การประเมินความคุ้มค่าด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล


หากคุณวัดและประเมินไม่ได้ คุณก็จะบริหารจัดการไม่ได้ และท้ายที่สุดคุณก็ไม่มีวันที่จะปรับปรุงและพัฒนาผลงานได้”

นนี้ได้มีโอกาสค้นหนังสือเก่าๆมาอ่านดูก็เจอหนังสือพิมพ์มติชนอยู่เล่มหนึ่งก็ลองเปิดๆดูพบว่ามีบทความหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่กำลังเรียนอยู่จึงนำบทความนี้มาแบ่งปันให้เพื่อนๆได้ลองอ่านบ้าง

"  การประเมินความคุ้มค่าด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล    "                       

 “หากคุณวัดและประเมินไม่ได้ คุณก็จะบริหารจัดการไม่ได้ และท้ายที่สุดคุณก็ไม่มีวันที่จะปรับปรุงและพัฒนาผลงานได้”  
                     คำกล่าวข้างต้นถือเป็นมนตราการจัดการในศตวรรษที่ ๒๑ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการบริหารทุกเรื่องไว้ เว้นแม้แต่เรื่องการบริหารคน เพราะในปัจจุบันเริ่มมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าการบริหารทรัพยากรบุคคลช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างไรและการจะตอบคำถามนี้ได้ก็จะต้องมีการวัดและประเมินความสำเร็จในการบริหารคนขององค์กรนั่นเอง หรือพูดง่ายๆก็คือ ต้องมีการวัดประเมินว่าการจัดการคนมีความคุ้มค่าหรือไม่ 
                       การให้ความสำคัญต่อหลักความคุ้มค่าในการบริหารทรัพยากรบุคคลสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับผลิตภาพของบุคลากร (Human Productivity) หากองค์กรต่างๆ นำหลักการวัดความคุ้มค่ามาใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคลากรจะทำให้องค์กรแห่งนั้นเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะช่วยผลักดันให้องค์กรประสบความสำเร็จ 
สำหรับในส่วนราชการของไทยนั้นถือว่าการประเมินและการสร้างความคุ้มค่าด้านทรัพยากรบุคคลเป็นมิติใหม่ของการบริหารทรัพยากรบุคคล เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญของมาตรฐานความสำเร็จด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ตามแนวทางการพัฒนาสมรรถนะขีดความสามารถด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการและจังหวัด (HR Scorecard)
                      เหตุผลประการสำคัญๆที่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินความคุ้มค่าด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล    ก็เนื่องจากทรัพยากรทางการบริหารที่สำคัญ ได้แก่บุคลากรและงบประมาณนั้นมักจะไม่เพียงพอ องค์กรต่างๆจึงต้องมีกลยุทธ์ในการที่จะลดต้นทุนการบริหาร โดยเฉพาะต้นทุนทางด้านทรัพยากรบุคคล (HR Cost Control) หรือไม่ก็ต้องพยายามทำให้กำลังคนในองค์กรสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรมากขึ้น (HR Value Creation) หรือบางครั้งอาจจำเป็นต้องดำเนินกลยุทธ์ทั้งสองไปพร้อมๆกัน จึงกล่าวได้ว่า ความคุ้มค่าในการบริหารทรัพยากรบุคคลครอบคลุมในเรื่องของการให้ความสำคัญต่อต้นทุนการบริหารหรือการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล กับมูลค่าของผลที่ได้รับจากกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล 
ลักษณะสำคัญของการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เน้นความคุ้มค่า มักมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ 
               (1) เป็นการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยให้ความสำคัญกับผลตอบแทนหรือประโยชน์จากการลงทุน (Return on Investment: ROI) ซึ่งเป็นการพิจารณาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของแผนงาน โครงการหรือมาตรการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลกับรายได้ ผลกำไรหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาจากประโยชน์ที่ได้รับจากการบริหารทรัพยากรบุคคล ทั้งประโยชน์ที่เป็นมูลค่าทางการเงิน และประโยชน์ที่ไม่สามารถคำนวณค่าเป็นเงินได้
                       (2) เป็นแนวทางการบริหารงานบุคคลที่ให้ความสำคัญกับสัดส่วนของค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมและกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลต่องบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ กล่าวคือ หากเป็นองค์กรของรัฐก็จะเป็นการสะท้อนภาพความคุ้มค่าในการปฏิบัติงานของบุคลากร เพื่อจะเป็นการประหยัดและใช้เงินภาษีของราษฎรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
                        (3) เป็นแนวทางในการจัดการเรื่องทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อให้คนในองค์กรสร้างคุณค่าหรือพัฒนามูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นกับองค์กรนั้นๆ ฉะนั้นการลงทุนงบประมาณด้านการพัฒนาคนควรพิจารณาความคุ้มค่าที่นอกเหนือจากตัวเงินประกอบด้วย อาทิ ความคุ้มค่าด้านการคัดเลือก การจ่ายค่าตอบแทน การพัฒนาบุคลากร โดยต้องพิจารณาว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงในด้านการมีความรู้ ทักษะที่เพิ่มขึ้น             มีทัศนคติดีขึ้น หรือมุ่งมั่นอุทิศตนในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น
                        การประเมินความคุ้มค่าในกระบวนการบริหารงานทรัพยากรบุคคล เป็นการนำแนวความคิดเรื่องความคุ้มค่าด้านทรัพยากรบุคคลไปใช้ในทุกกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลของหน่วยงาน เช่น ความคุ้มค่าในการสรรหาและการคัดเลือก อาจดูได้จากการมีระบบหรือกลไกในกระบวนการสรรหาและคัดเลือกเพื่อให้ได้บุคลากรที่มีสมรรถนะสูงสอดคล้องกับพันธกิจขององค์กร โดยดูทั้งกระบวนการและผลจากการสรรหาและคัดเลือก เช่น การได้คนที่มีความสามารถที่เป็นรูปธรรม การมีสหทักษะ (Mega-skill) หรือมีความสามารถหลายด้าน การสรรหาบุคลากรให้ได้ในเวลาที่เหมาะสม หรือการมีกระบวนการคัดเลือกที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ส่วนความคุ้มค่าในการบรรจุแต่งตั้ง มักจะเกี่ยวข้องกับการมีระบบหรือกลไกในการกำหนดเงื่อนไขในการบรรจุที่ชัดเจนและเอื้อประโยชน์ต่อองค์กร ในส่วนของการรักษาไว้นั้นมักจะพิจารณาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตในการทำงาน ขวัญและกำลังใจ สวัสดิการและค่าตอบแทน โดยส่วนใหญ่มักจะวัดผลสุดท้ายจากอัตราการรักษาคนเก่งไว้ในองค์กร   แต่ดูเหมือนว่าการประเมินความคุ้มค่าในการพัฒนาบุคลากรจะได้รับความสนใจและมีการนำไปปฏิบัติในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ซึ่งมักจะครอบคลุมในเรื่องการมีระบบหรือกลไกหรือกระบวนการศึกษา การเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับโอกาสของความก้าวหน้าในสายงาน (Career Opportunity) โดยมักจะมีการคำนวณหาความคุ้มค่าการลงทุนในทรัพยากรบุคคล หรือการประเมินว่าเป้าหมายการฝึกอบรมและพัฒนาซึ่งกำหนดไว้นั้นบรรลุผล นอกจากนี้ การประเมินความคุ้มค่าด้านการพัฒนาบุคลากรยังอาจวัดได้จากความสำเร็จของบุคลากรในการประพฤติปฏิบัติตามค่านิยมสร้างสรรค์ขององค์กร (Core Value) อีกด้วย    การวัดและประเมินความคุ้มค่าด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นเรื่องยาก แต่องค์กรคงจะหนีไม่พ้น ปัจจัยที่จะช่วยให้องค์กรมีความคุ้มค่าในการจัดการคน ต้องเริ่มต้นจากการมีนโยบายในการประเมินความคุ้มค่ามาใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคล  การจัดวางระบบและกระบวนการบริหารมาตรฐานคุณภาพการบริหารทรัพยากรบุคคล การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและดัชนีวัด การคำนวณและวัดความคุ้มค่า และการตรวจประเมินเพื่อการรักษามาตรฐานคุณภาพการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งดูเหมือนภาคราชการไทยจะมาได้ถูกทางที่ได้ทุ่มเทเวลาในการพัฒนา HR Scorecard เพื่อช่วยตอบโจทย์ว่าการจัดการคนในหน่วยงานของรัฐคุ้มค่าหรือสร้างมูลค่าเพิ่มแค่ไหนให้กับหน่วยงาน 

หมายเลขบันทึก: 223622เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท