มองวัฒธรรมผ่านสื่อ กับ สร้างวัฒนธรรมด้านสื่อ สิ่งที่สังคมไทยต้องคิดต่อ


เรามักจะบอกว่า สื่อเป็นเครื่องมือในการสะท้อนวัฒนธรรรม แต่ต้องไม่มองข้ามว่า เราก็สามารถเป็นผู้สร้างสื่อ และ ผู้สร้างวัฒนธรรมในสื่อ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อได้เช่นกัน

เมื่อวันก่อนได้รับเมล์จากอาจารย์สิรินทร จาก สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล ชวนให้ไปสอนในวิชาเลือก เกี่ยวกับการประเมินรายการโทรทัศน์ ก็เลยชวนอาจารย์สิรินคุยกันทางเมล์กันต่อว่า อยากให้มาร่วมก๊วนในการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพรายการแบบภาคปฏิบติการที่นักศึกษาเข้ามาเป็นเจ้าของงานกัน

ที่ชวนแบบนี้ เพราะว่าเรื่องนี้ เป็นวัฒนธรรม ของการวิพากษ์สื่ออย่างสร้างสรรค์

เรามักจะมอง ดู ชม วัฒนธรรมต่างๆผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆผ่านมุมมองรายการโทรทัศน์ ในรูปแบบของการนำเสนอหลายรูปแบบ เช่น วาไรตี้ สารคดี ข่าว การ์ตูน เกมโชว์ ละคร ซึ่งใน ๓ รูปแบบแรก มักจะสะท้อนวัฒนธรรมอย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่อีก ๓ รูปแบบหลัง เป็นการสะท้อนวัฒนธรรมแบบ "มายา" ที่ถูกปรุงแต่งในรูปของ บทละคร บทประพันธ์ ที่เราต้องตีความ และ จับประเด็นของเป้าหมายในการนำเสนอให้ได้

โดยเฉพาะละครที่ถูกปรุงแต่ง จนเราต้องมีวิจารณญาณในระดับหนึ่งที่ต้องพอแยกแยะได้ว่า นี่คือ "บทบาทสมมุติ" เท่านั้น

ดังนั้น การมองวัฒนธรรมผ่านสื่อ เราคงต้องอาศัยวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อ นั่นกำลังหมายถึง วัฒนธรรมของการวิพากษ์สื่ออย่างสร้างสรรค์ และ ต้องประกอบกับ วัฒนธรรมของการรับฟังความคิดเห็นระหว่างกัน ไม่อย่างนั้น จะมีแต่การวิพากษ์ แต่ไม่มีการฟัง

ยังมี วัฒนธรรมของการดู ชม สื่อด้วยกันของครอบครัวกับลูก หลานในบ้านจำได้ว่า เรื่องเหล่านี้ ในอดีตเรามักจะจับกลุ่มดูทีวีกันเป็นกลุ่มก้อน เริ่มตั้งแต่ ไปรวมตัวดูที่บ้านของคนที่มีทีวีในยุคที่ทุกบ้านไม่มีทีวี ต่อมาเมื่อทุกบ้านมีทีวีเราก็ดูรวมกันหน้าจอ วัฒนธรรมการวิเคราะห์และสั่งสอนไปพร้อมกับการดูทีวี เป็นเรื่องปกติในบ้าน แต่มาในยุคหลัง ทุกห้องในบ้านแทบจะมีทีวีกันทุกห้อง ทุกคนต่างคนต่างดู วัฒนธรรมการดูทีวีร่วมกันก็เลยเลือนหายไป สิ่งเหล่านี้ คงต้องรื้อฟื้นขึ้นมาเหมือนกัน

ไม่เพียงเท่านั้น หากมองย้อนกลับไปที่หลักการเรื่องการสื่อสารมวลชน การสะท้อนเรื่องราวและการนำเสนอข้อความจริงในรูปแบบของข่าว สารคดี เอง ในยุคแรกเราตั้งต้นที่ "มืออาชีพ" เท่านั้น แต่จากประสบการณ์ความจริงที่ผ่านมา เรายังต้องการให้ "ชาวบ้าน" เป็นผู้สื่อสารข้อมูลได้ด้วยตนเอง

แนวคิดเกี่ยวกับ สื่อชุมชน สื่อพลเมือง จึงได้เบ่งบานในยุคหลังๆ

แต่ทว่า วัฒนธรรมในการสร้างสรรค์สื่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน สะท้อนปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาจากชุมชน ที่ขอเรียกว่า "วัฒนธรรมการใช้สื่อเพื่อสังคม"  ยังถูกคลอบไว้ด้วย วิธีคิดเรื่อง "ต้องเป็นมืออาชีพ ภาพ เนื้อหา มุมกล้องต้องมืออาชีพเท่านั้น" ทำให้ประชาชน พลเมือง หรือ ชาวบ้าน สุดแท้แต่จะเรียกตัวเองว่าอะไรก็ตาม  (แต่ทุกคนในฐานะมนุษย์ในสังคม ต้องสามารถใช้สื่อในฐานะเครื่องมือในการพัฒนาสังคมได้) ไม่กล้าพอที่จะลงมือผลิตงานสื่อสาร 

ตอนนี้ คงมาถึงเวลาที่พอเหมาะที่ต้องเร่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่เป้นการรับรองสิทธิของมนุษย์ในการสื่อสาร

นี่แค่เป็นการเริ่มต้นกลับมานั่งนึกและทบทวนถึงสื่อเก่า เรายังมีสื่อใหม่ เช่น อินเทอร์เน็ต เกมคอมพิวเตอร์ ที่ต้องเร่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ ในการใช้ ผลิต ไอซีทีในเชิงสร้างสรรค์ และ รื้อฟื้นวัฒนธรรมเก่าขึ้นมา ในการเรียนรู้ร่วมกันของคนในครอบครัว ไปพร้อมๆกัน

รีบเตรียมการกันก่อนที่จะสายเกินไปก็ดีเหมือนกัน

หมายเลขบันทึก: 224092เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2008 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท