และแล้วก็มีโอกาสได้เขียนถึงโบท็อกซ์ซะทีครับ เพราะใกล้วันครบรอบหกปีของการได้รับอนุญาตจาก FDA ให้ใช้โบท็อกซ์ในอเมริกาในการรักษาริ้วรอยที่ใบหน้า ถามว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับหน่อไม้ปี๊บละ เอาละครับ ใจเย็นๆ ครับ เดี๋ยวจะได้เข้าใจว่าสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไร
สองเรื่องมาบรรจบกันได้เพราะสาเหตุเกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นพิษต่อระบบประสาท (neurotoxin) จากแบคทีเรียตัวเดียวกันคือ ตัวเชื้อที่เรียกว่า Clostridium botulinum ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า botulism อาการจะเห็นได้จากข่าวภาวะกล้าวเนื้ออ่อนแรงที่เกิดจากพิษในหน่อไม้ปี๊บที่จังหวัดน่านเมื่อเดือนที่ผ่านมา เชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายได้สามแบบคือ (1) การกินพิษที่มีในอาหาร (food-borne botulism) (2) การเกิดพิษบริเวณแผลที่มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ (wound botulism) และ (3) การกินสปอร์ เชื้อเข้าไปแล้วเกิดพิษในลำไส้ (intestinal botulism)
ส่วนโบท็อกซ์เป็นคำที่มาจาก Botox Cosmetic (botulinum toxin type A) โบท็อกซ์นี้ได้รับการรับรองจาก FDA (the Federal Food and Drug Administration) เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2545 (หรือปีค.ศ. 2002) บริษัทที่ขออนุญาตในครั้งนั้นคือ Allergan, Inc. (Irvine, California)
กลไกการออกฤทธิ์โดยสรุปก็คือเมื่อฉีดโบท็อกซ์เข้าไปที่ใบหน้าในตำแหน่งที่เหมาะสม จะทำให้กล้ามเนื้อบางมัด ซึ่งเป็นสาเหตุของริ้วรอยที่ใบหน้า เป็นอัมพาตไปชั่วคราว ทำให้เมื่อนิ่วหน้า ขมวดคิ้ว ยิ้ม ไม่เห็นริ้วรอยที่ควรจะเกิดขึ้น ฤทธิ์นี้จะเป็นอยู่ประมาณหกเดือน (สี่เดือนถึงหนึ่งปี) สำหรับราคายังค่อนข้างสูงเป็นพันปลายๆ หรือหมื่นต้นๆ เมื่อจะต้องฉีดอยู่เป็นระยะๆ ก็ขึ้นกับความจำเป็นของแต่ละบุคคลแล้วละครับว่าจะฉีดหรือไม่ฉีด
จะเห็นว่าของอย่างเดียวกัน (ท็อกซิน) ในสถานการณ์ต่างกัน (ปริมาณ วิธีการที่ได้รับ) ทำให้เกิดผลต่างกัน (กดการหายใจ กับ ประโยชน์ด้านความสวยงาม) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในชีวิตประจำวัน
ที่มา / อ่านเพิ่มเติม
TURTON K et al: Botulinum and tetanus neurotoxins: Structure,
function and therapeutic utility. Trends Biochem Sci 27:552,
2002
Chapter 125. BOTULISM - Elias Abrutyn ใน Harrison's Principles of Internal Medicine 16th Edition, 2004
Chapter 276. Botulinum Toxin - Richard G. Glogau ใน
Fitzpatrick's Dermatology In General Medicine (Two Vol. Set) 6th
edition, 2003
ไม่มีความเห็น