ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้ (สึก) : “สุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ควร “สร้างสม” ตลอดชีวิต


            หากผมไม่เป็นโรคที่หนักหน่วงถึง 3 ครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา  ผมคงไม่รู้ซึ้งว่าผมไม่ได้มี สุขภาวะ ดีอย่างที่คิด  และเกิดความตระหนักอย่างชัดเจนว่า เรื่อง สุขภาวะ นั้น ควรต้อง สร้างสม กันตลอดชีวิต ยิ่งคิดได้และลงมือปฏิบัติเร็วเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น

ไม่เป็น (โรค)   ไม่รู้ (สึก)

                ผมเคยคิดว่าผมเป็นคนหนึ่งที่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพตนเองได้ค่อนข้างดี  เช่นกินอาหารที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ออกกำลังกาย  พักผ่อน  พัฒนาจิต  มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง  ฯลฯ     

                สอดคล้องกับความหมายของคำว่า สุขภาพ หรือ สุขภาวะ ที่หมายถึงภาวะเป็นสุขทางกาย  ทางจิตใจ  ทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ  และทางสังคม  

                ผมเคยคิดว่า โดยทั่วไปผมมีสุขภาพในเกณฑ์ดี  ในทางร่างกาย  ผมไม่ค่อยป่วยหรือมีโรคภัยไข้เจ็บ  เป็นหวัดเป็นไข้น้อยมาก  นานๆจึงเป็นสักครั้ง  และผมมักปล่อยให้หายเองหรือรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ดื่มน้ำ  พักผ่อน  นั่งสมาธิ  ซึ่งโดยมากอาการหวัดอาการไข้จะหายไปในเวลาอันสั้น  ตลอดชีวิตการทำงาน  ผมใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลและมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลน้อยมาก

                ผมไม่เคยต้องเข้านอนในโรงพยาบาลหรือต้องรับการผ่าตัดหรือการรักษาพยาบาลโรคประเภทหนักๆตั้งแต่วัยเด็กถึงผ่านวัยเกษียณอายุ

                จนกระทั่งเมื่อผมมีอายุ 63 ปีเศษ ในปี 2547

                ปรากฏว่า ผมมีก้อนเนื้อที่ส่วนหัวของตับอ่อน  ซึ่งไปกดท่อน้ำดี น้ำดีไม่เข้าสู่ระบบย่อยอาหาร  ทำให้ผมรับประทานอาหารไม่ได้

                ผมจึงต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัด  เป็นการผ่าตัดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง แพทย์ตัดเอาตับอ่อนส่วนหัว (พร้อมก้อนเนื้อ) ออกไปประมาณ 30 % ท่อน้ำดีพร้อมถุงน้ำดีทั้งหมด กระเพาะประมาณ 30 % และ Duodenum (ส่วนเชื่อมจากกระเพาะสู่ลำไส้เล็ก) ประมาณ 30 ซม.

                ผมอยู่พักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง  แล้วกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านก่อนที่จะค่อยๆทยอยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ  โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 เดือนหลังการผ่าตัด  กว่าที่สุขภาพจะกลับมาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับก่อนการล้มป่วย

                การเจ็บป่วยครั้งนั้น  ทำให้ผมให้ความเอาใจใส่กับการดูแลสุขภาพมากขึ้นเท่าที่จะทำได้  และดูเหมือนว่าสุขภาพของผมทั้ง 4 ด้าน คือ กาย  จิตใจ  ปัญญา (จิตวิญญาณ) และสังคม อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะพอใจได้

                จวบจนเดือนตุลาคม 2550 เมื่อผมมีอายุประมาณ 66 ปีครึ่ง  ผมต้องเข้ารับการรักษาและนอนในโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันรวม 3 เส้น

                ครั้งนี้แพทย์ใช้วิธี สวนหัวใจ ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ  และผมต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียงหนึ่งสัปดาห์  แล้วกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านอีกหนึ่งสัปดาห์ก็สามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติได้

                แต่ผมต้องรับประทานยาป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง) หลายเม็ดต่อวันทุกวันไปตลอดชีวิต !  รวมทั้งต้องดูแลระมัดระวังเรื่องอาหาร  การออกกำลังกาย  และสุขภาพจิต  มากเป็นพิเศษ  มิฉะนั้นอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตันอาจกลับมาอีก  ซึ่งสามารถมีอันตรายถึงชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน !

                หลังจากการรักษาด้วยวิธี  สวนหัวใจ  เรียบร้อยแล้ว  ผมรู้สึกมีสุขภาพปกติและใช้ชีวิตปกติต่อไปได้  แต่ไม่นานหลังจากนั้น  คือในเดือนเมษายน 2551 ผมไปตรวจร่างกาย  พบว่ามีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่ไขมันหุ้มไตข้างขวา  แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดเอาไตข้างขวาออก

                ผมจึงต้องเข้ารับการ  ผ่าตัดใหญ่  เป็นครั้งที่สองในชีวิต  เมื่อเดือนมิถุนายน 2551  ขณะที่มีอายุ 67 ปีเศษ  ครั้งนี้การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง  แพทย์ตัดไตข้างขวากับลำไส้ที่อยู่ใกล้เคียงประมาณ 5 ซม. ออกไป

                ผมพักฟื้นในโรงพยาบาลหนึ่งเดือน  แล้วกลับมาพักฟื้นและฟื้นฟูร่างกายที่บ้าน  สังเกตว่าครั้งนี้การฟื้นฟูร่างกายมีความยากและใช้เวลานานกว่าเมื่อผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในปี 2547  ขณะที่เขียนบทความนี้การผ่าตัดผ่านพ้นไป 4 เดือนเศษแล้ว สุขภาพของผมดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตปกติได้พอสมควร  แต่การฟื้นฟูร่างกายยังคงต้องดำเนินการอยู่

                การฟื้นฟูร่างกายที่ว่านี้  รวมถึงการพยายามป้องกันไม่ให้สภาพ  เนื้องอก  หรือ  มะเร็ง  (Cancer) นั่นเอง  กลับมาอีก  หรือถ้าจะกลับมา (ซึ่งย่อมมีโอกาสเป็นเช่นนั้นเพราะเกิดมา 2 ครั้งแล้ว)  ก็ในเวลาที่นานที่สุด

                ขณะเดียวกัน  ผมก็ต้องดูแลไม่ให้โรคหลอดเลือดอุดตัน  (ซึ่งเคยเกิดแล้ว)  เกิดขึ้นอีก  หรือเกิดขึ้นได้ยากที่สุด  เท่าที่จะทำได้

ข้อคิดเรื่องสุขภาพ

                ประสบการณ์ด้านสุขภาพของผมที่มีสุขภาพค่อนข้างดีถึงดีมากมาตลอดตั้งแต่วัยเด็กจนอายุ 63 ปีเศษ  แต่มาเป็นโรคชนิดหนักหน่วงถึง 2 โรค  ซึ่งในปัจจุบันเป็นโรคที่ทำให้คนไทย  (และคนในประเทศอื่นๆส่วนใหญ่)  เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ  คือใน 1-3 อันดับแรก  ทำให้ผมได้ศึกษาเรื่องราวและครุ่นคำนึงถึงเรื่องที่เกี่ยวข้อง  ได้ข้อคิดและข้อสรุปที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สนใจทั้งหลายดังนี้ครับ

                ข้อที่หนึ่ง   โรคทั้งหลายที่คนเราเป็น  โดยเฉพาะโรคหนักหน่วงเช่นโรคมะเร็งและโรคหัวใจโดยทั่วไปแล้ว  มิได้เกิดจากเหตุฉับพลัน  แต่มาจากการสะสมของสาเหตุหลากหลายเป็นเวลานานๆ  อาจเป็น 10 ปี  20 ปี  หรือกว่านั้น  ทำให้ร่างกาย  เสียความสมดุล  สะสมมากขึ้นๆ  มี ภูมิคุ้มกัน อ่อนแอลงๆ  ปัจจัยอันเป็นที่มาของโรคชนิดต่างๆสะสมมากขึ้นๆ  เมื่อถึงจุดหนึ่งหรือสถานะหนึ่ง  อาการของโรคจึงปรากฏ  เช่นเนื้องอกเกิดขึ้นที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง  มีสารอุดทางเดินของเลือดในที่ใดที่หนึ่ง  หรือแม้กระทั่งโรคเป็นไข้เป็นหวัด  ก็มาจากการสะสมความไม่สมดุลและความอ่อนแอของภูมิคุ้มกันที่มากจนถึงระดับที่เมื่อร่างกายเผชิญกับสภาวะที่ผิดปกติ  จึงเกิดอาการเป็นไข้เป็นหวัด  ซึ่งถ้าร่างกายมีความสมดุลดีและมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงพอจะไม่มีอาการเป็นไข้เป็นหวัดดังกล่าว

                โรคอื่นๆไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะ  โรคลำไส้  โรคกระดูก  โรคกล้ามเนื้อ  โรคทางเดินอาหาร  โรคทางเดินหายใจ  โรคปอด  โรคตับ  โรคไต  โรคสมอง  โรคผิวหนัง  ฯลฯ  รวมทั้งโรคจิตโรคประสาท  โดยทั่วไปแล้วล้วนมีสาเหตุมาจากการสะสมของปัจจัยต่างๆ  ซึ่งในที่สุดทำให้อาการของโรคปรากฏขึ้น

                ข้อที่สอง   สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการสะสมของปัจจัยอันทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆพอสรุปได้ดังนี้ คือ (1)  อาหารที่ไม่เหมาะสม  (2) การออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ  (3) การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ  (4) สภาพจิตใจที่ไม่ดีพอ  (5) แบบแผนการดำเนินชีวิตรวมถึงข้อบกพร่องหรือความไม่เหมาะสมหรือความไม่สมดุลบางประการหรือหลายประการ

                ปัจจัยอันก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเหล่านี้  มีผลกระทบหรือปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย  ดังนั้นโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นจึงอาจเป็นผลสุดท้ายของสาเหตุข้อใดข้อหนึ่งที่สะสมจนถึงจุดที่อาการโรคปรากฏ  หรืออาจมาจากสาเหตุหลายข้อที่สะสมรวมทั้งผสมผสานปฏิสัมพันธ์กันแล้วทำให้เกิดโรคขึ้น

                ข้อที่สาม  คนเราย่อมปรารถนาจะมีสุขภาพดีกันทั้งนั้น  แต่คำว่า   สุขภาพ  ที่ดีที่สุดเป็นอย่าไร  ความหมายที่เป็นสากล  (ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก  คือ  World Health  Organization หรือ WHO) ของ คำว่า  สุขภาพ  คือประกอบด้วย  (1) สุขภาพทางกาย  (2) สุขภาพทางจิตใจรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ  (3) สุขภาพทางปัญญาหรือจิตวิญญาณที่เข้าถึงคุณธรรม  ความดี  และความสงบมั่นคงทางจิตใจอย่างลึกซึ้ง  และ  (4) สุขภาพทางสังคมหรือทางสัมพันธภาพกับผู้คนและกลุ่มคนในสังคม  ดังนั้น  ความปรารถนาที่จะมีสุขภาพดีของเราจึงควรเป็น  สุขภาพ  ที่ครอบคลุมบูรณาการความหมายทั้ง 4  ด้านของ  สุขภาพ  จึงจะถือว่าน่าพอใจที่สุด

                ข้อที่สี่  หนทางสู่  สุขภาพ  ที่พึงปรารถนา  เป็นเรื่องที่ควรสะสมหรือสร้างสมกันตลอดชีวิต  ถ้าเป็นไปได้  คือ  ตั้งแต่ก่อนเกิดและในวัยเด็ก  (ซึ่งจะต้องดูแลดำเนินการโดยพ่อ แม่)  ต่อเนื่องตลอดไปจนชั่วชีวิต  เพื่อให้ปัจจัยต่างๆที่มีส่วนช่วยสร้างสุขภาพเกิดขึ้นอย่างดีที่สุดและมากที่สุด  ปัจจัยสร้างสุขภาพดังกล่าว  ได้แก่   (1) อาหารที่เหมาะสม  (2) การออกกำลังกายที่เพียงพอ  (3) การพักผ่อนที่เพียงพอ  (4) สภาพจิตใจที่ดีพอ  และ(5) แบบแผนการดำเนินชีวิต  รวมถึงอาชีพการงานและกิจวัตรกิจกรรมต่างๆ  ที่มีความเหมาะสม  ทั้งนี้โดยไม่เปิดโอกาสให้ข้อบกพร่องหรือความไม่เหมาะสมหรือความไม่สมดุลในทางใดทางหนึ่งหรือหลายทางเกิดขึ้นและสะสมจนเป็นเหตุให้เกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆขึ้นในที่สุด

สุขภาวะ  เป็นเรื่องที่ควร  สร้างสม  ตลอดชีวิต

                การ  สร้างสม  ปัจจัยสร้างสุขภาพดังกล่าวข้างต้นนั้น  ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าใดก็ดีเท่านั้น  ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ควรเริ่มให้กับบุตรธิดาของตนตั้งแต่เนิ่นๆที่สุด  ยิ่งเริ่มคิดและลงมือทำตั้งแต่ก่อนลูกเกิดหรือเมื่อยังอยู่ในครรภ์มารดาก็เป็นการดี  สำหรับผู้ที่เป็นเด็กหรือเยาวชน  เริ่มดูแลตนเองได้พอสมควร  ก็ควรคิดและปฏิบัติในอันที่จะ  สร้างสม  ปัจจัยสร้างสุขภาพทั้ง 5 ข้อ  โดยอาจอยู่ภายใต้การแนะนำดูแลของพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยตามสมควร  ส่วนคนที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว  ก็ควรดูแลตนเองอย่างเต็มที่ในเรื่องการ  สร้างสม  ปัจจัยสร้างสุขภาพโดยเริ่มคิดและลงมือทำเสียตั้งแต่เนิ่นๆ  ซึ่งในขณะนั้นอาจจะคิดว่าตนเองมีสุขภาพดีอยู่ดังเช่นที่ผมเคยคิด  แต่ในความเป็นจริง  ปัจจัยก่อโรคอาจจะกำลังสะสมมากขึ้นๆโดยเราไม่รู้ตัว  ซึ่งกรณีโรคมะเร็งและโรคหัวใจ (และหลอดเลือด) มักมีภาวะเช่นนั้น

                ในกรณีที่เราได้ปล่อยให้ปัจจัยก่อโรคมีโอกาสสะสมจนเราเกิดโรคขึ้นจริงๆแล้ว  ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะคิดแก้ไขและป้องกัน  เพราะนั่นคือดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้  และโอกาสที่โรคจะหายไปหรือไม่กลับมาเกิดอีกก็ย่อมมีอยู่เสมอ  โดยยังสามารถใช้หลัก  ปัจจัยสร้างสุขภาพ 5 ประการ  มาประยุกต์ปฏิบัติอันได้แก่  (1) อาหารเหมาะสม  (2) ออกกำลังกายเพียงพอ  (3) พักผ่อนเพียงพอ  (4) พัฒนาจิตใจ  (5) แบบแผนการดำเนินชีวิตเหมาะสม

กรณีศึกษาจากประสบการณ์จริง

                ผมเองเข้ากรณีที่เพิ่งกล่าวถึง  คือ  ได้เกิดโรคที่มีความหนักหน่วงถึง 3 ครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา  เป็นโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง 2 ครั้ง  และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 1 ครั้ง  ผมจึงต้องให้แพทย์เป็นผู้แก้ไขคือ  รักษาด้วยการผ่าตัด (กรณีโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง)  และสวนหัวใจ (กรณีโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน)  ส่วนผมได้เริ่มปฏิบัติในเชิงป้องกันโดยอาศัยหลัก  ปัจจัยสร้างสุขภาพ 5 ข้อ  มาประยุกต์เข้ากับกรณีของตนเอง  ดังนี้ 

                1. อาหาร  หลังจากการเจ็บป่วยครั้งล่าสุดซึ่งชี้ว่าอาหารจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในการป้องกันการกลับมาของโรค  ผมได้เลือกที่จะรับประทานอาหารในแนว  ธรรมชาตินิยม  ได้แก่  แมคโครไบโอติกส์ (Macrobiotics)  หรือ  ชีวจิต  โดยประยุกต์ดัดแปลงบ้างตามที่ผมเห็นสมควรเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของตัวผมและภาวะแวดล้อม  อาหารที่เป็นพื้นคือ ข้าวกล้องหรือธัญพืชไม่ขัดสีหรือขัดสีน้อย  ผักหลายๆชนิด  รับประทานแบบสดหรือปรุงแต่งไม่มาก  ถั่วและเมล็ดพืชหลายๆชนิดทั้งเปลือกอ่อนและเปลือกแข็ง  ผลไม้หลายๆชนิด  ส่วนใหญ่รับประทานแบบสดหรือคั้นน้ำ  ซึ่งที่กล่าวมาคืออาหารแนว  ธรรมชาตินิยม  หลักๆ  โดยผมได้เสริมด้วยปลาและไข่สลับกันไปมาตามคำแนะนำของแพทย์และนักโภชนาการที่ผมปรึกษาอยู่  เรื่องอาหารแนว  ธรรมชาตินิยม  ยังมีแง่มุมที่พึงปฏิบัติอีกหลายประการ  เช่น  การเลือกวัตถุดิบ  เครื่องมือในการปรุง  กรรมวิธีการปรุง  วิธีรับประทาน  ทัศนคติและ  ธรรมะ  ในการรับประทาน  ฯลฯ  ซึ่งผมได้พยายามปฏิบัติเท่าที่สามารถทำได้

                2. การออกกำลังกาย  ผมพยายามออกกำลังกายทุกเช้าให้ได้อย่างสม่ำเสมอ  ความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญพอๆกับวิธีการออกกำลังกายที่ดี  ซึ่งต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพของแต่ละคน  ผมได้เลือกออกกำลังกายที่ประกอบด้วย  การหายใจลึกยาว  ประมาณ 10 นาที  การยืดอวัยวะ  ประมาณ 15 นาที  การเสริมกำลังแขนขา  ประมาณ 10 นาที  และ  การเดินเร็ว  ประมาณ 20 นาที  รวมทั้งหมดผมใช้เวลาในการออกกำลังกายตอนเช้าประมาณ 1 ชั่วโมง  หรือกว่าเล็กน้อย  และในระหว่างออกกำลังกายทั้งหมดนี้  ผมพยายามใช้  สมาธิ  และ  พลังจิต เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของ  พลังปราณ  (หรือพลัง  ชี่)  ควบคู่ไปด้วย

                3. การพักผ่อน  ผมพยายามเข้านอนให้เป็นเวลาที่ไม่ดึกนัก  และพยายามนอนหลับให้ได้ประมาณคืนละ  7 ชั่วโมง  ในเรื่องนี้คุณภาพของการหลับเป็นเรื่องสำคัญ  ซึ่งกรณีของผมคิดว่ายังไม่ถึงกับดีนักและจะต้องพยายามปรับปรุงพัฒนาต่อไป  นอกจากนั้น  ผมก็พยายามให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนในรูปแบบต่างๆในช่วงเวลากลางวันด้วยเท่าที่พึงทำได้

                4. สภาพจิตใจ  ผมโชคดีที่ได้สนใจพยายามพัฒนาสภาพจิตใจโดยอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่วัยหนุ่มจวบจนปัจจุบัน  ทำให้สามารถเผชิญภาวะเป็นโรคประเภทหนักหน่วงทั้ง 3 ครั้งได้โดยมีจิตใจสงบเป็นปกติ  มาบัดนี้ที่ผมอยู่ในภาวะเป็นทั้งโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ  จึงยิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพจิตใจมากขึ้นเพราะเชื่อว่า  สภาพจิตใจมีผลอย่างสำคัญต่อการรักษาและป้องกันการเป็นโรคต่างๆโดยเฉพาะโรคมะเร็งและโรคหัวใจ  การพัฒนาสภาพจิตใจที่ผมพยายามปฏิบัติ  ได้แก่  การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา  การฝึกพลังจิต  การสร้างทัศนคติเชิงบวกและสร้างสรรค์เกี่ยวกับชีวิต    เกี่ยวกับผู้คนรอบข้าง  เกี่ยวกับภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆที่ต้องเผชิญ  และอื่นๆ

 

หมายเลขบันทึก: 234131เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2009 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากเรียนถามว่า ในความคิดของอาจารย์ น่าจะมีสาเหตุของความปกติ หรือ โรค จากปัจจัยอะไร จาก อาหาร หรือ สิ่งแวดล้อม ใด ที่ส่งผล

เพราะคล้ายๆกับว่า อาจารย์ ปฏิบัติตน ดีมาตั้งแต่หนุ่มๆ

ผมคิดว่า หากเราช่วยกันเตือน พิษภัยบางอย่างที่คนทั่วไป มักนึกไม่ถึง จากผู้มีประสบการณ์ตรง จะได้ช่วยเตือนใจ คนรุ่นหลัง ให้ระวัง พิษที่คิดไม่ถึง และ สร้างสมคุณ สุขภาวะแทน

ขอขอบคุณครับ

ขอบคุณท่านอย่างมากที่มาบอกเล่าสิ่งที่มีคุณค่า

ขอให้ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงนะครับ จะได้มาบอก

เล่าสิ่งดีๆให้รุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวดำเนินตามอย่างมี

ค่า ตัวอย่างดีๆๆในสังคมนี้น้อยลงทุกทีครับ...

ขอบคุณอย่างสูง..ด้วยใจจริงครับ

วิชาญ เพชรสุข

  • ระหว่างอ่าน ผมพบในใจว่า ผมได้พบงานเชิงคุณค่าอีกแล้ว
  • ขอขอบพระคุณมากครับ

นเรศมันต์ เพชรนาจักร

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท