บทเรียนจากห้องเรียนวาดภาพโดยวิถีธรรมชาติ


“วันนี้เราไม่ได้มาสร้างผลงานชิ้นเอก เรามานั่งมองต้นไม้ มองแสงแดด แล้ววาดมันลงไปอย่างไม่บิดเบือน ทำไปตามความเข้าใจ ตามความรู้สึก ตามแต่ความสามารถที่ทุกคนจะทำได้”

บทเรียนจากห้องเรียนวาดภาพโดยวิถีธรรมชาติ

 

            20 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมาผมมีโอกาสเข้าไปเรียนรู้วิธีการวาดภาพด้วยวิถีธรรมชาติ ที่ถ่ายทอดโดยครูเป้ สีน้ำ ณ บ้านริมน้ำ ของพี่สุเมธ ปานจำลอง ที่จังหวัดมหาสารคาม มีหลากหลายเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟัง ได้ทดลองปฏิบัติมา แล้วคิดว่ามีความสอดคล้องกับหลักคิดและวิธีการทำงานบนวิถีชุมชน มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ครับ

([1]) วันนี้เราไม่ได้มาสร้างผลงานชิ้นเอก เรามานั่งมองต้นไม้ มองแสงแดด แล้ววาดมันลงไปอย่างไม่บิดเบือน ทำไปตามความเข้าใจ ตามความรู้สึก ตามแต่ความสามารถที่ทุกคนจะทำได้...คือประโยคที่ครูเป้ ย้ำอยู่บ่อยครั้งในห้องเรียนการวาดภาพด้วยวิถีธรรมชาติ เมื่อได้ยินประโยคนี้เป็นประโยคแรก ผมพบว่าตนเองกำลังถูกชักนำให้มองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ผมและเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ นักวิจัยเพื่อท้องถิ่นกำลังทำอยู่...

(ผ[2]) ที่ผ่านมาพวกเรากำลังทำอะไรกันนะ เรากำลังมุ่งมั่นสร้างผลงานชิ้นเอกด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือว่ากำลังก่อรูปก่อร่างบางสิ่งให้เกิดขึ้นในวิถีของชุมชนโดยใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ...

ครูเป้ เอ่ยบอกอีกครั้งว่า... (ค) การวาดภาพนั้นเป็นกิจกรรมผ่อนคลาย จริงจังแต่ไม่เคร่งเครียด ไม่เร่งรัด และไม่มีทางลัดที่จะก้าวสู่จุดหมายเร็วกว่าวิถีทางของความเป็นจริง...เพราะจิตรกรคือนักปฏิบัติ การได้ลงมือทำเท่านั้นที่จะนำไปสู่ความเข้าใจวิถีของธรรมชาติที่แท้จริง...

(ผ) ความรู้สึกของพวกเราที่ผ่านมาขณะที่ทำงานภายใต้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นล่ะเป็นอย่างไร เรารู้สึกผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด ไม่รีบเร่งหรือไม่ ถ้าใช่ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ถ้าหากไม่ เราจะทำอย่างไรให้การทำงานบนวิถีชุมชนเป็นการทำงานที่ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดและไม่รีบเร่ง

...และแล้วบทเรียนบทแรกของการวาดภาพโดยวิถีธรรมชาติก็เริ่มขึ้น...บทเรียนเรื่องการมอง

(ค) การวาดภาพโดยวิถีธรรมชาติ เริ่มต้นด้วยการมองอย่างเข้าใจ มองเพื่อการเขียนภาพ มองด้วยสายตาของจิตรกร...การมองของจิตรกรจะต่างจากการมองของนักเล่นพระ หรือเกษตรกรที่คอยตรวจตราพืชผลของตน การมองเพื่อการเขียนภาพไม่ต้องการเหตุผล แต่คือ การสำรวจรูปทรงของสิ่งนั้น ๆ ทุกแง่มุม อาจเริ่มจากสิ่งของใกล้ตัวที่คุ้นเคย ผลส้ม ถ้วยกาแฟ ปากกาที่อยู่ในมือ หรือแม้แต่มือของเราเอง

(ผ) การทำงานบนวิถีของชุมชนก็เฉกเช่นเดียวกัน ต้องเริ่มต้นจากการมองชุมชนอย่างเข้าใจ มองจากสิ่งใกล้ตัว

(ค) การมองเพื่อการวาดภาพที่ดีควรระวังไม่ให้มีความคิดเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะความคิดจะเร็วกว่าตา เร็วกว่ามือ และจะทำให้ผู้มองละเลยสิ่งซึ่งเป็นจริงอยู่ตรงหน้า ความคิดจึงเป็นอุปสรรคมากต่อความเข้าใจ ความคิดมักรบกวนสิ่งที่ตาเห็น และทำให้เรื่องราวที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าซับซ้อนและยุ่งยากขึ้น

(ผ) การมองชุมชนอย่างเข้าใจ ต้องมองในสิ่งที่ชุมชนเป็นอยู่ตามความเป็นจริง มองอย่างปราศจากอคติเอนเอียงไปในทางที่ดีหรือไม่ดี มองชุมชนโดยไม่ตัดสิน

(ค) แต่เพราะคนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการเฝ้ามองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ ตามที่มันเป็น หลายคนจึงมองสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อหาข้อตำหนิหรือค้นหาความสวยงามของมัน ภาพที่เรามองเห็นจึงถูกบิดเบือนไป

(ผ) แต่หลายครั้งที่เรามองชุมชนเพื่อทำความเข้าใจ ภาพของชุมชนที่เราคิดว่าเป็น มักเข้ามาแทนที่ภาพความเป็นอยู่ตามสภาพความจริงของชุมชนเสมอ บ่อยครั้งเราจึงมักสร้างภาพของชุมชนให้เป็นไปตามความคิดของเราที่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้โดยไม่รู้ตัว

ในระหว่างที่ฝึกมองและฝึกวาดภาพ ผมพบว่าความต้องการที่อยากจะทำให้ภาพที่ตนเองวาดสวยงาม และความคิดตัดสินผลงานของตนเองว่าดีหรือไม่ดี สวยหรือไม่สวยอย่างไรนั้นมักเกิดขึ้นบ่อยๆ  ครูเป้แนะว่า... (ค) การคาดหวังในงานอาจทำให้รู้สึกท้อแท้โดยไม่จำเป็น การประเมินงานของตัวเองอย่างไม่เข้าใจอาจทำให้เกิดความสับสนหรือผิดทาง ขอให้มองแล้วพิจารณาถ่ายทอดน้ำหนักของสิ่งที่เรามองไปตามที่ตาเห็นเท่านั้น ในการฝึกหัดไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าผลของการได้ทดลอง ควรละวางความคาดหวังจากงาน เพราะนี่คือการเรียนรู้

(ผ) เพราะขณะที่เราทำงาน เราอดคาดหวังให้ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง อย่างที่เราคิดไว้ก่อนไม่ได้ และบางครั้งเราก็ทำให้ชุมชนเกิดความคาดหวังถึงสิ่งดีๆ ไปกับเราด้วย แต่เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปดังหวัง เราอดไม่ได้ที่จะโทษตัวเอง โทษสิ่งต่างๆ ในที่สุดความท้อแท้ อ่อนล้า ความไม่มั่นใจ ความไขว้เขว ก็เข้ามาบั่นทอนกำลังใจในการทำงานของเรา หลายครั้งเราอาจจะลืมคิดไปว่าทุกๆ ก้าวของการทำงาน ของการปฏิบัติ คือการเรียนรู้ และทุกๆ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่เป็นผลจากการทำงาน ก็คือการเรียนรู้เช่นกัน

บทเรียนต่อมาที่ครูเป้ สีน้ำ นำมาถ่ายทอดคือ บทเรียนเรื่อง น้ำหนักของแสง-เงาที่ช่วยสร้างรูปทรง

(ค) สาระสำคัญของการวาดภาพ คือการบรรจุน้ำหนัก อ่อน-แก่ของแสง-เงาในธรรมชาติลงในกระดาษ ความยากอยู่ที่น้ำหนักในธรรมชาติ มีความละเอียดอ่อน และสลับซับซ้อนหากเรายังมองน้ำหนักอ่อน-แก่ ในธรรมชาติยังไม่ชัดเจนนัก ให้เวลากับการมองอีกนิด ค่อยๆ หรี่ตาลงเล็กน้อยเพื่อให้น้ำหนักอ่อน-แก่ของวัตถุปรากฏชัดขึ้น และเพื่อที่จะถ่ายทอดสิ่งที่เห็นด้วยการวาด เราต้องมองสิ่งนั้นทั้งหมด เห็นทุกสิ่งพร้อมกันในกรอบสายตาของเรา ไม่ใช่พินิจอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

(ผ) อย่าลืมว่า ชุมชนนั้นเป็นมวลรวมของหลายสิ่งหลายอย่างที่ประกอบกัน ทั้งผู้คน ความคิดความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ มีทั้งความอยากดี อยากเด่น อยากอยู่เฉยๆ ของผู้คน มีทั้งคนที่รักกัน เกลียดกัน ไม่เข้าใจกัน และทุกอย่างนั้นมีจังหวะและเวลาของมัน

(ค) เมื่อลงมือวาด เริ่มต้นด้วยการร่างภาพของเราด้วยสัมผัสอันแผ่วเบา วางองค์ประกอบของภาพให้เหมาะสม แล้วเริ่มต้นระบายน้ำหนักแรกที่อ่อนที่สุดก่อน คือน้ำหนักของแสง แล้วตามด้วยน้ำหนักที่ค่อย ๆ เข้มขึ้นตามลำดับ การร่างภาพที่ดี / ถูกต้อง จะช่วยทำให้หาตำแหน่งที่จะบรรจุน้ำหนักได้ง่ายขึ้น ยิ่งใส่น้ำหนักได้ครบถ้วนเท่าใด ภาพจะค่อยๆ ปรากฏเป็นรูปทรงที่ถูกต้อง และเป็นจริงตามธรรมชาติเท่านั้น

(ผ) เมื่อลงมือทำงาน ขอให้ค้นหาจุดเริ่มต้นและกำหนดขอบเขตที่จะทำให้งานเกิดพลังให้ได้

(ค) ให้เวลากับการมอง และการแรเงา ควบคุมน้ำหนัก หนัก-เบาของมือ ให้ดำเนินไปอย่างผ่อนคลาย ต่อเนื่อง ไม่รีบเร่ง ไม่คาดคั้น ไร้ความกดดันใดๆ และเราจะพบว่าน้ำหนักนั้นสามารถลบตัวของมันเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยางลบ น้ำหนักที่เข้มกว่า จะทับลงบนน้ำหนักที่อ่อน จะบีบและเบียดน้ำหนักอ่อนจนทำให้เกิดเป็นรูปทรง

(ผ) ทำงานอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ทำงานอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับจังหวะเวลาของชุมชน

(ค) ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากเบื้องต้นก็สามารถถูกแก้ไขไปเรื่อยๆ เส้นร่างในตอนแรกก็จะค่อยๆ หายไป ด้วยน้ำหนักที่เข้มกว่านั่นเอง ภาพจึงค่อยๆ ชัดเจนขึ้น ถูกต้องขึ้น พร้อมกันทั่วทั้งภาพ 

(ง) ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ แต่หากเรามุ่งมั่นตั้งใจ ความผิดพลาดจะค่อยๆ ถูกแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะทุกๆ ขณะของการทำงานคือการเรียนรู้ และการเรียนรู้นั้นจะสร้างสิ่งใหม่ๆ เสมอ

(ค) เมื่อมาถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ การเน้นจุดสนใจหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของภาพที่ผู้วาดอยากให้มันน่าสนใจก็ทำได้โดยเพิ่มน้ำหนัก เพิ่มรายละเอียดในกลุ่มนั้น เพื่อเน้นให้ชัดเจนขึ้น พิจารณาดูน้ำหนักที่ยังขาดหายไป การใช้เส้นก็จะเกิดขึ้นในช่วงท้ายนี้ ระยะของภาพก็จะเกิดขึ้น โดยปล่อยให้ระยะที่ไกลได้ไกลออกไป ทำระยะที่ใกล้ให้ใกล้ขึ้น ตรวจสอบได้โดยเพ่งมองไปในกลุ่มที่ต้องการเน้นให้ชัด และในกรอบสายตาเดียวกัน ก็จะเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหลังลางเลือนออกไป ตามระยะ ตามความเป็นจริง

         (ผ) ท้ายที่สุดแล้วการเรียนรู้ จะนำพาให้เราค้นพบเส้นทางที่ถูกต้อง ค้นพบทางออกของปัญหา และท้ายที่สุดแล้วการทำงานอาจจะทำให้เราค้นพบตัวของเราเอง



[1]  คำบรรยายของครูเป้ สีน้ำ

[2]  ความคิดของผู้เขียนเมื่อได้ฟังคำบรรยาย

หมายเลขบันทึก: 235185เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2009 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท