งานช่าง งานก่อสร้าง ความรู้ที่ผู้บริหาร “ควรรู้...”


 

นับตั้งแต่ได้มาสัมผัสด้วยการทำงานเป็น “กรรมกร” นั้นทำให้ทราบได้ว่า การที่เราจะได้สิ่งก่อสร้าง โรงงานที่ดีมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุ้มค่ากับทั้งเงินและแรงที่ลงไปนั้นมีโอกาสที่จะทำได้

การที่จะได้มีซึ่งโรงงาน สิ่งก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สำนักงาน ที่ดีนั้น หากผู้บริหารไม่มีความรู้ด้านนี้เสียเลย ผู้บริหารนั้นจะกลายเป็นสภาพเป็น “หมู” ที่จะถูกผู้รับเหมาต้มเอาได้อย่างง่าย ๆ

ผู้รับเหมาก่อสร้างนั้นมีกลเม็ด เด็ดพราย ลึกล้ำอย่างมากถึงมากที่สุด ก็ไม่แตกต่างอะไรกับเรานักธุรกิจที่ย่อมมีเทคนิคทางการตลาด

โดยเฉพาะงานที่ทำงานกับช่างนี้ ถ้าเราทำเป็นเอ๋อ ๆ เราจะโดนช่างหลอกได้ นับตั้งแต่สั่งซื้ออุปกรณ์ที่ดีและแพงเกินความจำเป็น ซึ่งนั่นนอกจากจะเสียเงินโดยมิใช่เหตุแล้ว ของที่เราคุยกันไว้ว่าดีหรือแพง เวลามาส่งอาจจะไม่ใช่ของที่แพงตามนั้น

ร้านวัสดุก่อสร้างบางแห่ง หรือแม้แต่ร้านขายวัสดุสำนักงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังมีการออกบิลนอก บิลใน มีส่วนลดให้ผู้ติดต่อซื้อขาย ดังนั้นการแนะนำจากช่างนี้จึงต้องระมัดระวังอย่างสมควร

ถ้าเสียเงินแล้วได้ของดีก็พอรับได้ในระดับหนึ่ง
แต่ถ้าหากเสียเงินมากแล้วได้ของต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องเหล็กในงานโครงสร้าง ถ้าไม่คุมให้ดีจะเป็นจุดที่โดนหลอกได้มากที่สุด

งานโครงสร้างเหล็กนั้น ถ้าพลาดไปแม้แต่วันเดียวก็แทบจะกลับไปตามตรวจสอบและเช็คไม่ได้เลย
เพราะเหล็กนั้นจะถูกหุ้มอยู่ด้วยปูน หรือถ้าหากจะตรวจก็ต้องทุบปูนออกมาตรวจ

เหล็กที่โผล่ตรงปลายนั้นดูไม่ได้เหรอ...?
เอาเหล็กมาเสียบที่หลังก็ได้ถ้าจะโกง...!

ในวงการเหล็กเองก็มีทั้งเหล็กเต็ม เหล็กไม่เต็ม เหล็ก มอก. และเหล็ก บลส. ฯลฯ ชื่อเดียวกันแต่ก็แตกต่างด้วยคุณภาพ (Multi Standards)

แม้กระทั่งแต่เรื่องปูน บริษัทปูนผสมเสร็จถ้าไม่คุมให้ดีก็ “ลักไก่” ผสมปูนไม่ได้แรงอัดตามที่สั่งมาเหมือนกัน

การแก้ไข ตรวจสอบนั้นจะสู้กับการป้องกันไม่ได้

ต้องแสดงให้เห็นว่าเราเอาจริง เอาจัง ไม่ได้ปล่อยแบบสบาย ๆ

การป้องกันเรื่องนี้ที่ดีสุดคือ เราต้องมีความรู้ ต้องแสดงให้ผู้รับเหมาเห็นว่าเรามีความรู้ เขาจะไม่ได้คิดว่าเราเป็นหมูให้เค้าเคี้ยวได้สบาย (อย่างน้อยก็ขอให้เป็นหมูเขี้ยวตัน)

การที่จะมีความรู้ได้ อินเทอร์เนทเป็นมหาวิทยาลัยที่มหัศจรรย์ ที่มีคนมากหน้าหลายชั้นมาแลกเปลี่ยนกันให้เราดู

ภายในเวบบอร์ดต่าง ๆ โดยเฉพาะงานก่อสร้าง เป็นสถานที่ที่คน (ต่างชาติ) ออกมาแสดงความรู้ที่เป็น “ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ลูกค้า (Customers)” ที่ประสบความสุขและความทุกข์มาด้วยมือและสายตา ความรู้ฝังลึกจากลูกค้านี้มีค่ายิ่ง

หรือจะเป็นคนไทย ซึ่งไม่ค่อยนำความรู้มาเผยแพร่สักเท่าไหร่ แต่พอเมื่อมีใครถูกโกง ถูกเบี้ยว ก็จะออกมา “โวยวาย” แล้วนั่นเองเราควรจักเก็บเกี่ยวเป็นความรู้

งานก่อสร้างนี้ ถ้าไม่มีความรู้เลยจะถูกสอดไส้มาด้วยของไม่ดี
นอกจทำให้เราเสียเงินฟรีโดยเปล่าประโยชน์แล้ว
แผนงานที่เราวางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะไร้ประสิทธิผล เพราะโรงงาน อาคาร สำนักงาน ใช้ไปหน่อยก็เสีย ใช้ไปหน่อยก็ซ่อม และโดยเฉพาะยุคที่แข่งกันเรื่องต้นทุนที่ต่ำ อุปกรณ์การก่อสร้างสมัยนี้ เป็นอุปกรณ์การก่อสร้างที่มาตรฐานในระดับ “วันส่งงาน” คือ สามเดือน หกเดือน (ถ้าผ่านวันตรวจงานปุ๊บ จะหมดอายุ คือเสื่อมสภาพโดยทันที)

เมื่อคนเข้าไปแล้ว เครื่องจักรเข้าไปแล้ว อุปกรณ์สำนักงานเข้าไปแล้ว องค์กร บริษัทดำเนินงานแล้ว การจะหยุดซ่อมนั้น ทุก ๆ วินาทีคือ “ต้นทุน”

ดังนั้นเองถ้าเราไม่คุมการก่อสร้างให้ดี เราจะเกิดต้นทุนจ่ายที่ไม่รู้จบ
เสียทั้งงาน เสียทั้งเงิน เสียทั้ง “ความรู้สึก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกของลูกค้า ซึ่งนั่นจะส่งผลถึง “ความพึงพอใจ (Customer Satisfaction)” อันความสูญเสียจากการที่ทำให้ลูกค้าไม่พึงพอใจนั้นจะทำให้เกิดผลร้ายอย่างเอนกอนันต์ในที่สุด

ผู้บริหาร ผู้จัดการ จึงควรจะต้องมีความรู้ด้านการก่อสร้าง “บ้าง” มิใช่ต้องก่ออิฐ ฉาบปูนเป็นหรอกนะ
แต่ต้องรู้ว่า อิฐ คืออิฐ ปูนคือปูน เหล็กคือเหล็ก


ต้องทำการบ้านอย่างดีก่อนที่จะคุยกับผู้รับเหมาทุกครั้ง
ต้องเสียสละเวลาไปตรวจงานที่ไซด์งานประจำ ถึงแม้ว่าจะร้อน เลอะ และลำบากกว่าการอยู่ในห้องผู้บริหารที่เย็นและสบาย “ใฝ่ร้อนจะนอนเย็นนะ”

ทุ่มเทเต็มที่เสียตั้งแต่วันนี้ ทำการบ้านเรื่องการก่อสร้างให้เยอะ ๆ
สถานที่ตั้งอันประกอบด้วยเหล็ก หิน ทราย ปูนนี้ นอกจากจะเป็นที่พึงพาทางกายได้ แล้วยังจักพาความสุขใจมาได้อีกมากด้วย...

หมายเลขบันทึก: 232459เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2008 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

@ กราบนมัสการครับท่าน

@ รายละเอียดยุบยิบ ลงลึก มองเห็นทะลุทะลวง

@ อยากให้คนที่ได้ชื่อว่า "ผู้บริหาร" มาอ่านสัก 1 ใน 4 ส่วนก็คงดี

@ การสร้างตึกทำให้นึกถึงท่าน อ.ก่อ สวัสดิพานิชย์ (ไม่แน่ใจว่าเขียนถูกเปล่า)

@ "รากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการเรียนรู้"

@ ทุกวันนี้อิฐจริงจริง(มีคุณภาพ)หรือว่าด้อยคุณภาพ ไม่อาจรู้ได้ ดูยากจัง

@ ถ้าขาดทักษะการเรียนรู้ดังที่ท่านว่าไว้ ที่ว่าตึกคงจะมิใช่ตึก หากแต่คงเป็นได้แค่เศษหิน เศษทราย เศษเหล็ก ที่ไร้ซึ่งมาตรฐาน รวมกันตั้งตระหง่าน อวดความโง่เขลาของ "ผู้บริหาร" ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นหาได้สะทกสะท้านไม่

@ นมัสการครับ...ขาประจำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท