More Than Words


More Than Words - เกินกว่าคำ

ท่ามกลางกระแสคลื่นแห่งถ้อยคำในอารมณ์ขำๆ กวนโอ๊ย ซึ่งทุกวันนี้ ถูกสกรีน แปะติด อวดหราบนเสื้อ แบบไม่ต้องแอบ ไม่ต้องแอ๊บ ไม่ว่า คำ “กู” คำ “มึง” รวมทั้งคำด่าประสาสัตว์เลื้อยคลานที่แท็คทีมกันประกาศศักดาเพ่นพ่านเต็มอก ยังไม่นับคำผวนแสบสันสะทกสะท้านอารมณ์ดิบ ให้ได้ทดสอบปฏิภาณไหวพริบในชั่วขณะที่เดินสวนกัน
       
        
            เป็นไปได้ไหมว่า ในถ้อยคำธรรมดา อาจยังมีบางความหมายซุกซ่อนไว้ ลึกลงกว่าความขำนานารูปแบบ มากเกินกว่าไม่กี่ตัวอักษรที่ตามองเห็น
       
                            ….........
       
       More Than Words - เกินกว่าคำ
       

       
            “ในมุมมองของผม กระแสเหล่านี้ มันบ่งบอกยุคสมัย”
       
            อดินันท์ ดามะอู ครูชำนาญการวิทยาลัยช่างศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม สะท้อนมุมมองได้น่าสนใจ ถึงนัยบางอย่างที่แฝงเร้น
       
        
            แน่ล่ะ เห็นแล้วโดนใจ สะดุดตา กวนอารมณ์ให้อมยิ้ม มักเป็นความรู้สึกแรกที่ผุดขึ้นมา ยามได้พบสบสายตากับเสื้อยืดสกรีนคำ ที่ได้รับความนิยมไม่น้อย ตามตลาดนัด แผงเสื้อผ้าแบกะดิน ทั้งได้รับการตอบรับอย่างดี จากเหล่าวัยโจ๋ ไม่ว่าเด็กแนว เด็กอาร์ต เด็กช่างกล เด็กวิศวะ และใครต่อใครที่หลงเสน่ห์เสื้อยืดเรียบง่ายแต่วาดลวดลายได้กวนโอ๊ยสะบัดใจ ในตัวอักษรไม่กี่ตัวบนเนื้อผ้าเหนือเนินนม
       
        
            ว่าแต่ “ยุคสมัย” ในแว่นตาของครูสอนศิลปะผู้นี้ เป็นยุคสมัยแบบไหนกัน?
       
        
            “ก็เป็นยุคที่วัยรุ่นไทย พร้อมจะรับเอากระแส แฟชั่นทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา เป็นยุคของการจับจด แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะรุ่นนี้หรอกครับ”
       
        
            ว่าไปแล้ว การน้อมรับความเป็นวัฒนธรรมป๊อบ หรือโอนเอนไปพร้อมความนิยมต่างๆ ของคนส่วนใหญ่ เป็นธรรมชาติของวัยรุ่นทุกยุค เพียงแต่ ณ ตอนนี้ กระแสแฟชั่นทุกอย่างล้วนผ่านเข้ามา ปะทะกับความรับรู้ของเราอย่างรวดเร็ว รุนแรง กระทั่ง ใช้คำว่า “ไหลบ่า” คงไม่ผิดนัก
       
        
            แต่พูดก็พูดเถอะ..แล้วมันเกี่ยวกันกับเสื้อยืดยังไงล่ะคุณครู โปรดชี้แจงแถลงไข
       
        
            “จับจดคือพร้อมจะรับทุกอย่างที่กำลังอยู่ในกระแส แต่ไม่อดทน ไม่ทุ่มเทกับมัน อย่างเสื้อยืดสกรีนคำเหล่านี้ก็เหมือนกัน พอฮิตขึ้นมาก็มีไม่น้อยที่เลียนแบบกัน ทำตามๆ กัน ไม่ให้ใจ ไม่ทุ่มเทกับมันให้มากพอ ”
       
        
            ไม่หรอก ไม่ใช่เรื่องผิด ทั้งไม่ขอก้าวล่วงความคิดผู้ประกอบการที่หยิบจับนำถ้อยคำเรียบง่ายมาใส่ลูกเล่นแพรวพราว ด้วยหากมองในแง่แฟชั่น ความฮิต อินเทรนด์ และความเป็นที่ต้องการของตลาด การผลิตให้เพียงพอ สนองตอบลูกค้า อาจทำให้ก้าวข้ามรายละเอียดบางอย่าง อันเป็นรายละเอียดที่เมื่อสวมแว่นของครูแห่งภาควิชาองค์ประกอบศิลป์แล้ว ย่อมวาดหวังอยากเห็น “เสื้อยืดสกรีนคำขำๆ” ก้าวไปไกลกว่านั้น
       
        
            “ในความเห็นของผม ในฐานะของคนที่ชอบเสื้อยืด ชอบซื้อหนังสือรวมภาพเสื้อยืดสวยๆ ของฝรั่งมานั่งเปิดดู แล้วพอมองกลับมาบ้านเรา ผมอยากเห็นเสื้อยืดฝีมือคนไทยก้าวไปไกลกว่านี้นะ แน่นอน ผมนับถือ และยกย่องคนที่คิดริเริ่มหยิบจับนำคำกวนๆ ชวนขัน พวกนี้มาสกรีนบนเสื้อยืด แต่สำหรับผม ผมหวังอยากเห็นทุกคนมองสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราเป็นศิลปะเมื่อเรามองทุกสิ่งใกล้ตัวที่เราพบเห็นจำเจในชีวิตประจำวันเป็นศิลปะแล้ว มันจะก่อเกิดเอกลักษณ์บางอย่างขึ้นมา อย่างเช่นเสื้อยืด ถ้าคุณมองว่า การสกรีนเสื้อยืด การเลือกซื้อเสื้อยืด การสวมเสื้อยืดเป็นศิลปะ คุณย่อมจะต้องใส่ใจมันมากขึ้น สนใจในรายละเอียดของมัน สไตล์ของมัน ดีไซน์ของมัน”
       
        
            ว่าแต่ว่า ศิลปะคืออะไร ? 
       
        
            “พูดตรงๆ เลยนะ เอาเข้าจริงแล้วสอนหนังสือมาจนป่านนี้ผมเองยังอธิบายไม่ได้เลยว่าศิลปะคืออะไร แต่ถ้าให้พูดอย่างง่ายที่สุดตามความเข้าใจของตัวผมเองนะ อย่างแรกที่สุดเลย แค่คุณเห็น แล้วชอบ นั่นแหละ คือศิลปะ คุณเห็นความงามของมันไหม ไม่ว่ามันจะดูหรูหรา หรือเรียบง่าย ธรรมดาสักแค่ไหน ถ้าคุณชอบมัน นั่นแหละ คุณมองเห็นความเป็นศิลปะในสิ่งนั้น แม้แต่รายละเอียดของเสื้อยืดที่ผมพูดไปมากมายเมื่อกี้ ถึงที่สุดแล้ว แค่คุณเห็นแล้วชอบ ไม่ว่ามันจะเป็นคำง่ายๆ เป็นเสื้อสีพื้นๆ มันก็เป็นศิลปะแล้ว”
       
            ...เป็น “อาร์ตแนบลำตัว” อาจารย์สุดห้าว เน้นย้ำอย่างหนักแน่น
       
                         ...............
       
       ก่อนจะถึงเนื้อถึงตัว
       

        
            “ผมว่านะ ต้นทางแรกเริ่มของคำสกรีนแบบกวนโอ๊ย มันก็เริ่มมาจากสติ๊กเกอร์ที่ติดอยู่ตามท้ายรถบรรทุก” อดินันท์ เสนอความเห็น เรื่องความเป็นมาของถ้อยคำ
       จากท้ายรถบรรทุก เคลื่อนสู่รถยนต์ส่วนตัว รถมอร์เตอร์ไซค์ แม้แต่รถจักรยานที่ติดสติ๊กเกอร์เหล่านี้ก็ยังมี
       
        
            อ่านแล้ว เห็นแล้วได้อะไร คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ...ได้รอยยิ้ม
       
        
            คนสวยนั่งหน้าคนชรานั่งหลัง, อย่าตามมา ตรูหลงทาง, , ความจำสั้น แต่ความฝันยาวไกล, ถึงจะแรง ก็ไม่แซงทางโค้ง, ยิ่งจนยิ่งเจ็บ, น้ำพักน้ำแรง, กว่าจะได้มา, เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยของ “เครื่องสร้างรอยยิ้ม” บนท้องถนน
       
        
            อย่างง่ายที่สุด ลองนึกภาพ...
       
            ควันจากท่อไอเสียลอยโขมง ชวนหงุดหงิดงุ่นง่านอารมณ์เสีย รถติดใจกลางกรุงนานนับหลายชั่วโมง บรรดาขาซิ่งบิดเครื่องกันเสียงสนั่นปฐพี อุณหภูมิในใจปะทุ คุกรุ่น แต่เมื่อหันไปมองปุ๊บ!
       
        
            ขอบคุณน้ำใจที่พี่ให้ทาง, รับออกแบบบุตร-ธิดา นอกสถานที่, โตขึ้นหนูจะเป็นเบนซ์ ,มีเงินเขานับเป็นน้อง มีทองเขานับเป็นพี่...เพียงเท่านี้ รอยยิ้มก็เข้ามาแทนที่แววตาขุ่นขวางแล้ว
       
        
            “ภาพยนตร์ก็มีส่วนครับ อย่างเช่น หนังไทยเรื่องโคตรรักเอ็งเลย, รักสามเส้า มีคนมาถามที่ร้านผมเยอะเลยว่ามีเสื้อสกรีนคำพวกนี้ไหม”
       
        
            เป็นทรรศนะของ ตี๋ เจ้าของร้านเสื้อยืดสกรีนคำไทย ที่ปักหลักอยู่ ณ ตลาดนัดสวนจตุจักร โครงการ 3
       
        
            “เธอคือความฝัน” “ฉันไม่แคร์” “เซ็งห่าน” “ไอ้ฟาย” “กูไม่สน” “ดอกฟ้า” “หมาวัด” คือตัวอย่างของถ้อยคำกวนโอ๊ย ขำๆ ที่ตี๋คิดขึ้นและยังคงเป็นที่นิยม มีลูกค้ามาซื้อหาไปสวมใส่อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาราว 3 ปี นับแต่เขาเริ่มจำหน่ายเสื้อยืดแนวนี้
       
        
            “สภาพเศรษฐกิจ-สังคม ก็อาจจะมีส่วนนะ บ้านเมืองบรรยากาศเครียดๆ คนหันมามอง หันมาเห็นคำขำๆ บนเสื้อของคนที่เดินสวนกันไปมา แค่นี้ก็อารมณ์ดี ยิ้มได้แล้ว”
       
        
            เป็นอีกทรรศนะที่ไม่อาจมองข้าม ของ ต้อม-ณัฐพล ทินบาล เจ้าของร้าน Coverdo ณ ตลาดนัดสวนจตุจักร โครงการ 4 ทั้งเป็นผู้คิด สกรีนคำ “ผู้คุม” “นักโทษ” “กิ่งทอง” “ใบหยก” บนเสื้อยืดสินค้าของร้านที่ยังคงจำหน่ายได้เรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคู่รักซึ่งมักมอบให้กันในช่วงวันวาเลนไทน์ ทั้งซื้อไปสวมใส่ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกในวันแต่งงานก็มีไม่น้อย
       
                         ................
       
       จากเจตจำนงมวลชน สู่เสรีแห่งปัจเจก
       

        
            “เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์ แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน”
       

            “14 ตุลา สงครามประชาชน”
       

            “ 6 ตุลา 2519”
       

            “ไม่เอาโรงไฟฟ้าแม่กลอง”
       

        
            “ตายสิบจักเกิดแสน”
       

        
            …จากอุดมการณ์ที่ประกาศชัดบนอกเสื้อ ถ้อยคำที่วาดหวังบอกกล่าวถึงอุดมคติ เมื่อนำมาวางเคียง เทียบมองกับกระแสคำกวนชวนขำแล้ว ในสายตาของอดินันท์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงบางสิ่ง ที่ไม่อาจมองข้าม
       
        
            “การใส่เสื้อที่ประกาศอุดมการณ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่นิยมมากๆ ในช่วงที่ผู้คนโหยหา เรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ ผมมองว่ามันคือการประกาศเจตจำนงเพื่อส่วนรวม เป็นสำนึกเพื่อมวลชน ขณะที่เสื้อ ‘กูไม่เกี่ยว’ ‘ฉันไม่แคร์’ มันคือการประกาศว่า ‘กูเจ๋ง’ ”
       
        
            ไม่มีอะไรผิด อะไรถูก ไม่ว่าคุณจะมีเจตจำนงหรือไม่ อดินันท์ย้ำว่า เขาเพียงมองว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงการประกาศตัวตนของผู้สวมใส่ ได้เป็นจุดสนใจ เป็นเป้าสายตา แสดงถึงความเชื่อมั่นในตนเอง และสะท้อนไปไกลกว่านั้น คือการแจกจ่ายอารมณ์ขันให้แก่กัน อันเป็นธรรมชาติ เป็นราก เป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในเลือดคนไทยมาเนิ่นนาน
                         ................. 
       
       ขำกันไว้เถิด
       

        
            “คำพวกนี้มันซื่อๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน บ้านๆ ลูกทุ่ง ตรงไปตรงมา นี่แหละ คือธรรมชาติของคนไทย ซึ่งผมมองว่าคำพวกนี้ ไม่ว่าอยู่บนเสื้อยืด หรือท้ายรถบรรทุกก็ตาม มันสะท้อนให้เราได้เห็นถึงอารมณ์ขัน เห็นความพลิกแพลง ทั้งได้เห็นถึงความสามารถในการหยิบจับนำคำธรรมดามาเป็นลูกเล่น ย้อนไปไกลกว่านั้น ยังสืบลึกได้ถึงรากเหง้าของเรา ถึงเอกลักษณ์ ความงามของภาษาไทยที่มันมีเสน่ห์ในตัวเอง สำคัญกว่านั้นคือ ผมยอมรับคนที่คิดคำเหล่านี้ขึ้น ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม เขาไม่ต่างจากกวีเลยนะ”
       
        
            อดินันท์ สรุปความ ทั้งชื่นชมถึงผู้สร้างสรรค์ถ้อยคำดังกล่าว
       
        
            ขณะที่ ดิ๋ง-ณัฐพล สกุลณียา เพียงบอกกล่าวความรู้สึกในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่มีต่อเสื้อสกรีนคำเหล่านี้ อย่างตรงไปตรงมา ว่า
       
        
            “ชอบครับ เห็นแล้วอารมณ์ดี”   
       
       
                   .......
       
            เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล [โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 21 มกราคม 2552 00:10 น. ]
       

คำสำคัญ (Tags): #more than words
หมายเลขบันทึก: 236660เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบเพลงอมตะเพลงนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท