โพลล์ (POLL)กับสังคมการเมืองไทย


โพลล์

โพลล์ (POLL)กับสังคมการเมืองไทย

บาว นาคร*

คำว่า โพลล์ (poll) ในพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ไทย-อังกฤษ(อังกฤษ-ไทย) ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2524 ได้ให้ความหมายว่า การหยั่งเสียงมติมหาชนด้วยวิธีลงคะแนน การสำรวจมติหรือท่าทีของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกลุ่มที่สุ่มเป็นตัวอย่างก่อนการเลือกตั้ง เพื่อทำนายผลของการเลือกตั้ง ในบางครั้งอาจใช้การหยั่งเสียงมติมหาชนด้วยวิธีลงคะแนน เพื่อทราบความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ได้ (www.chaiwat.org/dict/index.php?text=poll,%20public%20opinion)

อนันต์ ศรีโสภา (2521, น.99) ได้กล่าวว่า การสำรวจประชามติ (public opinion survey) ผู้บริหารทางด้านอุตสาหกรรม การเมือง การศึกษาจะต้องทำการตัดสินใจอยู่เสมอ โดยการจัดสินใจของเขามักจะใช้ผลที่ได้จากการสำรวจประชามติมากกว่าที่จะใช้ความรู้สึกส่วนตัว การเดา หรือ ความต้องการของบุคคลบางกลุ่ม การสำรวจประชามติก็เพื่อหาความรู้จากความคิดเห็น ทัศนคติ และแนวโน้มของประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังได้กล่าวต่อไปว่า การสำรวจประชามติโดยทั่วไปมักจะใช้แบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งสุ่มจากประชากร สอดคล้องกับ พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ (2550 น.180)ที่ได้กล่าวไว้ว่า สำหรับคำที่เป็นภาษาไทยที่เป็นทางการน่าจะใช้คำว่า การสำรวจประชามติ แต่จะขอเรียกสั้นๆว่า โพล ดังที่เป็นที่นิยมโดยทั่วไป ถ้าเช่นนั้นโพลล์ควรมีลักษณะอย่างไร ในแง่ของวิธีวิจัยต้องใช้การสำรวจซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 อย่าง คือ 1) มีการสุ่มตัวอย่างที่อาศัยความเป็นไปได้ 2) ใช้แบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ในการรวบรวมข้อมูล ในแง่ของเนื้อหาที่ครอบคลุมก็ควรจะเป็นความเห็นต่อเรื่องการเมืองและสามารถรวมถึงเรื่องอื่นๆได้ด้วย แต่ต้องเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาที่ยังถกเถียงหรือตกลงกันยังไม่ได้ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Live issue” และคงไม่ใช่เรื่องบรรทัดฐานทางสังคม

            สำหรับสำนักโพลล์ในประเทศไทยนั้น ได้มีหลายสำนักที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องต่างๆ เช่น การเมือง การเลือกตั้ง และทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ได้แก่ เอแบคโพลล์ กรุงเทพโพลล์ สวนดุสิตโพลล์ รามคำแหงโพลล์ เป็นต้น

            ตัวอย่าง การทำโพลล์ของสวนดุสิตโพลล์ เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไร? กับการจัดตั้ง "รัฐบาลชุดใหม่" ที่มาและเหตุผล คือ จากสภาพการเมืองไทยที่ยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจนในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เช่น กรณีกระแสข่าวที่มีข่าวการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง  ความวุ่นวายภายในพรรคการเมืองที่ยังคงไม่ลงตัว ฯลฯ   สวนดุสิตโพลมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่พักอาศัยอยู่ตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ จำนวน 3,003 คน (กทม. 1,140 คน 37.96% ต่างจังหวัด 1,863 คน 62.04%) เพื่อสะท้อนความต้องการที่มีต่อการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน   โดยสำรวจระหว่างวันที่  4-8 ธันวาคม 2551  สรุปผลโดยภาพรวม ได้ดังนี้

1. ความคิดเห็นของประชาชนต่อ การจัดตั้ง รัฐบาลชุดใหม่  1) อยากให้เปลี่ยนขั้ว 57.82% 2) อยากให้รวมกันเป็นพรรคเดิม 42.18%

2. คุณสมบัติของ นายกรัฐมนตรี ที่ประชาชนต้องการ คือ 1)เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต /เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม 39.79% 2) เป็นคนเก่ง/มีความรู้ความสามารถ/มีความรับผิดชอบ 21.82% 3) ตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน 15.42% 4) มีความเป็นผู้นำ/กล้าคิดกล้าตัดสินใจ ทำงานรวดเร็ว 12.58%  5) มีความเป็นกลาง ยุติธรรม /ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว 10.39% 

3. ใคร? ที่ประชาชนอยากให้เป็น นายกรัฐมนตรี

(1) กรณีทุกคนสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 1) อานันท์ ปันยารชุน 41.05% 2) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 26.15% 3) ทักษิณ     ชินวัตร 11.59% 4) ชวน หลีกภัย 7.50% 5) ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ 2.66% 6) อื่นๆ เช่น นาย    มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ,พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ฯลฯ 1.62% 7) ใครก็ได้ที่เป็นคนดี/เสียสละเพื่อประเทศชาติ9.43%

(2) กรณีผู้ที่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 1) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 41.80% 2) ชวน หลีกภัย 25.56% 3) นายมิ่งขวัญ  แสงสุวรรณ 17.29% 4) พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร 4.96% 5) พล.ต.อ. ประชา  พรหมนอก 3.88% 6) อื่นๆ  เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, นายเสนาะ เทียนทอง,พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ 2.90% 7) ใครก็ได้ที่เป็นคนดี/เสียสละเพื่อประเทศชาติ3.61%

4. ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนอยากให้ รัฐบาลใหม่ แก้ไข คือ 1) ปัญหาเศรษฐกิจ /คนตกงาน /ปัญหาปากท้องประชาชน 43.08% 2) การปฏิรูปการเมืองให้เป็นระบบอบประชาธิปไตย /ขจัดคอรัปชั่น 28.93% 3) การท่องเที่ยว /สร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทย /เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น 11.51%            4) การศึกษาไทย /การให้ทุนสนับสนุน /ยกระดับการศึกษาไทยให้ได้มาตรฐาน 9.03%  5) สภาพสังคม / ความแตกแยก /สภาพจิตใจของคนไทย 7.45%

 (http://dusitpoll.dusit.ac.th/2551/2551_069.html)

ดังนั้น การสำรวจประชามติ หรือ โพลล์เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวจะสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องนั้นๆ ณ ช่วงเวลาที่ทำการสำรวจเท่านั้น เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป ความคิดเห็นดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

                สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปมักใช้ในการประเมินความแม่นยำของโพลล์ ก็คือ ขนาดของตัวอย่าง โดยคิดว่า ถ้าตัวอย่างมีขนาดใหญ่แล้วโพลล์ก็มีความแม่นยำมาก แต่ถ้าตัวอย่างมีขนาดเล็กแล้วโพลล์ก็มีความแม่นยำน้อยนั้น การคิดเช่นนี้มีส่วนถูกเพียงบางส่วนเท่านั้น แท้จริงแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญมากกว่านั้นก็ คือ ความเป็นตัวแทนที่ดีของประชากร เพราะความเป็นตัวแทนสามารถสะท้อนภาพที่แท้จริงของประชากรออกมาได้ ตามหลักของการวิจัยเชิงสำรวจแบบสุ่มตัวอย่าง (Survey Research) อย่างเป็นระบบและถูกต้องตามกระบวนการวิจัยที่การทำโพลล์ได้นำไปใช้

 

เอกสารอ้างอิง

พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ.การสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่าง: ทฤษฎีและการปฏิบัติ.กรุงเทพฯ :

            สำนักพิมพ์เสมาธรรม,2550.

อนันต์ ศรีโสภา.หลักการวิจัยเบื้องต้น.กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด,2521.

http://dusitpoll.dusit.ac.th/2551/2551_069.html

http://www.chaiwat.org/dict/index.php?text=poll,%20public%20opinion

 

 

 

 

 



* บุญยิ่ง ประทุม .[email protected].

หมายเลขบันทึก: 228848เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2008 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โพล คือ ตัวอย่าง บางครั้งบิดเบี้ยวมาก เช่นโพลผู้ว่า สุ่ม สองพันกว่าคน แทนคน มีสิทธิ์ ห้าล้านคน โอกาส ผิดพลาดสูง ยิ่งโพลที่บอกว่าไม่ณุ้เลือกตั้งผู้ว่าเมื่อไหร่ ผลของโพลก็คงยิ่งเชื่อถือยาก แต่หากข้อมูลกระจายมากแล้ว โพลน่าใกล้เคียงมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท