รู้อสุภะ รู้อย่างไร..? (1)


 

รู้อสุภะ รู้อย่างไร...?

โดย ท่านอาจารย์พระหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

 

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑

วัดนี้เราไม่ปฏิบัติตามความรู้ความเห็นความต้องการของคน แต่เราปฏิบัติเพื่อหลักธรรมหลักวินัย หลักศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เพื่อประชาชนทั้งแผ่นดินซึ่งอาศัยศาสนา อันเป็นหลักปกครองที่ถูกต้องดีงาม ที่เนื่องมาจากการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องด้วยดีของพระเณร ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาของประชาชนชาวพุทธ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สนใจที่จะปฏิบัติต่อผู้ใดเพราะความเกรงใจเป็นใหญ่ ให้นอกเหนือจากธรรมจากวินัยอันเป็นหลักศาสนาไป หากใจเกิดโอนเอนไปตามความรู้ความเห็นของผู้หนึ่งผู้ใด หรือของคนหมู่มากซึ่งหาประมาณไม่ได้แล้ว วัดและศาสนาก็จะหาประมาณหรือหลักเกณฑ์ไม่ได้ วัดที่เอนเอียงไปตามโลกโดยไม่มีเหตุผลเป็นเครื่องยืนยันรับรอง ก็จะหาเขตหาแดนหาประมาณไม่ได้ และจะกลายเป็นวัดไม่มีเขตมีแดนไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีเนื้อหนังแห่งศาสนาติดอยู่บ้างเลย

ผู้หาของดีมีคุณค่าไว้เทิดทูนสักการบูชาก็คือคนฉลาด จะหาของดี เนื้อแท้ไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจก็จะหาไม่ได้เลย เพราะมีแต่สิ่งจอมปลอมเหลวไหล เต็มวัดเต็มวาเต็มพระเต็มเณรเถรชี เต็มไปหมดทุกแห่งทุกหนตำบลหมู่บ้าน ไม่ว่าวัดไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าทางโลกทางธรรม คละเคล้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความจอมปลอมหลอกลวงหาสาระสำคัญไม่ได้

ด้วยเหตุนี้จึงต้องแยกแยะออกเป็นสัดเป็นส่วนว่า ศาสนธรรมกับโลกแม้อยู่ด้วยกันก็ไม่เหมือนกัน พระเณรวัดวาอาวาสศาสนา ตั้งอยู่ในบ้านตั้งอยู่นอกบ้าน หรือตั้งอยู่ในป่าก็ไม่เหมือนบ้าน คนมาเกี่ยวข้องก็ไม่เหมือนคน ต้องเป็นวัดเป็นพระ เป็นธรรมวินัยอันเป็นตัวของตัวอยู่เสมอ ไม่เป็นน้อย ไม่ขึ้นกับผู้ใดสิ่งใด หลักนี้จึงเป็นหลักสำคัญที่จะสามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจของคนที่มีความเฉลียวฉลาด หาหลักความจริงไว้เป็นที่สักการบูชาหรือเป็นขวัญใจได้ เราคิดในแง่นี้มากกว่าแง่อื่น ๆ แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นองค์ศาสดาก็ทรงคิดในแง่นี้เหมือนกัน ดังจะเห็นได้ในเวลาที่พระองค์ประทับอยู่โดยเฉพาะกับพระนาคิตะเป็นต้น

เวลามีประชาชนส่งเสียงเอิกเกริกเฮฮาเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งว่า นาคิตะ นั่นใครส่งเสียงอึกทึกวุ่นวายกันมานั้น เหมือนชาวประมงเขาแย่งปลากัน เราไม่ประสงค์สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นการทำลายศาสนา ศาสนาเป็นสิ่งที่รักษาไว้สำหรับโลกให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข เหมือนกับน้ำที่ใสสะอาดที่รักษาไว้แล้วด้วยดี เป็นเครื่องอาบดื่มใช้สอยแก่ประชาชนทั่วไปได้ด้วยความสะดวกสบาย ศาสนาก็เป็นเช่นน้ำอันใสสะอาดนั้น จึงไม่ต้องการให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้ามารบกวน ทำศาสนาให้ขุ่นเป็นตมเป็นโคลนไป นี่คือพระพุทธพจน์ที่ทรงแสดงกับพระนาคิตะ

จากนั้นก็สั่งให้พระนาคิตะไปบอกเขาให้กลับไปเสีย กิริยาการแสดงออกเช่นนั้นกับเวลาค่ำคืนเช่นนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะมาเกี่ยวข้องกับพระ ซึ่งท่านอยู่ด้วยความวิเวกสงัด กิริยาที่สุภาพดีงามเป็นสิ่งที่มนุษย์ผู้ฉลาดคัดเลือกมาใช้ได้ และเวลาอื่นมีถมไป เวลานี้ท่านต้องการความสงัด จึงไม่ควรมารบกวนท่านให้เสียเวลาและลำบาก โดยไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด นี่คือหลักดำเนินอันเป็นตัวอย่างจากองค์ศาสดาของพวกเรา ไม่ใช่จะคลุกคลีตีโมงกับประชาชนญาติโยมโดยไม่มีขอบเขตเหตุผล ไม่มีกฎมีเกณฑ์ ไม่มีเวล่ำเวลาดังที่เป็นอยู่ ซึ่งราวกับศาสนาและพระเณรเราเป็นโรงกลั่นสุรา เป็นเจ้าหน้าเจ้าตาจ่ายสุราให้ประชาชนยึดไปมอมเมากันไม่มีวันสร่างซา แต่ศาสนาเป็นยาแก้ความเมามัว พระเณรเป็นหมอรักษาความเมามัวของตนและของโลก ไม่ใช่นักจ่ายสุราเครื่องมึนเมาจนหมดความรู้สึกในความนึกกระดากอาย

ใครก้าวเข้ามาวัดก็ว่าเขาเลื่อมใสศรัทธา อนุโลมผ่อนผันไปจนลืมเนื้อลืมตัวลืมธรรมลืมวินัย ลืมกฎระเบียบอันดีงามของวัดของพระของเณรไปหมด จนกลายเป็นการทำลายตนเองและวัดวาศาสนาให้เสียไปวันละเล็กละน้อย และกลายเป็นตมเป็นโคลนไปหมด ทั้งชาววัดชาวบ้านหาที่ยึดเป็นหลักเกณฑ์ไม่ได้ พระเต็มไปด้วยมูตรด้วยคูถคือสิ่งเหลวไหลภายในวัดในตัวพระเณร

ด้วยเหตุนี้เราทุกคนผู้บวชในพระศาสนา จงสำนึกในข้อเหล่านี้ไว้ให้มาก อย่าเห็นสิ่งใดมีคุณค่าเหนือธรรมเหนือวินัย อันเป็นหลักใหญ่สำหรับรวมจิตใจของโลกชาวพุทธให้ได้รับความมั่นใจ ศรัทธาและร่มเย็น ถ้าหลักธรรมหลักวินัยได้ขาดหรือด้อยไปเสีย ประโยชน์ของประชาชนชาวพุทธที่จะพึงได้รับก็ต้องด้อยไปตาม จนถึงกับหาที่ยึดเหนี่ยวไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ศาสนามีเต็มคัมภีร์ใบลาน มีอยู่ทุกแห่งทุกหน พระไตรปิฎกไม่อดไม่อั้น เต็มอยู่ทุกวัดทุกวา แต่สาระสำคัญที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติ ให้ประชาชนทั้งหลายได้รับความเชื่อความเลื่อมใส ยึดเป็นหลักจิตหลักใจไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป็นประโยชน์หรือเป็นสิริมงคลแก่ตนนั้นกลับไม่มี ทั้ง ๆ ที่ศาสนายังมีอยู่ เราก็เห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้วเวลานี้

หลักใหญ่ที่จะทำให้ศาสนาเจริญรุ่งเรือง และเป็นสักขีพยานแก่ประชาชนผู้เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อหวังบุญและสิริมงคลทั้งหลายกับวัด ก็คือพระเณร ถ้าพระเณรตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ นั้นแลคือ ผู้รักษาไว้ซึ่งแบบฉบับอันดีงามแห่งพระศาสนาและมรรคผลนิพพานไม่สงสัย เขาจะยึดเป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้ เพราะคนในโลกนี้คนฉลาดยังมีอยู่มาก ส่วนคนโง่แม้มีมากจนล้นโลกก็หาประมาณไม่ได้ เมื่อถูกใจเขาเขาก็ชมเชย การชมเชยนั้นก็ชมเชยแบบความโง่ของเขา ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่พอใจก็ตำหนิติเตียน ความตำหนิติเตียนนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ทั้งเขาและเราด้วย แต่ผู้เฉลียวฉลาดชมเชยนั้นยึดเป็นหลักจิตใจได้ แก่เขาด้วยแก่เราด้วย เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ชมเชยพระสงฆ์ก็ชมเชยด้วยหลักความจริงความฉลาด พระสงฆ์ผู้ตระหนักในเหตุผลก็สามารถทำตนให้เป็นเนื้อนาบุญของเขาได้ด้วย เขาก็ได้รับประโยชน์ด้วย แม้ตำหนิก็มีเหตุผลที่ควรยึดเป็นคติได้ ด้วยเหตุนี้เราผู้ปฏิบัติพึงตระหนักในข้อนี้ให้ดี

ไปที่ไหนอย่าลืมเนื้อลืมตัวว่าตนเป็นนักปฏิบัติ เป็นองค์แทนพระศาสดาในการดำเนินพระศาสนา และประกาศพระศาสนาด้วยการปฏิบัติ โดยไม่ถึงกับต้องประกาศสั่งสอนประชาชนให้เข้าใจในอรรถในธรรมโดยถ่ายเดียว แม้เพียงข้อวัตรปฏิบัติที่ตนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น ก็เป็นทัศนียภาพอันดีงามให้ประชาชนเกิดความเชื่อความเลื่อมใสได้ เพราะการได้เห็นได้ยินของตนอยู่แล้ว ยิ่งได้มีการแสดงอรรถธรรม ให้ถูกต้องตามหลักของการปฏิบัติโดยหลักธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นการประกาศพระศาสนาโดยถูกต้องดีงาม ให้สาธุชนได้ยึดเป็นหลักใจ ศาสนาก็มีความเจริญรุ่งเรืองไปโดยลำดับในหัวใจชาวพุทธ

อยู่ที่ใดไปที่ใดอย่าลืมหลักสำคัญคือศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักงานสำคัญของพระ นี้แลคือหลักงานสำคัญของพระเราทุกรูป ที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสปรากฏในพระพุทธศาสนาว่าเป็นลูกศิษย์พระตถาคต เป็นอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ได้เป็นอยู่เพียงโกนผม โกนคิ้วนุ่งเหลืองห่มเหลืองเท่านั้น อันนั้นใครทำเอาก็ได้ไม่สำคัญ สำคัญที่การประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่ของตน ศีลพยายามระมัดระวังรักษาอย่าให้ขาดให้ด่างพร้อย มีความระเวียงระวังอยู่ทุกอิริยาบถด้วยสติปัญญาของเรา อะไรจะขาดตกบกพร่องไปก็ตาม ศีลอย่าให้ขาดตกบกพร่อง เพราะเป็นสมบัติอันสำคัญประจำกับเพศของตน หวังพึ่งเป็นพึ่งตายกับศีลของตนโดยแท้

สมาธิที่ยังไม่เกิดก็พยายามฝึกฝนอบรมดัดแปลงจิตใจ ฝ่าฝืนทรมานจิตใจตัวพยศเพราะอำนาจของกิเลสนั้น ให้เข้าสู่เงื้อมมือของความเพียร มีสติปัญญาเป็นเครื่องสกัดลัดกั้นความคะนองของใจ ให้เข้าสู่ความสงบเย็นใจจนได้ นี่ก็เป็นสมาธิสมบัติสำหรับพระเรา ปัญญาคือความฉลาด ปัญญาจะใช้ได้ในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ ไม่ว่ากิจการภายนอกภายในให้นำปัญญาออกใช้เสมอ ยิ่งเข้าสู่ภายในคือการพิจารณากิเลสอาสวะประเภทต่าง ๆ ด้วยแล้ว ปัญญายิ่งเป็นของสำคัญมาก ปัญญากับสตินี้แยกกันไม่ออก จะต้องทำหน้าที่ไปพร้อม ๆ กัน สติเป็นผู้ควบคุมงานคือปัญญาที่กำลังทำงาน หากสติได้เผลอไปเมื่อไรงานนั้นก็ไม่สำเร็จเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นธรรมจำเป็นที่จะต้องแนบนำในงานของตนอยู่เสมอ นี่คืองานของพระ ให้ท่านทั้งหลายจำไว้อย่างถึงใจตลอดไป อย่าชินชา จะกลายเป็นพระหน้าด้านไปโดยที่โลกเขาเคารพกราบไหว้ทุกวันเวลา

ออกพรรษานี้ต่างองค์ต่างก็จะต้องพลัดพรากจากกันไป ตามหน้าที่และความจำเป็น และกฎคือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ห้ามไม่อยู่ เพราะเป็นคติธรรมดา เป็นเรื่องใหญ่ แม้ตัวผมเองก็ไม่ได้แน่ใจว่าจะอยู่กับท่านทั้งหลายไปนานสักเท่าไร เพราะอยู่ใต้กฎอนิจฺจํเหมือนกัน ในขณะที่อยู่ด้วยกัน พึงตั้งใจสำเหนียกศึกษาให้ถึงใจ สมกับเรามาศึกษาอบรมและประพฤติปฏิบัติ

คำว่าปัญญาดังที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ คือการพิจารณาคลี่คลายดูส่วนต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้องทั้งภายนอกภายใน (ต้องขออภัยท่านนักธรรมะด้วยกันทั้งหญิงทั้งชายที่ตกอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน กรุณาพิจารณาเป็นธรรม) รูป ส่วนมากก็เป็นรูปหญิง-ชาย ในหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า ไม่มีรูปใดที่จะเป็นข้าศึกแก่เพศสมณะเรายิ่งกว่ารูปหญิง-ชาย เสียงหญิง-ชาย กลิ่นหญิง-ชาย รสของหญิง-ชาย เครื่องสัมผัสถูกต้องของหญิง-ชาย นี้เป็นเอกที่จะให้เป็นโทษเป็นภัยแก่สมณะ ให้พึงสำรวมระวังให้มากยิ่งกว่าการสำรวมระวังในเรื่องอื่น ๆ สติปัญญาก็ให้คลี่คลายจุดที่สำคัญนี้มากยิ่งกว่าคลี่คลายการงานอย่างอื่น ๆ

รูป ก็แยกแยะดูด้วยปัญญาให้เห็นชัดเจน คำว่ารูปหญิง-ชายนั้นให้ชื่อตามสมมุติ ความจริงแล้วไม่ใช่หญิง-ชาย เป็นรูปธรรมดาเหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ มีหนังหุ้มห่อทั่วสรรพางค์ร่างกาย เข้าไปภายในก็มีเนื้อมีหนังมีเอ็นมีกระดูก เต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครกด้วยกัน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอาการใดที่ผิดแปลกจากรูปของเราไปเลย เป็นแต่เพียงว่าความสำคัญของใจนั้นมันว่าเป็นหญิง-ชาย คำว่าเป็นหญิง-ชายนั้น มันสลักลงไปภายในจิตใจอย่างลึกซึ้งด้วยความสำคัญของใจเอง ทั้งที่ไม่เป็นความจริง เป็นความสำคัญต่างหาก

เสียงก็เหมือนกัน เสียงก็เป็นเสียงธรรมดา แต่เราหมายไปว่าเป็นเสียงวิสภาค เพราะฉะนั้นจึงทิ่มแทงเข้าในหัวใจบุรุษอย่างฝังลึก เฉพาะอย่างยิ่งนักบวชเรา และแทงทะลุเข้าไปจนลืมเนื้อลืมตัว ขั้วหัวใจขาดสะบั้นทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ขั้วหัวใจขาดเปื่อยเน่าเฟะแต่ไม่ตาย เจ้าตัวกลับเพลินฟังเพลงเสียงขั้วหัวใจขาดอย่างไม่มีวันจืดจางอิ่มพอ

กลิ่น ก็กลิ่นธรรมดาเหมือนเรานี่เพราะเป็นกลิ่นคน ถึงจะเอาน้ำอบน้ำหอมจากเมืองเทพเมืองพรหมที่ไหนมาประมาชโลม ก็เป็นกลิ่นของอันนั้นต่างหาก ไม่ใช่กลิ่นของหญิง-ชายแท้แม้นิดเดียวเลย จงพิจารณาแยกแยะออกดูให้ละเอียดถี่ถ้วน

รสก็เพียงความสัมผัสกัน การสัมผัสก็ไม่เห็นผิดแปลกอะไรกับอวัยวะเราสัมผัสอวัยวะเราเอง อวัยวะนั้น ๆ ก็เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกัน ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลกกัน แน่ะ เราต้องพิจารณาให้ชัดเจนอย่างนี้ แล้วก็พิจารณาตนเทียบเคียงกับรูป, เสียง, กลิ่น, รส, เครื่องสัมผัส ของคำว่าหญิง-ชายนั้น เข้ามาเทียบเคียงกับรูปเสียงกลิ่นรส ของเรา ก็ไม่มีอะไรผิดแปลกกันโดยหลักธรรมชาติโดยหลักความจริง นอกจากความเสกสรรปั้นยอของใจที่มันคิดไปเสกสรรไปเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยปัญญาพิจารณาคลี่คลาย อย่าให้ความสำคัญในแง่ใดแง่หนึ่งที่จะเป็นข้าศึกแก่ตนเข้ามาแทรกสิงหรือทำลายจิตใจของตนได้ ให้สลัดปัดทิ้ง ด้วยปัญญาอันเป็นความจริง ลงสู่ความจริงว่า สักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าเสียง สักแต่ว่ากลิ่น สักแต่ว่ารส สักแต่ว่าเครื่องสัมผัส ที่ผ่านแล้วหายไป ๆ ทั้งมวล เช่นเดียวกับสิ่งอื่น ๆ นี่คือการพิจารณาถูกต้อง และสามารถถอดถอนความยึดมั่นสำคัญผิดกับสิ่งนั้น ๆ ได้โดยลำดับไม่สงสัย

จะพิจารณาไปในวัตถุสิ่งใดก็ตามในโลกนี้ มันเต็มอยู่ด้วยกองอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หาความจีรังถาวรไม่ได้ อาศัยสิ่งใดสิ่งนั้นก็จะพังลงไป วัตถุสิ่งใดก็ตาม ขึ้นชื่อว่ามีอยู่ในโลกนี้ล้วนแล้วแต่สิ่งที่จะต้องพังทลาย เขาไม่พังเราก็พัง เขาไม่แตกเราก็แตก เขาไม่พลัดพรากเราก็พลัดพราก เขาไม่จากเราก็จาก เพราะโลกนี้เต็มไปด้วยความจากความพลัดพรากกันอยู่แล้วโดยหลักธรรมชาติ ให้พิจารณาอย่างนี้ด้วยปัญญาให้ชัดเจนก่อนหน้าที่สิ่งเหล่านั้นจะพลัดพรากจากเรา หรือเราจะพลัดพรากจากสิ่งเหล่านั้น แล้วปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตใจก็มีความสุข นี่พูดถึงขั้นปัญญาในการพิจารณารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ ทั้งข้างนอกข้างใน ทั้งส่วนหยาบ ส่วนละเอียด ย่อมพิจารณาในลักษณะเหล่านี้ทั้งสิ้น

สมาธิก็อธิบายบ้างแล้ว คำว่าสมาธิคือความแน่นหนามั่นคงของใจ เริ่มตั้งแต่ความสงบสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของใจขึ้นไปจนถึงความสงบสุขละเอียดมั่นคง ใจถ้าไม่ได้ฝึกหัด ไม่ได้ดัดแปลง ไม่ได้บังคับทรมานด้วยอุบายต่าง ๆ มี สติ, ปัญญา, ศรัทธา, ความเพียร เป็นเครื่องหนุนหลังแล้ว จะหาความสงบไม่ได้จนกระทั่งวันตาย ตายก็ตายไปเปล่า ๆ ตายด้วยความฟุ้งซ่านวุ่นวายส่ายแส่กับอารมณ์ร้อยแปด ไม่มีสติรู้สึกตัว ตายด้วยความไม่มีหลักมีเกณฑ์เป็นที่ยึดอาศัย ตายแบบว่าวเชือกขาดอยู่บนอากาศ ตามแต่จะถูกลมพาพัดไปไหน แม้ยังอยู่ก็อยู่ด้วยความไม่มีหลักมีเกณฑ์ เพราะความลืมตัวประมาทหาเหตุผลเป็นเครื่องดำเนินไม่ได้ อยู่แบบเลื่อนลอย คนเราทั้งคนถ้าอยู่แบบเลื่อนลอยไม่หาหลักที่ดียึด ก็ต้องไปแบบเลื่อนลอย จะเกิดผลประโยชน์อะไร หาความดีความแน่ใจในคติของตนที่ไหนได้ เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่รู้ ๆ อยู่อย่างนี้ จงสร้างความแน่นอนขึ้นที่ใจของเรา ด้วยความเป็นผู้หนักแน่นในสารคุณทั้งหลาย จะแน่ตัวเองทั้งยังอยู่ทั้งเวลาตายไป ไม่สะทกสะท้านหวั่นไหวกับความเป็นความตาย ความพลัดพรากจากสัตว์แลสังขารที่ใคร ๆ ต้องเผชิญด้วยกัน เพราะมีอยู่กับทุกคน

ปัญญาไม่ใช่จะเกิดขึ้นในลำดับที่สมาธิคือความสงบใจเกิดขึ้นแล้ว แต่ต้องอาศัยความฝึกหัดคิดค้นคว้าความพินิจพิจารณา ปัญญาจึงจะเกิดขึ้น โดยอาศัยสมาธิเป็นเครื่องหนุนอยู่แล้ว ลำพังสมาธินั้นจะไม่กลายเป็นปัญญาขึ้นมาได้ ต้องเป็นสมาธิอยู่ โดยดี ถ้าไม่ใช้ปัญญาพิจารณาต่างหาก สมาธิเพียงทำให้จิตมีความเอิบอิ่มมีความสงบตัว มีความพอใจกับอารมณ์คือสมถธรรม ไม่หิวโหยในความคิดโน้นคิดนี้ ไม่วุ่นวายส่ายแส่เท่านั้น เพราะจิตที่มีความสงบย่อมมีความเย็น ย่อมเอิบอิ่มในธรรมตามฐานแห่งความสงบของตน แล้วนำจิตที่มีความอิ่มในสมถธรรมนั้นออกพิจารณา คลี่คลายดูสิ่งต่าง ๆ ด้วยปัญญา ซึ่งในโลกนี้ไม่มีอันใดจะเหนือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไปได้ มันเต็มไปด้วยสภาพเดียวกัน จงใช้ปัญญาพินิจพิจารณา จะเป็นแง่ใดก็ตาม ตามแต่จริตนิสัยที่ชอบพอกับการพิจารณาในแง่นั้น ๆ โดยยกสิ่งนั้นขึ้นมาพิจารณาคลี่คลายด้วยความสนใจ ใคร่รู้ใคร่เห็นตามความจริงของมันจริง ๆ อย่าสักแต่พิจารณาโดยปราศจากเจตนาปราศจากสติกำกับ

เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอสุภะกับจิตที่เต็มไปด้วยราคะความกำหนัดยินดี นี้เป็นคู่ปรับหรือคู่แก้กันได้ดีและดีมาก จิตมีราคะมากเพียงไรให้พิจารณาอสุภะอสุภังมากเพียงนั้นหนักเพียงนั้น จนกลายเป็นป่าช้าผีดิบขึ้นให้เห็นประจักษ์ใจในร่างกายของเขาของเราทั่วโลกดินแดน ราคะตัณหานั้นจะกำเริบขึ้นไม่ได้เมื่อปัญญาหยั่งรู้ว่ามีแต่ปฏิกูลเต็มตัว ใครจะไปกำหนัดยินดีในปฏิกูล ใครจะไปกำหนัดยินดีในสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม ในสิ่งที่อิดหนาระอาใจ นี่เป็นยาระงับอสุภะอสุภังประการหนึ่ง เป็นยาแก้โรคราคะตัณหาขนานเอกขนานหนึ่ง เมื่อพิจารณาสมบูรณ์เต็มที่แล้วให้จิตสงบตัวลงไปในวงแคบ

เมื่อจิตได้พิจารณาอสุภะอสุภังหลายครั้งหลายหน จนเกิดความชำนิชำนาญ พิจารณาคล่องแคล่วว่องไวทั้งรูปภายนอกทั้งรูปภายใน จะพิจารณาให้เป็นอย่างไรก็เป็นได้อย่างรวดเร็ว แล้วจิตก็จะรวมตัวเข้ามาสู่อสุภะภายใน และจะเห็นโทษแห่งอสุภะที่ตนวาดภาพไว้นั้นว่า เป็นเรื่องมายาประเภทหนึ่ง แล้วปล่อยวางทั้งสองเงื่อน คือเงื่อนอสุภะและเงื่อนสุภะ

ทั้งสุภะทั้งอสุภะสองประเภทนี้ เป็นสัญญาคู่เคียงกันกับเรื่องของราคะ เมื่อพิจารณาเข้าใจทั้งสองเงื่อนนี้เต็มที่แล้ว คำว่าสุภะก็สลายตัวลงไปหาความหมายไม่ได้ คำว่าอสุภะก็สลายตัวลงไปหาความหมายไม่ได้ ผู้ที่ให้ความหมายว่าเป็นสุภะก็ดีอสุภะก็ดีก็คือใจ ก็คือสัญญา สัญญาก็รู้เท่าแล้วว่าเป็นตัวหมาย เห็นโทษแห่งตัวหมายนี้แล้ว ตัวหมายนี้ก็ไม่สามารถที่จะหมายออกไปให้ใจติดและยึดถือได้อีก นั่น เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตก็ปล่อยวางทั้งสุภะทั้งอสุภะคือทั้งสวยงามทั้งไม่สวยงาม โดยเห็นเป็นเพียงตุ๊กตา เครื่องฝึกซ้อมของใจของปัญญาในขณะที่จิตยังยึด และปัญญาพิจารณาเพื่อถอดถอนยังไม่ชำนาญเท่านั้น

เมื่อจิตชำนาญ รู้เหตุผลทั้งสองประการคือ สุภะอสุภะนี้แล้ว ยังสามารถย้อนมาทราบเรื่องความหมายของตนที่ออกไปปรุงแต่งว่า นั้นเป็นสุภะนั่นเป็นอสุภะอีกด้วย เมื่อทราบความหมายนี้อย่างชัดเจนแล้ว ความหมายนี้ก็ดับลงไป และเห็นโทษแห่งความหมายนี้อย่างชัดเจนว่านี้คือตัวโทษ อสุภะไม่ใช่ตัวโทษ สุภะไม่ใช่ตัวโทษ ความสำคัญว่าเป็นสุภะอสุภะต่างหากเป็นตัวโทษ เป็นตัวหลอกลวงเป็นตัวให้ยึดถือ นั่นมันย่นเข้ามา นี่การพิจารณาย่นเข้ามาอย่างนี้และปล่อยวางโดยลำดับ

เมื่อจิตเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะกำหนดสุภะหรืออสุภะก็ปรากฏขึ้นอยู่ที่จิต โดยไม่ต้องไปแสดงภาพภายนอกเป็นเครื่องฝึกซ้อมอีกต่อไป เช่นเดียวกับเราเดินทางและผ่านสายทางไปโดยลำดับฉะนั้น นิมิตเห็นปรากฏอยู่ภายในจิต ในขณะที่ปรากฏอยู่ภายในจิตนั้นก็ทราบแล้วว่า สัญญาตัวนี้หมายขึ้นมาได้แค่นี้ ไม่สามารถออกไปหมายข้างนอกได้ แม้จะปรากฏขึ้นมาภายในจิตก็ทราบได้ชัดว่า สภาพที่ปรากฏเป็นสุภะอสุภะนี้ก็เกิดขึ้นจากตัวสัญญาอีกเช่นเดียวกัน รู้ทั้งภาพที่ปรากฏขึ้นอยู่ภายในใจ รู้ทั้งสัญญาที่หมายตัวขึ้นมาเป็นภาพภายในใจอีกด้วย สุดท้ายภาพภายในใจนี้ก็หายไป สัญญาคือความสำคัญความหมายขึ้นมานั้นก็ดับไป รู้ได้ชัดว่าเมื่อสัญญาตัวเคยหลอกลวงว่าเป็นสุภะอสุภะ และเป็นอะไรต่ออะไรไม่มีประมาณ หลอกให้หลงทั้งสองเงื่อนนี้ ดับไปแล้ว สัญญาก็ดับไปด้วย ไม่มีอะไรจะมาหลอกใจอีก นี่การพิจารณาอสุภะ พิจารณาอย่างนี้ตามหลักปฏิบัติ แต่เราจะไปหาในคัมภีร์หาที่ไหนก็ไม่เจอ นอกจากหาความจริงในหลักธรรมชาติที่มีอยู่กับกายกับใจ อันเป็นที่สถิตแห่งสัจธรรมและสติปัฏฐานสี่เป็นต้น และสรุปลงในคัมภีร์ที่ใจนี้ จะเจอดังที่อธิบายมานี้

นี่เป็นรูป รูปกายก็ทราบได้ชัดว่า กายของเราทุกส่วนนี้ก็เป็นรูป มีอะไรบ้างในรูปนี้ อวัยวะทุกส่วนเป็นรูปทั้งนั้น ไม่ว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ปอด พังผืด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ล้วนแล้วแต่เป็นรูป เป็นสิ่งหนึ่งต่างหากจากใจ จะพิจารณาเป็นอสุภะ มันก็ตัวอสุภะอยู่แล้วตั้งแต่เรายังไม่ได้พิจารณา และคำที่ว่าสิ่งนี้เป็นสุภะสิ่งนั้นเป็นอสุภะ ใครเป็นผู้ไปให้ความหมาย สิ่งเหล่านี้เขาหมายตัวของเขาเองเมื่อไร เขาบอกว่าเขาเป็นสุภะ เขาบอกว่าเขาเป็นอสุภะเมื่อไร เขาไม่ได้หมายไม่ได้บอกว่าอย่างไรทั้งสิ้น อันใดจริงอยู่อย่างไรมันก็จริงอยู่ตามสภาพของเขาอย่างนั้นมาดั้งเดิม และเขาเองก็ไม่ทราบความหมายของเขา ผู้ไปทราบความหมายในเขาก็คือสัญญา ผู้หลงความหมายในเขาก็คือสัญญาเอง ซึ่งออกจากใจตัวหลง ๆ เมื่อมารู้เท่าสัญญาอันนี้แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็หายไปอีก ต่างอันก็ต่างจริง นี่คือความรู้เท่าหรือการรู้เท่าเป็นอย่างนี้

เวทนาคือความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ ที่เกิดขึ้นจากร่างกาย กายก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ทุกข์ยังไม่เกิด ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป กายก็เป็นกาย ทุกข์ก็เป็นทุกข์ ต่างอันต่างจริง พิจารณาแยกแยะให้เห็นตามความจริง สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่ากาย ไม่นิยมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเราเป็นของเขา หรือของใคร เวทนาก็ไม่ใช่เรา ไม่เป็นของเรา ไม่เป็นของเขา ไม่เป็นของใคร เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาชั่วขณะแล้วดับไปชั่วกาลเท่านั้นตามสภาพของเขา ความจริงเป็นอย่างนี้

สัญญาคือความจำได้ จำได้เท่าไรไม่ว่าจำได้ใกล้ได้ไกล จำได้ทั้งอดีตอนาคต ปัจจุบัน จำได้เท่าไรความดับก็ไปพร้อม ๆ กัน ดับไป ๆ เกิดแล้วดับ ๆ จะมาถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลที่ไหน นี่หมายถึงปัญญาขั้นละเอียดพิจารณาหยั่งทราบเข้าไปตามความจริง ประจักษ์ใจตัวเองโดยไม่ต้องไปถามใคร

สังขารคือความคิดความปรุง ปรุงดีปรุงชั่วปรุงกลาง ๆ ปรุงเรื่องอะไรก็มีแต่เรื่องเกิดเรื่องดับ ๆ หาสาระอะไรจากความปรุงนี้ไม่ได้ ถ้าสัญญาไม่รับช่วงไปให้เกิดเรื่องเกิดราว สัญญาก็ทราบชัดเจนแล้ว อะไรจะไปปรุงไปรับช่วงไปยึดไปถือให้เป็นเรื่องยืดยาวต่อไปเล่า ก็มีแต่ความเกิดความดับภายในจิตเท่านั้น นี่คือสังขารมันเป็นความจริงอันหนึ่ง อันนี้ท่านเรียกว่าสังขารขันธ์ ขันธ แปลว่ากอง แปลว่าหมวด รูปขันธ์ แปลว่ากองแห่งรูป สัญญาขันธ์ แปลว่ากองแห่งสัญญา หมวดแห่งสัญญา สังขารขันธ์ คือกองแห่งสังขาร หมวดแห่งสังขาร

วิญญาณขันธ์ คือหมวดหรือกองแห่งวิญญาณที่รับทราบในขณะสิ่งภายนอกเข้ามาสัมผัส เช่น ตาสัมผัสรูป เป็นต้น เกิดความรู้ขึ้น พอสิ่งนั้นผ่านไปความรับรู้นี้ก็ดับไป ไม่ว่าจะรับรู้สิ่งใดย่อมพร้อมที่จะดับด้วยกันทั้งนั้น จะหาสาระแก่นสารและสำคัญว่าเป็นเราเป็นของเราที่ไหนได้กับขันธ์ทั้งห้านี้

เรื่องของขันธ์ทั้งห้านี้เป็นอย่างนี้ มีอย่างนี้ปรากฏอย่างนี้ และเกิดขึ้นดับไป ๆ สืบต่อกันอยู่เรื่อย ๆ อย่างนี้ตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ หาสาระอะไรจากเขาไม่ได้เลย นอกจากจิตใจไปสำคัญมั่นหมาย แล้วยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตนเป็นของตน แล้วแบกให้หนักยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูกขึ้นมาภายในใจเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องตอบรับหรือเป็นเครื่องสนอง ความสนองก็คือสนองความทุกข์นั้นเอง เพราะความหลงของตนพาให้สนอง

เมื่อจิตได้พิจารณาเห็นสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจน ด้วยปัญญาอันแหลมคมแล้วนั้น รูปก็จริงตามรูปโดยหลักธรรมชาติประจักษ์ด้วยปัญญา เวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ ในส่วนร่างกายก็รู้ชัดตามเป็นจริงของมัน เวทนาทางใจคือความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ ที่เกิดขึ้น ภายในใจ นั่นเป็นสาเหตุให้จิตสนใจพินิจพิจารณา แม้จะยังไม่รู้เท่าทันสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นเครื่องเตือนจิตให้พิจารณาอยู่เสมอ เพราะขั้นนี้ยังไม่สามารถที่จะรู้เท่าทันเวทนาภายในจิตได้ คือ สุข ทุกข์ เฉย ๆ ภายในจิตโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับเวทนาทางกาย

วิญญาณก็สักแต่ว่าต่างอันต่างจริง นี่ชัดแล้วตามความเป็นจริง จิตหายสงสัยที่จะยึดจะถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตนอีกต่อไป เพราะต่างอันต่างจริงแม้จะอยู่ด้วยกัน ก็เช่นเดียวกับผลไม้หรือไข่เราวางลงในภาชนะ ภาชนะก็ต้องเป็นภาชนะ ไข่ที่อยู่ในนั้นก็เป็นไข่ ไม่ใช่อันเดียวกัน จิตก็เป็นจิตซึ่งอยู่ในภาชนะ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันนี้ แต่ไม่ใช่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หากเป็นจิตล้วน ๆ อยู่ภายในนั้น นี่เวลาแยกชัดเจนแล้วระหว่างขันธ์กับจิตเป็นอย่างนั้น

ทีนี้เมื่อจิตได้เข้าใจในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างชัดเจนหาที่สงสัยไม่ได้แล้ว ก็จะมีแต่ความกระดิกพลิกแพลงความกระเพื่อมภายในจิตโดยเฉพาะ ๆ ความกระเพื่อมนั้นก็คือสังขารอันละเอียดที่กระเพื่อมอยู่ภายในจิต สุขอันละเอียดที่ปรากฏขึ้นภายในจิต ทุกข์อันละเอียดที่ปรากฏภายในจิต สัญญาอันละเอียดที่ปรากฏขึ้นภายในจิตมีอยู่เพียงเท่านั้น จิตจะพิจารณาแยกแยะกันอยู่ตลอดเวลาด้วยสติปัญญาอัตโนมัติ คือจิตขั้นนี้เป็นจิตที่ละเอียดมาก ปล่อยวางสิ่งทั้งหลายหมดแล้ว ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าไม่มีเหลือเลย แต่ยังไม่ปล่อยวางตัวเองคือความรู้ แต่ความรู้นั้นยังเคลือบแฝงด้วยอวิชชา

นั่นแหละท่านว่าอวิชชารวมตัว รวมอยู่ที่จิต หาทางออกไม่ได้ ทางเดินของอวิชชาก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อไปสู่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เมื่อสติปัญญาสามารถตัดขาดสิ่งเหล่านี้เข้าไปได้โดยลำดับ ๆ แล้ว อวิชชาไม่มีทางเดิน ไม่มีบริษัทบริวาร จึงยุบ ๆ ยิบ ๆ หรือกระดุบกระดิบอยู่ภายในตัวเอง โดยอาศัยจิตเป็นที่ยึดที่เกาะโดยเฉพาะ เพราะหาทางออกไม่ได้ แสดงออกเป็นสุขเวทนาอย่างละเอียดบ้าง ทุกขเวทนาอย่างละเอียดบ้าง แสดงเป็นความผ่องใสซึ่งแปลกประหลาดอัศจรรย์อย่างยิ่งในเมื่อปัญญายังไม่รอบและทำลายยังไม่ได้บ้าง จิตก็พิจารณาอยู่ที่ตรงนั้น

แม้จะเป็นความผ่องใสและสง่าผ่าเผยเพียงไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสมมุติจะละเอียดขนาดไหนก็จะต้องแสดงอาการอันใดอันหนึ่งขึ้นมาให้เป็นที่สะดุดจิต พอจะให้คิดอ่าน หาทางแก้ไขจนได้ เพราะฉะนั้น สุขก็ดีทุกข์ก็ดีอันเป็นของละเอียดเกิดขึ้นภายในจิตโดยเฉพาะ ตลอดความอัศจรรย์ ความสว่างไสวซึ่งมีอวิชชาเป็นตัวการ แต่เพราะความไม่เคยรู้เคยเห็น เมื่อพิจารณาเข้าไปถึงจุดนั้นจึงหลงยึด และจึงถูกอวิชชากล่อมเอาอย่างหลับสนิท โดยหลงยึดถือความผ่องใสเป็นต้นนั้นว่าเป็นเรา ความสุขนั้นก็เป็นเรา ความอัศจรรย์นั้นก็เป็นเรา ความสง่าผ่าเผยที่เกิดขึ้นจากอวิชชาซึ่งฝังอยู่ภายในจิตนั้นก็เป็นเรา เลยถือจิตทั้งอวิชชาเป็นเราโดยไม่รู้สึกตัวเสียทั้งดวง

แต่ก็ไม่นาน เพราะอำนาจของมหาสติมหาปัญญาอันเป็นธรรมไม่นอนใจอยู่แล้ว คอยสอดคอยส่องคอยพินิจพิจารณาแยกแยะไปมาอยู่อย่างนั้น ตามนิสัยของสติปัญญาขั้นนี้ กาลหนึ่งเวลาหนึ่งต้องทราบได้แน่นอน โดยทราบถึงเรื่องสุขที่แสดงขึ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ อันเป็นเรื่องผิดปกติ ทุกข์แสดงขึ้นนิด ๆ หน่อย ๆ อย่างละเอียด ตามขั้นของจิตก็ตาม ก็พอเป็นเครื่องสะดุดจิตให้ทราบได้ว่า เอ๊ะ ทำไมจิตจึงมีอาการเป็นอย่างนี้ ไม่คงเส้นคงวา ความสง่าผ่าเผยที่แสดงอยู่ภายในจิต ความอัศจรรย์ที่แสดงอยู่ภายในจิต ก็แสดงความวิปริตผิดจากปกติขึ้นมาเล็ก ๆ น้อย ๆ พอให้สติปัญญาขั้นนี้จับได้อยู่นั่นเอง

เมื่อจับได้ก็ไม่ไว้ใจและกลายเป็นจุดที่ควรพิจารณาขึ้นมาในขณะนั้น จึงตั้งจิตคือความรู้ประเภทนี้เป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา เมื่อสติปัญญาขั้นนี้ได้จ่อลงไปถึงจุดนี้ว่านี้คืออะไร สิ่งทั้งหลายได้พิจารณามาแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจนสามารถถอดถอนมันได้เป็นขั้น ๆ แต่ธรรมชาติที่รู้ ๆ ที่สว่างไสวที่อัศจรรย์นี้คืออะไร อันนี้มันคืออะไรกันแน่ สติปัญญาจ่อลงไปพิจารณาลงไป จุดนี้จึงเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณาอย่างเต็มที่ และจุดนี้จึงกลายเป็นสนามรบของสติปัญญาอัตโนมัติขึ้นมาในขณะนั้น ไม่นานนักก็สามารถทำลายจิตอวิชชาดวงประเสริฐ ดวงอัศจรรย์สง่าผ่าเผยตามหลักอวิชชาให้แตกกระจายออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีสิ่งใดเหลือค้างอยู่ภายในใจแม้ปรมาณูอีกต่อไป

เมื่อธรรมชาติที่เคยเสกสรรโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นของประเสริฐอัศจรรย์เป็นต้น ได้สลายตัวลงไปแล้ว สิ่งที่ไม่ต้องเสกสรรปั้นยอว่าเป็นของประเสริฐ หรือไม่ประเสริฐ ก็ปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่ ธรรมชาตินั้นคือความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์นั้นเมื่อเทียบกับ จิตอวิชชาที่ว่าเป็นของประเสริฐเลิศเลอแล้ว จิตอวิชชานั้นจึงเป็นเหมือนกองขี้ควายกองหนึ่งดี ๆ นี่เอง ธรรมชาติที่อยู่ใต้อวิชชาซึ่งหุ้มห่ออยู่นั้น เมื่อเปิดเผยตัวขึ้นมาแล้ว จึงเป็นเหมือนทองคำธรรมชาติ ทองคำธรรมชาติกับกองขี้ควายเหลว ๆ นั้น อันไหนมีคุณค่ากว่ากันเล่า แม้แต่เด็กอมมือก็ตอบได้ อย่าว่าแต่จะมามัวเทียบเคียงให้เสียเวลาและขายความโง่อยู่เลย

นี่ละการพิจารณาจิต..... (มีต่อในบันทึก รู้อสุภะ รู้อย่างไร...? (2)  )


ที่มา http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1481&CatID=3

หมายเลขบันทึก: 232251เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2008 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท