10.ใคร่ครวญปัญหาเศรษฐกิจ ผ่านงานท่านพุทธทาส เรื่อง "อำนาจเงิน"


หยิบเอางาน "เกร็ดธรรมะจากเกร็ดชีวิตของพุทธทาสภิกขุ" เรื่อง "อำนาจเงิน" มาสอนใจในภาวะที่คนเห็นเงินเป็นพระเจ้า

ข่าวปรากฏผ่านสื่อต่างๆ มากมายว่า คนไทยกำลังเครียดเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งรัฐเองก็ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการหว่านเม็ดเงิน เพื่อให้คนมีกำลังซื้อ กำลังบริโภคมากขึ้น (หรือมากเท่าเดิม) เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมดำรงอยู่ให้ได้ต่อไป

ถ้าเราลองหยุดคิดสักนิดหนึ่งว่า เรากำลังหลงอยู่ในวังวนของสังคมบริโภคนิยม
ทุนนิยมอยู่ใช่ไหม เราถึงต้องได้วิ่งตามแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างนี้อยู่ร่ำไป 

ทำไมเราไม่ใช้โอกาสนี้ในการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ลดการบริโภคลง ลดการพึ่งพิง
ระบบทุนนิยมโลก ระบบการค้าโลกลงบ้าง พึ่งพาตนเองมากขึ้น  ใช้สติแทนสตางค์(เงิน)มากขึ้น

ลองมาคิดใหม่ดีไหมว่า  (สมมติว่าเป็นตัวฉันจะคิดอย่างนี้ดีไหม)

เอ! เศรษฐกิจตกต่ำก็ดีเหมือนกันนะ  เงินในกระเป๋าน้อยลงก็ดีนะ  
กินเยอะแล้วก็อ้วน กินน้อยลงหน่อยก็ได้ (กินเท่าที่จำเป็น) ,
เสื้อผ้าที่มีอยู่เยอะแยะ ก็ไม่ต้องเดินซื้อมาอีกให้ล้นตู้ ใช้ของที่ยังใช้ไม่คุ้ม
ให้คุ้มค่าสักที (ดีจังเลย) ,
หนังสือที่ซื้อมาเยอะแยะตอนมหกรรมหนังสือ ยังไม่ได้อ่านก็ซื้อของใหม่อีกแล้ว
หยุดซื้อสักทีแล้วอ่านของเก่าให้หมด มีหลายเล่มประทับใจ อ่านอีกรอบก็ได้ (สนุกจัง) ฯลฯ
 


นึกถึงงานชีวิตท่านพุทธทาสที่เคยอ่านนานแล้วจาก
จึงนำมาฝากเตือนสติคนในสังคมเดียวกัน
...............................

  พุทธทาส กับอำนาจในสังคมสมัยใหม่ ตอน "อำนาจเงิน"

มีเรื่องเล่าอยู่ในหนังสือ “เกร็ดธรรมะจากเกร็ดชีวิตของพุทธทาสภิกขุ” ว่า
มีภริยาของผู้มีอำนาจวาสนาในสมัยที่ท่านอาจารย์พุทธทาสยังมีชีวิตอยู่คนหนึ่ง
ไปสวนโมกข์พร้อมผู้ติดตาม และเข้าไปกราบท่านอาจารย์ พร้อมกับถามว่า
จำเธอได้หรือไม่

ท่านอาจารย์ตอบตามตรง แบบสั้น ๆ เรียบ ๆ แล้วก็นิ่งเฉยตามปกติของท่านว่า “จำไม่ได้”
ผลคือสตรีผู้นั้นโกรธ ลุกกลับออกมา พร้อมพูดกับผู้ติดตามว่า เธอได้ถวายเงินทำบุญบำรุงวัด
ไปเป็นจำนวนมากเมื่อคราวพบกันครั้งแรก (
ควรจะจำเธอได้นี่นา)

แถมทิ้งท้ายเสียงดังพอที่คนอยู่ละแวกหน้ากุฏิจะได้ยินว่า ในเมื่อจำไม่ได้ คราวนี้จะไม่ถวายแล้ว
โดยนัยคือ การจำความสำคัญของเธอไม่ได้ ทำให้ท่านอาจารย์อดได้เงินทำบุญจากเธอผู้นั้น

แม้เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะชวนให้ “ขำกลิ้ง” ในวิธีคิดของสตรีผู้นั้น แก่ผู้ฟังที่รู้จักธรรมะและวัตรปฏิบัติ
ของท่านอาจารย์พุทธทาส แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เราเห็นว่า คนในสังคมปัจจุบัน มักคิดและเชื่อมั่นว่า “เงิน”
เป็นอำนาจซึ่งทำให้คนทั่วไปต้องสยบยอม เอาใจอย่างปราศจากข้อแม้  ไม่เข้าใจว่า
แท้ที่จริงนั้น เงินมีอำนาจอยู่บนฐานความคิดความเชื่อบางอย่าง ดังนั้น ผู้ที่ปฏิเสธหรือมิได้สมาทาน
ความเชื่อดังกล่าว เงินจึงมีความหมายน้อยและมีอย่างจำกัดขอบเขตด้วย

ในกรณีของท่านอาจารย์พุทธทาสที่เล่ามานั้น อำนาจเงินมีความหมายน้อยอย่างยิ่ง

เพราะความสุขของท่าน ไม่ต้องใช้เงินซื้อและมีความหมายอันกว้างขวาง หลายมิติ
มิได้ผูกติดอยู่กับเงื่อนไขทางวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว คือ เมื่อมีปัจจัยสี่เพียงพอแก่การยังชีวิต
มิให้ลำบากขาดแคลนแล้ว ท่านก็แสวงหา สร้าง และมีความสุขอันละเอียดประณีตจาก
การพัฒนาจิตวิญญาณ ด้วยการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ศึกษาเรียนรู้กฎแห่งธรรมชาติ
เพื่อจะมีความสุขอย่างอิสระ   โดยอาศัยปัจจัยภายนอกไม่ว่าเงินหรือวัตถุอื่นให้น้อยที่สุด
ตามคติของชาวพุทธ  แล้วปันส่วนที่เกินให้แก่ผู้อื่น อีกทั้งกิจการภายในวัดเอง ก็มิได้ตั้งอยู่บนฐานคิด
ของการใช้เงินเป็นหลัก หากขยายตัวไปตามปัจจัยที่มีอยู่ จึงไม่มีการเรี่ยไร ตั้งกล่องบริจาค ฯลฯ

การไม่ให้ความสำคัญกับหาเงินหรือเติบโตบนเงื่อนไขพึ่งพาเงินใครนี้ ทำให้ไม่มีผู้ใดมีอำนาจพิเศษ
ไม่ว่าเศรษฐี ตาสีตาสา นักศึกษา พระลูกชาวบ้าน ฯลฯ มาพบท่านอาจารย์ได้ตลอดเวลาหน้ากุฏิ

อำนาจเงินนั้น ทำงานและมีพลังบนฐานความเชื่อเกี่ยวกับ “ความสุข” ของบุคคล คือมีอิทธิพลต่อผู้ที่เชื่อว่า
เงินเป็น “คำตอบสุดท้าย” หรือ-เป็นคำตอบเดียวของ “ความสุข” หมายความว่าต้องมีเงินจึงมีความสุข
ถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่มีความสุข เมื่อ “ความสุข” ถูกสรุปด้านเดียวแบบหยาบ ๆ จากคนในสังคมสมัยใหม่
โดยไม่ต้องถามไม่ต้องคิด

ดังนี้ เงินจึงมีอำนาจมหาศาลเหนือผู้คนทุกวงการในปัจจุบัน เพราะมนุษย์ล้วนปรารถนา “ความสุข”
และแสวงหาความสุขตามความเชื่อนั้น และดูว่าจะมีพลังมากกว่าอำนาจอาวุธ  เผด็จการทหาร
ซึ่งใช้ความกลัวเป็นตัวบังคับข่มขู่ให้คนทำตามด้วย การต่อต้านอำนาจอย่างหลังนี้เกิดขึ้นได้ง่าย
แต่อำนาจเงินใช้ “ความสุข”เป็นตัวล่อ ตัวหลอก

การสยบยอมต่ออำนาจเงินและอำนาจอื่นที่พ่วงตามมากับเงิน จึงมักเป็นไปด้วยความสมัครใจ
เต็มใจ อำนาจเงินจึงสามารถกวาดซื้อทุกอย่างที่ขวางทางได้โดยไม่ยากในทุกวงการ

แม้ในวงการที่มีหลักการยุติธรรม ความดีงามเป็นหัวใจ ไม่ว่าตุลาการ ตำรวจ แพทย์ ครู ผู้บวช
รวมไปถึงการซื้ออุดมการณ์ใส่ลิ้นชัก


อย่างไรก็ตาม พลังอำนาจของเงินในสังคมสมัยใหม่ ก็มิได้ครอบครองเหนือบุคคลและกลุ่มคนทั้งหมด
อย่างสิ้นเชิง จนไร้ความหวัง ที่จะไปพ้นจากสังคมที่อำนาจเงินเป็นใหญ่ หากเข้าใจว่าสังคมที่ว่านี้
เกิดและเติบโตได้มากภายใต้อุดมการณ์เศรษฐกิจแบบ “จำเริญเติบโต” (growth)
คือมุ่งการเพิ่มและขยายรายได้(เงิน)ไม่ว่าในระดับปัจเจกบุคคลหรือของรัฐ การพัฒนาของรัฐที่ผ่านมา
กว่า ๔๐ ปี ได้สร้างมายาคติทำให้การมีชีวิตรอด ไม่ว่าในเมืองหรือชนบทมีอยู่ทางเดียว คือปัจเจกบุคคล
จะต้องหาเงินให้มาก ๆ แล้วเอาเงินไปบันดาล “สุข” อันหมายถึง ความสุขทางวัตถุ  ด้วยสูตร
“งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” (ซึ่งเวลาต่อมาเปลี่ยนไปเป็นว่า งานไม่ต้องทำก็มีเงินได้
หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เงิน)

ความสุขในรูปแบบอื่น ๆ ที่เคยมีอยู่ในสังคมไทย เช่น ความสุขจากการมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อแบ่งปันให้กัน
ความอบอุ่นในครอบครัว  ชุมชน การสร้างสรรค์งานศิลปะ ฯลฯ ได้ถูกทำลายราบด้วยสูตร “ความสุข”
ของรัฐ ซึ่งเป็นนายหน้าให้แก่ทุนนิยมโลกและวัฒนธรรมบริโภคนิยม วัตถุนิยม  สร้างตลาดซื้อขาย
“ความสุข” ที่ต้องใช้เงินซื้อทั้งสิ้น

คนเป็นอันมากเชื่อและวิ่งล่าหาความรวยเพื่อมาสร้างความสุขตามสูตรของรัฐ จนกระทั่งสูญสิ้นไร่นา
ป่าเขาถูกทำลาย ครอบครัวแตกแยกเพราะพ่อแม่เอาแต่หาเงิน อบายมุข ยาเสพติด คอร์รัปชั่น ฯลฯ
ล้วนขยายตัวบนพื้นฐานความแร้นแค้นและความโลภอยากรวย

ความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และความทุกข์ในชีวิตปัจจุบัน จึงผูกโยงอยู่กับโลกทัศน์
และค่านิยมเกี่ยวกับชีวิตและความสุขของบุคคลในสังคมด้วย การจะลดทอนอำนาจเงินและอำนาจรัฐ
ในสังคมไทย ทางหนึ่งคือ การส่งเสริมและเปิดทางให้ชุมชนได้นิยามและสร้าง “ความสุข–ความเจริญ”
ตามแบบของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนรัฐ เพราะตราบใดที่ยังต้องวิ่งไล่ตามสูตรการพัฒนาของรัฐ
(การตลาด) ก็จะยิ่งจนและอำนาจเงินก็จะยิ่งแผ่อิทธิพลมากยิ่งขึ้นบนความยากจนนั้น

ในส่วนของปัจเจกบุคคล การต่อสู้กับอำนาจเงิน แท้จริงก็คือ การต่อสู้กับความโลภภายในใจของเราเอง
ซึ่งจุดติดง่ายท่ามกลางแรงโฆษณา “ความสุข” ที่ชี้นำแต่ความสุขแบบหยาบ ๆ จะสู้ชนะหรือแพ้ ขึ้นอยู่กับ
การฝึกฝนตนเองที่จะใช้เงินบันดาลสุขแต่เพียงพอดี ที่สำคัญที่สุดคือ รู้จักการสร้างและมีความสุขในมิติอื่นด้วย
การดูวิถีชีวิตและความสุขของกัลยาณมิตรเช่น ท่านอาจารย์พุทธทาส ก็เป็นทางหนึ่งของการสร้างกำลังใจ
และความรู้เท่าทันในการต่อสู้กับอำนาจเงิน

 

แน่นอนว่า ผู้มีชีวิตครองเรือน คงทำเหมือนบรรพชิตมิได้ทั้งหมด แต่คฤหัสถ์ก็สามารถมีความสุขจาก
วิถีชีวิตที่ “ไม่รวย” ได้เช่นกัน ดูดังชีวิตของ อ.ป๋วยและอีกหลาย ๆ ท่านเป็นตัวอย่าง หรือให้ใกล้เข้ามาอีก
ก็ดูความสุขของเด็ก ๆ เมื่อเขาจับกลุ่มเล่นกัน หัวเราะเอิ๊กอ๊ากโดยไม่ต้องใช้เงินสักบาท.


หมายเหตุ : บทความ ”พุทธทาสกับอำนาจในสังคมสมัยใหม่”
มี ๒ ตอน คือ อำนาจเงิน,
อำนาจแพทย์

 

หมายเลขบันทึก: 235451เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2009 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เงินทองเป็นของนอกกาย ความสุขที่แท้จริงคือ การได้อยู่ร่วมกับคนที่เรารักและใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและเพียงกับความต้องการค่ะ

ขณะที่เราออกเดิน บนหนทางชีวิต ส่วนใหญ่เราใช้เวลาเหลือบมองสิ่งรอบตัวน้อยมาก เพราะมุ่งไปยังจุดหมายของการออกเดิน แสวงหาหนทางที่จะทำให้เส้นทางความฝันสั้นเข้า เงินก็เป็นเส้นทางหนึ่งที่เราถูกออกแบบมาให้คิดว่า"สำคัญ" เหมือนกันทุกคน เราจึงมุ่งเดินในทิศทางเดียวกัน ลืมหรือเปล่านะ ว่าเส้นทางที่ผ่านมีเรื่องสวยงามเยอะไป เสมองบ้าง ...แอบมองบ้างก็ได้ว่าดอกไม้ข้างทางงดงามจับใจ บางทีมันจะช่วยให้เราไม่จับจดอยู่แค่เรื่องเรื่องเดียว

ใช่ค่ะ เดินบนเส้นทางที่ถูกกำหนดโดยสังคมรอบข้างมากไปก็เหนื่อย ละวางบ้าง คิดออกนอกทางบ้าง และหยุดบ้าง ก็จะดี ตั้งสติที่จะทำอะไรดีๆ โดยไม่หวัง "ค่าตอบแทน" บ้าง ชีวิตจะมีค่าขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีใครตอบแทนค่ะ

เข้ามาทบทวนบ่อยครั้งค่ะ..

เส้นทางชีวิตที่ผ่าน

ยังมีเรื่องราวอื่นๆ

ลมหนาวพัดฟ้าเสียกระเจิงเชียว

ก็ล้วนเป็นหนนึ่งในเส้นทางชีวิต

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท