นครปฐม


คำขวัญ ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวาน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า
อำเภอเมือง
 
   
เนินวัดพระงาม  
ตั้งอยู่ที่วัดพระงาม(วัดโสดาพุทธาราม) ตำบลนครปฐม ไม่ไกลจากสถานีรถไฟนครปฐม เป็นสถานที่ที่ค้นพบพระเจดีย์ขนาดสูงใหญ่สมัยทวาราวดีและยังขุดค้นพบโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูปศิลาหักพัง พระเสมาธรรมจักร กวางหมอบ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ และพระพิมพ์ดินเผาซึ่งเป็นของเก่าแก่ฝีมืองดงามมากยากจะหาที่อื่นเทียบได้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า ที่เรียกว่า วัดพระงาม นั้นเพราะพระพุทธรูปดินเผาที่ขุดได้จากบริเวณวัดนี้งามเป็นเลิศนั่นเอง ปัจจุบันบางส่วนเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหลายชิ้นเก็บไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์ โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในบริเวณนี้ล้วนแต่เป็นวัตถุเก่าสมัยทวาราวดีซึ่งเป็นสมัยเดียวกับวัตถุที่ค้นพบบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์

 
   
เนินธรรมศาลา  
อยู่ที่วัดธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ทางด้านใต้ของถนนสายเพชรเกษม มีสภาพเป็นเนิน เข้าไปด้านในเป็นโพรงซึ่งเชื่อว่าเป็นอุโมงค์จากวัดพระเมรุมาถึงวัดธรรมศาลา  เล่าลือกันว่าภายในอุโมงค์มีขุมทรัพย์ เช่น ถ้วยโถโอชาม แต่ไม่สามารถ ที่จะนำออกมาได้ เนื่องจากมีปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไว้

 
   
เนินพระ หรือ เนินยายหอม  
อยู่ที่วัดดอนยายหอม ตำบลดอนยายหอม จากจังหวัดนครปฐมไปตามถนนเพชรเกษมมุ่งเข้ากรุงเทพฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร  จะเห็นสามแยกเลี้ยวขวาเข้าถนนเศรษฐกิจ 2 (ทางหลวงหมายเลข 3097 บ้านแพ้ว-ดอนยายหอม) เข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร จะถึงเนินพระหรือเนินยายหอมซึ่งอยู่ด้านซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 150 เมตร  อยู่กลางทุ่งนาใกล้กับถนนสายนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มากเมื่อ พ.ศ.2479 พระธรรมวาทีคณาจารย์ (หลวงพ่อเงิน) เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ได้ขุดเอาอิฐที่หักพังแถวชานเนินไปสร้างพระอุโบสถ เมื่อขุดลึกลงไปพบศิลาเหลี่ยมเขียวสองต้น สูงประมาณ 4 เมตร มีลายจำหลักที่ปลายเสา คล้ายกับเสาประตูสาญจีเจดีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราชกับกวางหมอบ ทำด้วยศิลา 1 ตัว พระพุทธรูปศิลาสมัยทวาราวดี 1 องค์ พระเสมาธรรมจักรทำด้วยหินแต่หักพัง เสาศิลานี้ตอนบนมีง่ามสำหรับวางพระเสมาธรรมจักร เป็นแบบเดียวกับที่พบในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์วัดพระงาม วัดพระประโทณ และพระราชวังสนามจันทร์  ปัจจุบันเสาศิลานี้อยู่ที่วัดดอนยายหอม ส่วนกวางหมอบกับพระพุทธรูปส่งไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จากโบราณวัตถุที่พบเหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าเดิมบริเวณนี้เป็นวัดเก่า และตัวเนินคงจะเป็นฐานเจดีย์ขนาดสูงใหญ่ที่อยู่ภายในบริเวณวัด ตั้งแต่สมัยทวาราวดีหรือก่อนหน้านั้น และมีอายุกว่า 1,000 ปี มาแล้ว ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ

 
   
วัดพระเมรุ  
ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม บริเวณสวนอนันทอุทยาน ตำบลห้วยจระเข้  ห่างจากพระปฐมเจดีย์ไปทางทิศใต้ไม่ไกลนัก วัดนี้เป็นวัดร้างปัจจุบันสภาพที่เห็นเหลือแต่ซากเนินใหญ่ปรากฏอยู่เนินหนึ่ง  วัตถุที่ค้นพบบริเวณนี้มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระกร พระเพลา พระหัตถ์ของพระพุทธรูปศิลา เทพยักษ์ เทพสิงห์ดอกบัว และลวดลายประดับองค์พระเจดีย์ที่หักพังลง บางส่วนนำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์องค์พระปฐมเจดีย์และบางส่วนไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำพระบาทขนาดโต 2 คู่จากวัดพระเมรุมาไว้ตรงชั้นนอกพระระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์  และกรมศิลปากรได้ร่วมมือกับนักโบราณคดีฝรั่งเศสทำการขุดค้นเมื่อพ.ศ.2482  ค้นพบวัตถุซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระเจดีย์องค์มหึมาก่อเป็นชั้นๆ ย่อมุมขึ้นไปสูงมากเพราะซากฐานที่หักพังเหลืออยู่ในขณะที่ทำการขุดสูงถึง 12 เมตร มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปศิลานั่งห้อยพระบาทประจำ 4 ทิศและได้อัญเชิญพระพุทธรูปศิลาองค์นี้มาประดิษฐานไว้ที่วัดพระปฐมเจดีย์ สันนิษฐานว่า สร้างตั้งแต่สมัยทวาราวดีมีอายุเท่ากับพระปฐมเจดีย์เดิม ซึ่งไม่น้อยกว่า 1,000 ปี ขึ้นไป

 
   
วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร
 

วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐานองค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งถือว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จังหวัดนครปฐมได้ใช้พระปฐมเจดีย์เป็นตราประจำจังหวัด 
พระปฐมเจดีย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นองค์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2396 โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิมซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่มีฐานแบบโอคว่ำและมียอดปรางค์อยู่ข้างบน สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 4 เนื่องจากรูปร่างของเจดีย์แบบโอคว่ำ มีลักษณะคล้ายกับสาญจีเจดีย์ในอินเดียซึ่งสร้างสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช การก่อสร้างเจดีย์ครอบองค์ใหม่เสร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2413 รวมเวลาก่อสร้าง 17 ปี พระเจดีย์องค์ใหม่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม รูประฆังคว่ำแบบลังกา มีความสูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฎ 3 เส้น 1 คืบ 10 นิ้ว (หรือประมาณ 120.5 เมตร) ฐานวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 17 วา 3 ศอก (หรือประมาณ 233 เมตร) ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงบูรณะวัดพระปฐมเจดีย์ให้สง่างามมากขึ้น และถือว่าวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 พระปฐมเจดีย์  เปิดตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. ค่าเข้าชมชาวต่างประเทศ 20 บาท ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะมีงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ โทร. 0 3424 2143 นอกจากนี้ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ดังนี้
สถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก  
ตั้งอยู่ที่ตำหนักทับเจริญ พระราชวังสนามจันทร์ จัดเป็นสถาบันที่รวบรวมผลงานด้านวัฒนธรรมเชิดชูปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นในภูมิภาค ภายในอาคารมีห้องแสดงผลงานศิลปะของอาจารย์พิน อินฟ้าแสง ห้องศิลปะวัตถุ ห้องงานหัตถกรรม ห้องหุ่นกระบอกคุณยายสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ ปิดวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3425 3840-4 ต่อ 2231

 
   
พระราชวังนครปฐม  
อยู่ทางทิศตะวันออกไม่ห่างจากวัดพระปฐมเจดีย์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานเทศบาลนครนครปฐม สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเหตุที่สร้างพระราชวังแห่งนี้ไว้ในหนังสือเรื่องตำนานวังเก่าว่า เนื่องมาจากในช่วงที่มีการปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ การไปมาระหว่างกรุงเทพฯและนครปฐมไม่สะดวก ต้องค้างคืนกลางทางหนึ่งคืน จำเป็นต้องสร้างที่ประทับแรมขึ้นในบริเวณนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ทำนองเดียวกับพระราชวังที่พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาทรงสร้างบริเวณริมพระพุทธบาท และทรงพระราชทานนามว่า “พระนครปฐม” และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหาสวัสดิ์และคลองเจดีย์บูชา ทำให้การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังนครปฐมสะดวกขึ้น

 
   
พระประโทณเจดีย์  
เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในวัดพระประโทณเจดีย์ ตำบลพระประโทน อยู่ห่างจากพระปฐมเจดีย์ไปตามถนนเพชรเกษมทางทิศตะวันออกเป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร รูปทรงเดิมของพระประโทณเจดีย์ เป็นทรงโอคว่ำ ตามลักษณะของเจดีย์สมัยทวารวดี เนื่องจากวัดพระประโทณตั้งอยู่กลางเมืองโบราณนครชัยศรี ในบริเวณมีการขุดพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น พระดินเผา รวมทั้งโลหะสำริดรูปพญาครุฑเหยียบนาค รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นเครื่องหมายราชการของพระองค์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3421 2011, 0 3421 2313, 0 3424 2440

 
   
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
 

ตั้งอยู่ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศใต้เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น  โบราณวัตถุที่รวบรวมได้ในระยะแรกได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงคตรอบองค์พระปฐมเจดีย์ กระทั่ง พ.ศ. 2454  จึงได้ย้ายไปไว้ในวิหารตรงข้ามพระอุโบสถ ซึ่งต่อมาเรียกว่า พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน ( ปัจจุบันยังคงเป็นพิพิธภัณฑสถานในความดูแลของวัดพระปฐมเจดีย์) พ.ศ. 2477 ได้ยกฐานะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในความดูแลของกรมศิลปากร  และเมื่อจำนวนโบราณวัตถุเพิ่มมากขึ้น อาคารหลังเดิมคับแคบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 กรมศิลปากรได้รับงบประมาณให้สร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานหลังปัจจุบันขึ้น และเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากหลังเดิมมาจัดแสดงไว้ที่นี่  โดยโบราณวัตถุส่วนใหญ่เป็นหลักฐานในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16)  การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23324เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท