ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

ส่วนที่ ๒ อดีตบนปัจจุบันของบ้านสระบัว


ยุทธการพอเพียง

 

ส่วนที่ 

อดีตบนปัจจุบัน บ้านสระบัว

 

  แผ่นดินที่เคยจับปลามาแบ่งปัน

                พื้นที่ตำบลท่าศาลามีทั้งหมด ๑๕ หมู่บ้านและมีหมู่บ้านที่ติดชายทะเล ๘ หมู่บ้าน หมู่บ้านชายทะเลแถบนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนถูกเชื่อมด้วยคลอง เรียกว่า คลองถุ้ง ซึ่งปัจจุบันคลองสายนี้ได้เปลี่ยนแปลงเหลือเพียงร่องรอยความเป็นคลองด้วยป่าจากและวัชพืช ลำคลองเก่าสายวัฒธรรมแห่งนี้จึงเป็นตัวเชื่อมสายใยของชุมชนจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งหมู่บ้านที่ติดชายทะเลผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนานาอิสลาม จึงมีประเพณีและวัฒนธรรมที่คล้ายกันจึงมีแรงประสานในการทำงานเป็นเครือข่ายบนพื้นฐานวัฒนธรรมและทรัพยากรชุมชน

                ชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประมง ตั้งแต่การออกอวนกุ้ง ปู และปลา นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์น้ำและแปรรูปสัตว์น้ำ  ด้วยการทำมาหากินบนฐานทรัพยากรชุมชนเดียวกัน ความผูกพันทางสายวัฒนธรรมและสายเลือดของลูกทะเลจนกลมเกลียวเหนียวแน่น ช่วยเหลือเกื้อกูล ดังคำกล่าวที่ว่า ทะเลไม่ขวางกั้นพรมแดนสายเลือดลูกทะเล  

                ทรัพยากรธรรมชาติย่อมเปลี่ยนแปลง ชายทะเลแห่งนี้ก็หนีไม่พ้น ทั้งที่เกิดจากตัวธรรมชาติเองและน้ำมือของมนุษย์  เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางระบบนิเวศน์สัตว์น้ำถูกจับด้วยเครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม  อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ การกัดเซาะชายฝั่ง  การเปลี่ยนแปลงจากหาดทรายเป็นหาดโคลน เกิดชายเลนงอกใหม่แทนที่หาดทรายเดิม

                คลื่นทะเลในสมัยสี่ห้าปีก่อนไม่สามารถสามารถซัดสาดมาเกือบถึงถนนได้อย่างปัจจุบัน ระยะห่างระหว่างบ้านที่ชายหาดดั้งเดิมนั้นทอดไกลออกไปเกือบกิโลเมตร แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงได้ทำให้ชายทะเลวันนี้ไหลมาใกล้พวกเขามากขึ้น หากทว่าไม่ได้เป็นการใกล้ที่ก่อให้เกิดความอบอุ่นของท้องทะเลแต่อย่างใด ตรงกันข้ามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นได้สร้างความตระหนกต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแถบบ้านสระบัว[1] รวมตลอดถึงชุมชนใกล้เคียงอย่างชุมชนบ้านในถุ้ง[2]  หากยืนอยู่ริมหาดขณะปัจจุบัน  จุดที่เรือที่กำลังแล่นติดเลนเข้ามายังฝั่งคือสถานที่ซึ่งใช้สำหรับจอดเรือสมัยก่อน ท้องทะเลได้เปลี่ยนไปแล้วแต่ทว่ามันมิได้เปลี่ยนแปลงไปเฉพาะทะเลเท่านั้น วิถีและชีวิตจิตใจของคนก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน เราต้องทำความเข้าใจกับท้องทะเลใหม่เหมือนกับที่เราต้องทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตของคนที่นี่ใหม่เช่นกัน ท้องทะเลที่เต็มไปด้วย หมฺรำ[3] ที่มีไว้สำหรับการเพาะพันธุ์และหลบภัยของปลาทั้งหลายคล้ายว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นฟื้นฟูในสิ่งที่ได้สูญหายไปแล้วจากชุมชน แต่ทว่าการหลบภัยของปลาในสมัยก่อนไม่จำเป็นต้องอาศัยมนุษย์ไปจัดการ แต่ในยุคปัจจุบันหากไม่ทำเช่นนั้นทั้งคนและสัตว์น้ำก็จะอยู่ไม่รอด เช่นเดียวกับอีกฝั่งหนึ่งของถนนซึ่งเป็นที่ตั้งส่วนใหญ่ของบ้านเรือนปรากฏอาคารร้านค้าชุมชนและที่ทำการกลุ่มขึ้นมาใหม่  การอนุรักษ์และกลุ่มองค์กรชุมชนจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการเริ่มใหม่เพื่อให้ชุมชนอยู่รอดท่ามกลางคลื่นลมที่เปลี่ยนแปลงในท้องทะเลเช่นเดียวกับคลื่นทางสังคมก็ซัดสาดในทิศทางที่แตกต่างออกไป  ระยะห่างระหว่างริมฝั่งกับสถานที่ซึ่ง หมฺรำ ตั้งอยู่นั้นกว่าจะลำเลียงไปได้ก็แสนลำบากเช่นเดียวกับการก่อเกิดของกลุ่มองค์กรชุมชนกว่าจะสร้างเสร็จก็ยากลำบากเหมือนกันเพราะนั่นหมายถึง การที่ต้องเตรียมกำลังคนให้พร้อมต่อการคิดและการทำงาน ภาพของชุมชนที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นภาพของความพยายามในการสร้างความสมดุลของชุมชนขึ้นมาใหม่

                ย้อนไปก่อนหน้านี้เมื่อหลายสิบปีก่อนท้องทะเลแถบนี้สมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำ การออกทะเลไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการได้มาซึ่ง กุ้ง หอย ปู ปลาจำนวนมาก  สัตว์น้ำที่ได้มาก็สามารถแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านได้  ท้องทะเลเป็นบ้านที่อบอุ่นของชาวประมงแถบนี้ อบอุ่นพอๆกับความสมานสามัคคีและมีน้ำใจของเพื่อนบ้าน ในสมัยก่อนชุมชนบ้านสระบัวเป็นตัวอย่างของการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรชุมชนบ้านสระบัวจะมีความพร้อมเป็นพิเศษของผู้คน การเปลี่ยนแปลงของชุมชนบ้านสระบัวคล้ายว่าเป็นความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนอื่นๆ  การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนไปของวิถีชีวิตของคนที่นี่  แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทิ้งรากฐานใดๆไว้ในทางตรงกันข้าม  การเปลี่ยนแปลงของคนที่นี่ยังบรรจุไว้ด้วยรากฐานทางวัฒนธรรม  นั่นหมายความว่าในปัจจุบันนี้ชาวสระบัวยังสามารถดำรงสถานะของการใช้รากฐานทางวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตและการใช้ชีวิตประจำวัน 

 

 



[1] บ้านสระบัวหมู่ที่ 6 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

[2] บ้านในถุ้ง 5 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

[3] หมฺรำ บ้านของสัตว์น้ำ โดยนำไม้เสม็ดมาปักเป็นวงกลมประมาณ  20 – 30 ต้น

หมายเลขบันทึก: 233796เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2009 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท