การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันของประเทศไทย


การบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่องค์กรทั่วโลกใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้มีอยู่ไม่กี่รูปแบบ และก็มีหลายๆ องค์การที่นำเอากลยุทธ์การบริหารมากกว่าหนึ่งรูปแบบมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับองค์การของตนที่สุด ตัวอย่างเช่น องค์การหนึ่งอาจจะใช้กลยุทธ์ด้านทรัพยากรมนุษย์รูปแบบหนึ่งกับหน่วยงานที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง และใช้อีกกลยุทธ์หนึ่งกับหน่วยงานที่เน้นเรื่องการวิจัยพัฒนา
ระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันที่หลายๆ คนมักจะคุ้นหูกันว่า ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล จะต้องทำหน้าที่เป็น strategic partner ขององค์กรนั้น ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลจึงจำเป็นต้องสร้างบทบาท และปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลใหม่ ให้สามารถตอบสนองความต้องการขององค์กร โดยอาศัยคนเป็นปัจจัยหลักในการบรรลุความสำเร็จขององค์กรนั้นมากกว่า ที่จะทำหน้าที่เป็นตำรวจคอยตรวจสอบ และลงโทษพนักงานที่กระทำความผิด หรือพนักงานธุรการ ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และจัดเตรียมเอกสารให้เป็นไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น

บทบาทในฐานะ strategic partner ด้านระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคล
สามารถจำแนกออกเป็นประเด็นต่างๆ โดยคร่าวๆ เพื่อใช้สำหรับเป็นแนวทางในการบริหารได้ดังนี้


1. การถ่ายทอดวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร
ซึ่งหมายถึงทิศทางในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ตลอดจนเป้าหมายที่บริษัทต้องการให้บรรลุความสำเร็จนั้น ผู้ที่รับผิดชอบงานระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคล จำเป็นต้องศึกษา ทำความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจขององค์กร และมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กรด้วย เพื่อที่จะได้สามารถถ่ายทอดวิสัยทัศน์ หรือพันธกิจของบริษัทลงไปสู่ระดับบริหาร ตลอดจนพนักงานในระดับปฏิบัติการ เพื่อให้พนักงานทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจในทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท แนวทางในการบริหารงาน และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยภาพรวมตลอดจนการกำหนดระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้ตอบสนองวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กรได้อย่างชัดเจน

2. การส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานแบบเน้นผลงาน
ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในเชิงธุรกิจ องค์กรต่างๆ ก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเองให้ทันกับสถานการณ์การแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน เรามักจะเห็นว่า หลายๆ องค์กรพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมในการทำงานขึ้นมาใหม่ ที่มักจะเรียกว่า วัฒนธรรมของการมุ่งเน้นที่ผลการทำงาน กล่าวคือ พยายามที่จะสร้าง หรือหล่อหลอมให้พนักงานทุกคนในองค์กรต้องตระหนัก และเห็นความสำคัญของผลงานมากกว่า การทำงานแบบสบายๆ เหมือนในอดีต ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบงานระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคล ที่จะต้องสร้างระบบด้านการบริหารขึ้นมาสนับสนุนวัฒนธรรมดังกล่าว เช่น
การกำหนดมาตรฐานในการวัดผลการปฏิบัติงานของตำแหน่งงานต่างๆ ในองค์กร เพื่อให้สามารถวัดผลการทำงานของพนักงานได้อย่างชัดเจน มากกว่าการใช้ความรู้สึกเป็นแนวทางในการวัดผลการปฏิบัติงาน หรือการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในการประเมินผลการทำงานของพนักงาน
การกำหนดระบบผลตอบแทนบนพื้นฐานของความสามารถในการปฏิบัติงาน เพื่อที่จะสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานกับบริษัท และกระตุ้นให้พนักงานแสดงศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ ตลอดจนเพื่อเก็บบุคลากรที่มีความสามารถให้ทำงานกับบริษัทต่อไปได้ในระยะยาว เป็นต้น ดังนั้น ระบบผลตอบแทน ควรที่จะขึ้นอยู่กับความสามารถของพนักงานมากกว่าอายุงาน หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวอันเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของพนักงานที่มีศักยภาพ และความสามารถ
การกำหนดทิศทางในการพัฒนาพนักงานอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานได้รับการพัฒนาความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงาน อันส่งผลต่อการสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

3.การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กร
ซึ่งจะเป็นการมององค์กรโดยภาพรวมว่า องค์กรจะเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานได้อย่างไร ทั้งนี้ ขอยกประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพบรรยากาศการทำงานในองค์กร ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้บริหารของฝ่ายงานต่างๆ มักจะมุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตนเองเป็นหลัก พยายามจะแสวงหาวิธีในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานอาจจะมาจากสภาพบรรยากาศการทำงานขององค์กรโดยภาพรวมที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อประสิทธิภาพในการทำงานก็เป็นได้ ดังนั้น ผู้ที่รับผิดชอบงานระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคล จะต้องทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการปรับปรุง แก้ไข และเสนอแนะสภาพบรรยากาศการทำงานในองค์กร โดยพิจารณาในแง่มุมต่างๆ ดังนี้


· ความชัดเจนในการทำงาน
· มาตรฐานในการทำงาน
· ความยืดหยุ่นในการทำงาน
· ความรับผิดชอบตามตำแหน่งงาน
· การทำงานเป็นทีม
· ระบบผลตอบแทน


ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่ระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลในปัจจุบัน จำเป็นต้องสร้างความชัดเจน และหาแนวทางในการพัฒนาประเด็นดังกล่าว อันถือว่าเป็นภาระหน้าที่หลัก ที่ส่งผลต่อบรรยากาศการทำงานภายในองค์กร และส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรโดยภาพรวมต่อไปด้วย
จากบทบาทของระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลที่ทำหน้าที่เป็น strategic partner ให้กับองค์กรในประเด็นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นโดยคร่าวๆ นั้น จะสังเกตเห็นได้ว่า สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรในเชิงของประสิทธิภาพได้ค่อนข้างมาก และจากการที่ผมได้มีโอกาสในการพบปะกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ นั้น จะสังเกตเห็นได้เลยว่า ผู้บริหารขององค์กรท่านใด ที่ให้ความสำคัญกับระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคล องค์กรเหล่านั้น มักจะประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
 
 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23097เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2006 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท