ใบความรู้เรื่องหนังสืออ้างอิง


เอกสารประกอบการเรียน

หนังสืออ้างอิง  (Reference  Books)

 

สาระสำคัญ

                ในสังคมแห่งการเรียนรู้  ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช  2542  ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ถึงแม้ว่าในปัจจุบันได้มีการประดิษฐ์คิดค้นการบันทึกภูมิปัญญาของมนุษย์ในรูปแบบของสื่อสมัยใหม่แล้วก็ตาม  แต่หนังสือก็ยังเป็นแหล่งความรู้ที่เราสามารถเข้าถึงได้ง่าย  สะดวก  รวดเร็ว  และคุ้นเคยที่สุด  ได้แก่  ทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่างๆ  ทั้งที่เป็นวัสดุตีพิมพ์  และวัสดุไม่ตีพิมพ์  ก็ยังมีทรัพยากรสารสนเทศอ้างอิง  อีกประเภทหนึ่งอันเป็นผลผลิตของมนุษย์  ในการบันทึกเรื่องราว  ความคิด  ประสบการณ์  จินตนาการเพื่อสืบทอดมรดกทางปัญญาให้แก่อนุชนรุ่นหลัง  และได้มีการวิวัฒนาการ    จากรูปแบบหนังสือก้าวหน้าไปพร้อมกับความเจริญทางวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่  ในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์  เช่น  ซีดี-รอม  ฐานข้อมูล  เครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ฯลฯ  ทรัพยากรสารสนเทศอ้างอิงเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญที่ห้องสมุดและแหล่งสารสนเทศอื่น ๆ  ได้จัดหามาไว้เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ค้นหาเรื่องราวหรือข้อเท็จจริงในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ

 

เนื้อหาสาระ

                1. ความหมายของหนังสืออ้างอิง

                2.  ประโยชน์ของหนังสืออ้างอิง

                3.  ลักษณะของหนังสืออ้างอิง

                4.  ลักษณะเฉพาะของหนังสืออ้างอิง

                5.  ประเภทของหนังสืออ้างอิง

 

จุดประสงค์การเรียนรู้

     จุดประสงค์ปลายทาง

                อธิบายและบอกความหมาย  ประโยชน์  ลักษณะทั่วไป  ลักษณะเฉพาะและประเภทของหนังสืออ้างอิงได้

     จุดประสงค์นำทาง

                1.  อธิบายความหมายของหนังสืออ้างอิงได้

                2.  บอกประโยชน์ของหนังสืออ้างอิงได้

                3.  อธิบายลักษณะทั่วไปของหนังสืออ้างอิงได้

                4.  อธิบายลักษณะเฉพาะของหนังสืออ้างอิงได้

                5.  อธิบายลักษณะของหนังสืออ้างอิงที่ดีได้

                6.  บอกประเภทของหนังสืออ้างอิงได้

 

ความหมายของหนังสืออ้างอิง

                หนังสืออ้างอิง (Reference  Books)  หมายถึง  หนังสอที่ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ใช้สำหรับค้นคว้าประกอบเฉพาะเรื่องเท่านั้น  มีการจัดทำในรูปแบบง่ายต่อการค้นคว้าหาคำตอบที่ต้องการได้สะดวก  รวดเร็ว  โดยไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งเล่มและอนุญาตให้ใช้ภายในห้องสมุดเท่านั้น (สุนิตย์  เย็นสบาย, 2543 : 3)

 

ประโยชนของหนังสืออ้างอิง

                หนังสืออ้างอิง  เป็นแหล่งสารสนเทศที่มีความสำคัญที่ให้ความรู้อันเป็นพื้นฐานครอบคลุมทุกสาขาวิชา  ผู้ใช้สามารถหาคำตอบได้ทุกเรื่อง  (All  about  anything)  จากหนังสืออ้างอิง  หนังสืออ้างอิงเป็นทรัพยากรสารสนเทศที่มีประโยชน์  สรุปได้ดังนี้

                1.  เป็นแหล่งค้นคว้าหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแน่นอนได้ในทุกสาขาวิชา

                2.  เป็นแหล่งส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยทุกระดับ

                3.  เป็นแหล่ที่สามารถค้นหาคำตอบได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

 

ลักษณะทั่วไปของหนังสืออ้างอิง

                หนังสืออ้างอิงเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการค้นหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเชื่อถือได้  ดังนั้นหนังสืออ้างอิงจึงมีลักษณะทั่วไป  ดังนี้

                1.  ผู้เขียนเป็นบุคคลหรือประกอบด้วยคณะบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ  มีความรู้  ประสบการณ์  และมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่สอน

                2.  มีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านได้รับความรู้และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเชื่อถือได้

                3.  มุ่งให้ความรู้ที่ชัดเจน  กะทัดรัด

                4.  มีการเรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ  เช่น  เรียงตามลำดับตัวอักษร  เรียงตามหมวดหมู่สาขาวิชา  เรียงตามลำดับเหตุการณ์  และเรียงตามสภาพภูมิศาสตร์

                5.  ผู้ใช้สามารถหาคำตอบได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

                6.  รวบรวมข้อมูล  สถิติและเรื่องราวต่างๆ  อันเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ในการค้นหาข้อเท็จจริง

                7.  ให้ความรู้ครอบคลุมสาขาวิชาความรู้ต่างๆ  อย่างกว้างขวาง

                8.  เป็นหนังสือที่มีราคาแพง  และมีขนาดใหญ่

                9.  เป็นหนังสือที่ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งเล่ม  อ่านเฉพาะตอนที่ต้องการเท่านั้น

 

ลักษณะเฉพาะของหนังสืออ้างอิง

                หนังสืออ้างอิงมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากหนังสือทั่วไป  นันทา  วิทวุฒิศักดิ์  (2536 : 147 – 148)  ได้ให้ความคิดเห็นไว้ดังนี้

                1.  ลักษณะการจัดทำเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการค้นคว้าอ้างอิงโดยเฉพาะ  ที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งเล่ม  เนื้อหาแต่ละตอนจะมีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง  รูปเล่มมักจะใหญ่กว่าหนังสือทั่วไปหรือมีความยาวหลายเล่มจบ

                2.  คุณวุฒิของผู้เขียน  เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะวิชา  หรือคณะบุคคลที่มีความรู้  ข้อเท็จจริงจึงหน้าเชื่อถือมากกว่าหนังสือทั่วไป

                3.  การเรียบเรียง  มีการเรียบเรียงเรื่องราวอย่างเป็นระบบ  เพื่อสะดวกในการใช้  เช่น  เรียงตามตัวอักษร  เรียงตามกาลเวลา  ฯลฯ

                4.  คุณภาพการจัดทำที่ดี  ใช้กระดาษดี  เย็บเล่มแข็งแรง  ใช้เวลาในการจัดทำนานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก  จึงมีราคาแพงกว่าหนังสือทั่วไป

 

ลักษณะของหนังสืออ้างอิงที่ดี

                สุนิตย์  เย็นสบาย  (2543 : 21 – 22)  กล่าวถึงลักษณะของหนังสืออ้างอิงที่ดี  ดังนี้

                1.  ความเชื่อถือได้ (Authority)  หนังสืออ้างอิงที่ดีมีผู้แต่ง  ผู้รวบรวมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  มีความรู้  ความชำนาญ  หรือมีประสบการณ์ในเรื่องที่เขียนอย่างแท้จริง

                2.  ขอบเขต (Scope)  ขอบเขตของเนื้อหาของหนังสืออ้างอิงที่ดีจะบอกขอบเขตของเนื้อหาไว้ในเล่มหรือในชุดอย่างชัดเจน

                3.  วิธีเขียน (Treatment)  วิธีเขียนเนื้อหาและข้อมูลถูกต้อง  ครบถ้วน  อ่านเข้าใจง่าย  เขียนตรงไปตรงมาไม่ลำเอียง

                4.  การเรียบเรียง (Arrangement)  การเรียบเรียงเนื้อหาในหนังสืออ้างอิงที่ดีนั้น  มีการเรียบเรียงลำดับอย่างมีระเบียบ  ช่วยให้สะดวกในการค้นหาคำตอบ

                5.  รูปเล่ม (Format)  รูปเล่มมีลักษณะคงทนถาวร  กระดาษดี  ขนาดตัวพิมพ์พอเหมาะ  อ่านง่าย  การสะกดการันต์ถูกต้อง  การวางรูปหน้าเหมาะสม

                6.  บรรณานุกรม (Bibliography)  มีรายชื่อหนังสือและวัสดุอ้างอิงที่ใช้ประกอบการเรียบเรียงเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องนั้น ๆ  น่าเชื่อถือเพียงใด  และสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ใด

                7.  ลักษณะพิเศษ (Special  Features)  ส่วนที่ช่วยส่งเสริมให้หนังสืออ้างอิงน่าสนใจยิ่งขึ้น

                     7.1  อักษรนำเลข (Volume  Guide)  คือ  ตัวเลข  ตัวอักษร  หรือส่วนของคำที่สันหนังสืออ้างอิงที่มีหลายเล่ม  เช่น  สารานุกรม

                     7.2  ดรรชนีหัวแม่มือ (Thumb  Index)  หรือเรียกว่า  ดรรชนีริมหน้ากระดาษทำให้ทราบสิ่งที่ต้องการค้นได้อย่างรวดเร็ว

                     7.4  ส่วนโยง (Cross  Reference)  คือ  การแนะให้ไปอ่านเรื่องที่ต้องการจากหัวข้ออื่น ๆ  ในหนังสืออ้างอิงเล่มที่กำลังใช้อยู่นั้น

                     7.5  ดรรชนี (Index )  การลำดับคำหรือข้อความเรียงไว้ตามตัวอักษร  มีเลขหน้ากำกับไว้  เพื่อแสดงว่าคำ  หรือข้อความนั้น ๆ มีรายละเอียดปรากฏอยู่ที่หน้าใดบ้างของหนังสือเล่มนั้น  ช่วยประหยัดเวลาในการค้นหาเรื่องราวต่างๆ  ตามปกติดรรชนีจะอยู่ตอนท้ายของหนังสือแต่ละเล่ม  ถ้าเป็นหนังสือชุดจะอยู่ในเล่มสุดท้าย

 

ประเภทของหนังสืออ้างอิง

                หนังสืออ้างอิงแบ่งออกเป็น  2 ประเภทใหญ่ ๆ  คือ

                1.  หนังสืออ้างอิงที่ให้สารสนเทศโดยตรง

                2.  หนังสืออ้างอิงชี้แหล่งข้อมูล

 

หนังสืออ้างอิงที่ให้สารสนเทศโดยตรง 

                เป็นทรัพยากรสารสนเทศที่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้เพื่อค้นหาคำตอบที่ต้องการตามความเหมาะสม  ได้แก่

                1.  พจนานุกรม (Dictionaries)

                2.  สารานุกรม (Encyclopedias)

                3.  หนังสือรายปี (Yearbooks)

                4.  หนังสือคู่มือ (Handbook)

                5.  นามานุกรม (Directories)

                6.  อักขรานุกรมชีวประวัติ (Biographical  Dictionaries)

                7.  หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ (Geographical  Sources)

                8.   สิ่งพิมพ์รัฐบาล (Government  Pubications)

 

หนังสืออ้างอิงที่ชี้แหล่งข้อมูล

                เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทที่บอกให้ทราบว่าจะหาสารสนเทศจากแหล่งใด  และจะไม่มีสารสนเทศที่ต้องการทันที  แต่จะบอกแหล่งที่ให้บริการว่าสามารถสืบค้นสารสนเทศได้จากที่ใด  ได้แก่

                1.  ดรรชนี (Index)

                2.  บรรณานุกรม (Bibliography)

แหล่งที่มา

 นันทา  วิทวุฒิศักดิ์.  สารนิเทศและการศึกษาค้นคว้า.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : ดี.ดี.บุ๊คสโตร์, 2536.

สุทธิลักษณ์  อำพันวงศ์.  การใช้บริการห้องสมุดและการเขียนรายงานการค้นคว้า.  พิมพ์ครั้งที่ 8.

                กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2535. 

สุนิตย์  เย็นสบาย.  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ :

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์  คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎ

บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, 2543.

_______     .  สารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า.  กรุงเทพฯ : ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์  คณะวิชา

                มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, 2539.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 233619เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2009 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

คุณครู มีความคิดที่ดีมากเลยครับ และมีเนื้อหาและความรู้ครบถ้วนมากเลยครับ

น.ส.เดือนเพ็ญ พันธ์ชำนาญ

เป็นข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์มาก

เป็นแหล่งความรู้ที่ดีมากเลยค่ะอาจารย์

เรื่องที่ค้นคว้าเป็นเนื้อหาที่ดีมากเลยค่ะและเป็นการฝึกการศึกษาค้นคว้าที่ทันสมัยด้วยค่ะชอบมาค่ะ

นางสาวสุธิดา แก้วโสนด

ดีค่ะ เป็นการสอนแนวใหม่โดยมีการประยุกต์การเรียนการสอนกับโลกไซเบอร์ เพื่อเข้าถึงนักเรียนได้เป็นอย่างดี น่านับถือมั๊กๆ ขอคาราวะ!!!

นาย ราเชนทร์ เพ็งสังข์

เม้นๆคับ

เป็นความคิดที่ดีนะคับ

เรียนเเบบ บูรณาการ ซู้ดหยอด

ชอบมากๆ

ด.ชสันติพงศ์ ตามวงศ์วาน

หวาดดีคับอาจารย์ ขอบคุณคับที่สอนผมเรียนอยูม.3/7 ขอไห้อาจารย์มีความสุขมาก

คับหวาดดีคับที่สอนผมมา โรงเรียนกบินทร์วิทยา ม.3/7

ชอบค่ะเอามาลงอีกนะคะ^^~

ขอบคุณนะค่ะ สำหรับข้อความดีๆ ที่ไม่ต้องทำให้หนูโดนตี

มีประโยชน์มากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

เจ๋งอะช่วยบอกลักษณะทั่วไปด้วยนะ

ขอบคุณคะถ้ามีอีกบอกด้วยนะคะอาจารย์นัดส่ง 10/11/2554 เร็วนะคะเดี๋ยวทำไม่ทันโดนอาจารย์หักคะแนน

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท