นู๋ปุ้ย
นางสาว ชฎาภรณ์ ปุ้ย ชำฆ้อ สนิมคล้ำ

เทคนิคการให้คำปรึกษา


การให้คำปรึกษา (Counselling)

1.  ความหมายของการให้คำปรึกษาแนะนำ  การปรึกษาแนะนำเป็นเครื่องมืออันมีค่าที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลให้คนที่ประสบปัญหา  สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาและผ่านพ้นอุปสรรคช่วงวิกฤตของชีวิตไปได้ด้วยตัวของเขาเอง

 การให้คำปรึกษาแนะนำ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอควรที่ผู้ให้คำปรึกษา  (Counsellor)  พึงปฏิบัติต่อผู้มาขอรับคำปรึกษา  ( counselee  หรือ  client)  อย่างเอาใจใส่  เพราะปัญหาที่ลึกซึ้งเปิดเผยได้ยาก  ผู้มีปัญหามักจะอาย  ทำให้ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความเป็นกันเอง  น่านับถือไว้ใจได้  รักษาความลับได้  มีทัศนคติที่ดี  มีทักษะในการให้คำปรึกษา  และมีความรู้เป็นอย่างดีในเรื่องที่จะให้คำปรึกษา

2.  วัตถุประสงค์ในการให้คำปรึกษาแนะนำ
                       2.1  เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาได้พูดระบายความรู้สึกคับข้องใจออกมา  อันจะทำให้เกิดความเข้าใจใน ความหมายของปัญหาและเหตุการณ์นั้นๆ  ได้
                       2.2  เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษา  ในการที่จะวางแผนเผชิญและแก้ไขสถานการณ์ปัญหาของผู้รับคำปรึกษาเองได้

3.  ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำคือใคร   ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ  ก็คือ  คนที่ถูกฝึกอบรมให้มีทักษะ  เหมาะสมที่จะเข้ารับหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำ  อย่างไรก็ดี  ผู้ให้คำปรึกษาก็ยังเป็นคนผู้ซึ่งมีความต้องการทางร่างกาย  จิตใจและสังคม  เป็นผู้ซึ่งถูกขัดเกลามาจากครอบครัวต่างๆ  กัน  ทำให้มีความเชื่อ  ค่านิยมในเรื่องราวต่างๆ  ที่ไม่เหมือนกัน  ตลอดจนเป็นผู้ที่มีจุดอ่อน  จุดเด่นในตัวเองที่แตกต่างกันไป  ลักษณะที่แตกต่างกันนี้เอง  อาจมีอิทธิพลส่งเสริมหรือขัดขวางในการให้คำปรึกษาแนะนำต่อผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคหรือผู้ป่วยและครอบครัวได้

 ดังนั้น  ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักตนเอง  รู้ว่าตัวเองมีความเชื่อและค่านิยมเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ  อย่างไร  และรู้จักระวังตนเองในการแสดงออกทางวาจาและท่าทางขณะให้คำปรึกษาแนะนำอย่างเหมาะสม รู้จักควบคุมและเผชิญอารมณ์ ความรู้สึก ความกลัว หรือความรู้สึกรังเกียจให้อยู่ในสภาพที่ไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่  หรือเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการให้มากที่สุด

                3.1  คุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ
                       3.1.1  เป็นผู้ที่มีความรู้ในเนื้อหาของเรื่องที่จะให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี
                       3.1.2  เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่น  บุคลิกมั่นคง  สามารถควบคุมอารมณ์  รับฟังปัญหา  และระบายความในใจของผู้มา

                                  รับบริการ
                       3.1.3  เป็นผู้ที่ผู้รับบริการยอมรับและให้ความเชื่อถือ
                       3.1.4  เป็นผู้ที่สามารถสร้างสัมพัทธภาพที่ดีกับผู้รับบริการโดยการวางตัวเป็นกันเอง
                       3.1.5  เป็นผู้ที่มีความเสียสละ  อดทน  ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้ผู้มารับบริการ
                       3.1.6  เป็นผู้ที่ได้รับการอบรมในการให้คำปรึกษาแนะนำโดยเฉพาะในเรื่องที่ได้รับมอบหมาย
                       3.1.7  เป็นผู้มีความสามารถในการสื่อสารเป็นอย่างดี

               3.2  ความรับผิดชอบของผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ
                       3.2.1  พยายามเข้าใจถึงสภาพจิตและสังคมของผู้ที่มารับคำปรึกษาทุกประเภท
                       3.2.2  นอกจากจะให้ข่าวสารด้านความรู้แล้ว  ยังต้องพยายามโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนะคติและ

                                  ปฏิบัติของผู้รับคำปรึกษาให้เป็นไปในทางที่เหมาะสม
                       3.2.3  รักษาความลับของผู้รับบริการ

               3.3  ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ
                       3.3.1  ผู้ให้คำปรึกษาควรได้วิเคราะห์ตนเองอยู่เสมอว่า  ตนเองเป็นคนอย่างไร  มีนิสัยใจคอ  ความรู้สึก  ความ

                                  เชื่ออย่างไร
                       3.3.2  ผู้ให้คำปรึกษาควรรู้จักขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น  หากรู้สึกว่าตนเองมีความกลัวหรือความรู้สึกสับสน

                                  ข้องใจในการให้บริการแก่ผู้รับคำปรึกษา
                       3.3.3  ผู้ให้คำปรึกษาควรได้มีการพบปะพูดคุยระหว่างวิชาชีพเดียวกันและต่างวิชาชีพ  เพื่อเป็นการให้กำลังใจ

                                  ซึ่งกันและกันในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ปัญหา

4.  ผู้รับคำปรึกษา  คือ  คนที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง  และต้องการความช่วยเหลือ  เพื่อให้มองเห็นสาเหตุและวิธีการแก้ปัญหา  ผู้รับคำปรึกษาแต่ละคนมีความแตกต่างกัน  เนื่องจากสาเหตุหลายประการคือ
                -  พื้นฐานของวัฒนะธรรมการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวแต่เยาว์วัย  ทำให้เกิดพลังจิตที่เข้มแข็งหรืออ่อนแอได้  ทำให้การรับรู้ปัญหาที่จะต้องมีวิธีการบำบัดแก้ไขของผู้รับคำปรึกษาแต่ละคนแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง  บางคนมีพลังจิตที่เข้มแข็งและอ่อนแอปะปนกัน  การบำบัดหรือการให้คำปรึกษาจะต้องนำเอาพลังจิตที่เข้มแข็ง  หรือจุดแข็งมาเอาชนะพลังจิตที่อ่อนแอหรือจุดด้อยให้จงได้
               -  การเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา  ตลอดจนสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดการมองตนเอง  การมองปัญหาของตนเองผิดแผกไปได้เหมือนกัน
              -  ความพร้อมของผู้มารับคำปรึกษา  การมารับบริการเพราะภาวะจำยอมต่างๆ  จะไม่เป็นผลต่อทุกฝ่ายที่อยู่ในวงการให้คำปรึกษา  โดยเฉพาะตัวผู้รับคำปรึกษาเพราะเขาจะขาดความคิดอย่างมีสติ  มีเหตุผล

5.  หลักการให้คำปรึกษา
                 5.1  พึงปฏิบัติต่อผู้รับคำปรึกษาแต่ละบุคคลอย่างที่เขาเป็นอยู่  ทั้งนี้เพราะแต่ละคนมาจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
                 5.2  ให้ผู้รับคำปรึกษาได้แสดงออกอย่างอิสระและพึงศึกษาถึงการแสดงออกทางความรู้สึกของเขา  เพราะการแสดงออกเหล่านั้นมีความหมาย  ถ้าเขาท้อแท้ก็กระตุ้นให้แสดงออกโดยการพูดออกมา
                 5.3  พึงควบคุมอารมณ์ขณะให้คำปรึกษาแนะนำ  ไม่คล้อยตาม  แต่ต้องไวต่อความรู้สึกที่ผู้รับคำปรึกษาได้แสดงออกมา  พยายามทำความเข้าใจแล้วตอบได้อย่างเหมาะสม
                 5.4  พึงยอมรับพฤติกรรมของผู้รับคำปรึกษา  ทั้งจุดเด่นและจุดด้อย  การมีบรรยากาศของการยอมรับจะช่วยลดกลไกการป้องกันตนเองให้น้อยลงและได้ข้อเท็จจริงมากขึ้น
                5.5  พึงให้ผู้รับคำปรึกษาตัดสินใจด้วยตนเอง  ผู้ให้คำปรึกษาอาจชี้ทางออกหลายๆ  ทาง  ให้เขาพิจารณาหาทางที่ดีที่สุด  เพื่อแก้ไขหรือป้องกันปัญหา
               5.6  พึงรักษาความลับของผู้รับคำปรึกษาตามจรรยาบรรณ  มิฉะนั้นอาจนำความเสียหายมาสู่ผู้รับคำปรึกษาและผู้เกี่ยวข้องได้
                 5.7  พึงระวังไม่ยึดค่านิยมของผู้ให้คำปรึกษาเป็นหลักในการตัดสินใจว่าเขาไม่ดี  แต่ต้องปรึกษาปัญหาและพฤติกรรมต่างๆ  ของผู้รับคำปรึกษาและวิเคราะห์ปัญหาไปพร้อมๆ  กับผู้รับคำปรึกษาเพื่อเขาจะได้เรียนรู้ตนเองมากขึ้น

6.  ขั้นตอนในการให้คำปรึกษาแนะนำ  นั้นเราใช้คำว่า  -  GATHER  -  ซึ่งประกอบด้วย
G  -  Greeting  การต้อนรับ  ท่าทาง  คำพูด  การตกลงบริการ
           -  เมื่อผู้รับคำปรึกษาเข้ามา  กล่าวคำทักทาย  ถามชื่อ  เชื้อเชิญให้นั่งแนะนำตนเอง  ควรจัดเก้าอี้ระยะห่างระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษาให้อยู่ในระยะที่พอดี  ไม่ไกลจนเกิดอาการเกร็ง  หรือห่างเกินไปจนต้องใช้เสียงดัง
           -  สายตามี  eye  contact  ควรจะมองแต่ไม่ใช่จ้อง
           -  ท่านั่งควรจะให้เรียบร้อย  ไม่ควรนั่งเผชิญหน้าควรตั้งเก้าอี้อยู่ทางด้านข้าง
           -  ไม่ควรวางมือเกะกะหรือบีบของ  เช่น  ปากกาที่อยู่ในมือ
           -  การนั่งด้านข้างจะทำให้เห็น  Non  Verbal  ของผู้มารับคำปรึกษาด้วย
           -  การพูดคุยควรเป็นคำพูดกลางๆ  เช่น  มีอะไรจะให้ช่วยบ้าง  มีอะไรที่มาวันนี้  หลังจากทราบความต้องการของผู้รับคำปรึกษาแล้วก็ตกลงบริการ  ซักถามข้อมูล
A  -  Active  listening  การฟัง
            -  ควรฟังด้วยท่าทางที่เป็นมิตร
            -  เมื่อเกิดความเงียบให้ใช้คำถามช่วย  คำถามที่ใช้ส่วนมากจะใช้คำถามเปิด  อะไร  อย่างไร  พอจะบอกหรือเล่าเหตุการณ์ได้ไหม  ไม่ใช้คำถามว่าทำไม  ควรระมัดระวังคำถามเพราะถ้าถามไม่ดี  จะดูเหมือนว่าเราตำหนิติเตียน  เราจะใช้คำถามปิดเมื่อต้องการคำยืนยัน
            -  Silence  ความเงียบ  Active  Silence  เงียบเนื่องจากผู้มารับคำปรึกษา  ได้มีโอกาสทบทวน  Passive  Silence  เงียบตลอดไม่พูดเลย  น่ากลัวมาก  ต้องใช้คำถามกระตุ้นให้พูด
T  -  Telling  เป็นการช่วยเหลือที่จะหาปัญหาจริงๆ

             Surface  Problem  เป็นปัญหาที่เห็นผิวเผิน  ไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง  แต่จะเป็นสิ่งที่นำเขาให้มารับบริการ
              Real  Problem  คือปัญหาที่แท้จริงหรือต้นเหตุซึ่งต้องขจัดออกไป  มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาอยู่เรื่อยๆ

H  -  Helping  ช่วยให้เขาตัดสินใจแก้ปัญหาได้  โดยการให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง  เสนอแนวทางเลือกให้หลายๆ  วิธี

E  -  Explaining  อธิบายข้อดี - ข้อเสียของแต่ละแนวทางที่เสนอ  แล้วให้เขาตัดสินใจเลือกวิธีการและแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง  หลังจากนั้นจะสรุปความ  ประเด็นต่างๆ  ในการให้บริการ  เพื่อผู้รับคำปรึกษาได้เข้าใจปัญหาของตนเองได้เด่นชัดขึ้นสรุปแนวทางการแก้ไขที่ผู้รับคำปรึกษาได้เลือกแล้ว
R  -  Refer    ผู้ให้คำปรึกษาส่งต่อผู้มารับคำปรึกษาให้กับผู้อื่นที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนั้น  เพื่อช่วยให้ผู้มารับคำปรึกษาได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ หลังจากเสร็จสิ้นการให้คำปรึกษาทุกครั้ง  จะต้องกล่าวปิดการให้คำปรึกษา  ซักถามข้อข้องใจที่เขายังมีอยู่และกล่าวคำอำลา

7.  องค์ประกอบของกระบวนการให้คำปรึกษา ในการให้คำปรึกษานั้น  ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องเข้าใจองค์ประกอบในกระบวนการให้คำปรึกษา  ซึ่งประกอบด้วย
                 7.1  มีความรู้  (Knowledge)  ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี  รวมไปถึงความรู้พื้นฐานที่จะทำความเข้าใจในปัญหาของผู้รับบริการ  รู้จุดเด่นและจุดด้อย  และสามารถให้การศึกษาให้ความรู้แก่ผู้ที่มีปัญหาได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
                 7.2  มีทัศนคติ  (Attitude)  ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำจำเป็นที่จะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการ  มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือ  มีความเข้าใจและเห็นใจความรู้สึกร่วมไปกับผู้ที่มีปัญหา  จะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจในเกียรติภูมิและความมีคุณค่าของการเป็นมนุษย์  ช่วยให้รู้สึกไม่อายที่จะพูดถึงปัญหาของตนและค้นหาความเป็นจริง  เพื่อทำความเข้าใจในพฤติกรรมของคน
                  7.3  มีทักษะ  (Skill) ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีทักษะในการให้คำปรึกษา  ซึ่งหมายถึงการนำความรู้และทัศนคติดังกล่าวแล้วมาประยุกต์ใช้ในการให้คำปรึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ  เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน  ทำให้ผู้มีปัญหามีทางออก  เข้าใจตนเอง  เป็นที่พอใจที่ได้รับความช่วยเหลือ  ทักษะในการให้คำปรึกษาก็เหมือนกับ  ทักษะในการให้บริการทางด้านจิตวิทยาสังคม  ประกอบด้วย
                      7.3.1  ทักษะในการสร้างสัมพันธภาพการเอาใจใส่  ประกอบด้วย
                                  7.3.1.1  การมอง  มองด้วยความสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือ
                                  7.3.1.2  กริยาท่าทาง  มีความเป็นกันเอง  แสดงความจริงใจ
                                  7.3.1.3  น้ำเสียง  เป็นกันเอง  จังหวะพูดไม่เร็วหรือช้า  เบาหรือดังจนเกินไป
                                  7.3.1.4  การพูดแบบเป็นกันเอง  และพูดอยู่ในเรื่องราวที่เป็นปัญหา  หรือเรื่องที่ผู้รับ คำปรึกษาต้องการ

                                ปรึกษาในขณะนั้น
                7.4  ทักษะในการฟัง  Listening  Skill   ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความสนใจเอาใจใส่รับฟังปัญหาของผู้รับคำปรึกษาเพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาได้พูดระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจออกมา  

7.5  ทักษะในการตอบโต้  Responding  Skill    เพื่อสนทนาหรือพูดคุยกับผู้รับคำปรึกษา  หลังจากใช้ทักษะการฟังมาแล้ว  ซึ่งทำให้ผู้รับคำปรึกษาได้ข้อมูลมาเพียงพอ  มีความสนิทสนมกันดีขึ้นแล้วจะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจปัญหาตนเองดีขึ้น  การตอบโต้นี้ถ้าเร็วเกินไป  อาจทำให้ผู้รับการปรึกษาปฎิเสธการช่วยเหลือหรือไม่มารับบริการอีก  วัตถุประสงค์ของทักษะในการตอบโต้มุ่งหวังให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงและแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่หวังไว้
 ทักษะในการตอบโต้มีเทคนิคที่สำคัญคือ
                        7.5.1 การซักถาม  ให้ใช้คำถามเปิดมากกว่าคำถามปิด  ไม่ใช้คำว่า”ทำไม”  มาใช้คำว่า  “อะไร”  แทนได้
                        7.5.2 การสนับสนุนให้กำลังใจ  เทคนิคนี้กระตุ้นให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกว่ามีผู้ให้กำลังใจ  เขามิได้เผชิญปัญหาอยู่คนเดียว  ทำให้ผู้รับคำปรึกษารู้ว่าเขามีความสามารถ  มีศักยภาพที่จะทำอะไรได้  มีความคิดริเริ่มที่จะต่อสู้รวม  ทั้งมีความมั่นใจ  ปกติแล้วผู้รับคำปรึกษาบางคนขาดความคิดริเริ่ม  ไม่กระตือรือร้นจึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคนี้
                       7.5.3 การเผชิญหน้า  เทคนิคนี้ใช้เมื่อผู้รับคำปรึกษามีความสับสน  มีความขัดแย้งระหว่างพฤติกรรมและความคิดความรู้สึกของตน  เพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้รับรู้ถึงความขัดแย้งดังกล่าวและนำมาวิเคราะห์ตนเอง  แม้ว่าจะทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บใจอยู่บ้าง  เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ไปสู่พฤติกรรมที่เหมาะสม
                       การใช้เทคนิคนี้มักจะใช้เมื่อมีข้อมูลต่างๆ  เพียงพอ  และผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษามีความสนิทสนมพอควรแล้ว  ไม่ควรใช้เทคนิคนี้บ่อยๆ  อาจใช้เพียงครั้งเดียวในระยะที่ปรึกษากัน  หากใช้บ่อยๆ  จะไม่เกิดผลดี  ผู้รับคำปรึกษาจะรู้สึกว่าเป็นการตำหนิติเตียนไม่เห็นด้วยหรือรู้สึกขัดแย้ง
                       การใช้เทคนิคเผชิญหน้า  เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษายอมรับความจริงกล้าที่จะเผชิญความจริง เต็มใจที่จะแก้ปัญหา  จึงต้องการที่จะสำรวจตนเองแล้วปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมนั้นเอง
                     7.5.4 การตีความหมาย  เทคนิคนี้หมายถึงการตีความหรือแปลความหมาย  เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจถึงปัญหาของตน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมความคิด  ความรู้สึกที่เขาได้แสดงออก  แม้ว่าเขาไม่ได้เปิดเผยแสดงออกมาตรงๆ  แต่การแสดงออกจะมีความหมายทั้งสิ้น  การตีความหรือแปลความหมาย  เพื่อให้ผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษามีความเข้าใจสื่ออารมณ์กันได้และเข้าใจความจริง  จึงเป็นเทคนิคที่ทำให้ผู้รับคำปรึกษาเชื่อถือมีศรัทธาต่อผู้ให้คำปรึกษามากขึ้น  มีความสัมพันธ์ดีขึ้น  ยอมเปิดเผยตนเองมากขึ้นทำให้ผู้รับคำปรึกษาได้สำรวจตนเองไปด้วย  เมื่อผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษาเห็นใจและเข้าใจร่วมกัน  ย่อมช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจตนเองปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนให้มีความสุขในชีวิต
                     เทคนิคนี้มีจุดอ่อน คือ ผู้ให้คำปรึกษามีอคติ  ซึ่งทำให้ตนเองใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตของตนที่จะต่อต้านพฤติกรรมบางอย่าง  เช่น  คนมีปัญหาชีวิตคู่ทำให้ไม่อยากแต่งงาน  เลยตีความหมายและให้คำปรึกษาไปในทางเดียวกับตน  ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง  เพราะชีวิตของผู้รับคำปรึกษามิใช่ชีวิตของผู้ให้คำปรึกษา

             7.6  ทักษะในการเปิดเผยตน   การเปิดเผยตนเองถึงความรู้สึกของผู้ให้คำปรึกษา  เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของการให้คำปรึกษา  เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับคำปรึกษา  วัตถุประสงค์เพื่อให้บรรยากาศเป็นกันเองช่วยให้ผู้ให้คำปรึกษาบอกเรื่องราวต่างๆ  ของตน  เมื่อผู้รับคำปรึกษารู้สึกว่าผู้ให้คำปรึกษาก็มีลักษณะคล้ายๆ  กับตน  ก็จะช่วยให้เขารู้สึกสบายใจขึ้นไม่มีช่องว่างระหว่างกัน  อยากรู้ทางออกหรือแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้ให้คำปรึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเองที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของตนไปในทางสร้างสรรค์ต่อไป
                การเปิดเผยตนเองนี้จะเกิดประโยชน์ต่อผู้รับคำปรึกษาที่จะเปิดเผยเรื่องทั่วไปของเขา  เช่น  เรื่องความไม่สบายใจเป็นต้น  เรื่องส่วนตัวที่ไม่ลึกซึ้งมาก  เรื่องอื่นๆ  ที่เกี่ยวกับจุดเด่นและจุดด้อยของเขา  เพราะเรื่องเหล่านี้ผู้ให้คำปรึกษาก็มีเช่นกันในฐานะปุถุชน

             7.7  การมุ่งที่ปัจจุบัน  (Immediacy)  และทักษะที่นำมาประยุกต์ใช้ การให้คำปรึกษาเป็นการสะท้อนความคิดความรู้สึกของผู้ให้คำปรึกษาและของผู้รับคำปรึกษา  ซึ่งเป็นการสัมพันธ์กันในทางที่ดีหรือทางที่เกิดประโยชน์ต่อผู้รับคำปรึกษาในที่นี้  ขณะนี้  ( Here  and  Now)  โดยใช้เทคนิคต่างๆ  ดังกล่าวแล้ว  เพื่อที่จะเปิดเผยเรื่องราวและความรู้สึกต่างๆ  ออกมา
 โดยปกติผู้รับคำปรึกษามักจะเก็บกดความรู้สึก  หรือปกปิดเหตุการณ์หรือความรู้สึกบางอย่างเอาไว้  บางครั้งผู้รับคำปรึกษามีความรู้สึกต่อต้านด้วย  ซึ่งเป็นการยากที่จะให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยดี  จึงต้องเริ่มจากปัจจุบันก่อนไม่ก้าวลึกลงไปถึงอดีต
              " การให้คำปรึกษาแนะนำจะได้รับความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการที่จะนำเอาความรู้  มีทัศนคติที่ดี  และมีทักษะในการให้คำปรึกษาและนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม "

หมายเลขบันทึก: 231147เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2008 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การให้คำปรึกษา (Counselling)ถือว่าดีมากๆ " การให้คำปรึกษาแนะนำจะได้รับความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ ถูกต้องนะกั๊บ

ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำคือใคร...อาจารย์ของเรางัยค่ะ

ใครเขียนนี่สุดยอด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท