เยาวชนที่ก้าวพลาด : อาชญากรในอนาคตหรือเหยื่อที่สังคมต้องปกป้อง


วิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ที่มองเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดเหล่านี้ นับเป็นกำแพงใจที่ทั้งสูงและแน่นหนายิ่งในสังคมไทย...
เยาวชนที่ก้าวพลาด  :  อาชญากรในอนาคตหรือเหยื่อที่สังคมต้องปกป้อง

            คนทุกคนไม่ใช่ว่าจะเป็นคนไม่ดีตั้งแต่เกิดหรือเกิดมาเพื่อที่จะเป็นคนไม่ดี   แต่ในช่วงเวลาของการเป็นวัยรุ่น  นับเป็นช่วงที่ยากที่สุดของการเป็นมนุษย์   นอกจากฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง  ซึ่งทำให้สนใจเรื่องเพศมากขึ้น  จิตใจแปรปรวน ใจร้อน  ติดเพื่อน คึกคะนอง  ต้องการความเป็นส่วนตัว  เวลามีปัญหาก็จะปรึกษาเพื่อนมากกว่าพ่อแม่  อยากรู้  อยากเห็น  อยากลอง  อยากมีอะไรต่างๆ เหมือนคนอื่น  ชอบเที่ยวเตร่ สนุกสนานแล้ว  ยังมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เป็นตัวกระตุ้นให้พฤติกรรมเหล่านี้ของพวกเขา สุดขั้ว  และขาดสติ ความยับยั้งชั่งใจ  จนทำให้ก้าวพลาดหรือก้าวผิดจังหวะได้ง่าย
            และนี่เป็นเพียงสาเหตุโดยรวม  ที่หากแยกแยะลงไปถึงรายละเอียดของแต่ละคน  เราจะพบว่ามันยากเพียงใดที่เขาจะผ่านช่วงวัยนี้ได้  บางคนมีปัญหาครอบครัวแตกแยก  ขาดความรัก ความอบอุ่น  บางคนพบกับความรุนแรงในครอบครัว  ดุด่า ตบตี  ถูกทำลายข้าวของที่เขารัก  ซึ่งบ่มเพาะความเจ็บปวด  เกลียดชัง  เคียดแค้น ที่อัดแน่นเหมือนระเบิดที่พร้อมจะทำลายล้าง  บางคนครอบครัวยากจน  อยากได้อะไรไม่เคยได้ ไม่เคยมีเหมือนคนอื่นเขา  และยังมีสาเหตุต่างๆ อีกมากมาย  ที่อาจจะมีคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ  แต่สำหรับเด็กในวัยนี้  ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเขา
            ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้  ทำให้วัยรุ่นจำนวนหนึ่งก้าวพลาดไป   ต้องถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ใน สถานพินิจ และ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ต้องใช้ชีวิตอยู่กับกระบวนการหล่อหลอมตามระยะเวลาที่พวกเขาถูกตัดสินให้ได้รับโทษนั้น และรอวันที่พวกเขาจะกลับมาเป็นคนดีที่มีประโยชน์ต่อสังคมอีกครั้ง
            ในกระบวนการหล่อหลอมพวกเขานั้น  หลายครั้งมักมีข่าว  หรือคำบอกเล่าจากเด็กและเยาวชน  ที่อยู่ บ้าน ต่างๆ เหล่านั้น  พูดถึงความเป็นอยู่  สิ่งที่เขาต้องทำ  และสิ่งที่เขาได้รับ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง  และคำบอกเล่าเหล่านั้นมักมีแนวโน้มในทางที่ไม่ดี 
          หลายคนแทนที่จะได้รับการดูแลเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  กลับกลายเป็นเข้าไปหล่อหลอมพฤติกรรมไปสู่เส้นทางของความผิดพลาดที่หนักขึ้น  บางคนนี่เป็นเส้นทางให้ก้าวไปสู่การเป็นอาชญากร  เป็นนักเลง  อย่างเต็มตัว   และนั่นยิ่งทำให้สังคมเกิดคำถามต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหล่อหลอมของเด็กเหล่านี้  ว่ามีวิธีการเช่นไรในการปรับพฤติกรรมของพวกเขา  เพื่อให้เขาอยากจะก้าวไปสู่เส้นทางที่ดีและมีประโยชน์ต่อสังคมได้
            ในขณะที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น   แต่การปรับพฤติกรรม  วิธีคิดและวิธีปฏิบัติต่อพวกเขาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นเช่นกัน   เริ่มจากวิธีคิด และทัศนคติที่มีต่อเยาวชนที่ก้าวพลาดเหล่านี้   หากหลายคนตัดสินว่าพวกเขาเป็นคนไม่ดี   ชอบทำความเดือดร้อน  เป็นคนซึ่งไม่อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้   นั่นเท่ากับเป็นวิธีคิดที่ไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ของพวกเขา  ไม่เชื่อใจ  ไม่ไว้ใจ  พวกเขา  ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้จะทำให้เกิดพฤติกรรมของการบังคับ  ลงโทษพวกเขาด้วยวิธีการต่างๆ นานา  และบางคนอาจดุด่า หรือพูดจาไม่ดี  ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากเด็กในวัยนี้ทันที   ถึงแม้พวกเขาจะยอมจำนนกับการบังคับและอำนาจการลงโทษต่างๆ  แต่นั่นจะบ่มเพาะความเกลียดชัง ความไม่พอใจลงไปในใจพวกเขา  และจะยิ่งทำให้เขาไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง  และไม่อาจเปลี่ยนแปลงตัวเองได้  
            แต่หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  มีวิธีคิดที่อยากจะให้พวกเขากลับมาเป็นคนดีของสังคมอย่างแท้จริง  และมองว่าความผิดพลาดนั้นอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้  เด็กคนนั้นอาจเป็นลูก  เป็นหลาน  เป็นญาติ  ซึ่งต้องการโอกาสที่จะกลับตัว  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้ได้  คนที่ใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับพวกเขาใน บ้านต่างๆ เหล่านี้  ควรจะมีวิธีคิดและวิธีการในการที่จะทำให้พวกเขาอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม   เห็นคุณค่าของตัวเอง  รู้จักเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น  อีกทั้งต้องเชื่อมั่นและให้กำลังใจว่าพวกเขาจะสามารถกลับมาเป็นคนดีของสังคมได้ 
            นอกจากวิธีคิดและพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการหล่อหลอมพวกเขาใน  บ้าน เหล่านี้แล้ว  เมื่อเขากลับมาใช้ชีวิตในสังคมปกติ  ไม่ว่าจะทำงาน  หรือเข้าเรียนในสถานศึกษาต่างๆ   หลายครั้งกลับพบว่า  เยาวชนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะกลับคืนสู่สังคมได้  เนื่องจากวิธีคิดและทัศนคติของคนในสังคมที่ไม่ให้โอกาสพวกเขา   หลายที่ไม่รับเข้าทำงาน  แม้เขาจะมีความสามารถก็ตาม   สถานศึกษาบางแห่งไม่ยอมให้เขาได้เข้าไปเรียน  หรือแม้แต่ครอบครัว  ญาติพี่น้อง  และคนรอบข้างบางคน  ก็มองพวกเขาอย่างตัดสินว่าเขาผิด ไม่ดีและกลับตัวไม่ได้  โดยไม่เคยให้โอกาสพวกเขาแก้ตัวสักครั้ง
            วิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ที่มองเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดเหล่านี้   นับเป็นกำแพงใจที่ทั้งสูงและแน่นหนายิ่งในสังคมไทย   ที่ทำให้เยาวชนหลายคนที่ก้าวพลาดสะท้อนให้เห็นว่า  พวกเขาต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในวงจรอาชญากรรม  หรือทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่อยากเป็นคนดี   แต่เพราะสังคมไม่เคยให้โอกาสเขา  และน้อยคนนักที่จะให้โอกาสจริงๆ           
            นี่แสดงให้เห็นว่า  วิธีคิด วิธีมอง  หรือกระบวนทัศน์ของคนในสังคม  ต่อเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดเหล่านี้  เป็นสิ่งสำคัญมาก  เพราะวิธีคิด วิธีมองเหล่านี้ ได้นำไปสู่พฤติกรรมที่ซ้ำเติม  ผลักไส  และกีดกันพวกเขาไม่ให้เข้ามาเป็นคนดี  ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้    เพราะฉะนั้นการปรับกระบวนทัศน์  รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมของคนในสังคม  จึงมีความสำคัญเช่นเดียวกับกระบวนการในการหล่อหลอมและปรับพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดเหล่านี้ 
            เราทุกคน อยากให้เยาวชนเหล่านี้กลับคืนสู่สังคมในสภาพเช่นไร  โอกาสในการเป็นคนดีของสังคมของพวกเขายังมีอีกไหม  หรือเราจะเป็นมือหนึ่งที่ผลักเขาสู่อนาคตอันมืดมน  
          สิ่งเหล่านี้ยังเป็นคำถามสำคัญที่รอให้สังคมค้นหาคำตอบร่วมกัน.  


 

หมายเลขบันทึก: 22998เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2006 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท