หนังสือทำมือ "คุณคิดเหมือนผมมั๊ย KM อยู่ในหัวใจ" ตอนที่ 1


ผมไม่เคยรู้เรื่องของ KM หรือการจัดการความรู้มาก่อนเลย ไม่เคยรู้ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไรจึงเป็น KM ผมได้รู้จักกับ KM โดยบังเอิญ

             หายไปเสียนานคิดถึง ชาว G2K ทุกท่าน  ต้องขออำภัยครับ ยุ่งจริงๆ เลยไม่ค่อยมีเวลาเขียน โดยเฉพาะการเดินหน้าเรื่องชุมชนอินทรีย์ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นทีมจับภาพก็ต้องเหนื่อยหน่อยครับ... แต่ก็คุ้ม เพราะได้อะไรเยอะเลย... ผมได้เขียนหนังสือทำมือเล่มหนึ่ง เรื่อง "คุณคิดเหมือนผมมั๊ย KM อยู่ในหัวใจ" เล่าเรื่องราวจากการที่ได้สัมผัสกับ การจัดการความรู้ (KM) ที่ได้เริ่มกับตัวเอง เป็นเรื่องที่ผมคิดของผม แต่ก็อยากจะรู้ว่าคนอื่นๆ จะคิดเหมือนเราหรือเปล่า เอาเป็นว่าผมจะนำเสนอให้ ทุกท่านที่สนใจเข้ามาอ่านเป็นตอนๆ ก็แล้วกันนะครับ...

                ผมไม่เคยรู้เรื่องของ KM หรือการจัดการความรู้มาก่อนเลย  ไม่เคยรู้ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร  ต้องทำอย่างไรจึงเป็น KM  ผมได้รู้จักกับ KM โดยบังเอิญ  อาจารย์จำนง  หนูนิล หรือที่เรารู้จักในนามของ ครูนงเมืองคอนได้ชวนผมไปที่บ้านบางหลวง ตำบลท่าไร่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  บอกว่าไปดูเขาทำเวทีชาวบ้านเรื่องสถาบันการเงินชุมชน  ผมก็ไปดูเผื่อว่ามีอะไรดีๆ ที่จะเก็บเกี่ยวมาใช้กับบทบาทหน้าที่ของครูอาสาสมัครได้บ้าง  เพราะทราบว่าคนที่มาเป็นวิทยากรนั้นมาจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ทั้งจากพัฒนาชุมชน  ทั้งจาก ธนาคาร ธกส.  ทั้งจากธนาคารออมสิน และอีกหลายหน่วยงาน เอาเป็นว่า   9 หน่วยงานก็แล้วกันนะครับ

                ผมคิดว่าจะไปสังเกตการณ์กระบวนการทำเวที  แต่ปรากฎว่าวิทยากรที่ทำกระบวนการในเวทีกลุ่มย่อยขาดอยู่  1 กลุ่ม  อาจารย์ภีมจากวลัยลักษณ์ ก็เรียกผมเข้าไปช่วยทำกระบวนการในกลุ่มนั้น  ผมไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง  ไม่คุ้นกับรายการอย่างนี้  อย่างดีก็แค่เวทีทราบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในการจัดวิชาชีพของ  กศน.  ครูนง  หันหน้ามาทางผมพยักหน้าเหมือนกับเชียร์ ให้ผมทำ  ผมนั่งดูมาตั้งแต่ต้นก็รู้ว่าเวทีย่อยนั้นต้องการที่จะทราบข้อมูลขององค์กรการเงิน  และระบบการบริหารจัดการของแต่ละหมู่บ้านซึ่งแยกเป็นกลุ่มย่อย  ก็เริ่มกระบวนการเลยครับ... ตั้งคำถาม เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลที่เป็นความจริงมากที่สุด ที่สำคัญคือได้เรียนรู้กระบวนการ  ตั้งแต่การเป็นผู้นำกระบวนการ มีผู้คอยจดบันทึก  และเมื่อเสร็จจากเวทีย่อยก็ให้ตัวเทนแต่ละกลุ่มออกไปนำเสนอข้อมูลของแต่ละกลุ่ม  หลังจากนั้นก็ให้กลุ่มที่สมาชิกเห็นว่าโดดเด่นที่สุดเล่ารายละเอียดของกระบวนการบริหารจัดการองค์กรการเงินในหมู่บ้านของตนเอง  หลังจากนั้นก็ให้แต่ละหมู่บ้านกำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนากลุ่มองค์กรการเงินของตนเอง  และปิดเวทีในวันนั้น

                หลังจากเสร็จกระบวนการเวที   อ. ภีม ภคเมธาวี  จาก มหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์  ก็เรียกทีมงานวิทยากรเข้ามาประชุม  และร่วมกันสะท้อนกระบวนการจัดเวทีในวันนั้น  ก็มีผลว่ายังขาดคนที่จะทำกระบวนการในพื้นที่ตำบลอื่นๆ ที่เป็นตำบลนำร่องโครงการอีก  2 ตำบล  คือ ตำบลบางจาก  และตำบลมะม่วงสองต้น  แทบทุกคนมองมาที่ผม  ผมบอกว่าจะลำบากหรือเปล่า  หากแต่ อ. ภีม  บอกว่าเห็นแล้วว่าผมทำได้แน่  และจัดให้ผมอยู่ในทีมรับผิดชอบพื้นที่ของตำบลมะม่วงสองต้น 

                ผมถูกแนะนำตัวอย่างเป็นทางการกับทีมทำงานที่  ห้องสมุดประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ในการประชุมทีมงานเพื่อเตรียมการในการทำเวทีครั้งต่อไป  รู้จักเพื่อนใหม่  ที่มาจากต่างหน่วยงานเยอะแยะ  และได้รู้คำศัพท์ที่รู้สึกแปลกหู  เช่น  คุณเอื้อ  คุณอำนวย  คุณกิจ  ซึ่งตอนแรกผมไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่ ที่ใหน งงมาก  แต่เมื่อ อ. ภีม  ได้อธิบายโมเดลปลาทู ให้ฟังก็ผมก็ถึงบางอ้อ เลยครับ  มาถึงตอนนี้ผมเริ่มสนใจบทบาทของคุณอำนวย  เริ่มเรียนรู้ว่าในทีมคุณอำนวยอย่างน้อยต้องมี  3 คน ทำหน้าที่ต่างกันคือ คุณประสาน ทำหน้าที่ประสานงานให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  คุณกระบวนการทำหน้าที่ในการจัดกระบวนการเรียนรู้  และคุณลิขิต  ทำหน้าที่จดบันทึก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ความรู้  และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

                สิ่งแรกที่ผมได้เริ่มเรียนคือ  การวางแผนการทำงานในแต่ละครั้งของการทำกระบวนการเวที  โดยทีมมอบให้ผมทำหน้าที่นำกระบวนการ  ในพื้นที่ตำบลมะม่วงสองต้นนั้นทำยากมากครับ  เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไปทำงานรับจ้างนอกพื้นที่และอีกอย่างเมื่อ 9 หน่วยงานลงไปคิดว่าไปตรวจสอบองค์กรของเขาก็เลยไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ  การวางแผนจึงเริ่มขึ้นครับ  ผมซึ่งเป็นผู้นำทีมไปโดยปริยาย  นัดทีมคุณอำนวยประชุมตกลงกันว่าจะใช้วิธีตกลงทำความเข้าใจกับทุกหมู่บ้าน โดยจะให้แต่ละหมู่บ้านนัดทีมงานในวันที่พร้อม  เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์  มารู้ทีหลังครับว่า  การที่เรายอมสละเวลามาพบปะชาวบ้านในวันหยุดราชการนั้นสามารถที่จะซื้อใจชาวบ้านได้  ส่วนใหญ่คนราชการจะไม่ทำงานครับ... ในแต่ละหมู่บ้านเปิดใจยอมรับทีมงาน เมื่อมีการนัดพบรวมตำบลมากันพร้อมหมดทุกหมู่บ้านเลยครับ  และมีข้อมูลมาพร้อมที่จะร่วมแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านอื่นๆ  ดีใจมากครับที่ทำสำเร็จ

                ในการนัดประชุมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของแต่ละตำบลทำให้เรามีข้อมูลในความก้าวหน้าในภาพรวมของตำบล  และได้ทราบอีกเรื่องหนึ่งคือ KM ซ้อน KM  หมายความถึงเมื่อเราไปทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาแล้วตัวคุณอำนวยที่ลงไปจัดกระบวนการนั้นได้พัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง  ต้องนำมารายงานกันทุกเดือนครับ...  โดยกระบวนการคือแต่ละคนต้องประเมินสมรรถนะของตนเองและเพื่อนร่วมทีม และทีมด้วย  เพื่อทราบความคืบหน้าในการพัฒนาสมรรถนะของคุณอำนวย  ทำไประยะหนึ่งก็ได้องค์ความรู้มากมายจาก  3 ตำบลก็นำมาถอดบทเรียนกันโดยมีท่านผู้ว่าฯ ลงมาเข้าห้องถอดกับพวกเราที่ห้องประชุมห้องสมุดประชาชนจังหวัดด้วย คณะทำงานยกย่องท่านว่าเป็นยอดคุณเอื้อครับ... ท่านชอบนวัตกรรม KM และได้เรียกทีมงานไปคุยที่ห้องงาช้าง ศาลากลางจังหวัดบอกทีมงานว่า  ท่านจะขยายผลจาก 3 ตำบลนำร่อง เป็นทั้งจังหวัดและทำทุกๆเรื่องในวิถีชุมชน  เน้นแนวเศรษฐกิจพอเพียง  ทำต่อเนื่อง  ปี แบ่งกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละปีตามขั้นตอน  คือ แผนชุมชน  กระบวนการเรียนรู้  การต่อยอดกระบวนการเรียนรู้

 

 

หมายเลขบันทึก: 232092เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท