ปฏิบัติตนด้วยนาฬิกาชีวิต Biological Clock ดีแน่ ๆ


อวัยวะภายในสัมพันธืกับเวลาตลอด 24 ชั่วโมง

 

ปฏิบัติตนด้วยนาฬิกาชีวิต Biological Clock ดีแน่ ๆ

                สมาชิกG2K เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่น่ารัก ที่นับถือทุกท่านครับ .. (น่ารักเพราะท่านมีอะไรที่น่ารัก สนุก ๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ   ที่น่านับถือ เพราะท่านเป็นผู้ที่มีสาระประโยชน์ จากการนำสาระความรู้ดี ๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างน่ายกย่องแทบทุกคนครับ  ... ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับสมาชิกทุกคนที่มอบสิ่งที่ดีให้กัน  (คนที่แนะประโยชน์ให้เป็นหนึ่งในมิตรแท้ ในหัวข้อพุทธธรรม มิตรปฏิรูปครับ)   และที่ลืมเสียมิได้เลย คือขอขอบคุณผู้ที่ดูแลระบบ G2K อย่างซาบซึ้ง ที่ได้ทุ่มเทดูแลพัฒนาระบบให้พวกเราสมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างจุใจเช่นนี้   ได้ข่าวว่ามีสมาชิกผู้ดูแลระบบจำนวนขนาดตั้งทีมฟุตบอลได้แล้ว เย้...ดีใจด้วย  (อ่านจาก แนะนำทีมงาน : ผู้ดูแลเว็บไซต์ GotoKnow.org :มะปรางเปรี้ยว คนสวยของเรา) ขอแสดงความยินดีอีกครั้งครับ

             เพื่อนสมาชิกครับ วันนี้ผมมีสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก (เริ่มเข้าเรื่องตามหัวข้อเสียที เกริ่นซะนานเชียว)  พอดีได้อ่านจุลสารเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งที่ตั้งชื่อว่า นาฬิกาชีวิต(Biological Clock)  จากการรวบรวมและเผยแพร่โดย อ.นวลฉวี  ทรรพนันท์  ที่ได้ข้อมูลจาก อ.สุทธิสวัสดิ์ คำภา และทีมงานนักวิชาการในวงการแพทย์เพื่อสุขภาพ    พออ่านจบได้สาระความรู้ที่มีประโยชน์หลายอย่างที่ตอบปัญหาข้อสงสัยตนเองเรื่องสุขภาพด้วย   เลยทำให้คิดถึงสมาชิก G2k ครับ  เพราะอยากให้ทุกท่านมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดีโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวนี้ ที่ร้อน ๆ หนาว ๆ พร้อมกับเหตุการณ์บ้านเมืองไปพร้อม ๆ กัน  (เอาอะไรแน่ไม่ได้...)  และในช่วงเศรษฐกิจเวลานี้ที่ว่า "ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง" ทุกคนคงหวั่น ๆ กันอยู่ เลยพาลทำให้ไม่สบายใจต่อหน้าที่การงาน  ความทุกข์จะทับถมคนไทยมากขึ้น  มากขึ้น  ทำใจกันนะครับ   งั้นมาดูแลสุขภาพกายเพื่อรักษาสุขภาพใจอย่างที่เขาว่า  สุขภาพใจที่ดีอยู่ในสุขภาพกายที่ดี ทำนองนั้นครับ

                        เพื่อนสมาชิกเคยวางแผนดูแลสุขภาพร่างกายกันบ้างไหม   คิดว่าหลายท่านเคยวางแผนไว้ว่า วันนั้น วันนี้ อยากจะออกกำลังกาย อยากจะรับประทานอาหารเช้า รับประทานอาหารที่มีประโยชน์  อยากจะทำใจให้สบาย ๆ จะไม่ขี้โกรธ ขี้โมโห หงุดหงิด     ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ  ทำได้ตามแผนได้บ้าง ไม่ได้บ้างตามโอกาส  หรือล้มเหลวไม่เป็นท่ากันไปทุกครั้ง  เพราะทุกอย่างมันยากที่การปฏิบัติจริงไหมครับ   ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่อีกเรื่อย ๆ   แต่คนที่เริ่มต้นใหม่ได้อีกเมื่อล้มเหลวเป็นคนที่น่ายกย่องมาก ๆ ครับ เริ่มอีกทีนะครับกับนาฬิกาชีวิตโดยการจัดเวลาตามแบบนาฬิกาชีวิต(Biological Clock)  ที่ผมนำมาบอกกล่าวต่อจากท่านผู้รู้อีกที  น่าจะทำให้ท่านสุขภาพกายสุขภาพใจดีขึ้นแน่ ๆ ครับ

            เมื่อก่อนผมเองเคยสับสนต่อการดูแลสุขภาพตัวเอง (แบบโง่ๆ ครับ) เช่น คิดว่าการอ่านหนังสือหรือทำงานจนดึก แล้วค่อยนอนตื่นสาย ๆ ก็มีเวลาพักผ่อนเพียงพอเหมือนกับคนนอนแต่หัวค่ำตื่นแต่ดึก ๆ มันคงไม่แตกต่างกัน    สับสนว่าการออกกำลังกายตอนเช้ากับตอนบ่ายอย่างไหนจะดีกว่ากัน   การไม่ทานข้าวมื้อเช้าไม่เห็นผลกระทบตรงไหนเลย กาแฟแก้วเดียวก็อยู่ได้สบาย ๆ     คิดว่าหลายคนคงไม่ใส่ใจต่อการดูแลสุขภาพ ปล่อยให้ชีวิตเป็นไปแล้วแต่อารมณ์ (อารมณ์มักง่ายต่อชีวิต)  จึงอยากให้ท่านทำความเข้าใจและดูแลเรื่องของสุขภาพของตัวเองจาก นาฬิกาชีวิต(Biological Clock)   แบบย่อความมาอีกที ดังนี้ครับ....

            การแพทย์ตะวันออกถือว่า กลางวันกลางคืนมีความสัมพันธ์กับสุขภาพของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก เพราะภายในเวลา 24 ชั่วโมง ภายในร่างกายของคนเรามีการไหลเวียนของพลังชีวิตที่ผ่านอวัยวะภายในของร่างกายซึ่งประกอบไปด้วยอวัยวะตันและอวัยวะกลวง

            อวัยวะตัน  หมายถึง หัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด ม้าม ตับ ไต

          อวัยวะกลวง หมายถึง กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ สำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ  ระบบความร้อนของร่างกาย

            การไหลเวียนของพลังชีวิต(ลมปราณ) ที่ผ่านแต่ละอวัยวะนั้นจะใช้เวลา 2 ชั่วโมง ทั้งหมดมี 12 อวัยวะ รวม 24 ชั่วโมง คือหนึ่งวันจึงเรียกว่า นาฬิกาชีวิต    ดังนั้นการดำเนินชีวิตและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันต้องให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ  จึงเป็นหลักฐานที่ปรากฏของการมีสุขภาพที่ดีและมีอายุยืน ปราศจากโรคของคนที่ปฏิบัติได้ตามกิจกรรมนาฬิกาชีวิตแบบจงใจหรือบังเอิญให้เราพบเห็นกันเสมอ   โดยการแบ่งช่วงเวลาการทำงานของอวัยวะสำคัญ 12 อวัยวะที่สัมพันธ์กับเวลาและสิ่งที่ควรปฏิบัติ ดังนี้

     เวลา 01.00 -03.00 น. เป็นช่วงเวลาของตับ

           ควรนอนหลับพักผ่อน ถ้านอนหลับได้ดีในช่วงนี้ ตับจะหลั่งสารเอนโดรฟิน(Endrophin) และสารมีราโทนิน(Miratonnine) เพื่อฆ่าเชื้อโรค ทำให้หน้าอ่อนกว่าวัย  เวลานี้จึงไม่ควรรับประทานอาหารเพราะจะทำให้ตับทำงานหนักและเสื่อมไว  ตับมีส่วนช่วยไตในการดูแลผม ขน เล็บ ผิวหนังและช่วยกระเพาะในการย่อยอาหาร การพักผ่อนที่ถูกเวลาจึงมีประโยชน์อย่างมาก

    เวลา 03.00-05.00 น. เป็นช่วงเวลาของปอด

          เป็นช่วงเวลาที่ควรตื่นนอนสูดอากาศที่บริสุทธิ์ ผู้ที่ตื่นนอนในช่วงนี้ปอดจะดี ควรกำหนดลมหายใจยาว ๆ ปอดจะได้แข็งแรง  ผิวจะดี และเป็นคนมีอำนาจในตัว

     เวลา 05.00 - 07.00 น. เป็นเวลาของลำไส้ใหญ่

       เป็นเวลาที่ควรขับถ่ายอุจจาระทำให้เป็นนิสัย  ระบบการขับถ่ายจะปกติลดปัญหาระบบขับถ่ายได้หลายอย่าง

       เวลา 07.00 -09.00 น. เป็นเวลาของกระเพาะอาหาร

            กระเพาะอาหารจะทำงานหนักในเวลานี้ ควรรับประทานอาหารเช้าทุกวัน กระเพาะจะย่อยอาหารที่มีจะส่งสารอาหารเข้าสู่ร่างกายต่อไป กระเพาะจะแข็งแรงจากการทำหน้าที่  จากการวิจัยทางการแพทย์พบว่าผู้ที่ไม่รับประทานอาหารเช้า มีผลทำให้เป็นคนตัดสินใจช้า     ขี้กังวล  ขาไม่แข็งแรง ปวดเข่า หน้าแก่กว่าวัย และเป็นโรคอันไซเมอก่อนวัยอันควร

          เวลา 09.00-11.00 น.  เป็นช่วงเวลาของม้าม

            ม้ามทำหน้าที่ควบคุมเม็ดเลือด สร้างน้ำเหลือง ควบคุมไขมัน  คนที่ปวดศีรษะบ่อย ๆมาจากการผิดปกติของม้าม  ม้ามโต ทำให้เหนื่อยง่าย  ผอมเหลือง  ตาเหลือง สร้างเม็ดเลือดขาวได้น้อย    ม้ามชื้น ทำให้อ้วนง่ายเพราะอาหารและน้ำที่กินเข้าไปแปรสภาพเป็นไขมัน คนที่มักนอนหลับเวลานี้ ม้ามจะอ่อนแอ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนผิดปกติอย่างอื่นได้ง่าย (รวมกับคนนอนตื่นสายด้วยครับ)

          วลา 11.00-13.00 น.  เป็นช่วงเวลาของหัวใจ

          เวลานี้หัวใจทำงานหนัก จึงควรหลีกเลี่ยงความเครียด หลีกเลี่ยงการคิดอะไรที่หนักเกินไป ทำอะไรที่เสี่ยงต่อการตกใจ หวาดกลัว 

          เวลา 13.00 -15.00 น.  เป็นช่วงเวลาของลำไส้เล็ก

            เวลานี้ควรงดเว้นการกินอาหารทุกประเภท เปิดโอกาสให้ลำไส้เล็กทำงาน  ลำไส้เล็กมีหน้าที่ดูดซึมอาหารที่เป็นน้ำทุกชนิด เช่น วิตามินซี บี โปรตีนเพื่อสร้างกรดอะมิโน สร้างเซลล์สมอง สร้างไข่สำหรับผู้หญิง

          เวลา 15.00-17.00 น.  เป็นช่วงเวลาของกระเพาะปัสสาวะ

            กระเพาะปัสสาวะเกี่ยวข้องกับระบบความจำ  ไทรอยด์และระบบเพศทั้งหมด  ช่วงเวลานี้จึงควรทำให้เหงื่อออก ด้วยการออกกำลังกายหรือการอบตัว จะทำให้กระเพาะปัสสาวแข็งแรง ไม่ควรอั้นปัสสาวะ เพราะปัสสาวะที่อั้ไว้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เหงื่อที่ออกมามีกลิ่นเหม็น แบบกลิ่นตัวของคุณหรือของคนอื่น ๆ  (คลื่นไส้ ...และปวดหมองครับ )

          เวลา 17.00-19.00 น.  เป็นช่วงเวลาของไต

            เป็นช่วงเวลาที่ควรทำใจให้สดชื่น ไม่ง่วงหาวนอนในเวลานี้  ใครมีอาการง่วงนอนในเวลานี้แสดงว่ามีปัญหาเรื่องไตเสื่อม   การทำงานของไต ไตซ้ายควบคุมสมองด้านขวาทำหน้าที่ด้านการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ สร้างอารมณ์สุนทรี   ไตขวาควบคุมสมองด้านซ้าย ซึ่งทำหน้าที่ด้านความทรงจำ ไตขวามีปัญหาทำให้ความจำเสื่อมและเป็นคนขี้หนาว   ลำไส้เล็กที่มีไขมันเกาะมากหรือสารที่อยู่ในรูปแบบของสารละลายที่มาจากอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่นขนมถุงที่เด็ก ๆ และผู้ใหญ่บางท่านชอบทาน (ขนมขยะ)จะตกเป็นภาระของไตต้องทำงานหนัก ในการกำจัดจึงอาจกลายเป็นโรคไตได้

          เวลา 19.00 - 21.00 น.  เป็นช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ

            ช่วงเวลานี้ควรสวดมนต์ ทำสมาธิ ทำให้กล้ามเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจแข็งแรง  ปัญหาของเยื่อหุ้มหัวใจคือโรคหัวใจโต หัวใจรั่ว เส้นเลือดหัวใจตีบ

          เวลา 21.00 -23.00 น.  เป็นช่วงเวลาที่ต้องทำให้ร่างกายอบอุ่น

          เป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรอาบน้ำเย็น (คนชอบอาบน้ำก่อนเข้านอน หรือขี้เกียจอาบน้ำแต่เนิ่นๆ)  เพราะจะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย  เป็นหวัดบ่อย ร่างกายอ่อนแอ

          เวลา  23.00- 01.00 น. เป็นช่วงเวลาของถุงน้ำดี

            อวัยวะใดในร่างกายเมื่อขาดน้ำ จะมาดึงน้ำจากถุงน้ำดี ทำให้ถุงน้ำดีข้น  เป็นผลทำให้อารมณ์ฉุนเฉียว  สายตาเสื่อม เหงือกบวม ปวดฟัน ปวดกระดูก  นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก มักจะปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ

            จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติจากที่ข้อแนะนำของนาฬิกาชีวิต  ไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นอะไร  เป็นการใช้ชีวิตให้ปกติ  เมื่อถึงเวลากิน ก็กินให้ตรงเวลา    ถึงเวลานอนนอนให้ตรงเวลา เป็นกิจกรรมที่ควรทำที่ลงตัวอยู่แล้ว   เพียงแต่บางคนไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ ละเลยการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง หรือทำอะไรที่ไม่เป็นนิสัย เพราะขี้เกียจและแพ้ใจตัวเอง  อยากให้ดุแลตนเองกันมากขึ้น เพราะอวัยวะทุกอย่างมีความสัมพันธ์กับเวลาอย่างที่ได้นำเสนอให้ท่านได้อ่านกันแล้วครับ.....

                    คิดว่าหลายท่านคงให้ความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันกันบ้างหลังจากนี้  ผมเองก็พยายามปรับบางอย่างอยู่ครับ  เช่น การรับประทานอาหารเช้า  การนอนให้เป็นเวลา  การออกกำลังกายตอนบ่าย  และคลายความสงสัยบางอย่างที่กล่าวไว้แล้วเพราะเพิ่งรู้เหมือนกันว่าอวัยวะต่าง ๆ มีการทำงานที่สัมพันธ์กันอย่างมาก

            เพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดกิจกรรมแต่ละวัน  รู้หน้าที่ของอวัยวะกับเวลาที่สัมพันธ์กันจึงและข้อเสนอแนะในการปฏิบัติสรุปเป็นแบบตารางได้ ดังนี้

ช่วงเวลา

ระบบที่เกี่ยวข้อง

ข้อควรปฏิบัติ

01.00 - 03.00 น.

ตับ

นอนหลับให้สนิท พักผ่อนไห้เพียงพอ

03.00 - 05.00 น.

ปอด

ตื่นนอน  สูดอากาศบริสุทธิ์

05.00 -07.00 น.

ลำไส้ใหญ่

ขับถ่ายอุจารระ

07.00 -09.00 น.

กระเพาะอาหาร

รับประทานอาหารเช้า

09.00 -11.00 น.

ม้าม

ไม่ควรนอนหลับเวลานี้

11.00 -13.00 น.

หัวใจ

หลีกเลี่ยงความเครียด คิดมาก

13.00 -15.00 น.

ลำไส้เล็ก

งดรับประทานอาหารทุกประเภท

15.00 -17.00 น.

กระเพาะปัสสาวะ

ออกกำลังกาย / อบตัว

17.00 -19.00 น.

ไต

ทำตัวให้สดชื่น ไม่ให้ง่วงนอน

19.00-21.00 น.

เยื่อหุ้มหัวใจ

ทำสมาธิ หรือสวดมนต์

21.00 -23.00 น.

ระบบความร้อนของร่างกาย

ไม่อาบน้ำเย็น ทำร่างกายให้อบอุ่น

23.00 -01.00 น.

ถุงน้ำดี

ดื่มน้ำก่อนเข้านอน

ด้วยความปารถนาดีต่อเพื่อนสมาชิกทุกท่านครับครับ

 

หมายเลขบันทึก: 228625เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2008 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท