Culture of safety (ภาคต่อเนื่อง)


ถ้า “ห่วงโซ่” ชิ้นหนึ่งไม่แข็งแรง ต่อให้ “ห่วงโซ่” ชิ้นอื่นมีความแข็งแรง โซ่เส้นนั้นก็มีโอกาสที่จะขาดไม่วันใดก็วันหนึ่ง


         คราวที่แล้ว ได้เล่าคอนเซปต์เรื่อง วัฒนธรรมความปลอดภัย (ของผู้ป่วย)  ไปแล้ว คราวนี้จะเล่าต่อนะคะว่า เราจะลงมือทำกันอย่างไร
      หลังจากที่เราทำ SWOT analysis ของงานโดยเน้นหาความผิดพลาดที่มีโอกาสเกิดขึ้นในงาน อันจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับผู้ป่วยแล้ว  สมาชิกในงานนั้นๆ ต้องช่วยกันระดมความคิดต่อว่า

* เราจะใช้อะไรเป็น ตัวตรวจจับความผิดพลาด
* เราจะใช้อะไรเป็น ตัวลดความผิดพลาด อย่างเช่น การใช้บาร์โคดเพื่อลด human error ในการลงข้อมูลโดยคน
* จัดให้มีระบบการตรวจซ้ำรอบสอง (double check) ในงานที่คิดว่า ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นใน ผลงาน แล้วจะมีผลกระทบที่ร้ายแรงต่อผู้ป่วย
* ทำงานให้ง่าย ลดความซ้ำซ้อน เพราะงานใดที่มีขั้นตอนเยอะ หรือสลับซับซ้อนมาก โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด และผู้ป่วยไม่ปลอดภัยก็จะสูง
* ลดการใช้ แรงงานมนุษย์ ในงานที่คิดว่าสามารถใช้ เครื่องทุ่นแรง อย่างอื่นแทนได้ เพราะ การทำผิดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ (แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่า ทั้งๆที่ การทำผิดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่เวลาที่คนทำผิด เรามักจะยอมรับไม่ได้ แต่พอ เครื่อง ผิด เรามักจะยอมรับได้ แถมบางทียังโทษอีกว่าที่เครื่องผิดนั่นแหละ เป็นความผิดของคนเสียอีก)
* ใช้ เครื่องช่วยจำ ทั้งหลาย เพื่อให้สมาชิก รับรู้ และ ระลึก ถึงขั้นตอนการทำงานของตนเองอยู่เสมอ
* วางระบบ  quality assurance
       หลังจากที่สมาชิกทุกคนได้ร่วมกันคิดวางแนวทางต่างๆ แล้ว สิ่งที่ทุกคนพึงปฏิบัติหลังจากนั้นคือ
* ยึดมั่นในแนวทางที่ตนเองและเพื่อนร่วมงานได้วางเอาไว้ เพราะนั่นหมายถึง แนวทางที่สมาชิกทุกคนคิดว่า จะสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับผู้ป่วย ที่ใช้คำว่า จะ แสดงว่าแนวทางนั้นมีโอกาสจะถูกเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อพบว่า ยังก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย
* รู้จักการปฏิเสธ และหยุดการทำงาน เมื่อพบความผิดปกติ อย่าดันทุรังทำต่อ เพราะนั่นแปลว่า ท่านกำลัง แหก กฏ หรือวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ท่านและเพื่อนร่วมงานได้สร้างขึ้นมา
       อย่างไรก็ดี แม้ว่า เราสามารถสร้าง วัฒนธรรมความปลอดภัย ขึ้นได้ในหน่วยงาน แต่นั่นก็ไม่ได้รับประกันว่า ผู้ป่วยจะ ปลอดภัย จริงๆ จากการรับบริการในภาพรวมจากโรงพยาบาล อาทิเช่น เราสร้างแนวทางปฏิบัติงานในการรับสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยยึดหลัก วัฒนธรรมความปลอดภัย แต่หน่วยงานอย่างเช่น ห้องตรวจผู้ป่วยนอก (โอพีดี) สลับสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยก่อนส่งให้แก่เรา ผู้ป่วยก็ไม่มีทางที่จะปลอดภัยจริงๆ ได้ เปรียบเหมือนกับ โซ่ เส้นหนึ่งที่ประกอบไปด้วย ห่วงโซ่ ที่ร้อยต่อๆ กันไป ถ้ามี ห่วงโซ่ ชิ้นหนึ่งไม่แข็งแรง (ในที่นี้คือ บกพร่องในเรื่องวัฒนธรรมความปลอดภัย) ต่อให้ ห่วงโซ่ ชิ้นอื่นมีความแข็งแรง (ในที่นี้คือ มีแนวปฏิบัติโดยยึดเรื่องวัฒนธรรมความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ) โซ่เส้นนั้นก็มีโอกาสที่จะขาดไม่วันใดก็วันหนึ่ง ผู้ป่วยของเราก็คงไม่ปลอดภัยอย่างที่เราอยากให้เป็น

หมายเลขบันทึก: 23177เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2006 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท