ข้อสังเกตจาก Workshop "การจัดการความรู้สู่การบริหารจัดการงานวิจัย" เครือข่าย มรภ. ภาคตะวันออกเฉียง


          วันที่  5-7  เมษายน  2549  ผู้เขียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดการความรู้สู่การบริหารจัดการงานวิจัยของเครือข่าย มรภ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  ณ  ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ  อาคารจุฬาภรณวลัยลักษณ์  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักบริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สามารถใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยให้มุ่งสู่คุณภาพระดับสากล  ผู้เข้าร่วม คือ  ผู้บริหาร, ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา, นักวิจัย, อาจารย์, บุคลากรของ มรภ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จำนวน  10  แห่ง คือ  นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ชัยภูมิ, อุบลราชธานี, อุดรธานี, ศรีศะเกษ, กาฬสินธุ์, สกลนคร, ร้อยเอ็ด และเลย  รวมทั้งมีผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัยระดับภูมิภาค  11  ชุดโครงการของ สกว., ผู้ประสานงานงานวิจัยท้องถิ่น (Node)  ของ สกว. ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ สกว. ภาคใต้ เข้าร่วมกระบวนการในครั้งนี้ด้วย  รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ  30  คน 
         วิทยากรกระบวนการในครั้งนี้  คือ  ดร.ปรีชา อุยตระกูล   (ซึ่งเคยเข้าร่วม Workshop  ที่ สคส.  จัดให้กับ 13  มรภ.  เมื่อปลายปีที่ผ่านมา)  และทีมงาน  โดยได้ดำเนินกระบวนการเหมือนกับที่  สคส.  ใช้หรือฝึกอบรมให้  คือ  เรื่องเล่าเร้าพลัง, การสร้างขุมความรู้, การสังเคราะห์แก่นความรู้, การสร้างตารางอิสรภาพ, การประเมินตนเอง, ธารปัญญาและบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้, Knowledge Sharing ตามบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ AAR  นอกจากนั้น  ยังได้มีการอบรมการใช้ Blog เพื่อขับเคลื่อน CoP  นักบริหารจัดการงานวิจัยของเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย
          โดยผู้เขียนมีข้อสังเกตจากการเข้าร่วม Workshop ในครั้งนี้  ดังนี้ คือ 
          1. ดร.ปรีชา  อุยตระกูล  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา  ซึ่งเป็น “คุณอำนวย”  ของ มรภ. นครราชสีมา  ได้กำกับดูแลกระบวนการในครั้งนี้ด้วยตนเอง  ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ลื่นไหล  เข้มข้น  ได้ทั้งเนื้อหา  “การบริหารจัดการงานวิจัย” และกระบวนการ KM   (เพราะ ดร.ปรีชา  แม่นและเข้าใจกระบวนการ KM  เป็นอย่างดี)    โดยเฉพาะผู้เข้าร่วมที่ไม่เคยเข้ากระบวนการเช่นนี้มาก่อน จะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้กระบวนการอย่างมาก 
          2. ผู้เข้าร่วม มีจำนวนไม่มากเกินไป ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเข้มข้น  โดยเฉพาะช่วง Knowledge  Sharing  ตามบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นช่วงที่มีพลังมาก  มีผู้เข้าร่วมหลายคนสะท้อนว่า  ได้วิธีปฏิบัติดีๆ  สำหรับนำไปใช้ในการบริหารจัดการงานวิจัยใน มรภ. ของตนเองเยอะมาก  เพราะเป็นการเล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เจาะเฉพาะเรื่อง และลงลึกมากกว่าการเล่าเรื่องในช่วงแรก 
          3.  มรภ.  เป็นเครือข่ายที่มีความเหนียวแน่น  ร่วมมือร่วมใจ  และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างดีมาก  น่าจะมีการนำจุดเด่นด้านนี้  มาขับเคลื่อนเป็น  CoP  หรือชุมชนนักปฏิบัติในด้านอื่นๆ  (ที่นอกเหนือจาก  CoP  นักบริหารจัดการงานวิจัย)  ได้เป็นอย่างดี
          4. การเข้าร่วม Workshop  ครั้งนี้  ทำให้ผู้เขียน ได้มีโอกาสรู้ว่า  มี  มรภ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่งที่ขยายผล KM  ให้กับบุคลากรของตนเอง  เช่น มรภ. เลย, มรภ. อุบลราชธานี  ซึ่งผู้เขียนได้แจ้งให้ มรภ. ทั้ง 2  แห่ง  เขียนเล่าเรื่องหรือบันทึกประสบการณ์การต่อยอดขยายผล KM  ด้วยเพื่อเผยแพร่ทาง Blog  ด้วย  
          5.  Workshop  ครั้งนี้ มีผู้ประสานงานของ สกว. เข้าร่วมเรียนรู้กระบวนนี้ด้วย  หลายคนบอกว่า จะนำกระบวนการนี้ไปใช้กับการทำงานในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ สกว. ต่อไปด้วย
          ผู้เขียนในฐานะที่ทำหน้าที่หว่านเมล็ดพันธุ์ KM  ให้กับ มรภ.  หลายแห่ง  (ตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก สคส.)   รู้สึกชื่นใจที่ตอนนี้ต้นกล้า KM  กำลังเริ่มที่จะแตกดอกออกผลในเครือข่าย มรภ.  ก็คงต้องขอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด  หมั่นรดน้ำพรวนดิน  และดูแลกันและกันเป็นอย่างดีต่อไป  ไม่เช่นนั้น  ต้นกล้า  KM  อาจจะแคระเกร็นหรือสิ้นชีวิตไปก่อนก็ได้
          สคส.  เป็นกำลังใจให้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 23491เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2006 07:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
น่าสนใจครับ ไม่ทราบนอกจากการ "วิจัย" ท่านเชื่อมไป พันธกิจ อื่นอีก หรือไม่ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท