ระบบการเรียนรู้


การเรียนรู้

จะจัดระบบการเรียนรู้ได้อย่างไร

มีคำสองคำที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ความหมายและการนำไปสู่ปฏิบัติยังไม่ชัดเจน ยังไม่เกิดผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง คำนั้นคือคำว่า ระบบเรียนรู้  ซึ่งเกิดจากคำสองคำประกอบด้วยคำว่า ระบบ และ เรียนรู้ มารวมกัน  เรามาศึกษาให้รู้และนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลกันเถอะ
ระบบ  คือ อะไร  ?
คำว่า ระบบ ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๖ -พ.ศ. ๒๕๓๖ ให้ความหมายไว้ดังนี้
ระบบ น. ระเบียบเกี่ยวกับการรวมสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะซับซ้อนให้เข้าลำดับ ประสานเป็นอันเดียวกันตามหลักเหตุผลทางวิชาการ
ระบบ ก.  ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ      ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์ประสานเข้ากัน       โดยกำหนดรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียว
หากวิเคราะห์คำจำกัดความตามความหมายทั้งสองนัยดังกล่าวข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า มีความสอดคล้องกัน คือ เป็นการรวมสิ่งต่าง ๆ ประสานเข้าด้วยกัน  เป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สรรค์สร้าง เราเรียกว่า  ระบบ  เช่น ธรรมชาติมีระบบหายใจ   ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเราจัดระเบียบการรวมสิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะซับซ้อน ให้เรียงลำดับก่อนหลัง ให้ประสานกันเป็นเหตุเป็นผลทางวิชาการ ประสานให้เป็นเรื่องเดียวกัน
 
การเรียนรู้ คือ อะไร ?
การเรียนรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้ลงมือศึกษา ค้นคว้า ปฏิบัติ สัมผัส สืบค้น จนได้รับคำตอบด้วยตนเอง สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
ในปัจจุบัน เราปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากกว่าการถ่ายทอดความรู้จากครูหรือผู้สอนสู่ผู้เรียน  จากผลการนิเทศติดตามผลการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนส่วนใหญ่ ยังไม่บรรลุผลตามความคาดหวัง  เพราะข้อจำกัดบางประการ เช่น ความชัดเจนในการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ  การสนับสนุน ส่งเสริมอำนวยการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดจนความมั่นใจของครู ซึ่งเคยสอนโดยการถ่ายทอดความรู้ มีหนังสือเรียนเป็นสื่อการเรียน       การสอนตลอด  จึงมีการศึกษาทดลองนำระบบมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
                ระบบเรียนรู้ เป็นระบบหลักระบบหนึ่งในระบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่โรงเรียนนำเอาความคิดเชิงระบบมาใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนเข้าสู่มาตรฐาน  แนวคิดเชิงระบบในโรงเรียนนั้น ได้นำระบบอุตสาหกรรม ที่มี  ๓ องค์ประกอบมาใช้   ประกอบด้วย
ปัจจัยป้อนเข้า ได้แก่ บุคลากร การบริหารจัดการ งบประมาณ สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้ เป็นต้น ส่วนกระบวนการได้แก่  การเรียนการสอน การเรียนรู้ การดุแล ช่วยเหลือนักเรียน กิจกรรมนักเรียนหรือกิจการนักเรียน  เพื่อให้เกิดคุณลักษณะนักเรียนที่พึงประสงค์  ซึ่งเป็นผลลัพธ์
 
เนื่องจากขณะนี้มีสถานศึกษาบางแห่งยังไม่ชัดเจนเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาคุณภาพนักเรียน สถานศึกษามีธรรมนูญโรงเรียน มีแผนกลยุทธ์ แผนพัฒนา แผนปฏิบัติการ  แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน เนื่องจากไม่ได้จัดสู่ระบบ ให้เป็นเรื่องเดียวกัน    จึงขอนำเรียนเสนอให้โรงเรียนพิจารณาความคิดเชิงระบบ ไปสู่การปฏิบัติ
แนวคิดเชิงระบบจะได้รับการจำลองเป็นรูปแบบ เสนอเป็นแผนภูมิที่หลากหลาย   แต่ไม่ว่าจะจัดรูปแบบของระบบอย่างไร  การนำเสนอควรคำนึงถึงการสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน   แบบจำลอง (Model)  ควรมีองค์ประกอบสำคัญ  ๓ เรื่อง  ประกอบด้วย
 
๑.       องค์ประกอบหรือส่วนประกอบ(Component)   ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลักและองค์ประกอบย่อย(Element)  เช่น ระบบเรียนรู้จะมีกระบวนการหรือขั้นตอนอย่างไร ทีมงานจะต้องระดมความคิดกันเพื่อให้ได้ส่วนประกอบหรือองค์ประกอบที่เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน เช่น ประกอบด้วยศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล เป็นต้น
๒.     การเรียงลำดับ (Sequence)  เป็นการทำตามลำดับหรือเรียงตามลำดับอย่างมีเหตุมีผล ต่อเนื่องซึ่งกันและกัน ขั้นตอนหรือกิจกรรมในควรทำก่อนหลังอย่างไร 
๓.      ทิศทางที่ดำเนินกิจกรรมหรือขั้นตอนกระบวนการที่ควรเป็นไป(Direction)  ปกติจะใช้หัวลูกศรเป็นการกำหนด

 

                 บทความโดย    

  อนงค์ศิริ   วิชาลัย  ศึกษานิเทศก์  9
  หัวหน้ากลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 2

 

หมายเลขบันทึก: 233898เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2009 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท