ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านวัฒนธรรมของเกาหลีใต้


ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านวัฒนธรรม

ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านวัฒนธรรมของเกาหลีใต้

 

บาว นาคร*

 

            ในยุคปัจจุบัน  รัฐบาลเกาหลีใต้ย้ำให้เกาหลีใต้เป็นสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง นอกจากนี้  รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มีการสร้างระบบราชการที่ให้ทุกคนต้องมีวินัย  และความเสียสละ  เพื่อความสำเร็จของงานที่ได้รับมอบหมายประดุจดั่งระบบของทหาร ผลแห่งการใช้อำนาจก่อให้เกิดผลลัพธ์  ดังนี้

 

            1.  การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ  แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง  ได้เขียนขึ้นอย่างรีบเร่งภายในเวลาเพียง  6  เดือน  ซึ่งทำให้หน่วยงานของรัฐทุกกระทรวงจ่างหันหน้าเข้าหากันเพื่อจัดทำแผน  ในแผนแม่บทรวมนั้นเป็นผลจากการเสนอโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและโครงการก่อสร้างปัจจัยพื้นฐานโดยกรมวางแผนทำการคัดเลือกลำดับความสำคัญเพื่อเสนอต่อกรมงบประมาณในการอนุมัติเงินงบประมาณให้ดำเนินการทันที 

 

            2.  คณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ  องค์กรเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจมี  2  ลักษณะ  คือ  สภาคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ  (ซึ่งเป็นแบบทางการ)  และการประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ  (ซึ่งเป็นการประชุมปรึกษาหารือไม่เป็นทางการ)  สภาคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ  มีหน้าที่ตระเตรียมงานและโครงการก่อนจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 

 

            3.  สรุปผลเศรษฐกิจรายเดือน  กระทรวงวางแผนจะทำการสรุปผลภาวะเศรษฐกิจให้แก่ประธานาธิบดีในหัวข้อเรื่องดังนี้  จำนวนผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรม  ราคาสินค้า  ดุลการชำระเงิน  สถานการณ์ทางด้านการเงินและการคลังของประเทศ  และเน้นพยากรณ์แง่แนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจระยะสั้น  การสรุปผลนี้กระทำขึ้นที่สำนักงานของกระทรวงวางแผน  โดยมีประธานาธิบดี  รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ  สมาชิกรัฐสภาจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน  และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง

 

            4.  กระทรวงมหาดไทย  ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรี  ทำให้อำนาจของผู้นำประเทศมีอยู่เหนือผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น  และสามารถสั่งการให้พวกเข้าปฏิบัติภารกิจสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลกลางโดยทันที  อย่างไรก็ตาม  มีโครงการหลายโครงการที่อาจจัดทำขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระทรวงมหาดไทย  เพราะมีการสั่งการโดยตรงจากรัฐบาลกลางไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายกเทศมนตรีเลย  ทั้งนี้  ก็เพื่อลดขั้นตอนการส่งผ่านเรื่องรีบด่วนไปตามสายงานนั่นเอง

 

            5.  องค์กรใกล้ชิดกับประธานาธิบดี  ประธานาธิบดี  ปัก  จุงฮี  และประธานาธิบดี  ชุน           ดฮวาน  ให้ความสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักในการบริหารประเทศ  ผู้นำประเทศจึงมีส่วนสำคัญทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนา  กล่าวคือ  ขั้นการสร้างนโยบาย  ขั้นการดำเนินงาน  และขั้นการประเมินผล  ดังนั้น  เพื่อให้ประธานาธิบดีสามารถติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิด  จึงได้มีการตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้น  2  หน่วย  คือ  คณะที่ปรึกษา  และสำนักงานเลขาธิการประธานาธิบดี  เพื่อให้ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลและสนับสุนนแนวคิดของผู้นำประเทศทุกกรณี

 

            6.  การรายงานประจำปี  เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อประธานาธิบดี  โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดผลต่อคณะทำงาน  (คนและกลุ่มคนที่ทำงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน)  ในแง่การสร้างสรรค์และพยายามที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเป้าหมายการพัฒนาของชาติ  ในเดือนธันวาคมของทุกปี  สำนักเลขาธิการประธานาธิบดีจะแจ้งให้แต่ละองค์การหลักว่า  การรายงานนั้นควรจะครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง  และควรใช้เวลาในการเสนอรายงานนานเท่าใด  (โดยปกติแล้วจะใช้เวลาหน่วยงานละ  1  ชั่วโมง)

 

            7.  สถาบันวิจัยของรัฐ  การมองเห็นการณ์ไกลของผู้นำรัฐบาลของเกาหลีใต้  มิได้จำกัดอยู่กับภาพวาดในอุดมคติหรือความเชื่อตามสามัญสำนึกเท่านั้น  แต่เป็นการมองภาพสังคมสาธารณรัฐเกาหลีผ่านทางกฎเกณฑ์ที่เป็นเหตุเป็นผลและข้อมูลที่หามาได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์  ดังนั้น  สถาบันวิจัยของรัฐจึงได้รับการจัดตั้งขึ้น  เพื่อศึกษาค้นคว้าและใช้ในการสร้างแผนพัฒนาฉบับที่สอง  อนึ่ง  สถาบันวิจัยเป็นที่รวมของนักวิชาการชั้นนำของประเทศ  และเชื้อเชิญขาวเกาหลีที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานนอกประเทศให้กลับมาทำงานให้กับประเทศชาติทั้งเป็นการชั่วคราวและถาวร  รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณเพื่อการวิจัยอย่างเพียงพอ  รวมทั้งตั้งเงินเดือนสูงกว่าเงินเดือนของข้าราชการทั่วไปเพื่อดึงดูดคนที่มีความรู้เข้ามาทุ่มเทกับการทำงานวิจัย

 

รัฐบาลเกาหลีใต้  เล็งเห็นความจำเป็นที่จะส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีไปสู่คนทั่วโลก เพื่อหวังผลที่จะให้ผู้คนรู้จักประเทศเกาหลี  อันจักก่อให้เกิดประโยชน์คือ  (1)  การซื้อสินค้าเกาหลีที่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ  และ    (2)  ชักชวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังเกาหลีจำนวนมากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้  รัฐบาลเกาหลียังประสงค์ที่จะให้เกาหลีเป็นข่าวในสื่อมวลชนทั่วโลกอยู่อย่างต่อเนื่อง  จึงส่งเสริมให้บรรจุเนื้อหาสาระเกี่ยวกับประเทศเกาหลีในหลักสูตรขั้นประถมศึกษาจนถึงขั้นอุดมศึกษาของประเทศต่างๆ  ทั้งนี้ทั้งนั้น  เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสังคมเกาหลีให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอีกทางหนึ่ง ท่ามกลางสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจในตอนปลายทศวรรษที่  1990  รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เร่งส่งเสริมให้ขยายอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม  (Cultural industry) ให้มีความแข็งแกร่ง 

 

            ส่วนทางตอนใต้ของกรุงโซลนั้น  มีการขยายศูนย์ศิลปะแห่งกรุงโซล  (Seoul Arts Center)  และศูนย์ศิลปะการแสดงพื้นเมืองแห่งชาติ  (National Center for Korean Traditional Performing Arts)  อีกทั้งมีแผนในการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของกรุงโซลสามารถเดินทางไปยังศูนย์ต่างๆ  ได้อย่างสะดวก  อนึ่ง  รัฐบาลปรับปรุงศูนย์วัฒนธรรมกษัตริย์เซจอง  (Sejong Cultural Center)  และโรงละครแห่งชาติ  (National Theater of Korea)  ที่ตั้งอยู่ใจกลางของกรุงโซลให้ทันสมัยขึ้นอีกด้วย

 

            รัฐบาลส่งเสริมปรับปรุงและขยายศูนย์วัฒนธรรมที่ตั้งอยู่นอกกรุงโซลจำนวน  30  แห่งทั่วประเทศ  เพื่อให้เกาหลีเป็น  เมืองวัฒนธรรม  (Cultural District)  ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทุ่มเงินกว่า  50  พันล้านวอน  (30  วอน  เท่ากับหนึ่งบาท)  เพื่อทำภาพยนตร์สารคดี  ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์  สิ่งตีพิมพ์  ดนตรีและข้อมูลที่เกี่ยวกับเกาหลีเพื่อส่งไปเผยแพร่ยังประเทศต่างๆ  ทั่วโลก  อนึ่ง  กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ได้จัดให้  ค.ศ.  2001  เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวเกาหลี  (Visit Korea Year 2001)  โดยมีการจัดงานทั่วประเทศ  เช่น  เทศกาลเล่นสกีและหิมะ  เทศกาลทางทะเลที่เกาะเชจู  เทศกาลการซื้อของและแฟชั่นนานาชาติ  เทศกาลกีฬาเทควันโด เทศกาลโสม  เทศกาลดนตรี  เทศกาลอาหาร  และเทศกาลระบำหน้ากากแห่งเมืองอันดงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีรัฐบาลพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านการชักชวนคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในเกาหลีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เพราะรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะช่วยให้ประเทศมีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้ง  อีกทั้งเป็นการเผยแพร่สินค้าของเกาหลีสู่ตลาดโลกด้วย ตลอดจนภาพยนตร์หรือละครทางประเทศเกาหลีใต้ได้รับความนิยมและได้รับการตอบรับในประเทศไทยและต่างประเทศเป็นอย่างดี

 

          เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า  เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก  มีจำนวนประชากรมาก  แต่ไร้ทรัพยากรธรรมชาติ  และมีภูมิอากาศที่ไม่ค่อยเป็นมิตร  ดังนั้น  การพัฒนาประเทศจึงยึดนโยบายการทำให้ประเทศเป็นสังคมอุตสาหกรรม  เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศนโยบายนี้เรียกว่า  นโยบายการมองออกไปสู่ภายนอก (Outward-Looking policy) ที่ได้สร้างขึ้นสมัยนายปัก จุงฮี  เป็นผู้นำประเทศใน ค.ศ. 1962  โดยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง  และได้ยึดถือเป็นแนวทางกระพัฒนาประเทศมาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้  จากนโยบายนี้เอง  ที่ยังผลให้เมืองโสมขาวก้าวขึ้นจากการเป็นสังคมที่ยากจนข้นแค้น  มาเป็นสังคมที่เจริญก้าวหน้า  ทันสมัย  และมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมเป็นหลัก  จนเป็นที่กล่าวขวัญว่า  เป็นประเทศที่สามารถพัฒนาได้รวดเร็วและได้รับความสำเร็จสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

ดำรง ฐานดี และยุทธพร อิสรชัย.กระบวนการพัฒนาและทางเลือกสาธารณะ หน่วยที่ 9.กรุงเทพฯ:

 

            สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2549.

 

 



* บุญยิ่ง ประทุม .[email protected]

 

 

หมายเลขบันทึก: 231347เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท