นักเรียน ม.6 จะไปเรียนต่ออีกรุ่นแล้ว


ม.มหิดลพลาดโอกาสที่จะได้รับศิษย์น่ารักๆของครูต้อย

        ปลายธันวา  ต้นมกรา ของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ทั้งครู ทั้งศิษย์ลุ้นกันตัวโก่งว่าปีนี้ ใครจะได้ไปเรียนต่อที่ไหนกันบ้าง  บางคนก็ได้โควต้าของบางมดตั้งแต่ปลายปี ม.5 พวกนี้ก็เรียนกันแบบสบายๆ ไม่ซีเรียส  แต่พวกที่ยังตัดสินใจไม่ได้ก็สมัครสอบกันอุดตลุด  ไม่ว่ามหาวิทยาลัยไหนเปิดสมัครสอบตรงเป็นต้องวิ่งสมัครกันไปทั่ว  สอบกันทีผู้ปกครองก็จ่ายกันกระเป๋าเป็นมัน  แต่เพื่อลูก เพื่อการศึกษา  แน่นอน พ่อแม่ก็เต็มใจจ่ายอยู่แล้ว  แต่ก็มีพ่อบางคนแอบมาปรับทุกข์เหมือนกัน  ลูกวิ่งสอบตั้งหลายมหาวิทยาลัยแล้ว  และก็สอบได้ไปหลายครั้งแล้ว  แต่ไม่ตัดสินใจเลือกสักที  ติดคณะนี้ ก็อยากเรียนมหาวิทยาลัยนั้น  พอติดมหาวิทยาลัยนั้นก็อยากได้คณะโน้น  พ่อลางานพาไปสอบจนเหนื่อย  แต่ก็นั่นแหละ  ด้วยความรักลูก ไม่เคยบ่นกับลูกแต่มาบ่นกับครู  ยังงี้แหละคนที่สอบติดก็ติดอยู่นั่นแล้ว   คนที่สอบไม่ได้ครูก็ต้องคอยรอลุ้นคะแนนแอดมิดชั่น  หลายคนสละสิทธิ์คณะที่สอบตรงเข้าไว้  พอมาแอดมิดชั่นก็ได้คณะเดิม  มหาวิทยาลัยเดิม  ไม่รู้จะสละสิทธิ์กันทำไม 

       เหตุของเรื่องนี้ก็เนื่องจากระบบสอบวิชาพื้นฐานหรือความถนัดของคณะต่างๆนั่นแหละ  ลูกศิษย์ที่รักของครูก็สมัครสอบพื้นฐานวิศวะไปตามความนิยมของชายหนุ่มแห่งยุคสมัย  แต่แวบหนึ่งแห่งการค้นหาตัวตน   ทำให้ไปกดคีย์สมัครวัดแววความเป็นครู โดยอ่านกติกาไม่ละเอียด ผลที่ได้คือถูกตัดการสอบพื้นฐานวิศวะ  แต่เจ้าตัวก็ยังคิดว่าไม่เป็นไร  ยังมีหลายมหาวิทยาลัยที่รับตรงโดยไม่ดูคะแนนส่วนนี้   เวลาแห่งความระทึกใจมาถึง  เมื่อม.มหิดลประกาศผลสอบของการสอบตรง เมื่อต้นมกรา  หลายคนติดแพทย์  บางคนติดพยาบาล  เจ้าหนุ่มคนนี้ก็ได้เฮกับเขาเหมือนกัน  ฮ่าๆ  ติดวิศวะไฟฟ้าแต่ไม่มีคะแนนพื้นฐานวิศวะ       ครูต้อยก็ปลอบใจไปว่า  มหิดลอาจไม่เหมาะกับเรา  เรียนครูดีกว่าไหนๆก็สอบความถนัดทางครูไปแล้ว  แต่จะลองดูอีกทีก็ได้  ค่ารถไปสอบก็ไม่แพงเท่าไหร่  ลองไปสัมภาษณ์ดู  เผื่อเขาจะเห็นความสามารถของเราแล้วไม่สนใจคะแนนที่เราไม่ได้สอบ  เพราะถ้าเราสอบต้องได้คะแนนสูงอยู่แล้ว  

      ครูก็รอลุ้นด้วยความหวังว่าลูกศิษย์จะสอบสัมภาษณ์ผ่านสบายๆ  แต่พอกลับมาจากสอบ  ครูถามว่าผลสอบเป็นไง  ลูกศิษย์บอกว่า  เขาไม่ให้ผมสอบเลยครับ  พอผมรายงานตัว  จ่ายเงินค่าตรวจสุขภาพ  แล้วก็ดำเนินการตามขั้นตอนไปเรื่อยๆ  จนเกือบถึงหน้าห้องสัมภาษณ์  พี่คนนึงก็ออกมาถาม "น้องไม่มีคะแนนพื้นฐานวิศวะเหรอ"  "ไม่มีครับ"  "งั้นน้องลงไปถามพี่ที่ชั้นล่างเลยนะ"  พอผมลงไปพี่ที่ห้องข้างล่างเขาก็บอก  "น้อง  เดี๋ยวพี่คืนเงินค่าตรวจสุขภาพให้  แล้วน้องกลับบ้านได้เลยนะ"  อึ้งเลย  ครูต้อยก็อึ้งสิ  ไม่น่าแนะนำให้เสียตังค์ค่ารถไปสัมภาษณ์เลย  ในใจก็นึกว่า ม.มหิดลพลาดโอกาสที่จะได้รับศิษย์น่ารักๆของครูต้อยไปสร้างชื่อเสียงให้ซะแล้ว  

      ระหว่างที่เขียนบันทึกอยู่นี้ก็ได้ข่าวว่า  เขาสอบได้วิศวะไฟฟ้าของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือไปแล้ว  แต่ครูก็ยังไม่เจอเจ้าตัว  เลยยังไม่ได้สอบถามความพึงพอใจกับผลการสอบ  และก็ไม่ได้ขออนุญาตเอาเรื่องเขามาเล่าซะด้วย  แต่ในฐานะที่ครูได้ยินใครๆก็เล่าเมาท์เรื่องนี้กันสนั่นโรงเรียนอยู่แล้ว  ก็ขอเอามาเล่าต่อเป็นบทเรียนสอนน้อง  ถือว่าเป็นวิทยาทานก็แล้วกันนะจ๊ะ  ใครที่จะสมัครสอบวิชาความถนัดพื้นฐานทั้งหลายแหล่ก็อ่านกฏ กติกา ให้ดีก็แล้วกัน

      ปีหน้าสิน่าปวดหัว  นักเรียนต้องสอบ GAT  สอบ PAT กันให้้วุ่นวายไปหมด จะสอบคณะนี้ต้องสอบ GAT นั้น  ไม่ต้องสอบ GAT โน้น  เข้าหมอไม่ต้องสอบคณิศาสตร์หรือฟิสิกส์  จะเข้าคณะนี้ ต้องมีผล PAT นั้น  จะเข้าคณะนั้นต้องมีผล PAT โน้น ครูแก่ๆแถมโลเทคอย่างครูต้อยปวดหัวมาก  ไม่รู้ว่าลุ้นผลสอบปีหน้าจะปวดหัวขนาดไหน  ได้แต่เอาใจช่วยลูกศิษย์ทุกคน  ขอให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทุกคนนะจ๊ะ

คำสำคัญ (Tags): #ม.6สอบเรียนต่อ
หมายเลขบันทึก: 236784เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

โอ้ย ฟังแล้วมึนค่ะคุณครู คือไม่มีความรู้เรื่องวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสมัยนี้เลยว่าเขาทำกันยังไง แค่ ANET ONET ก็มึนตึ๊บ นี่เห็น GAT PAT ยิ่งไม่รู้จักเลยค่ะ T_T เป็นรุ่นโบราณที่สอบเอ็นทรานซ์แบบเลือกอันดับ วัดกันรอบเดียวตอนสอบ

นี่ก็กำลังปวดหัวอยู่ว่าเด็กเล็กมีแบบนี้ด้วยไหม มีหลานคนหนึ่งเรียนอยู่ป.3 เห็นบอกว่าตอนสอบเข้าม.1 ต้องมีอะไรคล้ายๆ แบบนี้ด้วย จะทำยังไงดีคะ มีอะไรที่ผู้ปกครองควรรู้เกี่ยวกับระบบใหม่แบบนี้หรือเปล่าคะ คือกลัวไม่รู้เรื่องเลยไม่ได้เตรียมตัวกับเขาจะกลายเป็นทำให้เด็กเสียโอกาสไป ถ้าคุณครูพอแนะนำได้ก็ขอความกรุณาช่วยอธิบายสักเล็กน้อยนะคะ คือถ้าไม่รู้เรื่องพวกนี้ทำให้สอบไม่ได้จะส่งไปเรียนเมืองนอกให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย ไม่ต้องปวดหัวแต่คงคิดถึงอย่างแรงค่ะ

คุณLittle Jazz คงไม่ต้องกังวลอะไร เดี๋ยวก็จะคุ้นเคยไปเอง ตอนนี้ก็จะมีสอบโอเนตทุกช่วงชั้น คือ ป.3 1 ครั้ง ป.6 1 ครั้ง ม.3 1 ครั้ง และ ม.6 1ครั้ง ป.6 ก็คงเอาไว้เทียบตอนเข้า ม.1 และ ม.6 ก็เอาไว้เข้ามหาวิทยาลัย กว่าตัวเล็กจะขึ้นมัธยม ระบบต่างๆก็คงเข้าที่เข้าทางแล้ว ไม่งงเหมือนตอนนี้ มีลูกก็เอาไว้ไกล้ๆตัวเถอะค่ะ คิดถึงเขาน่ะ

ขอบพระคุณคุณครูมากค่ะที่ให้ข้อมูลและปลอบใจ แต่โดยส่วนตัวพอไม่รู้เรื่องระบบการศึกษาสมัยนี้เลยเป็นกังวลพอสมควร อยากจะเรียนถามเพิ่มเติมว่าแล้วผู้ปกครองต้องมีส่วนทำอะไรด้วยมั้ยคะ เกี่ยวกับการสอบโอเน็ต ต้องพาไปสอบหรือว่าเขาจัดสอบกันที่โรงเรียนเองเหมือนสอบปลายภาค การเก็บคะแนนเป็นยังไง วิชาอะไรบ้าง แล้วต้องติวอะไรเพิ่มหรือเปล่าคะ เพราะปกติที่บ้านไม่เน้นติว เน้นให้เด็กเรียนแบบเข้าใจและมีความสุข คือกลัวเด็กเครียดเกินไปค่ะ ไม่อยากให้เด็กต้องเรียนพิเศษเพราะเห็นว่าเด็กไทยทุกวันนี้ก็เรียนเยอะมากเกินแล้วค่ะ

กำลังคิดว่าให้เรียนไปเรื่อยๆ ที่เมืองไทยนี่ล่ะ ถ้าจนถึงมหาวิทยาลัยแล้วมีปัญหามากนักกับระบบการศึกษาที่นี่ก็จะให้ไปต่อที่เมืองนอก แต่ใจจริงอยากให้เรียนจบตรีก่อนแล้วค่อยไป คือห่วงเรื่องความสุขในการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมมากกว่ากลัวเรื่องไม่มีที่เรียนค่ะ อีกอย่างคือกลัวว่าไปแต่เด็กเราจะหงอยก่อนเขาเพราะคิดถึง ^ ^

ขอโทษคุณLittle Jazzค่ะที่ไม่ได้เข้ามาอ่านบล็อกนานแล้วเลยไม่ได้ตอบคุณว่า ไม่ต้องกังวลอะไร การสอบโอเน็ตก็จะจัดสอบที่โรงเรียนอยู่แล้ว ผู้ปกครองไม่ต้องเหนื่อย และดีอยู่แล้วค่ะไม่ต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติมอะไร แค่ทบทวนสิ่งที่เรียนมาก็พอแล้ว ดีจังเลยค่ะที่ผู้ปกครองไม่บังคับเด็กๆให้เรียนพิเศษ เพราะอยากสนับสนุนให้เขาอ่านเองและเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าค่ะ ที่สำคัญก็คือกระตุ้นให้เขารักการอ่านแค่นี้ก็สุดยอดแล้วค่ะ หวังว่าหลานของคุณคงมีเรื่องดีๆจากโรงเรียนมาเล่าให้ฟังทุกวัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท