เขาแบ่งกำไรกันอย่างไรจากอุตสาหกรรมหนัง? ตอนที่ 2


การแบ่งกำไรจาก "กำไรสุทธิ" (Participation in net profits)
สำหรับโปรดิวเซอร์และนักแสดง ส่วนใหญ่จะไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมรู้เห็นกับกำไรที่ได้จากภาพยนตร์สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะกำไรที่เป็น "กำไรสุทธิ (Net profit)" ซึ่งมักมีประมาณ 2-10% และดูไม่ค่อยน่าสนใจนัก แต่ความพิเศษของกำไรสุทธิตัวนี้ก็คือ เป็นกำไรที่ได้มาจากภาพยนตร์ภายหลังจากที่มีการหักลบค่าใช้จ่ายออกหมดแล้ว จึงจะได้เป็นตัวเลขของกำไรตัวนี้เกิดขึ้น คำถามต่อมาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ อะไรคือค่าใช้จ่ายที่อนุญาตให้นำมาหักลบได้?


โดยทั่วไปผู้จัดจำหน่ายจะรวบรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ มาไว้เป็นก้อนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน ค่าบริการจัดจำหน่าย ฯลฯ ที่มาจากรายจ่ายทั้งหมด เพื่อที่จะนำมาหักลบกับรายรับที่ได้รับมาก่อนที่จะตัดจ่ายออกไป ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ได้แก่


1. ค่าบริการจัดจำหน่าย (Distribution fee)

ค่าบริการจัดจำหน่ายนี้มักจะรวมค่าจัดการบริหารงานทุกอย่างให้การจัดจำหน่ายเป็นไปโดยราบรื่น และรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการบริหารจัดการนั้นๆ แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่า มักจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือค่าใช้จ่ายแอบแฝงเกิดขึ้นเสมอเพื่อมาตัดตัวกำไรที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ออก โดยเฉพาะความผันแปรของค่าจัดจำหน่ายที่มีการขึ้น ๆ ลง ๆ เสมอ ปีต่อปี เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่ลูกค้าถามถึงค่าบริการจัดจำหน่าย (Distribution Fee) ก็มักจะได้รับคำตอบในทำนองว่า เริ่มต้นที่....เท่านี้ถึงเท่านี้ และมักจะไม่มีการระบุเจาะจงลงไปให้แน่นอนตายตัว


ทั้งนี้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของต้นทุน จำนวน และกำไรนี้จะถูกต้องแม่นยำเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการคำนวณหาต้นทุนผันแปร และต้นทุนคงที่ ของผู้จัดจำหน่ายว่าจะสามารถคำนวณหาได้ถูกต้องแน่นอนเพียงใด ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ต้องอาศัยข้อมูลทางการตลาดเข้ามาเสริม
ในสหรัฐฯและแคนาดาค่าใช้จ่ายที่จะถูกนำมาหักลบจะอยู่ที่ประมาณ 30-40% จากยอดรวมรายได้ทั้งหมดในประเทศ ส่วนรายได้ในอังกฤษจะหักลบประมาณเกือบ 40% และรายได้ที่ขายได้จากที่อื่น ๆ ในโลกจะหักมากกว่าปกติคือเกินกว่า 40% มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่โครงสร้างของค่าบริการ(fee) จะถูกคิดเพียงเล็กน้อย


โดยทั่วไปผู้จัดจำหน่ายมักจะหักลบค่าบริการ (Distribution fee) ภายในประเทศไว้ที่ 30-40% จากรายได้ทั้งหมด แต่ถึงจะหักลบไปมากขนาดนั้นแล้วก็ตามผู้จัดจำหน่ายก็ยังจะเอาค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริงบวกกับค่าโสหุ้ยจิปาถะซึ่งมากกว่า 15% เข้ามาหักลบกับยอดรายได้นี้ไว้ด้วยเช่นกัน

2. ค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่าย (Distribution expenses)

เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการขายซึ่งรวมถึงค่าโฆษณาและค่าขนส่งออก ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะถูกคิดต่อเมื่อได้มีการคิดหักลบค่าบริการจัดจำหน่าย (Distribution fee)ไปแล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้มักจะได้แก่ ค่าแล็ป / ต้นทุนค่าพิมพ์ฟิล์มเพิ่ม(release print costs) / ค่าโฆษณา (ซึ่งมักจะบวกเพิ่มเข้าไปประมาณ 8-12% จากค่าใช้จ่ายในการโฆษณาจริง) / ค่าอนุญาตการใช้สิทธิ / ต้นทุนการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ / ภาษี และต้นทุนในตรวจเช็คค่าใช้จ่าย (Checking cost) / ต้นทุนการแปลบทภาพยนตร์จากภาษาหนึ่งไปสู่แต่ละภาษา (translation and subtitle costs)/ ค่าทำซ้ำ(reissue or re-release) / ค่าแปลงformat film (film formatting costs) / ค่าขนส่งทางเรือ (Shipping costs) / ค่าจดทะเบียนการค้า (copyright registration costs) / ค่าฟ้องร้องหรือดำเนินคดี (litigation expenses) กรณีมีปัญหา และต้นทุนค่าใช้สิทธิ (Royalty costs)


ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อสื่อโฆษณาในบางครั้งอาจมากกว่า 50% ของทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เพราะผู้จัดจำหน่ายจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นจะสามารถทำกำไรกลับมาให้ได้สูงสุด


ส่วนการบวกเพิ่มอีก 8-12% สำหรับค่าการทำโฆษณานั้นเป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายมากพอสมควรโดยเฉพาะถ้าเป็นการทำจากบริษัทในเครือของผู้จัดจำหน่าย ในปัจจุบันจึงมักใช้เป็นบริษัทข้างนอก (third parties) เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนเรื่องค่าพิมพ์ฟิล์มใหม่ในแต่ละครั้งเพื่อแจกจ่ายฉายในแต่ละที่ ผู้จัดจำหน่ายกับบริษัทแล็ปมักจะมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน และจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันเรื่อย ๆ การกำหนดราคาของแล็ปบางครั้งจึงมีการลดหย่อนให้กับผู้จัดจำหน่ายที่สั่งพิมพ์ฟิล์มกันเป็นประจำ เพื่อให้ผู้จัดจำหน่ายสามารถไปเพิ่มราคาต่อได้ หรือในบางครั้งบริษัทแล็ปก็ตอาจจะมีเงื่อนไขพิเศษคือ คิดราคาเหมา (Discount package)ให้ก็ได้ ซึ่งการได้ส่วนลดตรงนี้ผลประโยชน์ก็ไม่ได้ตกมาถึงเจ้าของภาพยนตร์หรือคนอื่น ๆ (Studio or participants) ที่รอรับผลประโยชน์เลย (คงมีประโยชน์แค่เฉพาะกับผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น)


3. ดอกเบี้ยจากค่าใช้จ่าย (Interest on negative cost)

ค่าใช้จ่ายติดลบ(Negative Cost)นี้โดยทั่วไปจะหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตภาพยนตร์ (อาทิเช่น ด้านเทคนิค / ทีมงาน / การสร้างฉาก / ค่ากินอยู่ (Catering) / ค่าเช่าอุปกรณ์ ฯลฯ) ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มักจะถูกบวกเอาไว้ที่ 2% ผู้จัดจำหน่ายมักจะเก็บรวบรวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้เอาไว้ก่อนที่จะไปบวกรวมกับค่าใช้จ่ายจริง ทั้งนี้ก็เพื่อหวังกินกำไรส่วนต่างในระยะยาวจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อนำไปผลิตภาพยนตร์ (กรณีที่ผู้จัดจำหน่ายเป็นนายทุนร่วมด้วย)


4. ค่าใช้จ่ายติดลบ (Negative Cost)

ผู้จัดจำหน่ายจะหักลบค่าใช้จ่ายใด ๆ ก็ตามจากค่าใช้จ่ายในการผลิตจริงและบวกค่าการตลาดหรือค่าอะไรก็ไม่รู้ที่อธิบายไม่ได้เข้าไปอีกประมาณ 15% ของค่าใช้จ่ายติดลบ (Negative Cost)


5. ค่าใช้จ่ายที่เกินงบประมาณ (Overbudget penalty) 

ค่าใช้จ่ายที่เกินงบประมาณนี้ในบางครั้งเรียกว่า "ค่าใช้จ่ายที่ถูกบวกเข้ามาในภายหลัง (overbudget add-back penalty)" โดยมากจะเกิดจากขั้นตอนการควบคุมงบประมาณที่ผิดพลาดของโปรดิวเซอร์หรือค่าใช้จ่ายที่ควบคุมไม่ได้บางอย่าง ซึ่งทางผู้จัดจำหน่ายจะคิดค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายติดลบ(Negative Cost) เพื่อใส่ในช่องงบประมาณที่เกินออกมา (จากงบที่ตั้งไว้) ซึ่งโดยมากจะเป็นงบที่ทางผู้จัดฯได้คำนวณบวกลบเอาไว้แล้วประมาณ 10% และถ้าโปรดิวเซอร์กับผู้จัดจำหน่ายรู้จักกันบางครั้งก็อาจจะมีการบวกดอกเบี้ยลงไปในงบประมาณที่เกินออกมาด้วย (may charge interest on the overbudget penalty) ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้ได้รับผลประโยชน์ร่วมคนอื่นๆ


6. กำไรที่รอตัดบัญชี / การรอรอบบัญชี (Distribution fee)

คือเงื่อนไขที่ผู้จัดฉาย (เช่นโรงภาพยนตร์) จะจ่ายเงินกลับมาให้ภายในระยะเวลาตามแต่กำหนด เช่น อาจจะประมาณ 2 อาทิตย์ภายหลังจากที่มีการฉายโรงภายในประเทศแล้ว หรือ เมื่อภาพยนตร์เริ่มมีกำไรก็จะจ่ายเงินกลับมาให้ เป็นต้น ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ผู้จัดจำหน่ายจะต้องแน่ใจว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นไปถึงสุดทางความสำเร็จแล้วจริง ๆ (ซึ่งอาจจะได้บ็อกซ์ออฟฟิศหรือไม่ก็ตาม)


และการจ่ายเงินส่วนกำไรให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ผู้จัดจำหน่ายจะสั่งจ่ายเมื่อแน่ใจว่าได้มีหักค่าใช้จ่ายออกไปแล้วจากยอดรายได้ที่ได้รับ และมักจะไม่ได้ตัดจ่ายภายในวันเดียวกันกับที่ผู้จัดฯได้รับเงิน แต่มักจะเป็นวันถัดไปจึงจะสั่งจ่าย


7. การกำหนดเพดานค่าตอบแทนสูงสุดและต่ำสุด (Note on hard and soft floors) 

เงื่อนไขตรงจุดนี้คือการที่ให้โปรดิวเซอร์เรียกร้องให้มีการแบ่งเปอร์เซ็นต์มากกว่าที่เคย ๆ โดยควรจะขอแบ่งเปอร์เซ็นต์เมื่อภาพยนตร์มีกำไรแม้เพียงนิดหน่อยก็ตาม เช่น โปรดิวเซอร์อาจจะต้องการ 25% ของกำไรสุทธิจากการขายภาพยนตร์ ซึ่งผู้จัดจำหน่ายอาจจะลดลงมาให้เพียง 10% หรืออาจจะมากกว่านั้นแต่ไม่ควรลงไปต่ำกว่า 5% ซึ่งในรายได้ของโปรดิวเซอร์ในส่วนนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อโปรดิวเซอร์คนนั้นมีอิทธิพลมาก ๆ เช่น จอร์จ ลูคัส (George Lucas) หรือ ไบรอัน เกรเซอร์ (Brian Grazer) ที่สามารถต่อรองได้ถึง 30% จากเงื่อนไข "กำไรตั้งแต่บาทเดียว" (First-dollar gross receipts) เป็นต้น


อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ผู้เขียนแทบไม่เคยพบเลยว่าจะมีอะไรที่จะได้ส่วนแบ่งกันมากไปกว่า 2- 5% จากกำไรสุทธิ จะได้ก็เพียงเงินเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเวลาภาพยนตร์ได้ขึ้นบ็อกซ์ออฟฟิศเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 230449เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2008 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พอดีมีเรื่องไม่เข้าใจคำศัพท์เกี่ยวกับทำหนังโฆษณา แต่โชคดีที่ได้ search ข้อมูบเจอเวป นี้ ถือว่าโชคดี ที่ได้เจอ แถมยังได้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับต้นทุนการทำหนังด้วย

ขอบคุณนะค่ะ

ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่ได้รับรู้ว่า บทความที่แปลเมื่อคราวค้นคว้าเพื่อประกอบวิทยานิพนธ์ยังสามารถเป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้อีกต่อหนึ่ง หากไม่เข้าใจศัพท์เกี่ยวกับหนังโฆษณาสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้นะคะ ยินดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท