การวิจัยแบบสำรวจ


การวิจัยแบบสำรวจ

การวิจัยแบบสำรวจ*

ประวัติของการวิจัยแบบสำรวจ

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการติดต่อโดยตรงกับผู้ให้ข้อมูลหรือผู้ตอบข้อมูล ได้มีมานานแล้วในสมัยโรมและอียิปต์ได้มีการทำสำมะโนประชากร  ซึ่งเป็นการทำสำมะโนประชากรทั้งหมด  เพื่อที่จะนำข่าวสารที่ได้ไปใช้ในการเก็บภาษี  เกณฑ์ทหาร  และวัตถุประสงค์ในทางด้านบริหารอื่นๆ  แต่อย่างไรก็ตาม  การสำรวจขนาดใหญ่และอย่างมีระเบียบเพิ่งจะเริ่มต้นตอนศตวรรษที่  18  โดย  John  Howard  นักปฏิรูปทางสังคมชาวอังกฤษ  ซึ่งได้ศึกษาสภาพที่คุมขังซึ่งมีผลต่อสุขภาพอนามัยของนักโทษ  Frederic Le Play  นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้พยายามอย่างยิ่งในการที่จะนำเอาผลของการสำรวจไปใช้ในการวางแผน  ผู้ที่ถือได้ว่าทำการสำรวจอย่างกว้างขวางและถือได้ว่าเป็นที่มาของการวิจัยปัจจุบัน  ได้แก่  นักสถิติชาวอังกฤษ  ชื่อ  Charles  Booth  ในปี  ค.ศ. 1886  เขาได้ทำการศึกษาเรื่อง ความยากจน  และได้เสนอรายงานถึง  17  เล่ม  ความก้าวหน้าของการวิจัยแบบสำรวจในศตวรรษที่  20  นี้  เป็นผลมาจากการเน้นถึงคุณค่าของความรู้และการใช้เหตุผล  และผลพลอยได้จากการค้นพบวิธีการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยความน่าจะเป็นไปได้  (Probability Sampling)  จากการวิจัยทางด้านการเกษตร  ศาสตรจารย์  Paul F. Lazarsfeld  แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  สหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้เปลี่ยนลักษณะของการวิจัยจากการพรรณนา  (description)  ไปเป็นการวิจัยแบบหาเหตุผล  (causal explanation)  ทดสอบสมมติฐานซึ่งเป็นแบบฉบับของการวิจัยปัจจุบัน  ส่วนหัวข้อหรือเรื่องที่เหมาะสมกับการสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่าง นั้น พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ (2550,น.157) ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของการสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่าง คือ การใช้แบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ซึ่งอาจจะกระทำได้หลายวิธี เช่น การให้ผู้ตอบกรอกเองหรือผู้ตอบการสัมภาษณ์เป็นต้น เพราะฉะนั้น การสำรวจจึงเหมาะสมสำหรับการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยวิเคราะห์(Unit of analysis) ที่เป็นบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม การวิจัยแบบนี้ก็สามารถใช้หน่วยวิเคราะห์อื่นๆได้โดยมีบุคคลเป็นผู้ตอบ

การสำรวจสามารถใช้ได้ทั้งในการวิจัยเพื่อการพรรณนา เพื่อค้นหาความรู้ใหม่ (Exploratory) และเพื่อการอธิบาย (explanation) การสำรวจเป็นวิธีวิจัยที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เช่น อายุ การศึกษา ฯลฯ พฤติกรรม เช่น การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ฯลฯ ทัศนคติ เช่น ทัศนคติต่อการทำงาน ทัศนคติต่อการวางแผนครอบครัว การปฏิสังสรรค์ การเลือกเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น เนื่องมาจากข้อได้เปรียบเหล่านี้ การสำรวจจึงเป็นวิธีวิจัยที่สำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างกว้างขวางในทางสังคม

ประโยชน์ของการสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่าง การสำรวจมีประโยชน์ที่สำคัญหลายประการคือ การพรรณนาประชากร การประเมินผลโครงการและการสร้างดัชนีทางสังคม  การสำรวจได้ถูกนำไปใช้ในการวิจัยตั้งแต่หัวข้อที่เน้นในเรื่องการปฏิบัติ เช่น การวัดทัศนคติ การสำรวจไปตลอดจนถึงหัวข้อที่เป็นวิชาการ ผู้บริหารได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากการสำรวจในการวางแผนนโยบาย การวางแผนอย่างกว้างขวาง นักประชากรศาสตร์ได้ใช้การสำรวจในการวัดทัศนคติความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว เป็นต้น

ส่วนในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (2540, น.130 -145) ได้กล่าวไว้ว่า สามารถแบ่งแบบของการวิจัยออกได้เป็น 3 ประเภท คือ แบบทดลอง (Experimental Design) แบบกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) แบบไม่ทดลอง (Non-experimental Design)

แบบของการวิจัยที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการวิจัยทางสังคมศาสตร์คือ แบบไม่ทดลอง รองลงมาได้แก่ แบบกึ่งทดลอง และแบบทดลอง ตามลำดับ โดยทั่วไปในการวิจัยผู้วิจัยต้องการได้ข้อสรุปที่แน่นอน แบบของการวิจัยประเภททดลองจึงเป็นแบบแม่บทหรือแบบที่ควรยึดถือปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามในการที่จะนำแบบใดมาใช้ย่อมขึ้นอยู่กับปัญหาที่ต้องการวิจัย ไม่มีแบบใดที่ดีที่สุดสำหรับการวิจัยทุกประเภท เนื่องจากการวิจัยแบบไม่ทดลอง เป็นแบบที่นิยมมากที่สุด

โดยสรุปในการออกแบบการวิจัย ผู้ที่จะทำการวิจัยจำเป็นจะต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบถึงความต้องการของข้อมูลที่จะใช้ในการวิจัย วิธีการที่จะได้มาซึ่งข้อมูลนั้น ที่ถูกต้องประหยัดสะดวก รวดเร็ว และข้อมูลที่ได้มานั้นต้องตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้ครบถ้วน เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่ดีผู้ที่จะทำวิจัยควรที่จะสามารถตอบคำถามหลักในแต่ละขั้นตอนของการวิจัยนับตั้งแต่การตั้งหัวข้อ การระบุประเด็นปัญหาที่จะทำการวิจัยไปจนถึงการรายงานผลที่ได้จากการวิจัย

พรศักดิ์  ผ่องแผ้ว (2543, น. 615-616) ได้กล่าวถึง การวิจัยแบบสำรวจ  (survey)  ว่าเป็นกระบวนการวิจัยซึ่งรวบรวมข้อมูลที่เป็นมาตรฐานจากการสุ่มตัวอย่างของประชากรวิจัยหนึ่งๆ  นับเป็นการวิจัยที่ได้รับความนิยมสูงในวิจัยทางสังคมศาสตร์  รวมทั้งใช้ในการสำรวจสาธารณมติและการหยั่งเสียงความนิยม  (poll)  ทางการเมืองและสังคมด้วย  นอกจากนั้นนักวิจัยยังนิยมใช้วิธีการนี้สำรวจเพื่อตันสินความนิยม  การยอมรับผลิตภัณฑ์ใหม่องค์การของรัฐและเอกชน  การสำรวจความต้องการ  การสำรวจทรัพยากร  หรือการสำรวจปฏิกิริยาที่มีต่อโครงการต่างๆ  นักสังคมศาสตร์มักจะใช้วิธีการวิจัยแบบสำรวจรวบรวมข่าวสารข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน  เพื่อสร้างข้อสรุปทั่วไปในประเด็นที่ทำการศึกษา

การวิจัยแบบสำรวจมีจุดแข็งอยู่  2  ประการ  คือ  ประการแรก  การวิจัยแบบสำรวจ  สามารถรวบรวมข้อมูลจากผู้คนจำนวนมากได้  ประการที่สอง  การวิจัยแบบสำรวจสามารถกำหนดความแม่นยำในกรอบของความคลาดเคลื่อนของการสุ่ม  (sampling  error)  ได้  การบอกระดับความคลาดเคลื่อนได้นี้  ทำให้นักวิจัยสามารถปรับค่าความแม่นยำได้โดยการปรับขนาดของการสุ่มตัวอย่างและปรับแบบของการสุ่ม  เป็นต้น

ส่วนชนิดของการสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่าง  พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ (2550,น.168) ได้กล่าวว่า การรวบรวมข้อมูลโดยการสำรวจอาจจะกระทำได้ 2 วิธีใหญ่ๆ คือ

1. การสำรวจโดยให้ผู้ตอบกรอกแบบคำตอบลงในแบบสอบถามเอง ซึ่งผู้วิจัยอาจจะกระทำได้ 2 วิธี คือ 1.1) ส่งแบบสอบถามไปให้ผู้ตอบทางไปรษณีย์และขอให้ส่งกลับทางไปรษณีย์ (Mailed Survey) 1.2) นำแบบสอบถามไปให้ผู้ตอบด้วยตนเอง (Self-Administered Survey) ข้อแตกต่างระหว่าง 2 วิธีนี้คือ แบบแรกไม่ได้มีการติดต่อโดยตรงระหว่างผู้วิจัยและผู้ตอบเช่นวิธีที่สอง

2. การสำรวจโดยผู้ตอบตอบคำถามการสัมภาษณ์ (Interview) สำหรับวิธีนี้ก็อาจจะกระทำได้ 2 วิธี คือ 2.1) สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Telephone Interview Survey) 2.2) สัมภาษณ์ตัวต่อตัว (Face –to-Face Interview หรือ Personal Interview Survey) ข้อแตกต่างระหว่างสองวิธีนี้ก็คล้ายๆ กับข้อแตกต่างระหว่าง ข้อ 1.1 กับข้อ 1.2 นั่นคือ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ไม่ได้เป็นการติดต่อโดยตรงเช่นเดียวกับการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว

และ พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ (2550,น.176) ยังได้กล่าวถึงขั้นตอนของการสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่างว่าแบ่งออกเป็น 7 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1.   ขั้นวางแผน ในขั้นนี้เป็นการกำหนดเป้าหมายของการวิจัย กลยุทธ์ในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยจะต้องมีแนวคิดและสมมติฐาน โดยการศึกษาวรรณกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน

2.   การออกแบบการวิจัย ขั้นตอนนี้มักจะเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดกับขั้นตอนแรก บางทีดูเหมือนจะกระทำไปพร้อมกันได้เลย ในขั้นนี้สิ่งที่ต้องให้ความสนใจคือ จะรวบรวมข้อมูลอะไรบ้างที่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ของการศึกษาได้

3.   การสุ่มตัวอย่าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วจากขั้นต้นว่า ในการสำรวจนั้นเป็นการเลือกศึกษาประชากรเพียงบางส่วน ไม่ได้ศึกษาประชากรทั้งหมดเช่นเดียวกับสำมะโนประชากร การสุ่มตัวอย่างเป็นกระบวนการที่เลือกตัวอย่างจากประชากรทั้งหมดและใช้ตัวอย่างเหล่านี้เป็นตัวแทนของประชากรนั้น ในขั้นนี้ผู้วิจัยจะต้องให้คำจำกัดความของคำว่าประชากรให้แน่ชัดว่า ครอบคลุมใครบ้าง จะเลือกตัวอย่างโดยวิธีใดเป็นต้น

4.   การออกแบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ เป็นกระบวนการแปรรูปวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษาให้เป็นคำถามเพื่อจะใช้เป็นเครื่องมือในการวัดความจริงที่ต้องการทราบ กระบวนการขั้นนี้ เป็นเรื่องการทดลอง เพื่อหาคำถามที่เหมาะสมที่สุดโดยทั่วไปก็จะมุ่งอยู่ที่จำนวนชนิดการเรียงลำดับของคำถาม และวิธีที่จะดึงดูดใจให้ผู้ตอบคำถามสนใจในคำถาม เป็นต้น

5.   งานสนามหรือการรวบรวมข้อมูล งานในขั้นตอนนี้ เป็นงานภาคปฏิบัติ เช่น การรับสมัคร ฝึกอบรมผู้ทำหน้าที่ในการสัมภาษณ์ การตรวจตราการสัมภาษณ์ รวมทั้งการสำรวจขนาดเล็กเพื่อทดสอบแบบสอบถาม (Pretest) และการบริหารการวิจัย

6.   ขั้นประมวลข้อมูล ประกอบไปด้วย 1) การบรรณาธิการ ซึ่งเป็นการตรวจสอบความถูกต้อง สอดคล้องของข้อมูลที่ได้มาก่อนที่จะได้ให้รหัส 2) การให้รหัส ซึ่งเป็นการแปรสภาพคำตอบ (ซึ่งเป็นคำพูด เช่น ชาย หญิง เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย) ให้เป็นตัวเลขเพื่อที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ได้

7.   การวิเคราะห์และรายงานผล เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนตัวเลขให้เป็นคำพูดที่มีความหมายต่อคำถามที่ต้องการทราบ ในขั้นนี้ประกอบไปด้วยการเสนอและแปลความหมายการกระจายของข้อมูลและตาราง สมการ ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล

ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์นั้น  บ่อยครั้งที่ผู้วิจัยต้องการข้อมูลบางเรื่องที่สนใจ  อาจจะเป็นข้อเท็จจริง  ความรู้  พฤติกรรม  ของคน  ซึ่งเป็นข้อมูลที่ยังไม่ปรากฎในแหล่งอ้างอิงใด  และเป็นข้อมูลตามสภาวะที่เป็นอยู่ขณะนั้น  เพื่อผู้วิจัยจะใช้ประโยชน์ในการทำความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องที่ศึกษา  หรือเพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดแนวคิดการวิจัยในเรื่องดังกล่าวให้ลึกซึ้งต่อไป  ผ่องพรรณ  ตรัยมงคลกูล  และสุภาพ  ฉัตราภรณ์   (2541,น.143) ได้กล่าวถึง การวิจัยเชิงสำรวจ  (survey)  เป็นแบบการวิจัยที่จะช่วยให้ได้ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น และเป็นแบบการวิจัยที่ใช้มากที่สุดในสาขาการศึกษาและสังคมศาสตร์อื่นๆ  แต่ด้วยเหตุที่เป็นแบบการวิจัยที่นิยมใช้มาก  ประกอบกับลักษณะของการวิจัยแบบนี้ที่ดูประหนึ่งว่าจะดำเนินการได้โดยง่าย  จึงมักทำให้เกิดทัศนะเชิงลบต่อแบบการวิจัยเชิงสำรวจ  ว่าเป็นการวิจัยที่มีคุณค่าน้อย  ไม่มีความเป็นวิชาการเพียงพอ  นักจัยทางวิทยาศาสตร์ในบางสาขามีความคิดว่าการสำรวจไม่ใช่ การวิจัย  ทั้งนี้  สืบเนื่องจากการยึดติดกับแนวคิดที่ว่าการวิจัยมีจุดมุ่งหมายประการเดียวคือ  การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุ-ผล  ซึ่งต้องดำเนินการโดยวิธีทดลองเท่านั้น

โดยสรุป ระเบียบวิธีวิจัยประเภทต่างๆ ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันในการพัฒนาองค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ เพื่อให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่มุ่งถึงการบุกเบิก การพรรณนา การอธิบาย รวมทั้งการพยากรณ์ แต่ละรูปแบบการวิจัย แต่ละวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล และแต่ละเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลย่อมสามารถประกอบเข้าด้วยกันได้อย่างเป็นระบบตามขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า นักวิทยาศาสตร์สังคมมีความพร้อมในแง่ของความรู้และทักษะที่จะประยุกต์ใช้เครื่องมือการวิจัยประเภทต่างๆ อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะและสถานการณ์ของการวิจัยหรือไม่เพียงใด (ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (2527,น. 77-78) และที่สำคัญการสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่าง เป็นวิธีวิจัยที่ถูกใช้กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและคาดว่าจะยังใช้ต่อไปในอนาคต เพราะเป็นวิธีวิจัยที่ใช้ได้ในแทบทุกเรื่องหรือวัตถุประสงค์ตราบเท่าที่มีผู้ (คน) ที่ตอบคำถาม นี่คือข้อดีที่สำคัญของการวิจัยแบบนี้ ข้อจำกัดหรือข้อเสียที่ถูกนำมากล่าวถึงเสมอคือ เรื่องของปฏิกิริยา (reaction) นักวิจัยที่สนใจในแง่ระเบียบวิธีวิจัยก็ได้พยายามพิสูจน์ และยอมรับว่ามีประเด็นปัญหาดังที่ถูกกล่าวหาและก็ได้ข้อสรุปทั่วๆ ไปว่า มีปัญหา แต่ว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตหรือรุนแรง จนวิธีวิจัยนี้ใช้ไม่ได้หรือต้องโยนทิ้งหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การสำรวจมีปัญหา แต่สามารถแก้ไขได้เพราะผู้วิจัยทราบว่ามีปัญหา ปัญหาอยู่ที่ใดจะแก้ไขให้ลดน้อยหรือรุนแรงน้อยลงได้อย่างไร พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ (2550,น.181) และที่สำคัญ การสำรวจสามารถใช้ได้ทั้งในการวิจัยเพื่อการพรรณนา เพื่อค้นหาความรู้ใหม่ (Exploratory) และเพื่อการอธิบาย (explanation) การสำรวจเป็นวิธีวิจัยที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นการวิจัยแบบสำรวจจึงเป็นวิธีวิจัยที่สำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างกว้างขวางในทางสังคม

 

บรรณานุกรม

ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์. ระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์สังคม การสังเคราะห์และบูรณาการ.

กรุงเทพมหานคร: หจก.การพิมพ์พระนคร,2527.

พิชิต  พิทักษ์เทพสมบัติ.การสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่าง : ทฤษฎีและปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร  :

สำนักพิมพ์เสมาธรรม ,  2550

พรศักดิ์  ผ่องแผ้ว. ศาสตร์แห่งการวิจัยทางการเมืองและสังคม.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์

สถาบันวิถีไทย, 2543.

ผ่องพรรณ  ตรัยมงคลกูล  และสุภาพ  ฉัตราภรณ์.  การออกแบบการวิจัย. กรุงเทพมหานคร:

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,  2541

สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์.ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์.กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์เลี่ยงเชี่ยง,

2540.

 

 

 



* บาว นาคร. (บุญยิ่ง ประทุม) .[email protected]

หมายเลขบันทึก: 223843เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท