เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ไอซีที ตอนที่ 4


กรณีศึกษาที่ ๒ คุณกิตติภัต แสนดี (บล็อกเกอร์)

๒.๑ จุดเริ่มต้นของการสร้างชุมชนออนไลน์ด้วยบล็อก
ความสนใจในการเขียนบล็อกนั้นเริ่มมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือของสำนักพิมพ์สามัญชน สำนักพิมพ์คบไฟ ก็เลยอยากจะแบ่งปันความคิดหลังการอ่านผ่านงานเขียน ซึ่งงานเขียนชิ้นแรกเขียนเรื่องเกี่ยวกับลัทธิ Existentialism หรืออัตถิภาวนิยม เป็นหนึ่งในปรัชญาทางการศึกษา โดยเป็นปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องการเสริมสร้างให้มนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกและรู้จักใช้เสรีภาพในการเลือกอย่างมีความรับผิดชอบในตัวเอง ปรัชญานี้เป็นกระบวนความคิดปรัชญาแนวใหม่ของ ซอเร็น คีเอร์อการ์ด (Soren Kierkegard 1813-1855)

และเมื่อได้ลองเขียนไปสัก ๒-๓ เดือนรู้สึกสนุก จึงอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับอย่างอื่นดูบ้าง โดยเลือกเขียนถึงสิ่งที่ได้พบเจอมา เช่น เมื่อไปชมภาพยนตร์ก็จะเขียนถึงภาพยนตร์ โดยพยายามนำเอาหลักคิดทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาจับประเด็น ซึ่งทำให้งานเขียนที่ออกมาดูน่าสนใจมากขึ้น เมื่อรู้สึกสนุกในการจับประเด็นเรื่องหนึ่งมาชนกับหลักคิดอีกเรื่องหนึ่ง งานเขียนจึงเน้นเป็นแนวนี้ โดยเฉพาะการนำหลักคิดทางสุนทรียศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้ามาวิเคราะห์สิ่งที่กล่าวถึง งานเขียนบล็อกจึงกลายเป็นสถานที่สำหรับตกผลึกทางความคิดเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ๆ

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า พื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตมีเนื้อหาที่กล่าวถึงหลักวิชาด้านมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ค่อนข้างน้อย จึงอยากเพิ่มพื้นที่ในส่วนนี้ให้มีมากขึ้นสำหรับผู้ที่สนใจ จึงทำเป็นบล็อกที่เผยแพร่ความรู้เฉพาะด้านนี้ขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสังคมที่สนใจเนื้อหาทางด้านนี้มีน้อย พบเห็นได้บ้างในนิตยสารวิภาษาหรือนิตยสารของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน แต่ก็ไม่สามารถพบได้ในสังคมออนไลน์ เพราะแม้กระทั่งนิตยสารวิภาษาก็ไม่มีเว็บไซต์ของตัวเอง

ข้อดีของการเขียนบล็อกที่มีลักษณะเช่นนี้ คือการตกผลึกทางความคิดของผู้เขียนและทำให้ผู้เขียนเองเข้าใจในเนื้อหาสิ่งที่ได้อ่านไปยิ่งขึ้น หลายครั้งที่พบว่าเมื่ออ่านหนังสือจบในตอนแรกจะยังไม่เข้าใจหลักคิดเหล่านั้นทั้งหมด แต่เมื่อได้เขียนถึงเนื้อหาเหล่านั้นจนจบก็จะพบว่าตัวเองเข้าใจเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นมากขึ้นอย่างน่าแปลกใจ จึงมีเป้าหมายว่าจะเขียนเยอะๆ เพราะให้ความรู้สึกที่ดี โดยเฉลี่ย ๑ เดือนจึงเขียนบทความประมาณ ๑๐ บทความขึ้นไปซึ่งจะเขียนถึงในหลากหลายเรื่องราว

ปัจจุบันมีบล็อกส่วนตัวที่ใช้เงินทุนส่วนตัวในการเผยแพร่บล็อก www.a-random.net โดยจัดทำเป็นลักษณะของไดอารี่ เพียงแต่ไม่ใช่ไดอารี่ในลักษณะที่ทำกิจวัตรประจำวันที่ไหนอย่างไร แต่จะเป็นไดอารี่ที่บันทึกเกี่ยวกับความคิดด้านวัฒนธรรมและสังคมเป็นหลัก ซึ่งผนวกความรู้ทางด้านสุนทรียศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมเข้าด้วยกัน 


๒.๒ วิถีของบล็อกเกอร์
ผู้ที่จะเป็นบล็อกเกอร์ที่ดีจึงควรเป็นผู้ที่หมั่นสะสมความรู้ ขยันอ่าน ขยันเขียนอยู่อย่างสม่ำเสมอ และรู้จักการบริหารเวลาเพื่อทำกิจกรรมหลายๆ อย่างได้โดยไม่เสียเวลาไปกับการใช้งานไอซีทีเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การเขียนบล็อกประสบความสำเร็จโดยหลักๆ ก็คือ การเขียนเรื่องที่ยากๆ ซับซ้อน ให้เข้าใจได้ด้วยภาษาง่ายๆ สามารถเข้าถึงคนอ่านที่สนใจได้ทุกเพศทุกวัย คนทุกคนสามารถอ่านและเข้าใจเนื้อหายากๆ เหล่านั้นได้ ที่สำคัญคือควรนำเสนอเนื้อหาทั้งในแง่ของเพื่อการศึกษาและในแง่ประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวันหรือประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและรู้จักวิธีนำเอาความรู้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตหรือวิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันคุณกิตติภัตยังพบอุปสรรคในเรื่องการนำเสนอเรื่องราวยากๆ และซับซ้อนของหลักวิชาปรัชญาให้เข้าใจได้ง่ายๆ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ายังทำได้ไม่ดีพอ ยังคงต้องมีการปรับปรุงแนวการเขียนและปรับภาษาเพื่ออธิบายให้อ่านได้ง่ายยิ่งขึ้น ส่วนอุปสรรคในเรื่องของมีผู้สนใจอ่านหรือศึกษาวิชาปรัชญาค่อนข้างน้อยนั้น คุณกิตติภัตไม่เห็นว่าเป็นปัญหาเท่ากับการทำเนื้อหาให้สนุกและน่าอ่าน

สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งสำหรับบล็อกเกอร์คือ ความต้องการเพียงแต่ยอดจำนวนของผู้ที่เข้าชมบล็อกเพื่อให้รู้สึกว่ามีคนมาเยี่ยมชมมากมาย แต่ควรรักษาความหลากหลายของความเป็นสังคมออนไลน์เอาไว้ เพราะหากบล็อกเกอร์คาดหวังเฉพาะยอดของผู้เข้าชม แล้วไปนำบทความผู้อื่นที่ได้รับความนิยมแล้วมาโพสต์เอาไว้หรือนำภาพ หรือคลิปอื้อฉาวมาลงไว้เพื่อหวังนับจำนวน การกระทำเช่นนี้จะเป็นปัจจัยที่คอยบั่นทอนความหลากหลายและทำลายเจตนารมย์ดั้งเดิมของการมีอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

กรณีศึกษาที่ ๓ คุณรัฐ จำปามูล (ภาพยนตร์เพื่อสังคม)

๓.๑ จุดเริ่มต้นของการผลิตภาพยนตร์สั้นเพื่อสังคม
คุณรัฐ เริ่มให้ความสนใจกับการสร้างภาพยนตร์สั้นมาตั้งแต่สมัยเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา วิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ด้วยความรู้สึกที่ว่าไม่มีความสุขกับการเรียนหรือการทำงานวิศวะ ทำให้เริ่มมองหาสิ่งใหม่รอบๆ ตัวเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุขกับการทำงานและรู้สึกว่ามีที่ทางของตัวเอง ซึ่งความสุขนั้นมาลงที่การทำงานศิลปะ ภาพยนตร์สั้น และงานเพลง

โดยอาศัยการเรียนรู้ด้วยตนเองจากสิ่งที่ตนสนใจ และอ่านหนังสือเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการทางวิชาการเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการทำงาน แต่อาศัยการปฎิบัติเป็นการเรียนรู้หลัก ความรู้ที่ได้จากอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเพียงความรู้ในแง่ของวิธีการสร้าง วิธีการใช้เครื่องมือ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราได้ฝึกปฏิบัติมากน้อยเพียงใด และก่อนหน้านี้คุณรัฐก็เคยมีการใช้งานไอซีทีเพื่อเขียนบทความหรือเขียนไดอารี่ออนไลน์ เพื่อแสดงมุมมองและทัศนะต่างๆ ต่อสรรพสิ่งรอบๆ ตัว ถึงแม้ว่าความรู้ที่ได้จากอินเทอร์เน็ตจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์เสียมากก็ตาม ก็นับได้ว่าเป็นตัวช่วยที่ดีตัวหนึ่ง เพราะในขณะที่ไม่รู้ว่าจะไปสอบถามวิธีใช้เครื่องมือชนิดนั้นจากคนรอบข้างคนใดได้ ก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาคำตอบและช่วยพาให้เราสามารถสร้างงานได้อย่างที่ใจต้องการ เพราะมีความรู้มากมายในโลกอินเทอร์เน็ต


๓.๒ แรงผลักดันของภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง เพลงพระอาทิตย์ (Sunset Love Song)
"ผมเป็นกำลังใจให้คุณอยู่นะ แม้ว่าเราจะไม่รู้จักกันก็ตามทีเถอะครับ" เป็นประโยคที่คุณรัฐพยายามบอกกล่าวผ่านภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องใหม่ล่าสุดของเขา โดยใช้ชื่อเรื่องว่า "เพลงพระอาทิตย์ หรือ Sunset Love Song" ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้มีแรงผลักดันที่เกิดจากผู้ที่จบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะคนที่คุณรัฐรู้จักซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกมากมายกับตัวคุณรัฐเองจนอยากที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่ออุทิศแด่ชีวิตที่จบลงและเผยแพร่ให้กับผู้ที่กำลังท้อใจให้รู้ว่า ณ ตรงนี้ยังมีภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้กำลังใจคุณก้าวเดินต่อไป โดยมีภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในกำลังใจนั้น

ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องล่าสุดที่คุณรัฐกำลังสร้างอยู่นี้ ความตั้งใจคือการเผยแพร่ในรูปแบบของชุมชนความคิด (Creative Common) ซึ่งอนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรีและเผยแพร่ต่อได้โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ใดๆ ที่สำคัญเป็นการทำงานที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อมุ่งหวังเงินทองแต่ประการใด แต่ทำด้วยใจล้วนๆ สามารถเข้าชมตัวอย่างผลงานได้ที่ http://sunsetlovesong.blogspot.com/

นอกจากผลงานแอนิเมชั่นเรื่องดังกล่าวแล้วผลงานที่ผ่านมาของคุณรัฐ ได้แก่ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง "ระหว่างทาง" เป็นภาพยนตร์ในโครงการหนังสั้นสมานฉันท์ (เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้) และ"Rearrange" ภาพยนตร์แอนิเมชั่นรางวัลชนะเลิศโครงการชีวจริยธรรม ส่วนผลงานในด้านอื่นๆ เช่น ผลงานเพลงและเว็บไซต์สำหรับใช้เป็นที่รวบรวมและเผยแพร่ผลงานของตนและเพื่อนๆ หรือผู้ที่มีแนวคิดเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่า www.sunsetlovesong.com จุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่งานไม่ว่าจะเป็นผลงานเพลง งานเขียน ภาพถ่ายหรือสื่อสร้างสรรค์อื่นๆ ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นได้ต่อไป

๓.๓ ปัจจัยความสำเร็จและอุปสรรค
การเรียนรู้จากความชอบส่วนตัวและการดูงานคนอื่นเยอะๆ เป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการทำงานภาพยนตร์ นอกจากนี้ก็มีเรื่องของการปรับแนวคิดในการทำงาน เพื่อให้การทำงานนั้นทำด้วยใจ รวมถึงการมีกลุ่มก้อนเครือข่ายในการทำงานต่างก็สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกันได้ ที่สำคัญการทำงานโดยไม่ได้มีเป้าหมายที่เรื่องของรายได้ช่วยทำให้กรอบความคิดไปได้ไกลยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะคุ้มกับที่ลงทุนไปหรือไม่ ส่วนอุปสรรคในการทำงานเพื่อสังคมในลักษณะที่ไม่ได้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำเช่นนี้ อุปสรรคหลักจึงไปอยู่ที่เรื่องของกรอบความคิดทางสังคม ทัศนคติของคนรอบข้าง และกรอบการศึกษาที่ทำให้คนคิดไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์หรือการทำงานเพื่อสังคมมีลดน้อยลงและทำได้ยากลำบากมากขึ้น ถึงแม้เรื่องทุนจะเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญ แต่ในความคิดของคุณรัฐนั้นอุปสรรคเรื่องเงินทุนเป็นสิ่งที่สามารถเสาะหาได้แม้จะไม่ง่ายนักก็ตาม

 

 

หมายเลขบันทึก: 223690เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะพี่แจ๋ว

จบงานนี้เราได้แรงบันดาลใจเยอะเลยค่ะ

มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจหลายคนเชียวค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท