หัวใจครูอาสา
Miss ฐิติวรกาญจน์ ต้นอ้อ วงษ์อัยรา

กฎหมายน่ารู้


การพระราชทานอภัยโทษ และ การนิรโทษกรรม

จาก สกู๊ป แนวหน้า ([email protected]) 20 พ.ย. 2551 หนังสือพิมพ์แนวหน้า

     การพระราชทานอภัยโทษ

   "การพระราชทานอภัยโทษ" (Pardon or Grace) หมายถึง การยกเว้นโทษให้ทั้งหมด หรือบางส่วน หรือลดหย่อนผ่อนโทษลงไปแก่นักโทษผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้รับโทษนั้นโดยยังถือว่าเป็นผู้กระทำผิดและเคยต้องคำพิพากษา

   การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ การต้องโทษจะมีได้ก็โดยคำพิพากษาของศาลซึ่งทำในนามพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ อันนับเนื่องในพระมหากรุณาธิคุณส่วนหนึ่ง

   การพระราชทานอภัยโทษนั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีผู้ร้องขอหรือถวายเรื่องต่อพระมหากษัตริย์ และใช้เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำผิดแล้วเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการพระราชทานอภัยนั้น ไม่ต้องรับโทษอีกเลยหรือลดโทษให้มีการรับโทษแต่เพียงบางส่วน ทั้งนี้ ผลของการพระราชทานอภัยโทษนั้นหาทำให้สิทธิต่าง ๆ ที่ต้องสูญเสียไปเพราะคำพิพากษากลับคืนมาไม่

     การนิรโทษกรรม

   "การนิรโทษกรรม" (Amnesty) หมายถึง การที่กฎหมายไม่ถือว่าการกระทำบางการกระทำเป็นความผิด และโทษซึ่งเป็นผลสำหรับการนั้นไม่จำเป็นต้องถูกนำมาบังคับใช้ ซึ่งตามปกติการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด หรือเป็นการยกโทษให้ทั้งหมดทั้งถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้เคยต้องโทษนั้นมาเลย  คือ

                                                    "ให้ลืมความผิดนั้นเสีย"

   ผลของการนิรโทษกรรมนั้นมุ่งโดยตรงไปที่การกระทำผิดนั่นเอง ซึ่งถือว่าไม่เป็นความผิดกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ความผิดซึ่งตกไปยังตัวบุคคลผู้กระทำความผิดนั้นย่อมต้องถูกลบล้างตามไปด้วย

   นิรโทษกรรมนั้นเป็นการกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา จะต้องออกเป็น "พระราชบัญญัติ" (พ.ร.บ.) ทั้งนี้เพราะว่าเมื่อการนิรโทษกรรมเป็นการถือเสมือนหนึ่งว่า ผู้กระทำความผิดนั้น ๆ มิได้กระทำความผิดเลย ก็เท่ากับเป็นการลบล้างกฎหมายฉบับก่อน ๆ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง (Non-Retroactive)แต่เป็นการย้อนหลังที่ให้คุณแก่ผู้กรกะทำความผิดจึงสามารถบังคับใช้ได้ ดังนั้น จึงควรให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา เป็นผู้ออก

หมายเลขบันทึก: 224348เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับอาจารย์...เป็นความรู้ที่ทันต่อเหตุการณ์จริงๆ....ขอบคุณครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท