ชาวไร่ข้าวโพดจะได้ราคาข้าวโพดที่เป็นธรรมได้อย่างไร?


การลุกขึ้นมาอย่างผู้ตื่นในทุกพื้นที่ต้องเกิดขึ้น และ ต้องเชื่อในพลานุภาพของการศึกษา ต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างคนให้มีคุณภาพมากพอที่จะหลุดพ้นจากการกดขี่ของผู้อื่น และไม่เป็นผู้แสวงหาประโยชน์จากการกดขี่ผู้อื่น เช่นกัน

 

 

ชาวไร่ข้าวโพดจะได้ราคาข้าวโพดที่เป็นธรรมได้อย่างไร?

ถ้าไม่เอาอีแต๋นไปปิดถนน

 

ระยะนี้ข่าวชาวไร่ข้าวโพดประท้วงปิดถนนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวโพด ผุดเป็นดอกเห็ดปลายฝน มีทั้งที่เชียงราย แพร่ น่าน ตาก นครสวรรค์ และเลย  เป็นต้น เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรราคาถูกแล้วเกษตรกรใช้วิธีการประท้วงเรียกร้องกับรัฐบาลให้ช่วยเหลือยกระดับราคา  ได้รู้ ได้เห็น  ได้ยิน ทีไร  ก็สลดหดหู่ใจทุกที

ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรเป็นปัญหาเรื้อรังตลอดมาตั้งแต่บ้านเมืองเราเริ่มปลูกพืชผลเพื่อขาย  ปัญหามีแต่ทวีความรุนแรงขึ้น  มีความพยายามแก้ไขกันอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน  แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยมีการขยับราคาให้เล็กน้อยผสมกับลมปากของเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกนิดหน่อย  ก็เพียงพอต่อการสลายม็อบเกษตรกร ให้เกษตรกรกลับไปจมอยู่กับปัญหานั้นต่อไป  แล้ววันดีคืนดีก็ลุกมาประท้วงกันใหม่และก็แก้ปัญหากันด้วยวิธีเก่า  ซึ่งก็ได้ผลแบบเก่า ๆเหตุการณ์สงบลงไปเป็นครั้ง ๆไป  แต่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขจริง  ทำไมคนที่เกี่ยวข้องจึงไม่รู้สึกกับปัญหานี้กันจริงจังโดยเฉพาะในระดับเกษตรกรที่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหานี้มากที่สุด

น่าสงสารเกษตรกร  ผู้เขียนเชื่อว่าในสภาพปัจจุบันเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ก็คงมีสติปัญญาอยู่เท่านี้แหละ  ปลูกได้ผล  ขายไม่ได้ราคา ก็ปิดถนน  พูดอย่างนี้ไม่ได้ดูถูกดูแคลนชาวบ้านแต่อย่างใด  นี่คือความจริงที่เราต้องยอมรับกันใช่ไหม?  และ นี่คือข้อบ่งชี้ว่าการศึกษาที่บ้านเมืองจัดให้แก่ประชาชนระดับล่างส่วนใหญ่ของเรามีคุณภาพแค่นี้ใช่ไหม?  รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเคยรู้สึกบ้างไหมว่าเขาเอาเปรียบเพื่อนร่วมชาติของเขาอย่างโหดเหี้ยมเลือดเย็นที่สุด   คนเหล่านี้ได้แก่  พวกนักการเมืองที่อยากเป็นรัฐบาล   พวกข้าราชการที่เกี่ยวกับชาวบ้านในด้านต่าง ๆ   โดยเฉพาะคนเป็นครู อาจารย์ และผู้บริหารการศึกษาเคยรู้สึกบ้างไหม?ว่าสิ่งที่สอนเด็ก ๆไปนั้นเป็นเพียงการสร้างแรงงานเพื่อไปรองรับการกดขี่ของคนบางกลุ่ม  ซึ่งคนบางกลุ่มที่ว่านี้ก็เป็นผลพวงของการศึกษาของประเทศนี้เช่นกัน  แต่บังเอิญโชคดีที่มีตำแหน่งแห่งที่ภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของบ้านเราที่ได้เปรียบ  สำหรับคนกลุ่มนี้  ครูบาอาจารย์และผู้บริหารการศึกษาเคยรู้สึกบ้างไหม?ว่า เรากำลังสร้างคนที่รู้จักแต่จะดำรงชีวิตอยู่ บนหัว บนหลัง ของคนที่ด้อยกว่า  ถ้าความรู้สึกแบบนี้ไม่เกิดขึ้นก็ยากที่จะมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้

ผู้เขียนเห็นว่าในคนชั้นเกษตรกร ชาวไร่  ชาวนา  กรรมกร  ซึ่งเป็นคนชั้นล่างของสังคมเท่านั้นที่น่าจะเป็นความหวังในการแก้ปัญหาเหล่านี้  ในบรรดาคนชั้นนี้  ย่อมจะมีผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม  เห็นทุกข์ของคนชั้นตนไม่ใช่น้อย      ดังที่มีตัวอย่างให้เห็นในชุมชนต่าง ๆ        ที่มีผู้นำ  ผู้รู้  ที่มักนิยมเรียกว่าปราชญ์ชาวบ้าน ได้พยายามผลักดันเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่ และประสบความสำเร็จเป็นที่น่าสรรเสริญในความพยายามของท่านเหล่านั้น  แต่ถ้าพิจารณาโดยภาพรวม  พื้นที่ของความพยายามและความสำเร็จดังกล่าวยังมีสัดส่วนน้อยมาก  ผู้เขียนอยากเรียกร้องให้ ผู้นำ  ผู้รู้ ในแต่ละชุมชน ได้ลุกขึ้นมาร่วมกันคิด  ร่วมกันทำ  เพื่อแก้ปัญหา  ชาวไร่ ชาวนา และกรรมกร จะไม่ต้องใช้การปิดถนนเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของตนเองอีกต่อไป    ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าอีกไม่นานการปิดถนนก็จะไม่ได้ผล

การลุกขึ้นมาอย่างผู้ตื่นในทุกพื้นที่ต้องเกิดขึ้น  และ ต้องเชื่อในพลานุภาพของการศึกษา ต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างคนให้มีคุณภาพมากพอที่จะหลุดพ้นจากการกดขี่ของผู้อื่น และไม่เป็นผู้แสวงหาประโยชน์จากการกดขี่ผู้อื่น เช่นกัน  ชุมชนต้องเข้ามาจัดการศึกษาของตนเอง  โดยตนเอง  และเพื่อตนเอง  แนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่ชุมชนสามารถยึดเป็นหลักปรัชญาในการจัดการศึกษาของชุมชนได้เป็นอย่างดี   การศึกษาที่รัฐจัดให้ไม่ว่าการศึกษาในระบบ  นอกระบบหรือตามอัธยาศัย ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชน หรือคนชั้นล่างของสังคมเท่าที่ควร  ยังมีสาระของชีวิตอีกมากมายที่คนในชุมชนจะต้องเรียนรู้เพื่ออยู่อย่างมีชีวิตที่เป็นสุขในโลกยุคปัจจุบัน   เพราะรัฐเป็นเจ้าของโรงเรียน  เจ้าของครู  และเจ้าของผู้บริหาร  ตลอดทั้งเป็นเจ้าของคนและองค์กร ตั้งแต่เขตพื้นที่การศึกษา  กรม  และกระทรวง ทั้งหมด  จึงส่งผลให้การศึกษาเป็นเช่นนี้  ผู้เขียนเชื่อว่าเพียงชุมชนสามารถเข้าไปเป็นเจ้าของโรงเรียน(รวมการศึกษาที่ไม่ใช่โรงเรียนด้วย)  เจ้าของครู  และผู้บริหารการศึกษาเท่านั้น ก็สามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาของชุมชนได้เกือบทั้งหมด   การเข้าไปเป็นเจ้าเข้าเจ้าของการจัดการการศึกษาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการทำผิดคิดร้ายอะไรในบ้านเมืองนี้  ทั้งนี้เพราะบทบาทอย่างนี้ของชุมชนได้มีการตราออกมาเป็นกฎหมายในชื่อ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.  2542 และฉบับไข  พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาของชุมชนได้ในทุกระดับและในทุกประเภท(ต้องการรายละเอียดโปรดกดที่นี่ )  ในปัจจุบันทั้งรัฐ ทั้งชุมชนไม่นำพาเอาข้อกำหนดเหล่านี้มาสู่การปฏิบัติ  ในส่วนของรัฐน่าจะเป็นความจงใจที่จะเพิกเฉย  แต่ในส่วนของชุมชนน่าจะเกิดจากความไม่รู้  จึงใคร่จะย้ำไว้ในที่นี้ว่า  ชุมชนต้องตื่นขึ้นมาจัดการศึกษาของตนเอง

 

            ท่านอาจจะยังไม่เชื่อใช่ไหม?ว่า  ถ้าชุมชนเข้าไปจัดการศึกษาของตนเองแล้ว  พวกเราจะไม่ต้องเอาอีแต๋นไปปิดถนน เราก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้

                    

 

หมายเลขบันทึก: 230386เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2008 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ท่านพูดอย่างไรก็พูดได้
  • เพราะเป็นระดับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
  • ลองลาออกมาเป็นครูน้อยในโรงเรียนตามชุมชนดูซิ
  • แล้วจะพบ Limited, Condition, ฯลฯ
  • จนอาจจะทำได้แย่กว่าครูเหล่านั้นเสียอีก
  • ก็เห็นด้วยกับครูน้อยนะครับที่ว่า  "ผู้เขียนอาจจะทำได้แย่กว่าครูเหล่านั้นเสียอีก"
  • แล้วก็เข้าใจสภาพและข้อจำกัดอยู่พอสมควร
  • จึงไม่ได้เรียกร้องกับครูและผู้บริหารมากนัก แต่ก็เชื่อว่าถ้าจิตใจของครูและผู้บริหารรู้สึกแตกต่างจากที่เป็นอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน  น่าจะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนที่ชุมชนได้
  • แต่ความเห็นสำคัญ ฟันธงที่ชุมชุมชน  เห็นว่าชุมชนต้องเป็นฝ่ายรุก โดยลุกขึ้นมาทวงสิทธิ หน้าที่ การจัดการศึกษาของตนเองคืนมา  เรียนรู้ทึ่จะเข้ามามีบทบาท หน้าที่ในการจัดการศึกษาเพื่อชุมชนมากขึ้น  ซึ่งในปัจจุบันก็มีตัวอย่าง ได้มีกลุ่มองค์กร  ในบางชุมชนดำเนินการในแนวนี้ และก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ  เช่น ที่ไม้เรียง  ที่สุพรรณ  ที่พยัฆภูมิพิสัย  ที่บุรีรัมย์  เป็นต้น 
  • ในสังคมบ้านเรา การลุกขึ้นนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กร  ในชุมชน  ในลักษณะที่สวนกระแสหลักเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก  แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่ามันต้องมีการเริ่มต้น ใครมีหน้าที่อะไร  ถ้ามองเห็นว่าจุดเริ่มต้นมันอยู่ที่ชุมชน  ก็ลองทำอะไรที่บทบาทหน้าที่พอจะเอื้ออำนวยเพื่อให้เกิดการเริ่มต้นการขับเคลื่อน  ณ  ที่ชุมชน ก็ถือว่า โอเค  แล้ว
  • คงต้องริเริ่มให้เกิดภาคี เครือข่ายของคน กลุ่มคน องค์กร ที่มีแนวคิดทำนองนี้ให้เกิดขึ้น ทั้งในภาคราชการ  เอกชน  ชุมชน  องค์กรเอกชน  และสถาบันต่าง ๆขึ้น  จึงน่าจะบังเกิดผลจริงจังขึ้นได้  ลำพังคนใดคนหนึ่งก้คงทำไม่สำเร็จ

 

                                                             Paaoontong

                                                                18  ธค.  51

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท