ 31 ธค 2550 ) ก็ถือว่าคนชาวเพชรฯ เป็นหญิงมากกว่าชาย ในกลุ่มอายุต่างๆ มีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไป จำนวน 105 คน (ในช่วงนั้นคงนับรวมปู่เย็นรวมอยู่ด้วย) ถ้าจะดูกันตั้งแต่อายุ 90 ปีขึ้นไป มีจำนวน 1,103 คน เลยทีเดียว แสดงว่าคนเมืองเพชร มีอายุยืนยาว โดยผู้ชายอายุเฉลี่ย 70.92 ปี ผู้หญิงอายุเฉลี่ย 77.81 ปี ก็แสดงว่าเพศหญิงอายุขัยเฉลี่ยของคนเมืองเพชรสูงกว่าชาย ถึง 7 ปี เลยทีเดียว สังคมในภาพรวมของชาวเมืองเพชรกำลังจะก้าวย่างเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง จากรูปทรงพีระมิดประชากร เมื่อเทียบกับปี 2538 และปี 2550 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลคาดประมาณการประชากรจังหวัดเพชรบุรี ปี 2558 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จะเห็นรูปทรงฐานกว้างที่ยอดแหลมเป็นส่วนบนของพีระมิดขยายกว้างขึ้น (กลุ่มผู้สูงอายุ) เห็นได้จากอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของเด็กและผู้สูงอายุ โดยที่สัดส่วนผู้สูงอายุค่อยๆ เพิ่มขึ้นในขณะที่สัดส่วนของเด็กและวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ  และหากเปรียบเทียบดัชนีผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2538  ซึ่งองค์การสหประชาชาติ นิยามว่า ประเทศที่กำลังจะย่างก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จะพิจารณาจากสัดส่วนของประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปต่อประชากรทั้งหมดอยู่ในช่วงร้อยละ 7-14 หากเกินร้อยละ14 ถือว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว สำหรับจังหวัดเพชรบุรี พบว่ามีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 9.17 (ข้อมูล ณ 31 ธค.50 ประชากรอายุ 65 ปี ขึ้นไป เท่ากับ 41,897 คน จากประชากรทั้งหมด 456,061 คน) คาดว่าในปี 2563 ประชากรผู้สูงอายุจะมีสัดส่วน เป็นร้อยละ 19.99 (จดหมายข่าวต้นคิด ฉบับที่ 3 สิงหาคม 2551) ถือได้ว่าเข้าสู่ช่วงสังคมผู้สูงวัย

 เมื่อสภาพสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปเช่นนี้ ทุกองคาพยพของสังคมเราจะเตรียมตัวรับมืออย่างไร ให้เรามีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในอีก 10 ปีข้างหน้าและตลอดไป ไม่ว่าจะเป็นระดับพื้นฐาน คือ ระดับครอบครัว ชุมชน/หมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ ซึ่งในขณะนี้หลายๆ ตำบล ได้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ ทั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ ขึ้นมาแล้ว โดยการสนับสนุนจากสถานีอนามัย โรงพยาบาล และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.เทศบาล อบจ.ให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินกิจกรรมในชุมชน ของตนเอง  ในด้านของโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาทางด้านสุขภาพที่กำลังจะเปลี่ยนไปเช่นกัน จากปัญหาโรคติดต่อ เช่นโรคติดเชื้อทั่วไป กำลังจะเปลี่ยนเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อุบัติเหตุจากการจราจร  รวมทั้งโรคมะเร็ง กำลังจะเป็นปัญหาที่รุมเร้าสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ กลุ่มผู้สูงวัยก็ต้องเตรียมรับมือ เนื่องจากโรคเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรัง ที่แฝงอยู่ในตัวเรา โดยที่เราก็จะต้องยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

นโยบายผู้สูงอายุของประเทศไทย มุ่งให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิก 3 รุ่น 3วัย เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีผู้ดูแลเมื่อถึงภาวะจำเป็น นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังช่วยดูแลครอบครัวได้ตามอัตภาพ เช่น เลี้ยงดู อบรมลูกหลาน ฯลฯ มีตัวเลขที่น่าสนใจในโครงการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ปี2546-2547 พบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุไทยในยุคปัจจุบันนี้ ผู้สูงอายุไทยใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว 3 รุ่น ยังมีถึงร้อยละ 40 และถ้านับรวมรายที่อยู่กับบุตรอีก ร้อยละ 21-29 สัดส่วนเพิ่มเป็นมากกว่า ร้อยละ 60” แม้ว่าครอบครัวเดี่ยวจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การมีผู้ดูแลเมื่อต้องการของผู้สูงอายุดูเหมือนยังไม่ถึงขั้นวิกฤตนัก ยังคงมีหลักประกันในด้านต่างๆ คือ ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ร้อยละ 80 ที่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่อาศัย  ประชากรวัยสูงอายุที่ยังทำงานและมีรายได้ มีร้อยละ 36 โดยสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มอายุ 60-69 ปี โดยสัดส่วนของผู้ชายจะสูงกว่าผู้หญิงในทุกกลุ่มอายุ แต่ไม่มากนัก ลักษณะงานหลักของผู้สูงอายุไทย คือ การเป็นนายจ้าง ประกอบธุรกิจส่วนตัว ทำงานในภาคเอกชน และทำให้ครอบครัวที่เป็นลักษณะงานที่ไม่มีการเกษียณอายุ ยังมีรายได้เป็นของตนเอง ร้อยละ 60 ในผู้ชาย และร้อละ 40 ในผู้หญิง ซึ่งกลุ่มที่บอกว่ามีรายได้แต่ไม่เพียงพอจะได้รับความช่วยเหลือจากบุตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80-90 ของแหล่งรายได้ทั้งหมด และเกือบครึ่งของผู้สูงอายุตอบว่ามีรายได้เพียงพอและไม่ลำบาก

ในเมื่อสังคม สว. หรือ ผู้สูงวัย คือ อนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งเรามิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ท่านทั้งหลายจะต้องช่วยกันดูแล ให้สังคมไทยของเรา มีความสุข ต่อไป นะครับ

.....................................................................................

คำสำคัญ (Tags): #ผู้สูงอายุ
หมายเลขบันทึก: 237692เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2009 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท