ลักคณา พบร่มเย็น
อาจารย์ ลักคณา ลักคณา พบร่มเย็น พบร่มเย็น

ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินหรือที่รัฐถือกรรมสิทธิ์


ที่ดินของรัฐ ทรัพย์ของแผ่นดิน กรรมสิทธิ์

ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาหรือที่ดินที่รัฐถือกรรมสิทธิ์

 

          ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาหรือที่ดินที่รัฐมีกรรมสิทธิ์ เป็นที่ดินที่รัฐถือครองไว้เสมือนเอกชนและอยู่ภายใต้กฎหมายเอกชน ทรัพย์สินประเภทนี้ถือเป็นทรัพย์ในพาณิชย์  สามารถจำหน่ายจ่ายโอนและเอกชนสามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้  ที่ดินที่รัฐถือไว้อย่างเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ เป็นที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ที่มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น  กล่าวคือ ที่ดินดังกล่าวต้องมิได้ถูกใช้อย่างสาธารณประโยชน์หรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ รวมทั้งมิได้สงวน หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน รัฐในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวที่มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ย่อมมีสิทธิจำหน่าย จ่าย โอน หรือจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินได้โดยไม่ต้องอาศัยบทกฎหมายเฉพาะ  

---------------------------------------------------

ลักษณะการได้มาซึ่งทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา

---------------------------------------------------

          (1) ที่ดินที่ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาโดยทางนิติกรรม

              รัฐได้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน โดยเอกชนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินยกให้  ขายให้  แลกเปลี่ยน หรือบริจาค  เป็นต้น การได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวนี้รัฐหรือหน่วยงานรัฐมิได้เข้าไปใช้ประโยชน์ หรือสงวน หวงห้ามไว้เพื่อพลเมืองใช้ร่วมกัน ที่ดินประเภทนี้จึงยังมิได้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  หน่วยงานรัฐก็มีสิทธิจำหน่าย จ่าย โอนได้  โดยไม่ต้องอาศัยบทกฎหมายเฉพาะ  หากพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาแล้วช้างต้นที่ดินที่เป็นทรัพย์ของแผ่นดินธรรมดา หรือที่ดินที่รัฐถือไว้อย่างผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น  ย่อมเป็นที่ดินที่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้แก่ ที่ดินที่มีโฉนด , น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. และได้ตกมาเป็นของรัฐโดยผลของนิติกรรมระหว่างเอกชนกับหน่วยงานรัฐ

          (2) ที่ดินที่ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาโดยการยึดทรัพย์หรือริบทรัพย์

ที่ดินที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการยึดทรัพย์ ไม่มีเงินชำระหนี้แก่รัฐหรือหน่วยงานรัฐ เช่น หนี้ภาษี หนี้ค่าปรับ  เป็นต้น หรือริบทรัพย์ เพราะการกระทำความผิดกฎหมายอาญา พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542  ทำให้ที่ดินประเภทนี้ตกมาอยู่ในความดูแลของหน่วยราชการต่างๆ เช่น กรมบังคับคดี  กรมสรรพากร สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นต้น ที่ดินประเภทนี้หน่วยงานรัฐมิได้นำมาใช้ประโยชน์ หรือ สงวน หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน  แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบจะดำเนินการนำที่ดินที่ถูกยึดทรัพย์หรือถูกริบออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินรายได้เข้าสู่รัฐหรือกองทุนที่หน่วยงานรัฐได้ตั้งขึ้นโดยการจำหน่ายจ่ายโอนได้  โดยไม่ต้องอาศัยบทกฎหมายเฉพาะ เช่นกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นต้น    

          (3) ที่ดินที่ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาโดยผลของกฎหมาย

บทบัญญัติของกฎหมาย การประกาศใช้กฎหมายส่งผลให้ที่ดินของเอกชนที่ตกมาเป็นของรัฐ  เช่น

              -การประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 โดยในมาตรา 16 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว[1] ได้กำหนดให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนตกเป็นของเจ้าหน้าที่นับแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 ใช้บังคับ  โดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ความหมายของ "เจ้าหน้าที่" หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจหรือบุคคลอื่นใดผู้กระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืน

              -การประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ซึ่งตามมาตรา 36แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว[2] กำหนดให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส่งผลให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสามารถนำที่ดินดังกล่าวไปจัดให้เอกชนครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ในกรณีการจัดที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร หรือให้เอกชนเช่าซื้อได้ในกรณีที่เป็นการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเอกชนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2546 พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 36 ทวิ บัญญัติว่าบรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แสดงว่าที่ดินใดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและผู้ครอบครองไม่สามารถแสดงสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายที่ดินเหล่านั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. ที่ดินที่โจทก์นำยึดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงถือว่าเป็นของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินฯมาตรา 2 ซึ่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินฯ ให้อำนาจ ส.ป.ก. นำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 8 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงเป็นของ ส.ป.ก. หาใช่ของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์จะมีสิทธินำยึดไม่ ทั้งยังถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ห้ามยึดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 อีกด้วย เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการปฏิรูป แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ถือครองแต่ก็หาใช่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้สิทธิในที่ดินไม่ เพราะเป็นเรื่องในอนาคต โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ยึดทรัพย์ที่ดินแปลงดังกล่าวมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้โจทก์

---------------------------------------------------

ลักษณะของการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐ

---------------------------------------------------

            ที่ดินที่เป็นทรัพย์ของแผ่นดินธรรมดา หรือการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐ ทำให้ที่ดินของรัฐประเภทนี้ เป็นทรัพย์ในพาณิชย์ที่ สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้  โดยตกอยู่ภายใต้กฎหมายเอกชนทำให้ที่ดินของรัฐที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ.มาตรา 1304 และ1305  ที่ดินของรัฐประเภทนี้จึงสามารถจำหน่าย  จ่าย โอน และยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้  เนื่องจากบทบัญญัติ ป.พ.พ.มาตรา 1305[1] และมาตรา 1306[2] ห้ามเฉพาะสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  แต่สำหรับบทบัญญัติในป.พ.พ.มาตรา 1307[3] ห้ามยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่  จึงทำให้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาตกอยู่ในบังคับของป.พ.พ.มาตรา 1307   ดังนั้น  ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาอาจถูกครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382ได้เช่นกัน

                การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐ  จึงไม่เหมือนกับการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชน  เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนเป็นสิทธิเด็ดขาดของเจ้าของ ในการจำหน่าย ใช้สอย ติดตามเอาคืน และขัดขวางไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาละเมิดในที่ดินของตน  กรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐไม่เป็นสิทธิเด็ดขาดของรัฐ  หากรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเข้าไปใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่น หรือสงวน หวงห้ามไว้เพื่อให้พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน  จะส่งผลให้ที่ดินดังกล่าวกลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ห้ามโอน ห้ามอายุความขึ้นต่อสู้รัฐและห้ามยึดที่ดินของรัฐ ฉะนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐใช้ยันกับบุคคลภายนอกไม่ได้  ถ้าประชาชนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาใช้ที่ดินอย่างสาธารณประโยชน์ หรือหน่วยงานรัฐอื่นเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือสงวน หวงห้ามเพื่อให้พลเมืองใช้ร่วมกัน  แต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนเป็นสิทธิที่ใช้ยันกับบุคคลอื่นโดยทั่วไปที่เข้ามารบกวนสิทธิได้  โดยเอกชนมีสิทธิเด็ดขาดที่จะหวงกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามารบกวนสิทธิของตน ประกอบกับที่ดินของรัฐตกอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ.มาตรา 1307 คือ ห้ามยึดทรัพย์ของแผ่นดิน ส่งผลให้ที่ดินที่รัฐมีกรรมสิทธ์จึงไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี แต่ที่ดินที่เอกชนมีกรรมสิทธิ์สามารถยึดได้และตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี 

 ตารางแสดงลักษณะของการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชน 

กรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐ

กรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชน

1. รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ทรงสิทธิ

1. เอกชนเป็นผู้ทรงสิทธิ

2. สิทธิไม่เด็ดขาด หากรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือสงวน หวงห้ามไว้เพื่อให้พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน  จะส่งผลให้ที่ดินดังกล่าวกลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ห้ามโอน ห้ามอายุความขึ้นต่อสู้รัฐและห้ามยึดที่ดินของรัฐ

2. สิทธิเด็ดขาด ที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้อำนาจเจ้าของที่ดินจำหน่าย ใช้สอย ติดตามคืน ขัดขวางมิให้บุคคลอื่นเข้ามารบกวนทรัพย์สินของตน ถ้าเกิดความเสียหายย่อมเรียกค่าสินไหมทดแทน ป.พ.พ.มาตรา1336-1337

3. ทรัพย์ของแผ่นดินจะมีหรือไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินก็ได้

3 ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน คือที่ดินที่มีโฉนดตราจอง  โฉนดแผนที่  โฉนด (น.ส.4) ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน

4. กรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐใช้ยันกับบุคคลภายนอกไม่ได้  ถ้าประชาชนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาใช้ที่ดินอย่างสาธารณประโยชน์ หรือหน่วยงานรัฐอื่นเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือสงวน หวงห้ามเพื่อให้พลเมืองใช้ร่วมกัน

4. กรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนเป็นสิทธิที่ใช้ยันกับบุคคลอื่นโดยทั่วไปที่เข้ามารบกวนสิทธิได้  โดยเอกชนมีสิทธิเด็ดขาดที่จะหวงกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามารบกวนสิทธิของตน

5. ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาอาจถูกครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 ได้ เนื่องจากมาตรา 1306 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  กล่าวคือทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ.ในมาตรา 1306

5. ผู้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของเอกชนมีย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382

6. ที่ดินที่เป็นทรัพย์ของแผ่นดินตกอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ.มาตรา 1307 คือ ห้ามยึดทรัพย์ของแผ่นดิน จึงไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี

6. ที่ดินที่เอกชนมีกรรมสิทธิ์สามารถยึดได้และตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี

7. เจ้าของที่ดินไม่สามารถนำไปจำนองได้

7. เจ้าของที่ดินสามารถนำไปจำนอง

--------------

โดยสรุป

-------------

       ดังนั้น ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา ที่มิได้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกล่าวคือ มิได้มีการใช้ประโยชน์อย่างสาธารณะ หรือถูกสงวนหวงห้ามไว้เพื่อพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ จึงไม่ตกอยู่ภายใต้หลักห้ามโอน และห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดิน  ทำให้ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา จึงสามารถจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า หรือก่อให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นแก่รัฐได้  และสามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินได้        เช่นที่ดินที่ได้มาจากการริบทรัพย์ ซึ่งที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ที่รัฐและหน่วยงานของรัฐสามารถนำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินเข้ากองทุนหรือเข้าเป็นเงินรายได้ของแผ่นดิน เป็นต้น          

 

 

[1]มาตรา 16  ให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนตกเป็นของเจ้าหน้าที่นับแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 ใช้บังคับแต่เจ้าหน้าที่จะมีสิทธิเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นได้ ก็ต่อเมื่อได้จ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้แล้ว

[2] มาตรา 36 ทวิ  บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใดๆ ที่ ส... ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุและให้ ส... เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 

[3]มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา

[4] มาตรา 1306 ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน 

                [5] มาตรา 1307 ท่านห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้น จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

 

ไม่
หมายเลขบันทึก: 231735เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2008 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท