ทำไมการศึกษาไทยไปไม่ถึงไหน


นำบทความที่พิมพ์ในมติชน มาให้อ่านค่ะ (มติชน 30 ธ.ค. 51 : 7)

ทำไมการศึกษาไทยไปไม่ถึงไหน ?

สายพิน  แก้วงามประเสริฐ

การศึกษาไทยอาการที่ต้องผ่าตัด  เพราะคุณภาพตกต่ำ  เมื่อจะกล่าวถึงคุณภาพของการศึกษา  ความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา สังคมมักมองไปที่ความสามารถในการสอบแข่งขันของนักเรียน  โดยเฉพาะดูที่คะแนนสอบเป็นสำคัญ วิชาที่ถูกให้ความสำคัญและเป็นเสมือนตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษามักจะเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ทั้งที่มนุษย์เกิดมาย่อมมีความแตกต่างอย่างหลากหลายมีความสามารถไม่เหมือนกัน ตราบใดที่สมองยังแบ่งเป็นซีกซ้ายซีกขวา มนุษย์จึงไม่จำเป็นต้องเก่งวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์เหมือน ๆ กัน  สถาบันทดสอบต่าง ๆ  สรุปผลการทดสอบของเด็กในวิชาทั้งสองตรงกันว่า  เด็กไทยมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์เพียง  1%  หรือถึงเด็กไทยจะมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์มากกว่านี้  ก็ไม่อาจเป็นเครื่องชี้วัดความมีคุณภาพ  หรือไม่มีคุณภาพของการศึกษาไทยได้

เรามักยึดติดกับตัวเลขคะแนนสอบ  ทั้งที่เด็กที่สอบได้คะแนนสูงมากมีสักกี่คน  ที่มีโอกาสทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้อย่างแท้จริง  บางทีที่ทะเลาะกันไม่หยุดหย่อนในสังคม  โดยไม่มีใครฟังใคร  นั่นไม่ใช่ตัวอย่างของเด็กที่เรียนดีประสบความสำเร็จในชีวิต  แต่ไม่เชื่อมั่นในความสามารถของผู้อื่นหรอกหรือ

สังคมต้องมีความแตกต่าง  ระบบการศึกษาไม่อาจทำให้คนเก่งได้เท่ากัน  ในรูปแบบเดียวกัน  แต่ระบบการศึกษาควรจะทำให้คนเป็นคนดีได้เหมือน ๆ กัน  หรืออย่างน้อยก็พอแยกแยะผิดถูกชั่วดีได้  สังคมถึงจะสามารถเดินต่อไป  หากมีเพียงคนมีความรู้มีปริญญามากมาย  แต่เห็นแก่ตัว  หรือถูกปลูกฝังให้เรียนเพื่อหวังกอบโกย  หรือหารายได้  มากกว่าที่จะถูกสอนให้เรียนเพื่อคืนอะไรให้กับสังคมบ้าง

การสอนให้เด็กคิดเป็น  มีความจำเป็นมากกว่าสอนให้เด็กต้องทำคะแนนได้มาก ๆ  เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้ตนเอง  พ่อแม่  โรงเรียน และครูอาจารย์เท่านั้น   แต่ทำอย่างไรจะสอนให้เด็กคิดเป็น  เพื่อเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษา  ต้องเริ่มกันที่ครอบครัว  โรงเรียน  และสังคม  วิกฤตของเด็กวัยเรียนขณะนี้ไม่ใช่การทำข้อสอบได้คะแนนน้อย  แต่เกิดจากการที่เด็กคิดอะไรไม่เป็น  จึงก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ    ไม่ว่าจะเป็นความไม่เอาใจใส่ในการเรียน  พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม  การติดยาเสพติด การติดเกม ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพสังคมที่ยั่วยุเด็ก  ประกอบกับเด็กคิดไม่เป็น  จึงทำให้ถูกมอมเมาจากสิ่งยั่วยุเหล่านี้ได้ง่าย

เมื่อสังคมยั่วยุให้เด็กหลงระเริงห่างไกลจากโรงเรียนออกไป  แล้วครูในโรงเรียนมัวทำอะไรอยู่  ทำไมไม่สอนให้เด็กรู้จักคิดให้เป็น  คำตอบคงเหมือน ๆ กันคือ  อบรมสั่งสอนอยู่เหมือนกัน  แต่อาจจะน้อยเกินไป  ที่น้อยเกินไปคงไม่ใช่ครูไม่เอาใจใส่ไม่อยากจะอบรมเด็ก   แต่เป็นเพราะหากมัวอบรมคุณธรรมจริยธรรม  ฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์  หรืออบรมสั่งสอนเรื่องที่เด็กยังขาดองค์ประกอบความเป็นคนที่ดีแล้ว  เนื้อหาวิชาการที่จำเป็นต้องใช้สอบโดยเฉพาะการทดสอบระดับชาติ  หากสอนได้ไม่ถึงไหน   คะแนนสอบออกมาต่ำก็ย่อมถูกตำหนิติเตียน  ตั้งแต่ในระดับโรงเรียน  ไปจนถึงระดับชาติ  ประณามกันไม่จบสิ้น  โดยมิได้ดูว่าเด็กที่เรียนได้คะแนนน้อย  หรือได้คะแนนมาก  ใครรู้ใครคิดเป็นมากกว่ากัน

ระบบการศึกษาที่ใช้ตัวเลขเป็นตัวชี้วัดคุณภาพ   ส่งผลให้แต่ละโรงเรียนต้องเร่งระดมเพิ่มตัวเลขกันขนานใหญ่  ครอบครัวก็ส่งเสริมเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้กับลูกด้วยการเร่งรัดเรียนกวดวิชา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนเข้ามหาวิทยาลัย  ชีวิตของเด็กจึงเต็มไปด้วยตัวเลข  ตอนเด็กก็เป็นตัวเลขเกรดเฉลี่ย  ยามโตขึ้นตัวเลขก็เปลี่ยนเป็นรายได้  ชีวิตจึงเต็มไปด้วยการคำนวณเป็นตัวเลขรายได้   มากกว่าคำนวณเป็นคุณภาพในการ ให้ แก่สังคม

หากจะผ่าตัดการศึกษาไทย  ควรผ่าตัดกันทั้งระบบ  ทั้งในส่วนของการสร้างสังคมให้เอื้อต่อการเรียนรู้  โดยผู้คนในสังคมต้องเป็นแบบอย่างให้เด็ก  ในเรื่องของการเรียนรู้  การใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา  การคิดให้เป็น  แต่สังคมไทยในปัจจุบันคนมักคิดอะไรก่อนทำน้อยกว่าการทำอะไรตามกระแส  เราจึงมักเห็นผู้คนในสังคมเฮละโลทำนั่นทำนี่  หรือทำตามผู้นำเพียงไม่กี่คน  โดยขาดสติว่าตนเองทำอะไร  ทำแล้วเป็นประโยชน์กับส่วนรวมมากน้อยเพียงใด สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ทำอะไรตามใจชอบ  แต่ขาดความรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น  หากเป็นดังนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  เพราะไม่เคยเรียนที่จะรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ  จึงยังไม่เป็นแบบอย่างให้กับเด็ก

ผู้ใหญ่ในสังคมควรทำตัวให้เป็นแบบอย่าง  เพราะเด็กมักซึมซับพฤติกรรมของผู้ใหญ่ได้ดีจากการดู การเห็นจนกลายเป็นความเคยชิน  มากกว่าการสอนด้วยคำพูด  โดยเฉพาะแนวความคิดที่จะ ทำเพื่อชาติ  ที่เห็นพูดกันทุกวี่วัน  เช่น  ด่ากันเพื่อชาติ  ปลุกม๊อบเพื่อชาติ  หรือเมื่อวานพึ่งจะด่ากันอยู่หยก ๆ  หรือประเภท ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ  แต่วันนี้กลับกอดกัน  พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กสับสนอยู่ไม่น้อยว่าผู้ใหญ่ในสังคมกำลังทำอะไรกันอยู่ อาจทำให้เข้าใจไปว่าเป็นพฤติกรรมธรรมดาที่พึงกระทำเพื่อความอยู่รอด  หรือเพื่อชาติ?  ซึ่งทำให้สังคมไทยมีผลผลิตที่ไม่ค่อยจะเป็นความหวังสักเท่าไร  เพราะผู้ใหญ่ไม่เป็นแบบอย่าง

นอกจากพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่ต้องทบทวนแล้ว   ในส่วนของการจัดการศึกษาในโรงเรียนตราบใดที่ไม่อาจนำระบบคุณธรรม จริยธรรมมาใช้ในการบริหารและจัดการศึกษาได้  คุณภาพการศึกษาย่อมไม่เกิด  เพราะคนที่ขาดคุณธรรม จริยธรรม  ย่อมนำระบบการเล่นพรรคเล่นพวก และเสริมสร้างนิสัยประจบสอพลอ หรือใช้ระบบนี้สร้างความแตกแยกขึ้นในองค์กรเพื่อให้ง่ายแก่การปกครอง  มาใช้ในการบริหารงาน  มากกว่าที่จะสนับสนุนให้คนดี  คนเก่ง  มีขวัญและกำลังใจที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่  เมื่อไม่เกิดความร่วมแรงร่วมใจ  หรือไม่ได้ใช้สติปัญญาร่วมกันในการจัดการศึกษาแล้ว  คุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัญหาของการศึกษาไทย  อาจไม่ใช่เรื่องที่โรงเรียนขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย  จึงไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยการระดมซื้อคอมพิวเตอร์แจกให้โรงเรียนเป็นล้าน ๆ เครื่อง  เพราะการมีหรือไม่มีคอมพิวเตอร์  ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เด็กคิดเป็น ดีไม่ดีการมีคอมพิวเตอร์ใช้โดยปราศจากการดูแลอย่างทั่วถึงกลับกลายเป็นดาบสองคมด้วยซ้ำ  หรือบางทีการที่รัฐต้องเสียงบประมาณเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์จำนวนมาก  อาจไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปจำนวนมากก็เป็นได้

ปัญหาของการจัดการศึกษาส่วนหนึ่งอยู่ที่สอนอย่างไรเด็กจึงจะคิดให้เป็น   ซึ่งย่อมเกี่ยวกับวิธีการสอนของครู  ทำอย่างไรครูจะสอนด้วยความสบายอกสบายใจ  ครูต้องไม่สอนมากจนเกินไป  สภาพในปัจจุบันคือ  มีความเหลื่อมล้ำระหว่างครูแต่ละวิชา  บางโรงเรียนมีครูบางสาขาวิชาน้อยเกินไปไม่พอเพียง  บางวิชามีมากเกินความจำเป็น  บางวิชาครูสอนหนักเครียดมาก  ก็พากันลาออกตามโครงการที่รัฐเชิญชวนให้ออก   พออยากให้ออกก็ออกได้ทันที  แต่การจัดอัตรากำลังมาแทนที่ช้ามากไม่ทันกาล

นอกจากนี้ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขวัญและกำลังใจของครู  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาไม่น้อย  คือการส่งเสริมให้ครูมีขวัญและกำลังใจที่ดี  ด้วยการส่งเสริมให้มีรายได้อย่างพอเพียง  มีวิทยฐานะอันเหมาะสม  เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  แม้ว่าจะมีกฎหมายที่เอื้อให้ครูสามารถเพิ่มพูนวิทยฐานะให้สูงขึ้นได้  แต่กฎเกณฑ์บางอย่างอาจไม่เอื้อที่จะทำให้ครูทำได้มากนัก  เช่น  ผลงานทางวิชาการหรือนวัตกรรมที่ให้ครูส่งประกอบการขอเลื่อนวิทยฐานะ  มีกติกาที่เกินกำลังที่ครูจะทำได้ด้วยตนเอง  เช่น  การให้ทำรายงานการใช้นวัตกรรม 5  บท  ที่มีลักษณะคล้าย ๆ  วิทยานิพนธ์  ครูส่วนหนึ่งที่ไม่ผ่านการเรียนระดับปริญญาโท  สามารถทำได้น้อยมาก  หรือหากจะทำก็ต้องไปผ่านกระบวนการอบรมที่จัดโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ  ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนไม่น้อย  หรืออาจต้องใช้วิธีลัดตามที่เป็นข่าวว่ามีการจ้างทำผลงานทางวิชาการ  ยังไม่พบว่าเป็นจริงหรือไม่  หรือหากเป็นจริง  ก็ยังไม่เห็นมีใครถูกลงโทษสักราย  เป็นแค่ข่าวลือที่ก่อให้เกิดความเสียหาย  และความตกต่ำแก่วงการครู 

หากกำหนดเกณฑ์ให้ครูทำโดยไม่ยุ่งยาก  ทำในสิ่งที่ครูนำไปใช้สอนได้จริง  มากกว่าวางกฎกติกาให้สูงเกินกว่าจะนำไปใช้ได้จริง  หรืออย่างน้อยต้องคำนึงถึงผลงานของครูว่า  ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ที่จะนำไปขึ้นหิ้งบูชา  กฎเกณฑ์กติกาการเลื่อนวิทยฐานะ น่าจะส่งเสริมให้ครูที่เขียนหนังสือไม่เก่ง  แต่สามารถสร้างสื่อหรือนวัตกรรมที่จะนำไปใช้กับเด็กได้จริงๆ ทำให้ครูที่ตั้งใจสอนเกิดขวัญและกำลังใจในการทำงาน  ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

การวางกฎเกณฑ์กติกาให้ครูทำได้จริง ๆ และเหมาะสม  ย่อมดีกว่าปล่อยให้ครูต้องมีนิสัยหลอกลวง  หรือต้องลงทุนไปจ้างผู้อื่นทำ  และไม่เปิดช่องว่างให้เกิดอาชีพหาผลประโยชน์ในแวดวงการศึกษา  ซึ่งไม่เกิดผลดีแต่อย่างใด

ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยที่ต้องผ่าตัด  คงไม่ใช่การหาวิธีการที่ทำอย่างไรเด็กจะได้คะแนนวิชาวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  เพิ่มมากขึ้น  แต่ปัญหาคือทำอย่างไรเด็กถึงจะมีคุณธรรม  จริยธรรม  ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องวางแผนกันตั้งแต่ในระดับนโยบาย มากกว่าที่จะโยนให้ครูในโรงเรียนรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าสอนอย่างไรเด็กไม่มีคุณธรรม  และคงไม่ใช่วิธีการสร้างความมีคุณธรรมกันที่เปลือก  ด้วยการให้เขียนรายงานบันทึกการทำความดี  ทุกครั้งที่พิจารณาความดีความชอบ  ใครเขียนดีได้คะแนนมาก (เขียนกับทำจริงเป็นคนละเรื่อง)  ส่วนครูก็เน้นปลูกฝังคุณธรรมด้วยการให้เด็กบันทึกความดี  กลายเป็นว่าทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ต่างสร้างเปลือกของความดีที่ไม่ค่อยจะมีสาระเหมือน ๆ กัน

งานการปฏิรูปการศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ และเล็ก ๆ  ที่ใครก็สามารถทำได้  ช่วงที่ผ่านมาแทบจำไม่ได้ว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนใดทำอะไรให้เป็นหน้าเป็นตาของงานด้านการศึกษา  จนกระทั่งนึกออกว่า  หากเป็นเรื่องนี้ต้องนึกถึงรัฐมนตรีคนนี้  งานด้านการศึกษาถือเป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาลอยู่ไม่น้อยหากได้คนดีมีฝีมือมากำกับดูแล  ย่อมได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ แต่หากได้รัฐมนตรีขัดตาทัพเพื่อก้าวไปสู่กระทรวงที่ใหญ่กว่านี้  หรือเป็นรัฐมนตรีนอมินีที่ไม่เคยล่วงรู้  ไม่สนใจงานด้านการศึกษามาก่อนเลย รวมทั้งขาดวิสัยทัศน์ด้วยแล้ว ก็ยากที่การปฏิรูปการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้อย่างที่สังคมรอคอย

 

หมายเลขบันทึก: 232543เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2008 01:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ

เขียนได้ตรงใจมาเลยน้องเล็ก

ดีใจที่พี่ทิบเข้ามาอ่านนะคะ ไม่ได้คุยกันนานแล้ว คิดถึงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท